Thursday, July 9, 2015

จิตรู้ทันรู้สำเร็จ

ธนรัตน์ ยงวานิชจิต



เมื่อสมัย 800 ปี ถึง 1,100 ปี ก่อน ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในยุคสมัยของ “นักรบซามูไร” ผู้เก่งกาจในวิทยายุทธฟันดาบ พิชิตข้าศึกได้ทั้งสิบทิศ จนได้สถาปนาตนเป็น “โชกุน” ผู้ครองแผ่นดิน

กลุ่ม “นักรบซามูไร” นี้ ได้พัฒนาการสู้ศึกบนหลังม้ามาเป็นบนพื้นดินด้วยการใช้ดาบ ซึ่งได้วิวัฒนาการเป็นดาบยาวกว่าเดิม คือไม่ต่ำกว่า 60 เซนติเมตร ใบดาบมีลักษณะโค้งเล็กน้อยตอนท่อนปลาย ผ่านกระบวนการผลิตที่ยุ่งยาก จนมีความแข็งแกร่งและคมกริบ มีแรงฟันที่ทรงพลังกว่าดาบตรงธรรมดาหลายเท่า มีความคมที่สามารถผ่าเส้นผมตามยาวออกเป็นสองซีกได้ 

นักรบกลุ่มนี้ ยังได้นำเอา “ปรัชญาคุณธรรมแห่งนักรบ” ของประเทศจีนมาพัฒนาต่อเนื่องเป็น “วิถีแห่งนักรบบูชิโด้” ยึดมั่นในวินัยและศักดิ์ศรี จนได้รับการขนานนามเป็น “นักรบซามูไร” อันเกรียงไกร

มีตำนานเล่ากันว่า วันหนึ่งนักดาบซามูไรคนหนึ่ง พาคณะบริวารเดินทางไปกราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดพุทธเซนแห่งหนึ่ง เมื่อคุกเข่าลง วางดาบซามูไรลงบนพื้นห้องรับรอง กราบนมัสการท่านเจ้าอาวาสเรียบร้อยแล้ว นักดาบอาคันตุกะก็เริ่มสนทนากับเจ้าอาวาส

“กราบนมัสการพระคุณเจ้า ข้าฯได้ยินคำว่า นรกกับสวรรค์มาช้านาน ขอกราบพระคุณเจ้า ได้เมตตาตอบให้หายข้องใจสักหน่อยได้ไหมว่า นรกกับสวรรค์นั้น มีจริงหรือไม่ ขอรับ?”

ท่านเจ้าอาวาสนั่งนิ่งอยู่พักใหญ่ แล้วตอบด้วยสุ้มเสียงหนักแน่นว่า

“เรื่องนรกกับสวรรค์นี้ เป็นเรื่องเข้าใจยาก คนงี่เง่าอย่างโยมเจ้า จะไม่มีวันเข้าใจได้หรอก”

ในบัดดลนักดาบผู้มาเยือนเริ่มมีอาการ “เลือดขึ้นหน้า” หน้าตาแดงก่ำด้วยความพิโรธโกรธกริ้ว เมื่อได้ยินคำสบประมาทจากเจ้าอาวาส พลันคว้าดาบซามูไรที่วางอยู่บนพื้นมาถือไว้ พรวดพราดลุกขึ้นยืน ชักตัวดาบอันคมกริบออกจากฝักอย่างว่องไว ทิ้งฝักลงพื้น สองมือกำด้ามดาบไว้แน่น ยกดาบขึ้นเหนือศีรษะ พร้อมที่จะฟันลงไปที่คอท่านเจ้าอาวาส พลางตะโกนลั่น

“ฮึ่ม! พระคุณเจ้า อยากให้หัวหลุดออกจากบ่ารึไง?”

ท่านเจ้าอาวาสตอบด้วยน้ำเสียงเยือกเย็นทันทีว่า “นี่แหละคือนรก”

นักดาบซามูไรยืนแน่นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง เริ่มรู้สึกตัวขึ้นมาแล้วว่า อารมณ์โกรธกริ้วของตน นั้น คือ “นรก” นั่นเอง จึงวางดาบลง คุกเข่าก้มลงกราบขออภัยท่านเจ้าอาวาสด้วยน้ำเสียงสีหน้าสำนึกผิด

ทันใดนั้น ท่านเจ้าอาวาสก็กล่าวขึ้นอย่างเยือกเย็นว่า “นี่แหละคือสวรรค์”

