Tuesday, June 30, 2015


มหากฎบัตรกับรัฐธรรมนูญไทย
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com



ปีค.ศ.1215 (พ.ศ.2758) จารึกปีกำเนิดของเอกสารประ วัติศาสตร์โด่งดังฉบับหนึ่งของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ชื่อว่า Magna Charta (Magna Carta) แปลว่า "มหากฎ บัตร" "มหากฎบัตร" นี้ น่าจะนับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับแรกของโลก ซึ่งกำหนดกติกาการปฏิสัมพันธ์ในสังคมไว้ถึง 63 มาตราด้วยกัน และมีอายุครบ 800 ปี พอดีในปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) นี้


เมื่อสมัย 800 ปีก่อน พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ พระนามว่าจอห์น ได้ทรงก่อให้เกิดความทุกข์และขุ่นเคืองใจเป็นอย่างใหญ่หลวงในหมู่ขุนนางระดับล่าง ด้วยการบีบบังคับให้ขุนนางเหล่านี้ยกทรัพย์สินเงินทองส่วนตัวออกมาถวายพระองค์ เพื่อใช้จ่ายเป็นเงินทองสำหรับทำสงครามกับประเทศฝรั่งเศส

เมื่อพ่ายแพ้ฝรั่งเศส บรรดาขุนนาง 45 คนก็รวมตัวกันใช้ "กำลังทหาร" ยึดเมืองหลวงกรุงลอนดอน บีบบังคับให้กษัตริย์จอห์น ทรงถือปฏิบัติตามแนวพระราชกรณียกิจของกษัตริย์อังกฤษองค์หนึ่ง พระนามว่าเฮนรี่ที่หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอให้พระองค์ทรงเลิกกดขี่ข่มเหงข้าราชบริพารและราษฎร เช่น ห้ามจำคุกเหล่าขุนนางโดยมิชอบธรรม ให้ขุนนาง 25 คนเป็นผู้จัดระเบียบการเก็บภาษีจากราษฎร และให้ยอมรับนับถือสิทธิ์โดยชอบของฝ่ายการศาสนา เป็นต้น โดยมีบาทหลวงใหญ่แห่งอังกฤษเป็นผู้ยกร่างเขียน "มหากฎบัตร" นี้

เพื่อให้เหตุการณ์ตึงเครียดผ่านพ้นไป กษัตริย์จอห์นทรงตกลงร่วมกับฝ่ายขุนนาง ยอมรับ "มหากฎบัตร" เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1215

ทว่า ต่อมาอีกเพียงไม่กี่เดือน "มหากฎบัตร" ก็กลายเป็นชนวนให้เกิดการสู้ทัพจับศึกระหว่างคู่ตกลง จวบจนพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่สาม ประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรนิกายคาทอลิก ผู้เป็นเจ้าเหนือหัวของกษัตริย์จอห์น ทรงมีพระบัญชาให้ยกเลิก "มหากฎบัตร" ด้วยเหตุผลว่า เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวการณ์บีบบังคับตึงเครียด ผิดปกติวิสัย

ในปี ค.ศ.1216 เมื่อกษัตริย์จอห์นเสด็จสวรรคต "มหากฎบัตร" ก็กลับออกมาใช้เป็นกฎหมายบ้านเมืองอีก โดยได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ต่อมาเมื่อการสู้ทัพจับศึกภายในประเทศได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1217 และหลังจากที่ได้รับการปรับปรุงอีกเล็กน้อย "มหากฎบัตร" ก็ได้รับการยอมรับเป็นกติกาใหม่สำหรับการปกครองประเทศ กลายเป็น "ฐานราก" ของระบบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพของชาวอังกฤษตราบเท่าทุกวันนี้

"มหากฎบัตร" ประกอบด้วย 63 มาตรา กล่าวถึงการสืบทอดมรดก หนี้สินเมื่อผู้เป็นหนี้ตายไป สิทธิของแม่หม้ายที่จะแต่งงานอีกได้หรือไม่ การลงโทษปรับผู้ละเมิดกฎหมาย ฯลฯ อาทิ มาตรา 39 กำหนดให้ราษฎรมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาคดีความตามกระบวนการยุติธรรมอันชอบธรรม และมาตรา 40 กษัตริย์ทรงสัญญาที่จะไม่ขาย ปฏิเสธ หรือหน่วงเหนี่ยวความยุติธรรมต่อราษฎร เป็นต้น ทั้งนี้ ได้ผ่านการแก้ไขปรับปรุงมาหลายครั้ง กว่าจะตกผลึกเป็น "ฐานราก" ของระบบ รธน.อังกฤษ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษก็ได้มีมาตรการฝึกฝนประชากรให้มีความรู้ความเข้าใจใน "ระบอบประชาธิปไตย" มาแต่ต้น

