Monday, August 23, 2010


ปฏิรูป : ปลุกศีลธรรมในสายเลือด
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต 


            ไม่นานมานี้ เด็กผู้ชายวัยหนึ่งขวบเกือบทั้งหมดในห้องวิจัยจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐฯ ต่างแสดงปฏิกิริยาแบบเดียวกันต่อเหตุการณ์เดียวกัน
    ซึ่งเป็นการแสดงของตุ๊กตาหุ่นเชิดที่เป็นตัวตน 3 ตัว ต่อหน้าเด็กแต่ละคน

            หุ่นตัวกลางกลิ้งลูกบอลให้ตัวที่อยู่ขวามือเด็ก ซึ่งกลิ้งลูกบอลกลับไปให้ตัวกลาง ซึ่งกลิ้งลูกบอลต่อไปให้ตัวที่อยู่ซ้ายมือเด็ก ซึ่งหอบลูกบอลหายตัวไป จากนั้น หุ่นตัวที่อยู่ขวามือกับซ้ายมือก็กลับออกมาปรากฏอยู่หน้าเด็ก แต่ละตัวมีขนมบนจานตั้งอยู่หน้าตัวเอง ผู้วิจัยขอให้เด็กหยิบจานขนมออกจากหุ่นตัวไหนก็ได้หนึ่งจาน ปรากฏว่า เด็กเกือบทั้งหมดเลือกหยิบจานขนมออกจากหุ่นที่หอบลูกบอลหายไป ยิ่งกว่านั้น เด็กบางคนยังใช้มือตบหัวหุ่นที่หอบบอลหนีไป ราวกับว่า ต้องทำโทษให้สาสมที่ “ซุกซน” นัก

            เห็นได้ว่า เด็กวัยเพียงหนึ่งขวบก็มีสิ่งที่นักวิจัยตีความว่าเป็น “ความรู้สำนึกในศีลธรรม” อยู่ในสายเลือดมากพอที่จะไม่ชอบหุ่นเชิดที่หอบลูกบอลหนี โดยไม่ยอมส่งบอลกลับไปให้หุ่นตัวกลางเล่นต่อไปอย่างเช่นหุ่นตัวอื่น เพื่อจะได้ไม่เป็นการเอาเปรียบผู้อื่น มีความเป็นธรรมต่อผู้อื่น

            ปี 2546 ณ ศูนย์พัฒนาการเด็กวัยต้น วิทยาลัยชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐฯ นักจิตวิทยาทำการวิจัย “ความรู้สำนึกในศีลธรรม” ของเด็กชายหญิงอายุเฉลี่ย 5 ขวบ พบว่า เด็กเหล่านี้ไม่ยอมแกล้งดึงเส้นผมของเพื่อน แต่ยอมแสดงการขัดจังหวะแย่งพูดแข่งกับเพื่อน  เมื่อครูบอกอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถูกลงโทษ

            สำหรับเด็กเหล่านี้ การได้สัมผัสกับความเอร็ดอร่อย สะอิดสะเอียน สนุกสนาน หรือเบื่อหน่าย เป็นเรื่องของความรู้สึกชอบ/ไม่ชอบในแต่ละคน โดยได้รับอิทธิพลสอนสั่งจากภาวการณ์ภายนอกตัวเด็ก ส่วนการแกล้งดึงเส้นผมเพื่อน นั้น เด็กถือว่าเป็นเรื่องไม่ดีหรือเลวร้าย ซึ่งเป็นความนึกคิดที่เกิดจากภายในตัวเด็กเองล้วนๆ ปราศจากอิทธิพลสอนสั่งจากภายนอก 

            นักจิตวิทยาสรุปไว้ว่า เด็กวัยหนึ่งขวบและห้าขวบ ต่างได้แสดงให้เห็นว่า ต่างก็มี “ความรู้สำนึกในศีลธรรม” อยู่ในจิตใจ

            ในส่วนของสัตว์โลก ผู้ชำนาญทางชาติพันธุ์วิทยาวิจัยพบว่า สัตว์ต่างชนิดต่างเผ่าพันธุ์ก็มี “ความรู้สำนึกในศีลธรรม” คือ มีความห่วงใยและรู้จักช่วยเหลือสัตว์ตัวอื่นในเผ่าพันธุ์เดียวกัน

            ดร.มาร์ค เบคอฟ และ ดร.เจสซิกา เพียส แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐ ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ Wild Justice : The Moral Lives of Animals (ความรู้สำนึกในความยุติธรรมของสัตว์ป่าธรรมชาติ : ชีวิตเชิงศีลธรรมของสัตว์โลก) ตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐ ปี 2552 โดยกล่าวถึงการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่พบว่า สัตว์หลากหลายเผ่าพันธุ์ อาทิ สุนัข ช้าง หนู ลิง นก ปลาดอลฟิน (ปลา
    โลมา) ต่างก็มี “ความรู้สำนึกในศีลธรรม” อยู่ในตัว ดังตัวอย่างต่อไปนี้