เมื่อได้ยินได้ฟังประโยคท้ายสุดจากเจ้าอาวาสแล้ว น้ำตาของนักรบซามูไรก็เริ่มซึมออกมาในเบ้าตา ด้วยความดื่มด่ำซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งใน “คำไขข้อข้องใจ” จากท่านเจ้าอาวาส

“ภาวะจิต” ที่ได้เกิดขึ้นกับนักดาบซามูไรนั้น ก็เกิดขึ้นได้กับผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะกับผู้ที่ยังไม่สันทัดใน “การรู้ทันอารมณ์” ของตัวเองและผู้อื่น ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุม “อารมณ์อกุศล” ของตน และไม่สามารถเสริมสร้าง “ความสัมพันธ์ด้วยอารมณ์กุศล” กับผู้อื่น

พระพุทธศาสนาได้บ่งบอกวิถีทางฝึกฝนจิตตนให้เข้มแข็งด้วย “การทำสมาธิ”โดยสำรวมจิตกับกายให้อยู่นิ่ง หายใจเข้า-ออกลึกๆ ปล่อยให้ความคิดผ่านเข้ามาแล้วผ่านออกไปเป็นระลอกๆ ในช่วงเชื่อมต่อของแต่ละระลอกนี้ คือ “ความสงบเงียบที่แท้จริง” ซึ่งแม้อาจสงบอยู่ได้เพียง 1 วินาที ก็เป็น “ความสงบ” ที่ตรงกับ “ความว่างเปล่า” ระหว่างดวงดาวในจักรวาล หรือ “พลังมืด” (dark energy) ที่ทำให้จักรวาลขยายตัวออกไป

“ความว่างเปล่า” นี้ คือ “ภาวะจิตว่าง” หรือ “นิพพาน” นั่นเอง 

ผู้ใดที่เข้าไปอยู่ใน “ความว่างเปล่า” นี้ได้ จะเข้าถึง “จิตว่าง” หรือ “นิพพาน” มี “สมรรถนะรู้ทันอารมณ์” สามารถควบคุมกิเลสตัณหาอกุศลของตนได้ หาไม่แล้วจะถูก “ไฟอารมณ์” เผาไหม้ อย่างเช่นนักดาบยอดซามูไรดังกล่าว

วิชาจิตวิทยาตะวันตกสมัยใหม่นี้ กำลังเร่งเครื่องไล่ตามให้ทัน “พระธรรม” อยู่ เรียก “สมรรถนะรู้ทันอารมณ์” นี้ว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” (Emotional Intelligence) ขณะนี้ นักจิตวิทยาสามารถอาศัย “กระบวนการวิทยาศาสตร์” พิสูจน์ได้ว่า ความฉลาดข้อนี้มีฐานตั้งอยู่ ณ ส่วนลึกตรงกลางสมอง ขนาดบ่งชี้ได้ว่า อวัยวะที่เป็นบ่อเกิดของความฉลาดข้อนี้ ได้แก่ “ปมประสาท” ชื่อว่า “อมิกดาลา” (amygdala) ทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการของอารมณ์ “ขลาดกลัว” และ “ก้าวร้าวดุดัน” ที่สังเกตเห็นได้อยู่ทั่วไป

ปัจจุบันนักจิตวิทยอุตสาหกรรมและองค์การ วิจัยค้นพบว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” คือคุณสมบัติสำคัญยิ่งของ “ภาวะผู้นำ” คือ ผู้นำที่มีความฉลาดข้อนี้ สามารถประสบผลสำเร็จในงานไม่มากก็น้อย ในการนำพาทีมงานสู่การบรรลุเป้าหมายงาน ได้ดีกว่าผู้นำที่ขาดคุณสมบัติข้อนี้ ไม่ว่าจะทำงานค้ากำไร งานรับใช้ประชาชน งานกำกับกองทัพในศึกสงคราม หรืองานแพทย์พยาบาลอยู่ และพบว่า แพทย์พยาบาลที่มีความฉลาดข้อนี้ สามารถเยียวยาคนไข้ให้หายป่วยได้ดีกว่าแพทย์พยาบาลที่ไม่มีความฉลาดข้อนี้

ดร.แดเนียล โกลแมน นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การอเมริกัน ผู้บุกเบิกเผยแพร่และวิจัยเกี่ยวกับ “ความฉลาดทางอารมณ์” มานับสิบๆ ปี ยืนยันหนักแน่นว่า ความฉลาดข้อนี้คือคุณสมบัติที่ “ขาดมิได้” ของผู้ทำหน้าที่ “ผู้นำ” หรือ “หัวหน้างาน” ในองค์การ 

