ใครมีศีลธรรม:สัตว์เศรษฐกิจหรือสัตว์โลก?
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com
dhanarat333@gmail.com
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การ Transparency International (ความโปร่งใสระหว่างประเทศ) ได้เผยแพร่รายงานประจำปี 2009 จัดอันดับประเทศตามอัตราคอร์รัปชั่น บ่งบอกว่า ประเทศไทยสอบตก ได้คะแนนไม่ถึงครึ่งของคะแนนเต็ม
องค์การดังกล่าวคือสำนักเอกชนระหว่างประเทศ สถาปนามา 16 ปี ตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เว็บไซต์อยู่ที่ http://www.transparency.org/
มีสาขากว่า 90 แห่งทั่วโลก ผนึกกำลังกับเจ้าหน้าที่ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต สมาคมภาคเอกชน องค์การธุรกิจ ตลอดจนสื่อสารมวลชน เพื่อกำจัดการคอร์รัปชั่นในวงการรัฐบาลให้สิ้นซาก
ทั้งนี้ ด้วยการส่งเสริมให้รัฐบาลมี “ความโปร่งใส” ในการบริหารงาน และองค์กรของรัฐ อย่างเช่นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทำการปราบปรามการทุจริต “คอร์รัปชั่น” อย่างเข้มแข็ง สนับสนุนการลดความอดกลั้นและเสริมสร้างสมรรถภาพของประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ตลอดจนแสวงหาทางออกสำหรับจัดการกับคอร์รัปชั่นอย่างมีผลดี เพื่อให้เงินภาษีอากรได้มีโอกาสนำไปใช้ในการพัฒนาบ้านเมืองอย่างเต็มที่ อำนวยประโยชน์ต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชน อย่างแท้จริง
องค์การดังกล่าวเกิดจาก “ผู้มีจิตสำนึกในศีลธรรม/จริยธรรม” โดยมุ่งหมายกำจัดการใช้อำนาจส่วนรวมเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ด้วยการทำหน้าที่ฝ่ายธรรมในนามของประชาชน ในการต่อสู้กับฝ่ายอธรรม ซึ่งประกอบด้วยนักการเมืองกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มั่วสุมในคอร์รัปชั่น
รายงานปี 2009 ซึ่งอาศัยข้อมูลสำรวจปี 2551 กับ 2552 มีความเชื่อมั่นทางสถิติสูงถึงร้อยละ 90 ขึ้นไป ระบุว่า “ความโปร่งใส” ในไทยจัดอยู่ในอันดับ 84 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ได้คะแนนเพียง 3.4 จากคะแนนเต็ม 10 เรียกว่าสอบตกเกือบติดหางแถว ส่วนรายงานปี 2008 ไทยอยู่อันดับ 80 จาก 180 ประเทศ ได้คะแนน 3.5 ถือได้ว่า “ความโปร่งใส” จัดอยู่ในระดับทรงตัว ก็น่ายินดีที่ได้มีการเปลี่ยนรัฐบาล ในทิศทางที่ได้สกัดกั้นคอร์รัปชั่นมิให้อาละวาดร้ายแรงกว่าเดิม
ที่น่าสังเกตก็คือ ประเทศไต้หวัน ซึ่งได้มีการลงโทษจำคุกบุคคลระดับอดีตประธานาธิบดีกับภริยาตลอดชีวิตด้วยข้อหาคอร์รัปชั่น (คดีความอยู่ระหว่างอุทธรณ์) อยู่อันดับ 37 ได้คะแนน 5.6 ส่วนกัมพูชาทิ้งห่างไทยลิ่ว ตกอยู่อันดับ 158 คะแนน 2.0 และเมียนมาร์ อันดับ 178 คะแนน 1.4 ทั้งนี้ สะท้อนว่าประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยจริง ย่อมถือว่าประชาชนเป็นใหญ่จริง จึงเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามคอร์รัปชั่น