            สุนัขคือสัตว์ชอบสังคมที่ชอบเล่นด้วยกันและจงรักภักดีต่อผู้เลี้ยงดู ในขณะเล่นด้วยกัน สุนัขจะมีการรับส่งสัญญาณและแสดงท่าทางต่อกันว่า จะไม่ทำร้ายกัน สุนัขตัวขี้โกงที่ส่งสัญญาณเป็นมิตร แต่กลับเอาเปรียบกัดสุนัขตัวอื่นแรงๆ จะกลายเป็น “หมาหัวเน่า” ที่ไม่มีสุนัขตัวอื่นในกลุ่มอยากเล่นด้วยต่อไป สะท้อนว่าสุนัขก็มีความรู้สึกอย่างมนุษย์ ในเรื่องของความยุติธรรม การไม่เอาเปรียบกัน ตลอดจนการไม่ทรยศหักหลังกัน

            ช้างชื่อ “เบเบิล” เดินได้เชื่องช้ามาก เนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่ขาข้างหนึ่ง ช้างเชือกอื่นๆ ในกลุ่มก็พากันเดินช้าลงกว่าที่เคย เพื่อจะได้ก้าวไปด้วยกันกับเบเบิล แถมหาอาหารมาป้อนเบเบิลด้วย โดยทำเช่นนี้อยู่นานหลายปีทีเดียว สะท้อนว่าช้างเป็นสัตว์ที่สามารถหยั่งรู้ในความทุกข์ยากของช้างตัวอื่น และรู้จักช่วยกันผ่อนคลายความทุกข์ยากนั้นให้ด้วย

            เมื่อจัดให้หนูสองตัวที่ได้รับการฝึกฝนจนสามารถกดราวกลสำหรับปล่อยอาหารให้หนูอีกตัวหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกรงข้างเคียงและมองเห็นกัน ปรากฏว่า หนูทั้งสองต่างผลัดกันกดราวกลส่งอาหารให้กัน ต่อมา เมื่อจัดให้หนูจากกลุ่มนี้ไปอยู่ข้างเคียงกับหนูตัวอื่นที่ไม่เคยรับการฝึกฝนดังกล่าว พบว่า แม้ว่าหนูตัวใหม่ที่ไม่เคยรับการฝึกฝน จะไม่สามารถส่งอาหารให้หนูข้างเคียงที่ส่งอาหารมาให้ หนูที่กดราวกลเป็นก็ยังส่งอาหารให้หนูตัวใหม่ได้กินอยู่ดี อย่างสม่ำเสมอ ทั้งๆที่ไม่ได้คุ้นเคยกันมาก่อน สะท้อนว่าหนูเป็นสัตว์ที่รู้จักทำความดีต่อหนูตัวอื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข

            ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้น คือ หนูจะไม่ยอมกินอาหาร เมื่อรู้ตัวว่า หากกินเมื่อใดก็จะทำให้หนูอีกตัวหนึ่งถูกไฟฟ้าช็อตด้วยความเจ็บปวด

            ลิงชิมแพนซีได้ให้การดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องแก่ลิงอีกตัวหนึ่ง ซึ่งป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมที่ทำให้อวัยวะบางส่วนของร่างกายเป็นอัมพาตไป ทั้งนี้ เป็นการดูแลที่เคยคิดกันว่า มนุษย์เท่านั้นจึงจะทำต่อกันได้

            ที่ศูนย์กู้ชีวิตหมาป่าไคโอต รัฐอินเดียนา สหรัฐฯ ได้เกิดเหตุการณ์น่าทึ่งอย่างยิ่ง คือ กลางดึกคืนหนึ่ง หนูอ่อนวัยมากสองตัว พลัดตกลงไปในอ่างล้างมือที่ไม่มีน้ำ แต่ลึกมาก หนูน้อยทั้งสองได้พยายามไต่ขึ้นสู่ขอบอ่างที่ลื่นกับสูงชันอยู่ตลอดคืน แต่ก็ไม่สำเร็จ จนเหนื่อยล้าอ่อนแรง

            รุ่งขึ้น เมื่อผู้อำนวยการศูนย์ฯ พบหนูน้อยในสภาพเหนื่อยอ่อนและมีอาการหวาดกลัวสั่นไปทั้งตัว ก็หาน้ำมาให้กิน ปรากฏว่า มีหนูตัวเดียวที่ยังพอมีแรงลุกขึ้นกินน้ำได้ ส่วนอีกตัวหนึ่งหมดแรง นอนแน่นิ่งอยู่

            เมื่อเห็นก้อนอาหารอยู่ใกล้ตัว หนูตัวแข็งแรงก็คาบอาหารไปให้หนูอ่อนแรงกิน และคอยผลักดันก้อนอาหารไปทางถ้วยน้ำ ส่งผลให้หนูตัวอ่อนเพลียสุดขีดค่อยๆขยับตัวเข้าใกล้ถ้วยน้ำ จนสามารถกินน้ำเองได้ สะท้อนว่า หนูแข็งแรงคิดเป็น และสามารถหยั่งรู้ความทุกข์ยากลำบากของหนูอีกตัวหนึ่ง อีกทั้งได้ให้การช่วยเหลือหนูอ่อนแอกว่าได้สำเร็จอย่างปราศจากเงื่อนไข