แม้ผู้นำคนหนึ่งใดจะมีเชาวน์ปัญญาสูง ฝีมือในการวิเคราะห์ยอดเยี่ยม ความรู้ระดับดุษฎีบัณฑิต ตลอดจนความคิดอ่านดีๆ นับไม่ถ้วน แต่หากขาดความฉลาดข้อนี้แล้ว ผู้นำคนนั้นก็จะยังไม่เป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมจริง

ข่าวดีมีอยู่ว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” คือทักษะที่ฝึกฝนให้เกิดขึ้นมาได้ แต่โดยที่สังคมกำลังสนใจความฉลาดข้อนี้อยู่มาก จึงต้องระมัดระวังเลือกผู้ฝึกให้ดี ดร.โกลแมนเตือนไว้ว่า นักจิตวิทยาที่ได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้องในเทคนิคเสริมสร้างความฉลาดข้อนี้เท่านั้น จะสามารถฝึกฝนผู้รับฝึกให้ใช้ส่วนที่ถูกต้องของสมอง (limbic system) มิใช่ส่วนที่ผิด (neocortex) ในการเสริม “สมรรถนะรู้ทันอารมณ์” หาไม่แล้วการฝึกฝนผิดๆ กลับจะส่งผลอันไมพึงปรารถนาต่องานด้วย

ดร.โกลแมนได้ทำการศึกษาวิจัยกับกิจการขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งในสหรัฐ ทวีปยุโรป และเอเชีย พบว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 5 ประการ ต่อท้ายด้วยพฤติกรรมเด่นชัด ดังนี้ 

(1) รู้สำนึกในตัวเองเสมอ มั่นใจในตัวเอง ประเมินตัวเองอย่างสมจริง เล่าเรื่องขำขันเกี่ยวกับความเปิ่นซุ่มซ่ามของตน

(2) รู้จักกำกับความรู้สึกของตน น่าไว้วางใจได้ ไม่เครียดกับความกำกวม เปิดใจพร้อมปรับเปลี่ยนตน

(3) มีแรงจูงใจสูง ต้องการสำเร็จสูง มองโลกในแง่ดีแม้จะอยู่ในภาวะล้มเหลว และรักษาพันธสัญญาต่อองค์การ

(4) มีความสามารถสูงในการหยั่งรู้เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เก่งกาจเสริมสร้างรักษาศักยภาพไม่ธรรมดาให้กับองค์การ อ่อนไหวรับรู้ภาวะจิตในต่างวัฒนธรรม เต็มใจบริการลูกค้า

(5) มีท่าทีพร้อมเป็นมิตรกับผู้อื่น เก่งกาจนำพาการเปลี่ยนแปลงองค์การสู่สำเร็จ เก่งกาจโน้มน้าวผู้อื่น เชี่ยวชาญสร้างและชักนำทีมงาน

นอกจากนี้ ดร.เซอร์จี อาฟนาเซียฟ มหาวิทยาลัยยอร์ค สหพันธรัฐรัสเซีย ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “การทำสมาธิเพิ่มพูนความฉลาดทางอารมณ์ ในกลุ่มคนงานอพยที่พูดภาษารัสเซียในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” ซึ่งได้รับการเผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสารปริทัศน์ระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการวิจัยในหลากหลายวิชา ภาคฤดูร้อน ค.ศ.2014 พบว่า

“การทำสมาธิ” ในรูปแบบหนึ่งใด สามารถเพิ่มพูน “ความฉลาดทางอารมณ์” ได้เสมอเหมือนกัน และ “การเสริมสร้างสมรรถนะรู้ทันอารมณ์” ในตัวเองและบุคคลอื่น ส่งผลให้คนงานอพยพสามารถปรับจิตใจและวิธีเข้ากับสังคมรอบนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ดร.เดวิด แมคคลีแลนด์ นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การอเมริกันเรืองนาม ได้ศึกษาวิจัยพบว่า ผู้นำหรือหัวหน้างานผู้มีผลงานยอดเยี่ยม จักต้องมีองค์ประกอบทางจิต 3 ประการ ในลักษณะที่ “สมดุลกัน” คือ มีความต้องการ (1) อำนาจ โดยเฉพาะอำนาจเพื่อส่วนรวม  (2) สัมพันธ์ และ (3) สำเร็จ เพราะจะส่งผลให้ผู้นำสามารถอ่านจิตใจกับอารมณ์ของลูกน้อง ซึ่งก็มีความต้องการทั้งสามนี้อยู่แล้ว แต่ในลักษณะที่ไม่สมดุลกัน โดยเฉพาะ “ความต้องการสำเร็จ” ที่มักขาดอยู่ในผู้คนทั่วไป ข่าวดีมีอยู่ว่า นักจิตวิทยาสามารถฝึกฝนผู้สนใจให้มีความต้องการนี้ขึ้นมาได้เช่นกัน