สังเกตได้ว่า "มหากฎบัตร" ถือกำเนิดมาจาก "การปฏิวัติ" ด้วย "กำลังทหาร" ต่อกษัตริย์จอห์น โดยขุนนางกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการปฏิวัติเพื่อส่วนรวม โดยมุ่งจำกัดการใช้พระราชอำนาจต่อขุนนางและราษฎรทั่วไป ให้อยู่ในกรอบแห่งความชอบธรรม

ขอย้อนกลับมาที่ไทยเมื่อ 22 พฤษภาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาประกาศใช้กฎอัยการศึก แล้วเจรจากับรัฐบาลหุ่นเชิด ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งหมดความชอบธรรมอยู่แล้ว ให้ตกลงก้าวลงโดยดุษฎี ตามข้อเสนอของประชาชน ผู้ประท้วงด้วยวิธีอหิงสาสันติ แต่รัฐบาลไม่ตกลง ไม่ยี่หระต่อการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนจำนวนมากที่ถูกบดขยี้ด้วยอาวุธสงครามจากผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง พล.อ.ประยุทธ์จึงตัดสินใจใช้ "กำลังทหาร" ยึดอำนาจรัฐ ตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเริ่มทำการปฏิรูปชาติบ้านเมืองที่ "เล๊ะตุ้มเป๊ะ" เรื้อรังมานาน

การตัดสินใจของบรรดาขุนนางดังกล่าว ก็ดี การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดี ล้วนเป็นการใช้ "กำลังทหาร" เพื่อกอบกู้ชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเมืองการปกครอง เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

ผลจากการใช้ "กำลังทหาร" นั้น ได้ส่งผลให้เกิดมี "กติกาการปกครอง" คือ "มหากฎบัตร" สำหรับกลุ่มขุนนางดังกล่าว และ "รธน.ฉบับร่าง" สำหรับ คสช. ณ วันนี้

"มหากฎบัตร" ได้ฝ่าคลื่นลมปั่นป่วนทางการเมืองอยู่ร่วม "สองปี" กว่าจะเริ่มตกผลึกเป็นรูปธรรม กลายเป็น "ฐานราก" ของ รธน.อังกฤษปัจจุบัน โดย "ไม่มี" การผ่านประชามติ ส่วน "รธน.ฉบับร่าง" ก็กำลังประสบคลื่นลมที่พัดประเด็นร้อนร้อยแปดพันเก้ารายการ เข้าสู่เวทีการเมืองไทย หลังจากที่ได้มีการยกร่าง รธน.มาเพียง "ครึ่งปี" เท่านั้น อย่าลืมว่า ประเทศไทยสมัยนี้มีโครงสร้างชาติบ้านเมืองที่มี "ความสลับซับซ้อน" มากกว่าอังกฤษสมัย 800 ปีก่อน หลายๆ เท่าตัวทีเดียว

แล้วไทยจะมี รธน.ฉบับที่ 20 หรือไม่?ไทยจะมี รธน.ฉบับที่ 20 หรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่รัฐบาลปัจจุบันจะสามารถเยียวยาประเด็นทางการเมือง 2 ข้อ ดังนี้ ได้หรือไม่

1."ความขมขื่น" ของประชาชนจำนวนมหาศาล ที่มีต่อพฤติกรรมโกงกินขายชาติบ้านเมือง ระดับ "เรื้อรัง" ของบรรดานักการเมืองสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" กำลังกลายเป็น "ความหวาดผวา" ว่า รธน.ฉบับต่อไป จะมีช่องโหว่เปิดโอกาสให้ฝูงนักการเมือง "ผีกระสือ" ทั้งปวง ลอยศีรษะเข้าสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติ จนแลดูน่าขนลุกขนพองไปทั่ว หรือไม่? "ความหวาดผวา" นี้ อาจส่งผลให้เกิด "ความไม่เต็มใจ" ที่จะออกมาลงคะแนนเสียงให้ รธน.ฉบับร่าง ผ่านประชามติ