            นักวิจัยสรุปไว้ว่า “ความรู้สำนึกในศีลธรรม” ของสัตว์โลก ประกอบด้วย (1) ความรู้สึกเป็นธรรม คือ รู้จักแบ่งสันปันส่วนกัน รู้สำนึกในความเสมอภาค ไม่เอาเปรียบกัน และรู้จักให้อภัยกัน (2) ความสามารถหยั่งรู้ในทุกข์ยากของสัตว์ตัวอื่น คือ รู้จักเห็นอกเห็นใจ รู้สึกเศร้าใจไปกับเพื่อน รู้สึกสลดใจและปลอบโยนเป็น และ (3) ความร่วมมือกัน คือ รู้สึกอ่อนไหวต่อความรู้สึกของสัตว์อื่น รู้จักแลกเปลี่ยนประโยชน์กัน มีความซื่อสัตย์ และไว้ใจต่อกัน

    ใครที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการยิงระเบิดทำร้าย/สังหารประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปราศจากอาวุธพิฆาต ในระหว่างการชุมนุมประท้วงทางการเมืองแต่ละครั้ง ไม่รู้สึกอับอายขายหน้าเด็กหนึ่งขวบ ห้าขวบ และสัตว์โลกดังกล่า่วบ้างเลยหรือ?

            เมื่อเรามี "ความรู้สำนึกในศีลธรรม" อยู่ในสายเลือด การปฏิรูปตัวเองเข้าสู่ความเป็นอริยชน ไม่น่าจะยุ่งยากนัก เพียงแต่ปฏิรูปตัวเองให้มีค่านิยมใน “การให้” อย่างไม่มีเงื่อนไข มากกว่า “การรับ” ลูกเดียว ให้มีความพอเพียงมากกว่าความตะกละ ตลอดจนให้มีจิตสำนึกตาม “ลัทธิสัตว์ประเสริฐ” มากกว่า “ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ” การปฏิรูปทางสังคมก็จะเดินหน้าประสบผลดีได้ทันที        

            เพียงแต่จุดประกาย "ความรู้สำนึกในศีลธรรม" ในตัวเราให้ตื่นจากภวังค์หรือหลุดพ้นจากมายาคติ สังคมอริยชนก็จะหวนกลับมาดังเช่นสมัยสุโขทัยอย่างแน่นอน.


    ปฏิรูป : ใกล้เกลือกินด่าง
    โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
    dhanarat333@gmail.com

              การปฏิรูปประเทศไทยเป็นเรื่องเพ้อฝันหรือไม่?

              การปฏิรูปประเทศไทย คือ การเปลี่ยนค่านิยม โลกทัศน์ และแนวทางปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกันทั่วประเทศ นับได้ว่าเป็นงานที่ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะในการเปลี่ยนค่านิยมที่เน้น "การมี" หรือ "การครอบครองวัตถุเงินทองอำนาจ" สู่ค่านิยมที่เน้น "การเป็นอยู่" หรือ "ประสบการณ์ที่เป็นคุณประโยชน์เสริมสร้างสังคม" เพื่อให้หลุดพ้นจากความหายนะทางสังคมและเศรษฐกิจ

              ดร. อิริค ฟรอม์ม นักจิตวิเคราะห์เรืองนาม ผู้ได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนาในบั้นปลายชีวิต ชี้แนะไว้ว่า เราจะสามารถปฏิรูปตัวเองให้พ้นทุกข์ สู่ความเจริญสุขได้สำเร็จ หากมี "ภาวะจิต" สี่ข้อต่อไปนี้ คือ (1) เราเป็นทุกข์และรู้ตัวว่าเป็นทุกข์ (2) รู้สาเหตุแห่งทุกข์ (3) มองเห็นการหลุดพ้นจากทุกข์ และ (4) เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ตามปทัสฐานแห่งสังคม สู่การหลุดพ้นจากทุกข์ โดยยอมรับว่า เป็นสี่ขั้นตอนปฏิรูปตัวเองที่ตรงกับ "พระอริยสัจสี่" ในพระพุทธศาสนา

              คาร์ล มาร์กซ นักปราชญ์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักทฤษฎีสังคม ผู้ประกาศใช้ "ข้อขัดแย้ง" ทางเศรษฐกิจในสังคมเป็นพลังในการปฎิรูปสังคม ก็ให้เริ่มต้นปฎิรูปในตัวบุคคลเองด้วย ตามขั้นตอนที่ตรงกับ "พระอริยสัจสี่" เช่นกัน คือ ให้ชนชั้นกรรมาชีพทำดังนี้