จากประสบการณ์ที่ได้ฝึกฝนนักบริหารบุคคล และผู้นำในอุตสาหกรรมและองค์การไทย รวมทั้งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาหลายปี เกี่ยวกับความต้องการ "อำนาจ” “สัมพันธ์” และ “สำเร็จ” ในขณะรับราชการอยู่กรมแรงงานนั้น พอจะกล่าวได้ว่า ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี 


ทั้งนี้ เพราะเป็นการฝึกฝนจิตใจให้รู้จักกำกับความต้องการ “อำนาจ” ของตนเพื่อส่วนรวม รู้จักระวังความต้องการ “สัมพันธ์” ของตน มิให้ถูกผู้ไม่หวังดีเอารัดเอาเปรียบ และรู้จักเสริมสร้างความต้องการ "สำเร็จ" ของตน ปรับปรุงตนให้มีสมรรถนะสูงขึ้น รู้จักคิดอย่างสมจริง นิยมรับรู้ข้อมูลป้อนกลับทั้งที่่ดีกับไม่ดี แต่เป็นจริง เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงตน 
นอกจากนี้ ความรู้ในความต้องการดังกล่าว ยังนำไปประยุกต์ฝึกฝนตน เลือกหรือฝึกฝนคู่ครองชีวิต ให้อยู่ในลักษณะสมดุล นับเป็นความรู้ที่อำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาทางสังคมเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งในระดับส่วนตัวและส่วนรวมอย่างแท้จริง




“ความฉลาดทางอารมณ์” ก็ดี “ความต้องการอำนาจ สัมพันธ์ สำเร็จ” ก็ดี ล้วนเป็นวิชาความรู้ที่นักจิตวิทยาดังกล่าว พบว่า “จำเป็นและขาดมิได้” สำหรับ “ผู้นำ” ผู้มีผลงานยอดเยี่ยม 

อนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการน่าจะพิจารณานำวิชาความรู้ดังกล่าว ไปเสริมสร้าง “คุณภาพ” ประชากร โดยเริ่มฝึกฝนอย่างมีระบบให้กับผู้บริหาร ครู อาจารย์ในกระทรวง ตลอดจนนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาขึ้นไป เพื่อช่วยพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและการเมืองต่อไป

โดยที่การฝึกฝนทางจิตดังกล่าว คือการฝึกฝนทาง “โลก” ที่สอดคล้องกับการฝึกฝนทาง “ธรรม” ที่ให้หมั่นทำสมาธิและหมั่นคิดด้วย “เหตุ” และ “ผล” ตามความเป็นจริง ไม่งมงาย และนักจิตวิทยาอุตสาหกรรรมและองค์การดังกล่าว พบว่า มีศักยภาพส่งผลให้เกิด "ความรู้ทันอารมณ์" และ “ความต้องการสำเร็จ” ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม...

รัฐบาลจึงน่าจะพิจารณาบูรณาการวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ให้เข้าไปอยู่อย่างถาวร ในกระบวนการปฏิรูปชาติบ้านเมือง หากต้องการ “ปฏิรูปอย่างแท้จริง.”





กาสิโน
ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com

"เงิน" คือปัจจัยจำเป็นในการครองชีพ แต่จำเป็นถึงเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น คือ ระดับ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ค่านิยมต่างชาติ" ได้ยึดไทยเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมมานาน ส่งผลให้คนไทยจำนวนมาก ละทิ้งค่านิยมทาง "จิตนิยม" ที่มีรากฐานมาจาก "พระพุทธศาสนา" หันไปยึด "วัตถุเงินทองอำนาจ" หรือ "สิ่งนอกกาย" อย่างกว้างขวาง ฝังรากอยู่ลึก ลึกจน "เงินทอง" กลายเป็น "พระเจ้าแห่งสิ่งนอกกาย" สำหรับบูชา อย่างชาวกรีกเมื่อ 3,600 ปีก่อน ที่มี "เทพเจ้าเซอุส" เป็น "เทพแห่งท้องฟ้า กฎระเบียบ ชอบธรรม" สำหรับบูชา

ไทยจึงมีสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" อยู่ดาษดื่น ซึ่งมี "ความอิ่มหมีพีมัน" ในเงินทองตั้งแต่ระดับ "แสนล้านบาท" ลงมา แต่สาวกลัทธิอุบาทว์นี้ไม่มีสิทธิ์ติดรายชื่ออภิมหาเศรษฐีโลกในนิตยสารฟอร์บส์โด่งดัง เพราะเป็นผู้ได้เงินมาด้วยอำนาจทางการเมือง และเป็นเงินที่ไม่มีสิทธิ์สืบทอดมรดกโดยชอบธรรม คือ เป็นเงินที่ต้องคืนให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินโดยชอบ

กระนั้นก็ตาม สาวกลัทธิอุบาทว์นี้ก็ยังพยายามหาทางเพิ่มพูน "เงินทอง" ให้กับตัวเองอย่างไม่รู้จักพอเพียง โดยได้เสนอในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ออกกฎหมายรับรองการตั้งบ่อนพนัน "กาสิโน" ซึ่งไม่อำนวยผลดีต่อสังคมเศรษฐกิจเลย แถมมีเจ้ามือเครื่องมืออุปกรณ์ครบครันพร้อมสำหรับโกงกินเงินคนไทย ถ่ายเทเข้ากระเป๋าส่วนตัวต่อไป

เหตุผลที่สาวกลัทธิอุบาทว์ยกขึ้นอ้างแบบไร้เดียงสา คือ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของเงินไทยสู่ต่างประเทศที่มี "กาสิโน" บริการคนไทยที่ข้ามเขตแดนไปเล่นพนันกันนับล้านบาทต่อปี

แล้วหากชาวต่างด้าวแห่กันมาร่วมวงไพบูลย์ เปิด "กาสิโน" ในไทย เงินไทยจะอยู่ในไทยได้อย่างไร?

เหตุผลที่ว่า บ่อนพนันสร้างงานกับเศรษฐกิจนั้น ก็ไม่จริง เพราะธุรกิจเดิมที่ตั้งอยู่รอบๆ บ่อนสร้างใหม่ ลงเอยก็ต้องล้มละลายไป เนื่องจากลูกค้าเดิมต่างหันไปจับจ่ายที่บ่อนหมด ส่วนเงินภาษีอากรจากบ่อนจะตรงกับกำไรแท้จริงเพียงใด ก็มีแต่เจ้าของบ่อนเท่านั้นที่รู้

นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจชาติบ้านเมือง ย่อมพิสูจน์ได้ว่า "กาสิโน" มี "ข้อเสีย" มากกว่า "ข้อดี" อย่างแน่นอน

ดร.พอล แซมมวลซัน นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลอัน ทรงเกียรติ สรุปไว้ว่า "การพนันเป็นเพียงการถ่ายเทเงินระหว่างบุคคลแบบไม่มีอะไรงอกเงย ไม่มีเงินจากแหล่งใหม่เข้ามา..มีแต่ดูดซับเวลาและทรัพยากร..ตัดทอนรายได้ของชาติ"

ในระดับบุคคล บ่อนในและนอก "กาสิโน" ล้วนมุ่งโกงเงินของแฟนพนันกันทั้งนั้น เดวิด ไอเมอร์ มีรายงานน่าสนใจจากเฉนหยาง ประเทศจีน ผ่านเดอะเทเลกราฟ 24 มิถุนายน 2558 เกี่ยวกับเซียนพนันชื่อนายมา และแฟนพนันชื่อนายหวัง (นามสมมติหมด)

นายมาเคยเป็นเจ้ามือไพ่เร่ร่อน แอบเล่นพนันอยู่ในอาคารห้องชุดตามเมืองต่างๆ เพราะรัฐบาลจีนมีกฎหมายกำหนดให้ "กาสิโน" เป็น "กิจการผิดกฎหมาย" และ "ปีศาจชั่วร้าย" เขามีพรสวรรค์ในการแจกไพ่ให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ โยนลูกเต๋าให้กลิ้งแบบจับวาง และเล่นไพ่นกกระจอกให้ชนะได้เสมอ บางครั้งก็แอบสวม "เลนส์สัมผัส" สั่งทำพิเศษ ช่วยให้มองเห็น "ตำหนิ" บนไพ่ที่สั่งทำสำรับละ 1,000 หยวน (1 : 5.45 บาท) เคยชนะไพ่ได้เงินถึง 780,000 หยวนในหนึ่งชั่วโมง แม้เคยเตือนผู้คนว่า เจ้ามือ 90% ในบ่อน โกงท่าเดียว ก็ไม่มีใครเชื่อ จนได้เห็นตนสาธิตให้ดูสดๆ ว่า โกงได้ง่ายขนาดไหน