เมื่อไม่ผ่าน คสช.ก็อาจต้องเริ่มสรรหา รธน.ฉบับใหม่มาเข้ากระบวนการเขียนกันใหม่ หรือปรับปรุงฉบับอื่นๆ ซึ่งจะล้มเหลวอีก ตราบเท่าที่ประชาชนยังมี "ความหวาดผวา" ไม่มั่นใจว่า บ้านเมืองจะกลับเข้าสู่ภาวะสลดใจอีหรอบเดิมหรือไม่ และ "ฝ่ายเสียผลประโยชน์" จากการปฏิรูป ยังแสดงท่าทาง "ชักใบให้เรือเสีย" อยู่

2.การยึดพระราชอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2475 โดย "คณะราษฎร" นั้น คือการปฏิวัติรัฐประหารแบบ "ชิงสุกก่อนห่าม" ในขณะเดียวกัน ก็ผลักดันชาติบ้านเมืองให้กระโจนสู่ "ระบอบประชาธิปไตย" ที่ "นำเข้า" มาจากนอก โดยไม่มีการเตรียมการใดๆ "ก่อนหรือหลัง" การปฏิวัติ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่า ระบอบดังกล่าวคืออะไร ใครมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อใด ที่เป็นการสนับสนุนระบอบนี้ ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงยังขาด "ฐานราก" ของ "จิตวิญญาณประชาธิปไตย" มาตั้งแต่ปี 2475

แทนที่จะวางแผนการเตรียมการดังกล่าว "คณะราษฎร" กลับดำเนินนโยบายให้ประชาชนลอกเลียนวิถีชีวิตตามแบบฉบับของต่างชาติ เช่น ให้เลิกเคี้ยวหมาก ให้รับประทานขนมปัง ให้ผู้ชายใส่หมวก เสื้อเชิ้ต เสื้อนอก กางเกงขายาว และรองเท้าหนัง ส่วนผู้หญิงให้สวมเสื้อแขนยาวกับกระโปรงยาว และรองเท้าหนัง เป็นต้น ราวกับว่าเมืองสยามคือเมืองหนาวที่มีหิมะตกอากาศหนาวสั่นเหมือนเมืองนอก โดยเข้าใจผิดว่า หากทุกคนใช้ชีวิตเหมือนชาวต่างชาติได้แล้ว ทุกคนก็จะรู้เรื่องประชาธิปไตยของชาวต่างชาติ คือ หลงละเมอว่า เมื่อใส่ชุดเสื้อนอกผูกเนคไทอย่างชาวต่างชาติแล้ว คนไทยก็จะเก่งกาจอย่างชาวต่างชาติโดยปริยาย!

ทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่ได้ทำตามบัญชาของ "คณะราษฎร" มาร่วม 80 ปี ประชาชนไทยจำนวนมากก็ยังไม่สันทัดเรื่องระบอบประชาธิปไตยเท่าใดนัก คือ ยังมี "ความเชื่อผิดๆ" เกี่ยวกับบทบาทของตัวเองและนักการเมืองต่อระบอบดังกล่าวอยู่มากมาย

"ความเชื่อผิดๆ" ซึ่งทำลายระบอบดังกล่าว มีอาทิ คะแนนเสียงเลือกตั้งซื้อขายกันได้ ใครจะจ้างมือมืดแจกไข้โป้งหรือน้อยหน่าเหล็กให้คู่แข่งรับเลือกตั้งก็จ้างไป เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ประชาชนก็หมดหน้าที่ทางการเมืองโดยสิ้นเชิง ใครจะใช้วาจาหยาบคายหรืออวัยวะส่วนล่างทำร้ายผู้อื่นในสภาอันทรงเกียรติก็เป็นเรื่องขำขัน ประธานสภาใช้อำนาจบิดเบี้ยวกติกาในการอภิปรายก็ย่อมมีอำนาจทำได้ นายกรัฐมนตรีคนหนึ่งไม่ยอมเข้าประชุมร่วมกับผู้แทนราษฎรเลยก็เป็นเรื่องความพอใจของท่านนายกฯ ใครจะโกงแผ่นดินก็โกงไป แต่อย่าโกงให้มากนัก ตลอดจนรัฐธรรมนูญคือกุญแจวิเศษดอกเดียวที่เปิดประตูให้ชาติก้าวสู่ความเจริญสุขได้ เป็นต้น