              (1) ยอมรับว่าตนตกอยู่ในความทุกข์ยาก เพราะอาจถูกมายาติอำพรางทุกข์นั้นอยู่ (2) มองเห็นสาเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งมาจากอุปนิสัยของนักทุนนิยม เช่น ความโลภโมโทสัน ความเห็นแก่ตัว และการเอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น ข้อนี้คือหัวหอกที่มาร์กซใช้โจมตีระบบทุนนิยม (3) เชื่อว่าตนจะหลุดพ้นจากความทุกข์ต่อเมื่อสาเหตุแห่งทุกข์ได้ถูกขจัดสิ้นไป และ (4) สร้างและปฏิบัติตามวิถีชีวิตใหม่และระบบสังคมนิยมใหม่ เพื่อให้รอดพ้นจากทุกข์ที่มาจากทุนนิยม

              ดร. ซิกมันด์ ฟรอยด์ จิตแพทย์เรืองนาม ผู้ก่อตั้งวิชาจิตวิเคราะห์และนำเสนอความรู้เกี่ยวกับจิตรู้สำนึก จิตกึ่งรู้สำนึก และจิตไม่รู้สำนึก โดยการรับฟังความในใจกับความฝันของคนไข้ แล้วนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ตีความ เพื่ออ่านภาวะจิตของคนไข้ ก็มีวิธีปฏิรูปตัวเองในแนวเดียวกับ "พระอริยสัจสี่" คือ

              (1) เมื่อคนไข้เป็นทุกข์ ก็ให้ไปพบจิตแพทย์ (2) จิตแพทย์หรือนักจิตวิเคราะห์ทำหน้าที่ขุดค้นและชี้แนะคนไข้ให้มองเห็นสาเหตุแห่งทุกข์ของตน ละทิ้งมายาคติที่ก่อให้เกิดทุกข์ และเรียนรู้องค์ประกอบของความทุกข์ (3) เมื่อคนไข้มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างทุกข์กับสาเหตุแห่งทุกข์ของตน การเยียวยาก็สิ้นสุดลง โดยถือว่าคนไข้จะต้องลงมือช่วยตัวเองด้วยตัวเองให้พ้นทุกข์ต่อไป

              ในการนี้ ดร.ฟรอม์มท้วงติงว่า ดร.ฟรอยด์น่าจะกำหนดขั้นที่สี่ที่จำเป็นไว้ด้วยเพราะคนไข้ไม่จำต้องหยั่งรู้มรรควิธีพ้นทุกข์ด้วยตัวเองเสมอไป โดยยกตัวอย่างคนไข้หญิงรายหนึ่งที่เป็นทุกข์มาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการผูกพันชีวิตตนแบบพึ่งพาบิดาตนมากเกินไป แม้จะรู้สาเหตุ แต่เธอก็ไม่รู้ว่าควรแก้ไขอย่างไร ซึ่งได้แก่การปฏิรูปวิถีชีวิตตนเสียใหม่ คือ ย้ายออกจากบ้านบิดา ไม่ร้องขอความช่วยเหลือจากบิดาอีก ยอมทนความเจ็บปวดยากลำบากจากการเป็นอิสระจากบิดา ฯลฯ ฟรอม์มย้ำว่า รู้สาเหตุอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้วิธีแก้ไขสาเหตุอย่างถูกต้องด้วย (พระอริยสัจสี่ระบุวิธีแก้ไขไว้ที่มรรคมีองค์แปด)

              อนึ่ง ดร.ฟรอม์มก็ท้วงติงวิธีการปฏิรูปของมาร์กซ ว่า ไม่ได้คำนึงถึงธรรมชาติทั้งหมดของมนุษย์ ซึ่งกอปรด้วยความสลับซับซ้อน ความละเอียดอ่อน ตลอดจนความยืดหยุ่นแปรเปลี่ยนได้ คือ มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนเพียงใด ต่างก็มีความรู้สึกนึกคิดตาม "กฎแห่งธรรมชาติ" เดียวกัน อีกทั้งมนุษย์มิใช่เครื่องจักรกลที่ปราศจากจิตวิญญาณ ปัญหาจากมนุษย์จึงมิอาจแก้ไขอย่างง่ายๆด้วยการขจัดมนุษย์ (นักทุนนิยม) ที่เราเห็นว่าเป็นต้นเหตุ อย่างเช่นที่เราโยนทิ้งชิ้นส่วนกลไกที่เราเห็นว่าชำรุดไป

              ดร.ฟรอม์มเสนอแนะวิธีการปฏิรูปตัวเอง โดยสังเขป ดังนี้

              ในขั้นพื้นฐาน เราต้องมีความเต็มใจที่จะยกเลิกวิถีชีวิตที่มุ่งสู่ "การครอบครองปัจจัยนอกกาย" อย่างเดียว ซึ่งได้แก่ "การครอบครองวัตถุเงินทองอำนาจ" นอกกาย เพื่อหันเข้าสู่วิถีชีวิตที่เน้น "การเป็นอยู่" ซึ่งได้แก่ "การมีประสบการณ์ชีวิตที่เป็นคุณประโยชน์เสริมสร้างสังคม" โดยปฏิบัติตน ดัวนี้

              (1) มีสัมมาสติอยู่เสมอ

              (2) มีความสุขจากการให้และแบ่งปันกัน มิใช่จากการกักตุนหรือเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น