ส่วนนายหวังสร้างเนื้อสร้างตัวจนเป็นชนชั้นกลางในปี 2547 มีภรรยาสุดที่รักและลูกชายอ่อนวัยหนึ่งคน จากนั้น ก็เริ่มเล่นไพ่แบล็กแจ็ก แล้วติดไพ่นี้จนหมดตัวไป 1.7 ล้านหยวนในสองปี เคยหมดไป 200,000 หยวนในหนึ่งคืน เงิน 2 ล้านหยวนที่เก็บมา 7 ปี เสียให้กับการพนันไปเกือบหมด จนเหลือเงินไม่พอสั่งซื้อสินค้ามาขาย ลูกค้าที่เคยมีก็หดหายไป ในที่สุด ภรรยาพาลูกชายแยกจากไปอยู่กับพ่อแม่เธอ

เมื่อเห็นนายมาสาธิตกลโกงให้ดูแล้ว นายหวังถึงกับร้องขึ้นว่า มิน่าเล่า เห็นมีเจ้ามือสองสามคนที่ไม่เคยเสียเงิน แต่ตัวเองเสียเงินตลอด แล้วปฏิญาณตนจะไม่เล่นพนันอีก

ในระดับสังคม เมื่อปี 2554 นายเอิร์ล กริโนลส์ รายงานไว้กับศูนย์จริยธรรมคริสเตียน มหาวิทยาลัยเบเลอร์ สหรัฐ ว่า การพนันก่อให้เกิดความเสียหายทางสังคม 9 ข้อ คือ
  1. อาชญากรรม : ปลอมแปลงเอกสาร ฉ้อฉล โจรกรรมการค้า
  2. การจ้างงาน : เสียผลิตภาพและเวลาทำงาน สรรหาคัดเลือกและฝึกอบรมใหม่
  3. การล้มละลาย : เสียทรัพยากรทางกฎหมายและอื่นๆ
  4. การฆ่าตัวตาย : เสียชีวิตของแฟนพนันที่ท้อแท้สิ้นหวัง กระทบต่อครอบครัวและสังคม
  5. การเจ็บป่วยจากติดพนัน : เค้นเครียด วิตกกังวล โรคหัวใจกับหลอดเลือด โรคซึมเศร้า โรคเรียนรู้เสื่อม
  6. การสังคมสงเคราะห์ : ค้ำจุนการตกงาน รักษาพยาบาล และใช้ จ่ายอื่นๆ
  7. การรักษากฎหมาย : ควบคุมการพนันกับอุตสาหกรรมพนัน
  8. ครอบครัว : ทะเลาะวิวาท แตกแยก หย่าร้าง ละเมิดละเลยเด็กๆ ในครอบครัว
  9. เงินมิชอบ : ได้มามิชอบ ขโมยมา ไม่ได้แจ้งความกับตำรวจ 

ทั้งนี้ เดวิดได้แสดงตัวเลขบ่งบอกค่าเสียหายในแต่ละข้อด้วย โดยสรุปว่า คนติดพนันหนึ่งคนจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายต่อสังคมราว 9,393 เหรียญต่อปี (1 : 32 บาท)

คนติดพนันได้อย่างไร?

องค์กรช่วยเหลือคนติดพนัน คานาดา เปิดเว็บไซต์ชี้แนะไว้ว่า คนติดพนันเมื่อตกอยู่ใน "ภาวะจิต" ดังนี้

มีมายาคติว่าตนกำกับจังหวะโชคลาภได้ ละเมอว่าตนกำลังใช้ฝีมือสติปัญญาเล่นพนันอยู่ แต่จังหวะโชคลาภมีช่องทางเดินที่ไม่เข้าข้างออกข้างผู้ใด ไม่ตามใจผู้ใด

หลงใหลเสน่หาเงินรางวัล การพนันก่อให้เกิดความรู้สึกดี-ชอบ ทุกคนชอบชนะพนัน จำจังหวะชนะได้นานกว่าแพ้ บางคนชนะตอนแรกเริ่ม เลยหลงเชื่อว่าการพนันคือเส้นทางสู่การเป็นเศรษฐี

ผีพนันครอบงำ แฟนพนันมือใหม่มักชนะได้เงินในช่วงแรก จึงหลงผิดว่าตนเป็นคนมีโชคลาภ เกิดแรงดลใจพนันไปเรื่อยๆ ชนะเมื่อใดก็ให้รู้สึกครึ้มอกครึ้มใจ อยากที่จะรู้สึกเช่นนั้นอีก จึงเล่นพนันต่อไปเรื่อยทั้งที่แพ้ตลอด

โชคลาภจะกลับมา กลับพบเพียงโชคร้าย แต่ก็หยุดพนันไม่ได้ ด้วยหลงผิดว่า โชคลาภใหญ่จะกลับ ยิ่งแพ้ถี่ขึ้น ก็ยิ่งหลงผิดว่ากำลังขยับใกล้โชคลาภเข้าไปทุกที พฤติกรรมพนันจึงเป็นทางตัน มิใช่ทางออกสู่โชคลาภ

เมื่อตกอยู่ใน "ภาวะจิต" ดังกล่าว แฟนพนันก็ไม่แตกต่างอะไรไปจาก "หนูติดจั่น" กลายเป็น "คนตายทั้งเป็น" ที่นั่งอยู่ข้างๆ เจ้ามือยอดนักโกงและอุปกรณ์การพนันที่ออกแบบมาให้เอาเปรียบแฟนพนัน ตลอดวันคืนอยู่ใน "กาสิโน" ที่เจ้าของบ่อนอุตส่าห์ลงทุนมหาศาลสร้างไว้ต้อนรับแฟนพนันเป็นอย่างดียิ่ง จะได้ไม่รีบหนีไปไหน

นอกจาก "ภาวะจิต" ดังกล่าวแล้ว แฟนพนันยังขยับตัวลุกขึ้นเดินออกจาก "กาสิโน" ไม่ได้ เพราะ "สมอง" ถูกพฤติกรรมเล่นพนันของตน "บงการจี้ปล้น" จน "สติแตก" ไปแล้ว

เบ็น ธอมัส ผู้ก่อตั้งองค์กรเดอะคอนเนคโทม อธิบายภาวะ "บงการจี้ปล้น" ไว้ในเว็บไซต์ว่า ณ ส่วนลึกเข้าไปในศีรษะคือที่ตั้งของสมองส่วนหนึ่ง ซึ่งจะเกิดคลื่นกิจกรรมคึกคักทุกครั้งที่แฟนพนัน "คาดหมายล่วงหน้า" ว่าจะได้รับโชคลาภจากพนัน อาการคึกคักนี้เกิดขึ้นเพราะเซลล์ประสาทในสมองส่วนนี้ ขับสาร "โดปามีน" ออกมา ส่งผลให้เกิด "ความรู้สึกอภิรมย์หรรษาพาเพลิน" ดลใจให้แฟนพนันกล้าเสี่ยงเงินอย่างบ้าบิ่น โดยมิรู้ตัว จนสิ้นเนื้อประดาตัว นำพาตนเองกับครอบครัวสู่ "นรกบนดิน"

เบ็น ธอมัส แนะว่า เมื่อสมองถูก "บงการจี้ปล้น" อยู่ จงพยายามหาตัวเลขมาคำนวณเล่นๆ หรือเพ่งจิตไปที่ "ปัจจุบันกาล" โดยทำสมาธิแบบเรียบง่าย ให้รู้ลมหายใจเข้า-ออก ลึกๆ ช้าๆ เพื่อให้สมองส่วนหน้านำความจริงมาคิด จะได้มองเห็นความไร้เหตุผลในพฤติกรรมพนัน และหยุดเล่นพนันก่อนที่จะสายเกินไป

เฟอรริส จาบร์ รองบรรณาธิการใหญ่ วารสารไซแอนติฟิกอเมริกัน ได้นำชีวิตจริงของแฟนพนันคนหนึ่ง นามสมมติว่า เชอร์ลี มาเล่าเป็นอุทาหรณ์ ในวารสารฉบับ 15 ตุลาคม 2556 ดังนี้

เชอร์ลีเริ่มพนันเมื่ออายุราว 25 ปี จากการไปเที่ยวเมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐ กับเพื่อนๆ อีกสิบปีต่อมา ในขณะประกอบอาชีพเป็นทนายความ เธอมีโอกาสไปเล่นพนันโดยลำพังบ่อยๆ ที่บ่อนใกล้เคียง เมื่ออายุได้ 40 ปี เธอเริ่มขาดงานสัปดาห์ละถึงสี่ครั้ง เพื่อไปเล่นพนันในบ่อนเปิดใหม่อีกแห่งหนึ่ง

ที่บ่อนใหม่นี้ เธอนิยมเล่นไพแบล็กแจ็กแทบจะล้วนๆ กล้าเสี่ยงเงินนับพันๆ เหรียญ ในแต่ละรอบ แล้วก็ต้องไปกระเสือกกระสนพลิกพรมในรถค้นหาเศษเหรียญจ่ายค่าผ่านด่านทางด่วน เธอหาเงินมาได้เท่าใดก็นำไปพนันจนหมด แถมเป็นหนี้มหึมา เป็นหนี้ติดเงิน
บัตรเครดิตหลายใบ เธอสารภาพว่า "ดิฉันต้องการพนันตลอดเวลา ชอบมากๆ ชอบความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะพนัน"

ในปี 2544 ศาลพิพากษาให้เธอมีความผิดฐานโกงเงินมหาศาลจากลูกค้าหลายราย และสั่งจำคุกทันที 2 ปี พฤติกรรมพนันของเธอจัดอยู่ในประเภท "เสพติดพนัน" อย่างเช่นคนที่ติดยาเสพติด สุรา หรือบุหรี่ ทั้งนี้ เป็นบรรทัดฐานใหม่ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ซึ่งมีมติล่าสุดเมื่อพฤษภาคม 2556 ให้ "ผู้ติดพนัน" เข้าข่าย "โรคจิตเสพติดพนัน" เพราะเกิดจากแรงผลักดันทางชีววิทยาของโดปามีนดังกล่าว ซึ่งรุนแรงกว่า "ติดพนัน" จากแรงผลักดันทางจิตวิทยาอย่างเดียว ส่งผลให้การเยียวยาอาการ "เสพติดพนัน" ต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่หมด

สรุป : บ่อน "กาสิโน" คือศูนย์รวมของเจ้ามือยอดนักโกงและเครื่องมืออุปกรณ์พนันที่ออกแบบให้อำนวยความได้เปรียบต่อเจ้าของบ่อนลูกเดียว อย่างเช่นเกมพนันรูเล็ตต์ ซึ่งคอมพิวเตอร์ได้คำนวณออกมานานแล้วว่า เจ้าของบ่อนมีแต่ "รวยกับรวย" เท่านั้น "กาสิโน" จึงเปรียบได้กับ "โรงฆ่าสัตว์" ดีๆ นั่นเอง ที่ติดเครื่องปรับอากาศ บริการเหล้ายาปลาปิ้ง พร้อมด้วยห้องนอนวิลิศมาหรา เพื่อแฟนพนันจะได้ไม่หนีไปไหน ผู้ชนะพนันแล้วเลิกได้ทันท่วงที ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะใช้เงินชนะพนันมา ซื้อหาบริการในบ่อน คืนเงินให้บ่อน "เจ๊า" กันไป ส่วนผู้แพ้แล้วไม่เลิก ก็ "เจ๊ง" กลับบ้านไปนอนกอดทุกข์เช็ดน้ำตาต่อไป

สังเกตได้ว่า ในขณะเดินเข้าบ่อน แฟนพนันจำนวนมากมีอาการรื่นเริง แต่ในขณะเดินออกจากบ่อน กลับมีสีหน้าหม่นหมองปนความหวังว่าจะได้กลับเข้าไปพนันอีกทันทีที่หาเงินมาได้อีก แบบ "หนูติดจั่น" ที่ขยันหาเงินช่วยสร้างบำรุงบ่อนพนันให้ฟรีๆ โดยไม่คิดค่าเวลา ค่าแรง ค่าอาหาร ค่ารถ ค่าแตกแยกหย่าร้างในครอบครัว ค่าหมอ ค่ายา ตลอดจนค่าติดคุกหลังละเมิดกฎหมายเพื่อหาเงินไปส่งส่วยให้บ่อน

เมื่อ "กาสิโน" ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีแต่โทษมหันต์ต่อสังคมแล้ว ใครยังอยากให้พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย เอาชีวิตกับอนาคตที่ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปทิ้งให้กับบ่อน ก็เชิญยุยงให้ตั้ง "กาสิโน" ทั่วไทยไปเลย.