"ระบอบประชาธิปไตยไทย" จึงเปรียบได้กับ "ขบวนรถไฟที่ไม่ได้รับการดูแลให้วิ่งบนรางที่ถูกต้องแต่แรก" คือ เป็นขบวนที่ถูกปล่อยให้วิ่งบนรางที่ได้รับการสับรางผิดที่ไปเรื่อยๆ ตามยถากรรม โดยเริ่มต้นที่ "สถานีอารมณ์ร้อน" ของ "คณะราษฎร" ส่งผลให้ขบวนรถไฟนี้วิ่งแบบ "ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง" ไปไม่ถึง "เมืองประชาธิปไตย" ที่ต้องการมาร่วม 80 ปี สักที

ฉะนั้น เพื่อเยียวยาประเด็นทางการเมือง 2 ข้อดังกล่าว คสช.น่าจะพิจารณาทำงานที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการยกร่าง รธน. คือ "งานฝึกอบรม" ความรู้ความเข้าใจเรื่องระบอบประชาธิปไตยให้กับประชาชน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงชั้นผู้ใหญ่วัยเกษียณงาน โดยให้รู้ทั่วกันว่า แม้ระบอบดังกล่าวจะไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบ เช่น เป็นระบอบที่อนุญาตให้ทุนนิยมมีสิทธิ์วิ่งเต้น "ขาย" วาระทางการค้ากำไรให้นักการเมือง สำหรับนำไปออกกฎหมายรองรับวาระของตน เป็นต้น แต่หากประชาชนมี "คุณภาพ" คือ ตั้งอยู่ในกรอบของ "ศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม" แล้ว ระบอบที่ไม่สมบูรณ์แบบก็จะมีความสมบูรณ์แบบเพิ่มขึ้นได้ เพราะผู้คนที่มี "คุณภาพ" ย่อมไม่ละเมิดสิทธิ์โดยชอบธรรมของผู้อื่น คือ ไม่ "ขาย" วาระทางการค้าให้นักการเมือง หรือไม่โกงอยู่แล้ว

ในขณะที่การปฏิรูปครั้งล่าสุดนี้ มีเจตนารมณ์ให้ "พลเมืองเป็นใหญ่" ประชาชนก็น่าจะศึกษา รธน.ฉบับร่างให้แน่ชัดว่า "พลเมืองเป็นใหญ่" จริงหรือไม่? โดยลองศึกษาเจาะดูว่า รธน.ฉบับร่างได้ให้ "พลเมืองระดับชุมชน" เป็น "กลไกทางการเมือง" ที่มีสิทธิ์และได้รับการส่งเสริมคุ้มครองตามกฎหมาย ให้รวมตัวกันเป็น "สภาพลเมือง" ด้วยจิตอาสา เพื่อพัฒนาสังคมเศรษฐกิจในชุมชนตน โดยได้รับคำแนะนำและวิชาการจากหน่วยราชการ เพื่อกระจายอำนาจจาก "สภาผู้แทนราษฎร" ลงสู่ "สภาพลเมือง" จริงหรือไม่?

หากจริง ประชาชนก็น่าจะออกมาแสดงประชามติให้ รธน.ฉบับร่างผ่านไปด้วยดี เมื่อผ่านได้แล้ว "สภาพลเมือง" จะเป็น "กลไกทางการเมืองเดียว" ที่ประชาชนสามารถใช้กระตุ้นให้ผู้แทนราษฎร หันมารับรู้เอาใจใส่ต่อการพัฒนาชุมชนของประชาชน ด้วยประชาชน และเพื่อประชาชนเอง

เมื่อผู้แทนราษฎรที่เป็นสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ต้องใช้เวลามากขึ้นในการปฏิสัมพันธ์กับ "สภาพลเมือง" ทั้งตอนกลางวันและตอนฝัน ในเขตรับผิดชอบแล้ว เวลาสำหรับโกงกินขายชาติบ้านเมืองก็จะลดน้อยลงได้ ไม่มากก็น้อย

"สภาพลเมือง" จึงน่าจะเป็น "กลไกเชิงประชาธิปไตยเดียว" ที่สามารถเสริมสร้างคุณประโยชน์สำคัญยิ่งต่อชาติบ้านเมือง ทั้งในด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ในขณะที่ได้รับการส่งเสริมคุ้มครองจาก "รัฐธรรมนูญไทย" ตาม "ระบอบประชาธิปไตย" มิใช่หรือ?.

Friday, June 12, 2015


จิตสำนึกไทยไม่โก
ดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com




ในการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ "ต่อต้านการทุจริต สร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง" เมื่อวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2558 โดยกรมประชาสัมพันธ์ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัด เป็นประธานในจังหวัด ร่วมสร้างจิตสำนึกพร้อมกันไปกับนายกรัฐมนตรีนั้น

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์และประกาศเจตนารมณ์ "ต่อต้านการทุจริต สร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง" ด้วยน้ำเสียงแสดงถึงความจริงจังและจริงใจ โดยกล่าวถึงการที่ตนได้รักษา "เกียรติศักดิ์ทหาร" รับใช้แผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาตลอด อีกทั้งในตอนท้ายรายการ ท่านนายกฯ ก็ได้กล่าวคำปฏิญาณตนต่ออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นำหน้าข้าราชการในทุกจังหวัด ด้วยเจตนารมณ์ที่จะทำราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อทำได้แล้ว ขอให้มีความเจริญสุข หาไม่แล้ว ขอให้มีอันเป็นไป

จุดน่าสนใจหนึ่งของงานได้แก่ การฉายวีดิทัศน์สองชุดที่แสดงภาพชนชั้นยากจนอาศัยอยู่ในเพิงมุงด้วยสังกะสีติดสนิม ผู้คนบนท้องถนนประท้วงขับไล่รัฐบาลโกงแผ่นดิน เด็กๆ เตือนใจผู้ใหญ่ให้แสดงจริยธรรมคุณธรรม คือ ให้เข้าคิวรับบริการ ปิดก๊อกน้ำให้สนิท ไม่จอดรถในที่สำรองสำหรับผู้พิการโดยที่ตนไม่พิการ ฯลฯ เพื่อจะได้ไม่ติดเป็นนิสัยโกงต่อไป

นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ มีข้อสังเกตว่า เด็กมีจิตใจบริสุทธิ์อยู่แล้ว จึงฝากฝังขอให้ผู้ใหญ่ช่วยกันดูแลเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่โกงในวันหน้า

ข้อสังเกตนี้ได้รับการยืนยันโดย ดร.พอล บลูม นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ดร.บลูมได้ทำการวิจัยทารกวัย 9 เดือน และวัย 21 เดือน พบว่า แม้ว่าทารกเหล่านี้ยังไม่สามารถรับรู้หรือเข้าใจความคิดเชิงนามธรรมที่จับความได้ยากอย่างศีลธรรมคุณธรรม แต่ก็ได้แสดงออกถึงการมีคุณลักษณะดังกล่าว หลังจากที่ได้ดูการแสดงหุ่นเชิด ซึ่งมีตุ๊กตาตัวหนึ่งแสดงบทบาทเป็นตัวเกเร ไม่ร่วมมือเล่นกับตุ๊กตาอีกสองตัว คือ หลังจากได้เล่นส่งบอลไปมากับตุ๊กตาตัวอื่น จู่ๆ ตัวเกเรก็หอบเอาบอลหลบหนีออกจากฉากไป ทำให้ตุ๊กตาตัวอื่นอดเล่นบอลต่อ เมื่อตุ๊กตาตัวเกเรกับตัวอื่นมาอยู่พร้อมหน้าทารกเหล่านี้ ปรากฏว่า ทารกส่วนใหญ่ไม่ยื่นขนมเป็นรางวัลให้ตุ๊กตาเกเร แต่ยื่นให้กับตุ๊กตาไม่เกเร แถมทารกบางคนกำมือทุบตุ๊กตาเกเรด้วยซ้ำไป

เมื่อเด็กมีความบริสุทธิ์อยู่ในใจ ทำไมจึงกลายเป็นคนโกงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่?


นักจิตวิเคราะห์โด่งดัง ดร.อิริค ฟรอม์ม ผู้ได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ได้ให้คำตอบไว้ว่า เนื่องจากเด็กได้รับคำสั่งสอนเตือนใจจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ ให้มุ่งหาเงินหาทองเมื่อโตแล้ว จะโดยวิธีใดก็ได้ เพื่อให้ร่ำรวยมากๆ ไว้ จะได้ไม่อับอายขายหน้าคนอื่นเขา

คำพูดของผู้ใหญ่มีอำนาจอิทธิพลต่อเด็กมาก ทำให้เด็กจดจำไปทำในอีกหลายปีต่อมา จนกลายเป็นคนมีสันดานโกง มุ่งเอาเปรียบผู้อื่น ดร.ฟรอม์มมองว่า คนโกงเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในภาวะจิตที่สามารถทำตนให้เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมได้เลย ส่วนปรมาจารย์เล่าจื้อ มองว่า คนเหล่านี้เปรียบได้กับ "ข้าวนอกนา" ที่ไม่อำนวยประโยชน์ต่อผู้ใด

แล้วจะมีวิธีเยียวยาผู้ใหญ่ประเภท "ข้าวนอกนา" ที่ขยันโกงเหล่านี้ได้อย่างไร?


ดร.ฟรอม์มชี้แนะว่า ในการเยียวยาพฤติกรรมผู้ใหญ่นั้น ให้ปฏิบัติตามแนวพระอริยสัจสี่ของพระพุทธเจ้า คือ (1) ให้ลองนึกคิดดูว่า ตนมีทุกข์หรือไม่ สังเกตได้จากอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เครียด หวาดผวาคนลอบทำร้ายหรือโกงสมบัติตน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นอาการของจิตที่สงบไม่เป็น มีทุกข์ (2) ให้ลองไตร่ตรองดูว่าทุกข์ที่มีอยู่นั้น มาจากไหน? ดูไปดูมาแล้วจะเห็นว่ามาจากกิเลสตัณหาในตัวเอง มี "ความทะยาน" อยากได้แบบไม่สิ้นสุด ส่งผลให้โกงเงินผู้อื่นหรือแผ่นดิน (3) เมื่อ "ความทะยาน" หลุดพ้นว่างไปจากจิตแล้ว การคิดโกงก็สงบลงด้วยใช่ไหม? เมื่อไม่มีตัวแล้ว จะมีเงาได้อย่างไร? (4) ให้บอก "ทางออก" จากทุกข์ เช่น ให้ศึกษาปฏิบัติ "มรรคมีองค์แปด" เป็นต้น เพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ให้บังเกิดศีล สมาธิ และปัญญา สำหรับดำรงชีพบน "ทางสายกลาง" ซึ่งปลอดจากความเครียดและสามารถเยียวยาพฤติกรรมโกงได้ ส่งผลให้พ้นทุกข์ได้

การสร้างจิตสำนึกในรายการถ่ายทอดสดดังกล่าว ด้วยการสวมเสื้อยืดแสดงข้อความต่อต้านการโกง การแสดงท่าไขว้แขนบนหน้าอก การกำมือขวาชูนิ้วโป้งบนอกซ้าย ตลอดจนการร้องเพลงต่อต้านการโกงนั้น เมื่อทำอย่างสม่ำเสมอนานวันเข้า จะกลายเป็น "ข้อเตือนใจ" ที่ซึมซับเข้าไปในจิตใต้สำนึก กระตุ้นให้ต่อต้านการโกงต่อไปได้ไม่มากก็น้อย

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจำต้องมีมาตรการ "ป้องปราม" ด้วยการกำหนดและบังคับใช้ "กฎหมาย" ที่เฉียบขาดอย่างไม่เว้นหน้า เพื่อให้เป็น "กำแพง" ป้องกันมิให้คนโกงปีนข้ามไปโกงกินในบ้านเมือง

ทว่า กฎหมายหรือกำแพงก็คือระบบ ซึ่งเป็นสิ่งไม่มีชีวิต คนย่อมฉลาดกว่าสิ่งไม่มีชีวิต สามารถค้นหาวิธีปีนข้ามกำแพงไปได้ ไม่ช้าก็เร็ว ดังกรณีนักโทษสองคนในคดีฆาตกรรม สามารถแหกคุกหลบหนีออกจากเรือนจำคลินตัน เมืองแดนเนอโมรา รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการมีระบบคุมขังที่เหนียวแน่นมั่นคงระดับสุดยอดของประเทศ นักโทษทั้งสองใช้เครื่องมือไฟฟ้าเจาะตัดผนังเหล็กกล้าเป็นช่องเล็ก แล้วมุดเข้าไปในอุโมงค์ใต้ดินที่เลี้ยวลดคดเคี้ยวออกไปยังท่อระบายน้ำที่มีฝาปิดนอกเรือนจำ ผู้คุมเรือนจำตรวจพบการแหกคุกเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2558 นี้

ดังเช่นนักโทษสองคนดังกล่าว คนโกงโดยสันดานระดับมืออาชีพและไร้ "หิริโอตตัปปะ" กำลังรอจังหวะให้ "โรดแม็พปฏิรูป" สิ้นสุดลง แล้วสมัครรับเลือกตั้ง ใช้อำนาจมืด มุดเข้าไปในสภาอันทรงเกียรติ ทำการโกงอย่างมันมือและหนักกว่าทุกครั้งในอดีต เพื่อชดเชยโอกาสโกงที่ขาดหายไปจากการปฏิรูปชาติบ้านเมือง

ตราบใดที่ยังไม่มีระบบหรือกฎหมายใดในโลกที่สามารถเยียวยาปัญหาโกงแผ่นดินได้อย่างฉมังขลังจริง รัฐบาลก็น่าจะพิจารณากำหนดมาตรการระยะยาวที่เจาะลึกเข้าไปในปัญหาดังกล่าว ดังนี้

1.ฝึกฝนเยาวชนให้มีค่านิยมใน "จิตนิยม" ในโรงเรียนและครัวเรือน คือ ส่งเสริมให้บุตรหลานชาวพุทธมีโอกาสได้เรียนรู้ปฏิบัติ "มรรคมีองค์แปด" ตามวัยอันควร ดังคติพจน์ที่ว่า "ไม้อ่อนดัดง่าย"

2.เสริมสร้างอย่างเป็นรูปธรรม ให้เกิด "บรรยากาศการดำรงชีพ" หรือ "ค่านิยม" ที่เทิดทูน "ศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม" หรือ "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" ตามคำสอนในศาสนาโลก มิใช่บูชา "วัตถุเงินทอง" หรือ "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ตามแนวคิดของทุนนิยมที่ "ไร้จิตสำนึก" ในธรรมะดังกล่าว

3.ยกระดับกรมการศาสนาให้เป็น "กระทรวงการศาสนา" เพื่อทำหน้าที่ฟื้นฟูวัดวาอารามทั่วประเทศให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่หมด โดยมุ่งทำการปฏิรูป "วัดพุทธพาณิชย์" ให้เป็น "วัดพุทธ" ขนานแท้ และพร้อมที่จะเป็นศูนย์รวมของชุมชนสำหรับ (1) เรียนรู้พระธรรมกับวัฒนธรรม (2) แสดงจิตอาสาช่วยทำนุบำรุงรักษาวัดให้สะอาดงดงามปลอดจากอิทธิพลทางการเมือง (3) จัดงานตามประเพณีนิยมอันดีงาม (4) เรียนรู้ปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง (5) เสริมสร้าง "จิตนิยม" แทน "วัตถุเงินทองนิยม" ซึ่งก่อให้เกิดวัฒนธรรมอุบาทว์ของการบริโภคล้นเกินและการอวดมั่งอวดมี เพียงเพื่อไม่ให้น้อยหน้าผู้อื่น

นอกจากมาตรการระยะยาวแล้ว รัฐบาลน่าจะมีมาตรการเด็ดขาดสำหรับจัดการกับ "ผู้ให้สินบน" แก่เจ้าหน้าที่ ด้วยการบัญญัติและบังคับใช้กฎหมายที่ลงโทษ "ผู้ให้และผู้รับสินบน" อย่างเช่นคดีอุกฉกรรจ์ทั้งหลาย คือ "เชือดคอไก่ให้ลิงดู" เพื่อให้เกิดความขยาดกลัวไม่คิดอยากโกงกันอีก