ส่วนประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการ ย่อมยึดมั่นว่า “ข้าฯเป็นใหญ่ ประชาชนไม่ได้เป็นใหญ่” และไม่เอาจริงกับการปราบคอร์รัปชั่น ประชาชนส่วนใหญ่จำต้องตกอยู่ในภาวะยากจนอย่างสาหัสสากรรจ์ไปเรื่อยๆ
ภาพประวัติศาสตร์ทักษิณกอดฮุนเซน ภาพ ไทยโพสต์
ปัจจุบัน ไทยกำลังปกครองด้วย “ประชาธิปไตยแบบจับปูใส่กระด้ง” ประชาชนยังไม่ได้เป็นใหญ่จริง แต่นักการเมืองดีๆ กำลังแก้ไขอุปสรรคต่างๆ อยู่ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับคณะเพียงหยิบมือเดียว กำลังเสี่ยงชีวิตต่อสู้กับขบวนการคอร์รัปชั่น ซึ่งขับเคลื่อนโดยสาวกใน “ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ” แบบ “น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ”
สิ่งที่ไทยยังขาดยิ่ง ได้แก่ “อัศวินม้าขาว” ผู้กล้าออกมาใช้ “อำนาจส่วนรวมเพื่อส่วนรวม” อย่างเฉียบขาด ด้วยการสถาปนา “ประชาธิปไตยแบบมีภาวะผู้นำ” (Democracy with Leadership) ให้ “ประชาชนเป็นใหญ่” จริง อย่างเช่น "ธรรมาธิปไตย" เพื่อนำไทยสู่ “ปรัชญาชีวิตความพอเพียง” ของในหลวงรัชชกาลที่ 9 รวมทั้งสู่ “ลัทธิสัตว์ประเสริฐ” และอำนวยให้ธงไตรรงค์มีสิทธิ์ปักหลักอยู่บนแผ่นดินไทยต่อไป
ผู้ใช้อำนาจส่วนรวมเพื่อส่วนรวม ย่อมคำนึงถึงประชาชนเป็นใหญ่ จึงเป็นผู้มีความอ่อนไหวสูงต่อความต้องการโดยชอบของผู้อื่น คือ มี “ความฉลาดทางจิตวิญญาณ” สูง (High Spiritual Intelligence) และไม่ “ฝักใฝ่แต่ตนเอง” (self-centered) คือ ไม่มุ่งคอร์รัปชั่นเพื่อสร้าง “อาณาจักรส่วนตัว”
ศาสนาทั้งหลายสอนมนุษย์ให้มี “ศีลธรรม” คือ มีจิตวิญญาณที่เมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน บางคนเกิดมาก็มีคุณสมบัติดังกล่าว โดยมิต้องมีใครมาอบรมสั่งสอน แสดงว่ามี “ความฉลาดทางจิตวิญญาณ” และมี “ศีลธรรม” บันทึกชัดอยู่ในรหัสพันธุกรรมเรียบร้อยแล้ว
จากการศึกษาวิจัย นักจิตวิทยาเชื่อมั่นว่า มนุษย์มี “ศีลธรรม” อยู่ในสายเลือด มากน้อยตามแต่ที่มีบรรจุอยู่ในรหัสพันธุกรรม โดยธรรมชาติได้สร้างไว้ให้กับทุกคน เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ ในขณะเดียวกัน ก็ได้สร้าง “ความก้าวร้าวดุดัน” หรือเขี้ยวเล็บสำหรับต่อสู้ป้องกันตัว ในยามที่เผชิญกับภยันตราย โดยได้บรรจุอยู่ในรหัสพันธุกรรมเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อมนุษย์จักได้วิวัฒนาการอยู่รอดและเจริญพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ
ผู้ชำนาญวิชาชาติพันธุ์วิทยาหลายท่านได้ทำการศึกษาวิจัยสัตว์ต่างชนิดต่างเผ่าพันธุ์ พบว่า สัตว์ก็มี “ศีลธรรม” เช่นเดียวกับมนุษย์ โดยนิยาม “ศีลธรรม” ไว้ว่า เป็น “พฤติกรรมที่คำนึงด้วยความห่วงใยในมนุษย์/สัตว์อื่นที่เกี่ยวพันกัน โดยข้อคำนึงดังกล่าวจะทำนุบำรุงและบัญญัติการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ภายในสังคมกลุ่มเดียวกัน”
ดร.มาร์ค เบคอฟ และดร.เจสซิกา เพียส แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อ Wild Justice: The Moral Lives of Animals (ความยุติธรรมป่าเถื่อน: ชีวิตที่มีศีลธรรมของสัตว์โลก) ตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐฯ ปี 2552 เล่าถึงพฤติกรรมที่มีศีลธรรมของสัตว์หลากหลายชนิดกับเผ่าพันธุ์ เช่น สุนัข ช้าง หนู ลิง นก ปลาดอลฟิน เป็นต้น
การศึกษาวิจัยดังกล่าว พบพฤติกรรมสัตว์โลกที่น่าทึ่งใจยิ่ง เป็นต้นว่า สุนัขคือสัตว์สังคมที่ชอบเล่นด้วยกันและเป็นเพื่อนที่จงรักภักดีต่อผู้เลี้ยงดู ในขณะเล่นกันอยู่ สุนัขจะมีการรับส่งสัญญาณและแสดงท่าทางต่อกันว่า จะไม่ทำร้ายกัน สุนัขตัวขี้โกงที่ส่งสัญญาณเป็นมิตร แต่กลับฉวยโอกาสกัดหรือทำร้ายตัวอื่น จะกลายเป็น “หมาหัวเน่า” ไม่มีสุนัขตัวอื่นในกลุ่มอยากเล่นด้วยต่อไป สะท้อนว่าสุนัขก็มีความรู้สึกอย่างเช่นมนุษย์ ในเรื่องของความยุติธรรม การไม่เอาเปรียบกัน ตลอดจนการไม่ทรยศหักหลังกัน
ลูกสุนัขเล่นกันบนสนามหญ้า ภาพ เนเบลเซียก
ช้างเชือกหนึ่งชื่อ “เบเบิล” เดินได้เชื่องช้ามาก เนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่ขาข้างหนึ่ง ช้างเชือกอื่นๆ ในกลุ่มก็พากันเดินให้ช้าลงกว่าที่เคย เพื่อจะได้เดินไปด้วยกันกับเบเบิล แถมหาอาหารมาป้อนเบเบิลด้วย โดยทำเช่นนี้อยู่นานหลายปีทีเดียว สะท้อนว่าช้างเป็นสัตว์ที่มีความสามารถหยั่งรู้ในความทุกข์ยากลำบากของช้างตัวอื่น และรู้จักช่วยบรรเทาความทุกข์ยากนั้นให้ด้วย
ฝูงช้างอยู่ด้วยกันแบบครอบครัวเดียวกัน ภาพ แก็กนอน
เมื่อจัดให้หนูที่ได้รับการฝึกฝนจนสามารถกดราวกลสำหรับปล่อยอาหารให้หนูอีกตัวหนึ่ง ซึ่งอยู่อีกกรงหนึ่งข้างเคียงและมองเห็นกัน ปรากฏว่า หนูทั้งสองต่างผลัดกันกดราวกลส่งอาหารให้กัน ตอบแทนกันและกัน ต่อมา เมื่อจัดให้หนูจากกลุ่มนี้ไปอยู่ข้างเคียงกับหนูตัวอื่นที่ไม่เคยรับการฝึกฝนดังกล่าว พบว่า แม้ว่าหนูตัวใหม่ที่ไม่เคยรับการฝึกฝนฯ จะไม่สามารถส่งอาหารให้หนูข้างเคียงที่ส่งอาหารมาให้ หนูที่กดราวกลเป็นก็ยังส่งอาหารให้หนูตัวใหม่ได้กินอยู่เรื่อย ทั้งๆ ที่ไม่ได้คุ้นเคยกันมาก่อน สะท้อนว่าหนูเป็นสัตว์ที่รู้จักทำดีต่อหนูตัวอื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข
หนูดำในเขตร้อน ภาพ ลิฟทาร์น
ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้น คือ หนูจะไม่ยอมกินอาหาร เมื่อรู้ตัวว่า หากกินเมื่อใดก็จะทำให้หนูอีกตัวหนึ่งถูกไฟฟ้าช็อตด้วยความเจ็บปวด และลิงชิมแพนซีได้ให้การดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องแก่ลิงฯ อีกตัวหนึ่ง ซึ่งป่วยด้วยโรคสมองสูญเสียการควบคุมอวัยวะบางส่วนของร่างกาย ทั้งนี้ เป็นพฤติกรรมที่เคยคิดกันว่า มนุษย์ผู้มี “ศีลธรรม” เท่านั้น จึงจะสามารถแสดงออกมาได้
แม่ลิงชิมแพนซีกับลูก ไม่ทิ้งก้น ภาพ สตีฟ
“ศีลธรรม” ที่ค้นพบในสัตว์โลก จัดแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม คือ (1) ความเป็นธรรม คือ รู้จักแบ่งสันปันส่วนกัน สำนึกในความเสมอภาค ไม่เอาเปรียบกัน และรู้จักให้อภัย (2) ความหยั่งรู้ในทุกข์ยากของเพื่อน รู้จักเห็นอกเห็นใจ รู้สึกเศร้าใจไปกับเพื่อน รู้สึกสลดใจ และปลอบโยนเป็น และ (3) ความร่วมมือ รู้สึกอ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้อื่น รู้จักแลกเปลี่ยนประโยชน์กัน มีความซื่อสัตย์ และไว้ใจได้ ทั้งนี้ ล้วนพิสูจน์ว่า “สัตว์ก็มีศีลธรรมเช่นเดียวกับมนุษย์”
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่น่าทึ่งที่สุดเกิดขึ้น ณ ศูนย์กู้ชีวิตหมาป่าไคโอตแห่งรัฐอินเดียนา สหรัฐฯ คือ มีหนูอ่อนวัยมากสองตัว พลัดตกลงไปในอ่างล้างมือที่ไม่มีน้ำแต่ลึกเป็นพิเศษ หนูน้อยทั้งสองพยายามไต่ขึ้นสู่ขอบอ่างตลอดคืน แต่ไม่สำเร็จ
วันรุ่งขึ้น ผู้อำนวยการศูนย์ฯพบหนูน้อยในอ่างด้วยความตะลึงเป็นคนแรก หนูทั้งสองกำลังเหนื่อยอ่อนสุดขีดและหวาดกลัว ผอ.จึงหาน้ำให้กินทันที ปรากฏว่า มีหนูตัวเดียวที่ยังพอมีแรงลุกขึ้นกินน้ำได้ ส่วนอีกตัวหนึ่งหมดแรงนอนแน่นิ่งไป เมื่อเห็นก้อนอาหารตกอยู่ใกล้ตัว หนูแข็งแรงกว่าก็คาบอาหารก้อนนั้นไปให้หนูอ่อนแรงกิน และคอยผลักดันก้อนอาหารไปยังถ้วยน้ำ ส่งผลให้หนูอ่อนแอค่อยๆ ขยับตัวเข้าใกล้ถ้วย จนสามารถกินน้ำเองได้
ทั้งนี้ สะท้อนว่า หนูตัวแข็งแรงคิดเป็นและสามารถหยั่งรู้ความทุกข์ยากลำบากของหนูอีกตัวหนึ่งได้ แถมได้ให้การช่วยเหลือหนูอ่อนแอกว่าอย่างปราศจากเงื่อนไข กล่าวคือ ได้แสดงให้เห็นถึงความมี “ศีลธรรม” อย่างชัดเจน
ขอให้นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เป็นสาวก “ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ” และกำลังทำให้เมืองไทย ต้องตกต่ำด้วย “คอร์รัปชั่น” อีกทั้งต้องสอบตกหน้าแตกในเรื่อง “ความโปร่งใส” โปรดเลิก“คอร์รัปชั่น” หยุดทำร้ายบ้านเกิดเมืองนอน กลับใจปฏิบัติตนเยี่ยงองคุลิมาล และหยุดประจานตัวเองและครอบครัวได้แล้ว...
ไม่อับอายขายหน้าสัตว์โลกในเรื่อง “ศีลธรรม” บ้างเลยหรือ?
"ช้างตกมันชื่อ ธนปาลกะ ยากที่ใครๆ จะห้ามได้
ถูกล่ามไว้ ไม่ยอมกินอาหาร พระยากุญชร รำลึกถึงแต่ป่าช้าง”
พุทธวจนะในธรรมบทบาลี
แปลโดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก