Tuesday, November 14, 2017


ปฏิรูป : จุดบอดที่น่าขจัด

โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต

dhanarat333@gmail.com


       หลีจื๊อ นักปราชญ์จีน สมัย 25 ศตวรรษก่อน มีความรอบรู้ดียิ่งในคำสอนของปรมาจารย์เล่าจื๊อและยอดนักการปกครองขงจื๊อ...ขนาดสามารถตีความคำสอนที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันของทั้งสองท่าน ให้มีความกลมกลืนกันขึ้นมาได้อย่างน่าทึ่ง

        ท่านหลีจื๊อได้เล่านิทานอมตะสอนใจไว้เรื่องหนึ่ง ความว่า กาลครั้งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งในแคว้นฉี เป็นคนหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่ก็ยังยากจนมาตลอด อย่างเก่งก็เก็บสะสมได้ไม่เกินหนึ่งเหรียญทองคำ ที่น่าเวทนายิ่ง ก็คือ มีสังขารวัยชราภาพ เวลาเดิน จะสะบัดไปซ้ายทีขวาที ไม่ทรงตัว

        ตื่นนอนเช้า ชายชราจะคิดแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ ตลอดวัน หลับนอนตอนค่ำ ก็ฝันแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ ตลอดคืน แต่ก็ยังต้องใช้ชีวิตแบบ "ตีนถีบปากกัด" มาเรื่อย ไม่ร่ำรวยขึ้นมาสักที

        วันหนึ่งๆ ชายชราได้แต่เดินไปที่บ้านเศรษฐีทั้งหลาย เพื่อของานทำ ก็ได้แต่งานที่ต้องใช้แรงกายอย่างเหนื่อยยากแสนเข็ญเกินสังขาร โดยได้รับค่าจ้างตอบแทนแบบย่ำแย่มาก พอได้เงินมาบ้าง ก็นำไปเล่นพนันที่หน้าร้านขายเหล้า ปรากฏว่า ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวกลับบ้านเป็นประจำ ในที่สุด เหรียญทองคำอันสุดท้ายในย่ามก็มีอันต้องหลุดจากมือ เข้าสู่กระเป๋าของเซียนพนันผู้เป็นเจ้ามือ ด้วยความเสียดายยิ่ง
        วันหนึ่ง ชายชราตื่นแต่เช้าตรู่ จัดแจงแต่งตัวให้แลดูเรียบร้อย มุ่งหน้าเดินไปยังตลาด ตรงรี่ไปที่ซุ้มขายทองคำ พลันฉกฉวยทองคำแท่งใหญ่มาได้แท่งหนึ่งแล้ว ก็รีบวิ่งหนีกระย่องกระแย่งไปตามทางเท้า ทว่า วิ่งไปได้ไม่นาน ก็ถลาเข้าชนอย่างจังเข้ากับเจ้าหน้าที่รักษาการณ์คนหนึ่ง ซึ่งยืนขวางทางอยู่ เลยถูกลากเข้าห้องขังตามระเบียบ
        "เจ้าคิดยังไงถึงได้ไปขโมยทองคำแท่งของคนอื่น ต่อหน้าต่อตาผู้คนตั้งมากมายในตลาดแบบนั้น?" ผู้พิพากษาถามชายชราด้วยความสงสัย
        "ข้าแต่ศาลที่เคารพ เมื่อตอนที่คว้าทองคำแท่งนั้น ข้าฯ มองเห็นแต่ทองคำ มองไม่เห็นคนอื่นเลย ขอรับ" ชายชราสารภาพอย่างตรงไปตรงมา
        ท่านหลีจื๊อให้ข้อคิดไว้ว่า เรามักมองไม่เห็น "ปัจจัยอันประเสริฐในตัวเรา" โดยมุ่งมั่นแต่จะ "มี" หรือ "ครอบครอง" ปัจจัยนอกตัวอย่างวัตถุเงินทองอำนาจ เพื่อเพิ่ม "ราคาค่างวด" ให้กับตน แทนที่จะมุ่งมั่น "เป็นอยู่" กับ "ความเป็นจริงในปัจจุบันกาล" พูดง่ายๆ แทนที่จะ "เป็นอยู่กับความพอเพียงตามอัตภาพ" เรากลับ"โลภโมโทสัน"  "ละเมอหลงใหล" ไปกับ "ความฝันสำหรับอนาคตกาล" อย่างไม่สมจริง แบบ "สร้างวิมานในอากาศ"
         ในที่นี้ "ปัจจัยอันประเสริฐในตัวเรา" ได้แก่ "ศีลธรรม" "จริยธรรม" "คุณธรรม" "การทำตนให้เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม" "ความพอเพียง" ตลอดจน  "พระกามาลสูตร" (ความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ก้มหน้าเดินตามก้นผู้อื่น) ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่มี "คุณค่า" สูงยิ่งต่อตัวเราเอง ส่วนการครอบครองปัจจัยนอกตัวเรา ซึ่งเราถือว่ามี "ราคาค่างวด" โดยวิธีมิชอบด้วย "ศีลธรรม" ฯลฯ นั้น นับเป็นการกระทำที่ไม่ได้ "เป็นอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันกาล" อย่างสมจริง

          พูดง่ายๆ "การตั้งใจฉกฉวยปัจจัยนอกตัวในปัจจุบันกาล เพื่อจะได้ครอบครองในอนาคตกาล" คือ "การไม่ได้เป็นอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันกาลหรือความพอเพียงตามอัตภาพ" นับเป็นการใช้ชีวิตอยู่กับอนาคตกาลที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง ต้องตื่นเต้นครุ่นคิดทั้งในขณะตื่นนอนกับนอนหลับว่า "เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้วัตถุเงินทองอำนาจนอกกายมาครอบครองในภายภาคหน้าอย่างคนอื่นทั้งหลาย?" ด้วยความละเมอหลงผิดว่าจะได้มีหน้ามีตา ไม่อายชาวบ้าน เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล!

        ชีวิตที่ไม่ยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบันกาลและความพอเพียงตามอัตภาพ ย่อมจะได้รับการตอบสนองตาม "กฎแห่งกรรม" ที่บ่งบอกไว้ว่า "ทำความดีได้ดี ทำความชั่วได้ชั่ว" เสมอเหมือนกันหมด เมื่อชายชราทำความชั่วไว้ ก็ถูกจับเข้าห้องขัง เพื่อรับโทษานุโทษตามกฎหมายบ้านเมืองอย่างทันตาเห็น

        ตรงกันข้าม ชีวิตที่ได้ใช้เวลาสูดดมชมชื่นดอกไม้นานาพันธุ์ข้างทาง..ได้ชื่นชมแสงสีทองสุกอร่ามเรืองตาจากขอบฟ้ายามย่ำรุ่งหรือย่ำค่ำ..ได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่ไม่หรูหราแต่กระทัดรัดอย่างพอเพียง..หรือได้นั่งเล่นหมากรุกกับเพื่อนบ้าน หลังจากที่ได้ประกอบอาชีพสุจริตแล้ว คือชีวิตที่มีแต่กำไรกับกำไร โดยมิต้องลงทุนเสี่ยงชีวิตทรัพย์สินใดๆ มากมายเลย 

        นิทานสอนใจเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ความปรารถนาหรือกิเลสอัปมงคลตาม "ความใฝ่ฝัน" ที่จะ "รวยลัด" ขึ้นมาในอนาคตกาล ได้ก่อให้เกิด "จุดบอด" ในปัจจุบันกาล ส่งผลให้ชายชรามองไม่เห็นผู้คนมากมายที่กำลังชุมนุมอยู่ในซุ้มขายทองแท่ง และไม่รู้ว่าจะต้องวิ่งไปชนกับเจ้าหน้าที่รักษาการณ์ในตลาด ในที่สุด "ความเป็นจริงในปัจจุบันกาล" ที่ว่า "ทองคำแท่งนี้ไม่ใช่ของเรา" ก็ทำให้ทองกับชายชราต้องพรากจากกัน คือ ทองกลับไปหาเจ้าของโดยชอบ ส่วนชายชราก็ย้ายที่พักเข้าห้องขังเรียบร้อยโรงเรียนจีน
        ผู้ใดที่ฉ้อฉลฉ้อโกงเงินทองแผ่นดินไป ไม่ว่าจำนวนเท่าใด ก็เปรียบได้กับชายชราดังกล่าว สักวันหนึ่ง ผู้นั้นจะต้องวิ่งไปชนเจ้าหน้าที่รักษาการณ์ ถูกส่งขึ้นศาลดำเนินคดีตามความยุติธรรม หรือต้องพบกับความตายสักวันหนึ่ง ตาม "กฎแห่งธรรมชาติ" ซึ่งจะย่างกรายเข้ามากระชากเงินทองที่โกงแผ่นดินไป ให้หลุดออกจากมืออย่างไม่มีทางเลี่ยงได้ พูดง่ายๆ "มามือเปล่า ไปมือเปล่า" ตาม "กฎแห่งธรรมชาติ" ที่กำหนดให้เราใช้ชีวิตแบบ "เป็นอยู่กับปัจจุบันกาลอย่างพอเพียงตามอัตภาพ" และให้เราทำการภาวนาจิต มิใช่ให้ใฝ่หาครอบครองปัจจัยนอกกายอย่างคนขาดสติสัมปชัญะ
        การใช้ชีวิตอยู่กับ "ปัจจัยอันประเสริฐในตัวเรา" ซึ่งได้แก่ "ศีลธรรม" ฯลฯ ดังกล่าว คือการก้าวเข้าสู่ "ความร่ำรวยและความสุขขนานแท้จริง" คือ ไม่โกงก็รวยได้ และไม่มีผู้ใดหรืออำนาจใดจะสามารถขวางกั้นหรือกระชาก "ความเจริญสุข" ให้พลัดพรากจากผู้ใช้ชีวิตกับปัจจัยดังกล่าวได้เลย

        "ค่านิยมในการครอบครองทรัพย์สินเงินทองอำนาจ" นอกกาย ไม่ด้วยเล่ห์ก็ด้วยกล โดยไม่คำนึงถึง "ความเป็นจริง" อย่างสมจริง คือ ค่านิยมของ "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ"  ซึ่งเป็นลัทธิที่มี "จุดบอด" ที่ไม่แตกต่างอะไรไปจากจุดบอดของชายชราดังกล่าว จริงๆแล้ว วิชาเศรษฐศาสตร์ตะวันตกคือวิชาของ "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ที่ "กระจายรายได้" เข้าสู่กระเป๋าคนรวย มิใช่สู่มือคนจน ดังนั้น ภายใต้ระบบเศรษฐศาสตร์ตะวันตกที่เรากำลังเดินตามก้นผู้อื่นอยู่ นั้น คนรวยมีแต่รวยยิ่งขึ้น ส่วนคนจนมีแต่จนดิ่งลง บางครอบครัวตกอยู่ในสภาพอดมื้อกินมื้อ ย่ำแย่กว่าสัตว์เลี้ยงในบางบ้านเสียอีก

        ด้วยเหตุนี้ ผู้นำประเทศน่าจะพิจารณานำ "พุทธเศรษฐศาสตร์" มาบริหารประเทศ โดยมิต้องเกรงว่าจะเป็น "แกะดำ" ในยุคโลกาภิวัฒน์ เพราะพุทธเศรษฐศาสตร์คือ "ภาพกระจกเงา" ของ "พระธรรม" อันเป็นสัจธรรมที่ทันสมัยอยู่เสมอ  นักเศรษฐศาสตร์อัจฉริยะชาวอังกฤษนามว่า "อีเอฟ ชูมาเชอร์" (E. F. Schumacher) ได้ศึกษาพระไตรปิฎกแล้วฟันธงว่า เป็นพระคัมภีร์พุทธที่มีระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืนแฝงอยู่อย่างแยบยล คือ มีคำชี้แนะให้เราใช้ทุนทรัพย์ทั้งปวงอย่างสมเหตุสมผลและยั่งยืน

        ท่านชูมาเชอร์มองว่า พระไตรปิฎกสอนให้เราใช้ทรัยพยากรธรรมชาติอย่างมีเหตุมีผล จึงแนะนำให้ปวงชนในแต่ละชุมชนรากหญ้าเป็นผู้ริเริ่มเลือกทำกิจกรรมเศรษฐกิจตามอัตภาพของตนและท้องถิ่น เพื่อจะได้ใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างเหมาะสมที่สุดและเป็นมรดกสืบทอดแก่บุตรหลานอย่างสูงสุดต่อไป ยิ่งกว่านั้น ท่านยังได้เสนอแนะให้ผู้นำประเทศทั้งหลาย นำพุทธเศรษฐศาสตร์ไปพิจารณาบริหารชาติบ้านเมือง เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนต่อไป

        หากจะปฏิรูปชาติบ้านเมืองทั้งที ผู้นำก็น่าจะป้องกันแก้ไข "จุดบอด" ของชายชรา ด้วยการเสริมสร้าง "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" ที่นิยมวิถีชีวิตที่กอปรด้วย "ปัจจัยอันประเสริฐในตัวเรา"ซึ่งได้แก่ "ศีลธรรม" ฯลฯ ดังกล่าว ซึ่งพระบรมศาสดาโลกทั้งหลายได้ทรงชี้แนะไว้เป็นช่องทางให้มวลมนุษย์ได้เข้าสู่ความเจริญสุขหรือสวรรค์อย่างแท้จริง

        เกมส์ชีวิตไม่จำต้องมีแต่ "แพ้หรือชนะ" เท่านั้น คือ ทุกชีวิตมีสิทธิ์ "ชนะกับชนะ" ได้ โดยเฉพาะเมื่อได้ทำงานหาเงินหาทองมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตชอบธรรม ดังนี้แล้ว จะมีเหตุผลใดหรือที่เศรษฐีจะมีความเจริญสุขไม่ได้?

         สังคมไทยจะมีความเจริญสุขได้ก็ต่อเมื่อผู้นำได้ยุบสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นแทนที่ เพื่อให้สังคมไทยเป็นอริยสังคมที่ตื่นแล้ว ให้คนไทยเป็นอริยชนที่ตื่นแล้ว โดยมีวัดเป็นวัดพุทธ มิใช่เป็นวัดพุทธพาณิชย์ที่ถูกใช้เป็นแหล่งส้องสุมอาวุธ เก็บรักษารถยนต์หรูหราไว้มากมาย ตลอดจนขายบริการทำพิธีกรรม หรือปลุกเสกไสยศาสตร์ เพื่อสร้างความร่ำรวยอันน่าอับอายสลดใจให้กับสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ทั้งหลาย จนกระทั่งคนไทยไม่มีพระพุทธศาสนาแท้จริงเป็นเข็มทิศนำทางชีวิตต่อไป 

        ตราบใดที่วิญญาณจิต "เศรษฐกิจตะวันตก" ยังชักนำวิญญาณจิต "สังคมไทย" อยู่ เราก็จะยังมีแต่ปวงชน (ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย) ที่ยากจนแสนเข็ญ อีกทั้งนิยมคิดพูดทำอย่างชายชราดังกล่าว เราจะยังมีแต่ปัญหาโกงกินในหมู่ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ที่รังแต่จะขยายวงกว้างออกไป ส่วนรัฐบาลก็จะยังต้องใช้เงินแผ่นดินมหาศาลในการบำรุงรักษาระบบตุลาการและก่อสร้างเรือนจำเพิ่มเติมอย่างไม่จบสิ้น ทั้งนี้ เพื่อเลี้ยงดูผู้บกพร่องทางวิญญาณจิตอย่างชายชราต่อไป

        ปัญหาของชายชรา นั้น คนไทยทุกคนจะต้องมีส่วนรับผิดชอบป้องกันแก้ไขร่วมกับผู้นำประเทศ เพราะผู้นำฯ "ตบมือข้างเดียวไม่ดัง" และไม่มี "ไม้กายสิทธิ์" ที่มีอำนาจชี้ไม้ให้เป็นนกได้ โดยเราอาจเริ่มต้นด้วยการเข้าวัดทำความสะอาดและบูรณะวัด ร่วมใจกันปฏิรูปวัดให้เป็น "โรงพยาบาลรักษาวิญญาณจิต" ตามที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้สอนไว้ 

        นอกจากนี้ เราต้องช่วยกันใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการเสริมสร้างสื่อมวลชนให้เป็นสื่ออริยชนที่ตื่นแล้ว และเป็นอยู่กับความพอเพียง ช่วยกันสร้างกับเผยแพร่คำสอนของพระบรมศาสดาโลก โดยตีพิมพ์และเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ ใช้สื่อสังคมอย่างผู้ตื่นแล้ว และติดตั้งคำสอนของพระบรมศาสดาโลกที่ให้ทุกคนภาวนาจิตและลดละเลิกการครอบครองปัจจัยนอกกาย ตามที่สาธารณะต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อเผยแผ่ "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" สู่ปวงชนอย่างกว้างขวางและจริงจัง และให้ไทยได้เป็น "ศาลาพักร้อน" ของชาวโลกทั้งหลายท่ามกลางความปั่นป่วนอยู่ทั่วโลก

        หาไม่แล้ว เราก็จะยังร่วมกันมัวเมาหลงใหลพัฒนาชาติบ้านเมืองแบบน้ำเน่าอยู่ เพื่อหาวิมานอะไรมิทราบ?