              (3) ลดละเลิกโลภ โกรธ หลง อย่างสุดความสามารถ

              (4) ใช้ชีวิตที่ไม่บูชาเงินทอง วัตถุปั้นแต่ง ภาพวาด ตลอดจนกฎเหล็กทั้งปวง อยู่อย่างปราศจากมายาคติ ซึ่งทำได้ไม่ยาก เพราะเมื่อหยุดบูชาสิ่งนอกกายดังกล่าวแล้ว ก็ได้เข้าถึงภาวะที่อยู่เหนือมายาคติโดยปริยาย

              (5) สลัดความหลงรักตัวเองออกจากจิต และยอมรับข้อจำกัดกับความไม่สมบูรณ์แบบทั้งปวงอันน่าสลดใจที่มีอยู่ในปุถุชน

              (6) ไม่ฉ้อโกงใคร และไม่ยอมให้ใครฉ้อโกง คือ ไร้เดียงสาแต่ไม่อ่อนหัด

              (7) รู้จักอุปนิสัยตัวเอง ไม่เพียงในส่วนที่รู้อยู่เท่านั้น แต่ต้องรู้จริงให้ถึงส่วนที่ตนยังไม่รู้จัก หรือรู้เพียงเลาๆ เท่านั้น

              (8) มองว่าตนเป็น "หนึ่งเดียวกับ" สิ่งมีชีวิตทั้งปวง จะได้ไม่มุ่งมั่นยึดครองทำลายล้างธรรมชาติ โดยพยายามเข้าใจและอยู่กับธรรมชาติ

              (9) เข้าใจว่าเสรีภาพมิใช่เป็น "การตามใจตน" แต่เป็น "การเป็นตัวของตัวเอง" มิใช่ "การหล่อเลี้ยงกิเลสตัณหา" แต่เป็น "ภาวะทรงความสมดุล" ระหว่างการเจริญเติบโตกับการเสื่อมสลาย หรือ ความเป็นกับความตาย

              (10) ยอมรับว่าความชั่วร้ายและการทำลายล้างคือผลที่เกิดจากเหตุแห่ง "การเจริญเติบโตที่กำลังประสบปัญหา" อยู่

              (11) มองว่าความสุขคือการใช้ชีวิตอย่างมีชีวิตชีวาเข้มข้นไปเรื่อยๆ ไม่ว่าชะตาชีวิตจะเป็นอยู่อย่างไร เพราะการใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมเท่าที่ตนทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายวัฒนธรรมและสมรรถภาพส่วนตัว จะเสริมสร้าง "ความพึงพอใจ" ที่จะทำให้หมดวิตกว่า ตนจะได้หรือไม่ได้อะไรในชีวิต คือ มีความพอเพียง

              ทั้งนี้ เป็นอุปนิสัยใจคอและแนวทางปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันของ "ผู้เป็นคุณประโยชน์เสริมสร้างต่อสังคม" "ผู้รู้จักให้" หรือ "ผู้นิยมมีประสบการณ์ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม" คือ "สาวกลัทธิสัตว์ประเสริฐ" ตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาโลก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ "ผู้ไม่เป็นคุณประโยชน์เสริมสร้างต่อสังคม" "ผู้รับลูกเดียว" "ผู้นิยมการครอบครองวัตถุเงินทอง" คือ "สาวกลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ภายใต้อำนาจอิทธิพลของมายาคติ

              ในการปฏิรูปตนเอง ก็ดี ปฏิรูปชาติบ้านเมือง ก็ดี เราไม่จำต้องหันหน้าไปที่เมืองนอก เพื่อสรรหาวิชาการล้ำยุค ยกย่องภาษาต่างชาติ เพราะเรามี "พระพุทธศาสนา" ซึ่งอยู่คู่บ้านคู่เมืองด้วยความเจริญสุขมา 700 ปี และมีโครงสร้างปฏิรูปตนเองให้พ้นทุกข์ สู่ความเจริญสุข ซึ่งนักจิตวิทยาโด่งดังระดับโลกยอมรับและนำไปประยุกต์รักษาคนไข้ทางจิตมาด้วยความสำเร็จมาแล้ว

              ขอเพียงให้เป็น "พระพุทธศาสนา" มิใช่ "พุทธพาณิชย์" ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นน่าสลดใจยิ่ง

             หากใครมองว่าการปฏิรูปประเทศไทย คือ ความฝันลมๆ แล้งๆ ก็ขอให้ศึกษาชีวประวัติของบุคคลที่ไม่ยอมรับ "ความเป็นไปไม่ได้" อย่าง "แมเรียน แอนเดอร์สัน" นักร้องหญิงผิวสีดำชาวอเมริกัน เจ้าของเสียงท่อนต่ำสุดมหาเสน่ห์ที่หนักแน่นนุ่มนวลดุจกำมะหยี่ ขนาดวาทยกรชื่อดัง อาร์ตูโร ทอสกานีนี่ ยังชื่นชมว่า เป็นเสียงไพเราะจับใจที่หาฟังได้ในรอบ 100 ปีเท่านั้น

              แมเรียนต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วงกับวัฒนธรรมถือผิวในสหรัฐอเมริกาสมัย 70 ปีก่อน เธอถูกต่อต้านอย่างแข็งขันไม่ให้แสดงการขับร้องในสถานที่อันทรงเกียรติ เพียงเพราะเธอมีผิวสีดำ แต่ด้วยความไม่ท้อแท้ถดถอย ในที่สุด เธอก็สามารถเคลื่อนย้ายภูเขาถือผิวออกจากทางเดินของชีวิตเธอ จนสามารถแสดงคอนเสิร์ตในสถานที่อันทรงเกียรติต่างๆ

              องค์การสหประชาชาติได้แต่งตั้งแมเรียน แอนเดอร์สัน ให้เป็นกรรมการผู้พิทักษ์สิทธิโดยชอบของผู้คนกว่า 100 ล้านคนในทวีปอาฟริกาและภาคใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก และประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี สหรัฐ ก็ได้มอบเหรียญแห่งอิสรภาพ อันทรงเกียรติสูงสุดสำหรับภาคประชาชนให้กับเธอ ก่อนจากโลกนี้ไปเมื่ออายุ 96 ปี เธอฝากข้อคิดไว้ว่า

              "เมื่อท่านหยุดฝันใฝ่และละทิ้งอุดมการณ์ ท่านก็น่าจะหยุดหมดทุกอย่างด้วยเลย"

              เมื่อมีทั้งพระพุทธศาสนาและพลังชีวิตอยู่พร้อม เราจะยังยอมอยู่ในสภาพ "ใกล้เกลือกินด่าง" ต่อไปอีกหรือ?





      ปฏิรูป : จิตวิทยาสุคติ
      โดย : ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
       dhanarat333@gmail.com


                การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมได้ส่งผลให้ประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นของวัฒนธรรมที่นิยม “การมี” หรือ “การครอบครองวัตถุเงินทอง” มาตลอด

                ปัจจุบัน สังคมไทยกำลังเป็นโรคจิตที่ไม่ต่างอะไรจากสังคมอื่นที่นิยม “การมี” ดังกล่าว โดยมีแนวโน้มทรุดหนักลงอย่างไม่รู้ตัว มีอนาคตที่เปรียบได้กับกบเป็นๆ ที่อยู่ในหม้อน้ำที่อุ่นขึ้นเรื่อยๆ บนเตาไฟร้อนแรง

                นักจิตวิทยาอเมริกันมองเห็นความหายนะของสังคมที่เน้น “การมี” มานาน โดยพยายามเยียวยาความทุกข์ใจที่ “ปลายเหตุ” คือที่ "อาการ" เช่น อาการคับข้องใจ ตึงเครียด ก้าวร้าว วิตกกังวล ภาพหลอน นอนไม่หลับ ฝันร้าย อาฆาตพยาบาท ซึมเศร้า คลุ้มคลั่ง เจ็บป่วยโดยไม่มีสาเหตุทางสรีระ เป็นต้น ปรากฏว่า ไม่ประสบผลดีเท่าที่ควร

                นักจิตวิทยาจึงได้หันไปศึกษาภาวะผาสุก (ความสําราญความสบาย) เช่น อาการผ่อนคลาย ใจเย็น จิตผ่องใส นอนหลับง่าย ไม่ฝันร้าย ปลอดจากอาการ “สามวันดีสี่วันไข้” เป็นต้น เพื่อค้นหา “สาเหตุ” ของภาวะผาสุก ในที่สุด พบว่า มีสาเหตุมาจากจิตที่รู้จักและได้นำ “ศีลธรรมจริยธรรม” "เมตตาธรรม” ตลอดจน “ความมีเหตุมีผล” ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งตรงกับจิตของ “ผู้เสริมสร้างทำคุณประโยชน์ต่อสังคม” ที่ศาสตราจารย์ ดร.อิริค ฟรอม นักจิตเคราะห์เรืองนาม ได้ชี้ให้เห็นเมื่อ 6 ทศวรรษก่อน

                การค้นพบสาเหตุแห่งความผาสุกนี้ ส่งผลให้เกิดวิชาใหม่ ชื่อว่า Positive Psychology (จิตวิทยาเชิงบวก) ขอเรียกว่า “จิตวิทยาสุคติ” ซึ่งกลมกลืนเป็นครั้งแรกเข้ากับ “ศีลธรรม” “การทำคุณต่อเพื่อนมนุษย์” ศจ.ดร.มาร์ติน เซลิกแมน นักจิตวิทยาอเมริกันโด่งดัง เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งวิชาใหม่นี้เมื่อราวสิบปีก่อน

                ปัจจุบัน “จิตวิทยาสุคติ” ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากสถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกา เช่น มหาวิทยาลัยแห่งนอร์ทแคโรไลนา ม.วิสคอนซิน ม.ฮาร์วาร์ด ม.แห่งเพนซิลเวเนีย และในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ คานาดา ออสเตรเลีย และ สกอตแลนด์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสถาบันที่มีมาตรฐานสูงและชื่อเสียงโด่งดังทั้งสิ้น

                ดร. ท็อด คัชดาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์หนุ่มแน่นแห่งมหาวิทยาลัยจอร์ชเมสัน รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐฯ มีประสบการณ์ที่น่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับวิธีสอนจิตวิทยาสุคติ ตามรายงานของดีที แม็กซ์ นักเขียนอิสระ

                อาจารย์คัชดาน ตั้งชื่อวิชาของท่านว่า “ความสุขโดยวิถีเชิงวิทยาศาสตร์” มีหัวข้อย่อย คือ การมองโลกในแง่ดี กตัญญูกตเวที สัมมาสติ ความหวัง และจิตวิญญาณ 

                แก่นของวิชาอยู่ที่ทำให้ลูกศิษย์มองเห็นความแตกต่างระหว่าง “รู้สึกดี” ซึ่งก่อให้เกิดความหิวโหยอยากได้มากขึ้น อย่างเช่นกิเลสตัณหาที่ไม่รู้จักอิ่มหรือพอเพียง กับ “ทำดี” ซึ่งนำไปสู่ความสุขบริสุทธิ์ที่กอปรด้วยความอิ่มเอิบใจ ไม่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ

                การบ้านข้อแรกได้แก่การไปทำอะไรสักอย่างที่นักศึกษาเองชอบ ซึ่งทำแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกหรรษาสนุกสนานเพลิดเพลินบันเทิงใจ แล้วบันทึกประสบการณ์ไว้ ส่วนการบ้านข้อที่สองได้แก่การไปทำอะไรอีกสักอย่างที่เป็นการ "ให้" ผู้อื่นด้วยเมตตาจิตอย่างปราศจากเงื่อนไขและอัตตา แล้วทำบันทึกประสบการณ์ไว้เช่นกัน

                ในข้อแรก นักศึกษาคนที่หนึ่งเล่าถึงประสบการณ์ที่ไปเล่นดำน้ำ แล้วมีเพศสัมพันธ์กับแฟนขณะอยู่ลึกลงไปราวสิบเมตร คนที่สองรายงานการได้ไปรับประทานอาหารเอร็ดอร่อยที่ภัตตาคารโด่งดังแห่งหนึ่ง แล้วถูกเรียกเก็บเงินค่าอาหารแพงกว่าที่คาดไว้มาก คนที่สามเล่าถึงการไปชมการแข่งรถที่สนามรถแข่งนัสคาร์ ได้สูดกลิ่นควันเหม็นของรถแข่ง ดื่มสุรา แล้วมีเพศสัมพันธ์ และคนที่สี่ รายงานถึงการอยู่บ้านดูรายการโทรทัศน์ที่โปรดปราน นั่งพูดคุยกับเพื่อนๆ

                ในข้อสอง นักศึกษาที่ชมการแข่งรถ ได้ไปบริจาคโลหิต ทั้งๆที่กลัวเข็มฉีดยา คนที่สองที่ถูกเรียกเก็บค่าบริการอาหารแพงสุดๆ ได้ไปซื้อเครื่องดื่มกระป๋องแจกให้คนไร้ถิ่นฐานข้างถนน คนที่สามรวบรวมเสื้อผ้าผู้หญิงเก่าใช้แล้วจากญาติพี่น้อง แล้วนำไปบริจาคให้กับบ้านพักหญิงที่ถูกสามีละเมิดทุบตีจนอยู่ด้วยกันไม่ได้ และคนที่สี่ได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารเล็กๆแห่งหนึ่ง แล้วให้ค่าทิปแก่พนักงานบริการ 50 เหรียญ ซึ่งมากกว่าค่าอาหารเสียอีก

                จากนั้น นักศึกษาคนหนึ่งกล่าวเปรียบเทียบประสบการณ์สองแบบ คือ การรับบริการที่สปากับการอาสาสมัครทำความสะอาดที่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง โดยชี้ว่าที่สปามีแต่สิ่งสะอาดหอมหวนสดชื่น แต่ที่บ้านชนบทมีแต่ขี้ม้าเกลื่อนกลาดส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว กระนั้นก็ตาม กลับรู้สึกติดตราตรึงใจกับรอยยิ้มของผู้ที่พาตนไปทำความสะอาดที่บ้านชนบท ยิ่งกว่ารอยยิ้มของสาวนวดที่สปาเสียอีก

                ต่อมา อาจารย์คัชดานชี้ให้เห็นบทเรียนจากชีวิตจริงโดยทันทีว่า “การทำดีต่อผู้อื่นย่อมส่งผลดีต่อผู้กระทำ” กล่าวในเชิงพุทธก็คือ “ทำความดีย่อมได้ความดี” ในบัดดล พลังศีลธรรมก็สว่างไสวขึ้นในจิตใจบรรดานักศึกษาทั้งหลาย

                ที่ตื่นเต้นกันได้แก่การบรรยายถึงการวิจัยมันสมองส่วนหน้าของคนมองโลกในแง่ดี อันเป็นสมองที่เราใช้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัดสินใจ ฯลฯ นักจิตวิทยาพบว่า สมองส่วนหน้าของคนมองโลกในแง่ดีมักทำงานอยู่ตลอดเวลา คือ มีชีวิตชีวา ตรงกันข้าม สมองส่วนหน้าของคนมองโลกในแง่ร้ายมักมีคลื่นไฟฟ้าต่ำ คือ ไร้ชีวิตชีวา อยู่ในภาวะผวาจิต และรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย

                ต่อไป อาจารย์คัชดานบรรยายหัวข้อเรื่องต่างๆ คือ กตัญญูกตเวทีกับการให้อภัย ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความรัก จิตวิญญาณกับการอยู่อย่างเป็นสุข และความหมายของชีวิตกับจุดมุ่งหมายของชีวิต ทั้งนี้ โดยไม่ใช้คำว่า “ศีลธรรม” เลย และให้นักศึกษาตระหนักว่า ยังมีอีก "วิถีชีวิตหนึ่ง" ที่นักจิตวิทยาได้วิจัยค้นพบแล้วว่า สามารถนำไปสู่ "ผลลัพธ์" หรือ "ผลการใช้ชีวิต" ที่เหนือกว่าวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับความพอใจของผัสสะ

                นอกจากนี้ อาจารย์คัชดานยังให้นักศึกษาฝึกทำสมาธิ โยคะ เขียนสาธยายความรู้สึกที่รักใครคนหนึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิต ไปเยี่ยมเยือนผู้มีบุญคุณ เขียนจดหมายขอบคุณผู้ช่วยเหลือ ตลอดจนฝึกใช้พลังความอยากรู้ไปในการสำรวจโลกกว้าง โดยให้ทำอะไรสักอย่างที่แปลกใหม่ สลับซับซ้อน อาศัยการปฏิสัมพันธ์ และให้ใช้ประสาทสัมผัสของตนเป็นเกณฑ์ ปรากฎว่า นักศึกษาบางคนได้ไปลองชิมผลไม้ลูกทับทิมเป็นครั้งแรก และบางคนอ่านหนังสือที่เขียนโดยบุคคลโด่งดังในสังคม

                การบ้านที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ได้แก่การให้่นักศึกษาเลือกเฟ้นความทรงจำหนึ่งใดของตน ซึ่งตนตั้งใจจะให้จำติดตัวไปชั่วนิรันดร เพื่อฝึกฝนให้นักศึกษามีจิตที่อยู่กับสุคติ

                มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ มีนักศึกษาสมัครเรียนวิชา “จิตวิทยาสุคติ” มากเป็นประวัติการณ์ นับได้ 855 คน ต่อภาค นักศึกษาที่นี่ราวร้อยละ 23 ยอมรับว่าวิชาใหม่นี้ ได้ส่งผลให้ตนมีชีวิตที่ดีขึ้น คนหนึ่งเขียนบรรยายไว้ว่า “เมื่อขึ้นปีสี่ ถึงได้ฉุกคิดขึ้นมาว่า วิชานิติศาสตร์คงไม่เหมาะสำหรับตน” อีกคนเปิดเผยว่า “ได้เลือกเรียนจิตวิทยาสุคตินี้โดยไม่ได้คิดอะไรมากมาก่อน แต่กลับติดอกติดใจวิชานี้มากที่สุด ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ตนรักและชอบทำมากที่สุดได้แก่การได้พูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับปัญหาที่กำลังรุมเร้าเธออยู่”

                นักจิตวิทยาสรุปไว้ว่า “จิตวิทยาสุคติ” ไม่เพียงแต่สอนให้รู้จักวิธีเข้าถึงความสุขอันแท้จริงเท่านั้น แต่ยังฝึกนักศึกษาให้รู้จักทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี มีจิตวิญญาณที่รู้จักและเข้าใจความถูกต้องชอบธรรม มีความหวังอันสมจริง และมีเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์อีกด้วย

                 เทคโนโลยีได้ผลิตวัตถุสิ่งของต่างๆนานาออกมายั่วยุกิเลสตัณหามนุษย์ และครอบงำชีวิตมนุษย์อย่างโงหัวไม่ขึ้นและไม่รู้ตัว จนเราไม่รู้ไม่สนใจว่าอะไรคือสิ่งปรุงแต่ง สิ่งธรรมชาติ หรือหนทางสู่สุคติอันแท้จริง

                วิชา “จิตวิทยาสุคติ” ได้ปฏิรูปนักศึกษาดังกล่าวให้ “ตื่น” จากภวังค์ ส่งผลให้นักศึกษาสามารถก้าวข้ามทุคติภูมิสู่สุคติภูมิอย่างเด่นชัดมาแล้ว

                วิชาจิตวิทยาสุคติจึงน่าจะสามารถช่วยให้ชาติบ้านเมืองก้าวข้ามทุคติภูมิสู่สุคติภูมิได้เช่นกัน.