ตัวอย่างมาตรการเด็ดขาดหนึ่งเกิดขึ้นที่ฝ่ายการจราจร รัฐออนตาริโอ ประเทศแคนาดา หน่วยงานนี้เคยติดป้ายประกาศโทษปรับ 250 เหรียญแคนาดา (1 ต่อ 27 บาท) สำหรับผู้ไม่พิการที่จอดรถในที่สำรองไว้สำหรับผู้พิการ แต่ก็มีการฝ่าฝืนกฎหมายข้อนี้บ่อย โดยเฉพาะ ณ ที่จอดแห่งหนึ่ง จึงเปลี่ยนป้ายประกาศเพิ่มโทษปรับเป็น 2,500 เหรียญ ปรากฏว่าการฝ่าฝืนหายวับไปทันที

การโกงเงินของแผ่นดินคือการขโมยเงินโดยชอบธรรมของปวงชน และการละเมิดความไว้วางใจที่ปวงชนได้มอบอำนาจบริหารชาติบ้านเมืองไว้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ส่งผลให้ปวงชนที่ยากไร้ ไม่ได้รับการบริการจากรัฐโดยชอบธรรม ด้วยขาดเงินแผ่นดินที่ถูกโกงไป นับเป็นอาชญากรรมที่ฝ่ายตุลาการในหลายประเทศพิจารณาเห็นว่า เป็นความอาญาขั้นอุกฉกรรจ์ สมควรรับโทษถึงขั้นประหารชีวิต เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่คนที่คิดจะโกงแผ่นดินต่อไป

การปราบปราม "วัฒนธรรมโกงแผ่นดิน" เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจริงจัง เฉียบขาด และรอบคอบ มิฉะนั้น รัฐบาลจะเสียเวลา เสียทรัพยากรเปล่าๆ ข้อสำคัญ ปวงชนจะหมด "ศรัทธา" ในผู้บริหารชาติบ้านเมือง

ปรมาจารย์ขงจื้อ ปราชญ์แห่งการปกครอง เตือนไว้ว่า  "ศรัทธา" ของปวงชน มีอานุภาพรุนแรงยิ่งกว่าคลังอาหารหรือกองทัพของปวงชน คือ ชาติบ้านเมืองจะดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้อย่างแน่นอน หากปวงชน "หมดศรัทธา" ในผู้บริหารชาติบ้านเมือง

"จิตสำนึกไทยไม่โกง" จะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้นั้น รัฐบาลจำต้องมีและดำเนินการตาม "แผนปฏิบัติการที่สมบูรณ์แบบ" ซึ่งเจาะลึกเข้าไปในจิตใจของคนโกง เสริมสร้าง "ค่านิยม" ของ "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" ชี้ให้เห็นมหันตภัยของ "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ในขณะที่ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคนโกงด้วยการลงมือ  "เชือดคอไก่ให้ลิงดู" เพื่อรักษา "ศรัทธา" ของปวงชนและเอกราชของชาติไว้อีกนานแสนนาน.

Wednesday, June 10, 2015

ผู้มาเยือน

โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com


ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง The Visitor (2008) “ผู้มาเยือน” มีเนื้อหาสาระสะท้อนสังคม เผยวิถีชีวิตที่ไม่ค่อยได้ชมกันนัก ผสมผสานด้วยอารมณ์โรมานซ์เล็กน้อย ดูแล้ว น้ำตาคงไม่ถึงขนาดหยดออกจากเบ้าตา แต่อาจไหลลึกอยู่ในหัวใจ นับเป็นภาพยนตร์ที่หาดูได้ยากเรื่องหนึ่ง

“ผู้มาเยือน” เปิดฉายในปี 2551 มีความยาว 105 นาที (PG-13) กำกับการแสดงโดยทอม แมคคาร์ธี่ ผู้มีผลงานดีเด่นมาแล้วในเรื่อง The Station Agent “ผู้มาเยือน” ทำเงินจากโรงฉายได้ 9.2 ล้านดอลลาร์ (ราว 295 ล้านบาท)

ขอเล่าเรื่อง “ผู้มาเยือน” สู่กันฟัง พอหอมปากหอมคอ เพื่อจะได้มีฐานสำหรับทำความเข้าใจกับสาระอันน่าสนใจของภาพยนตร์

“ผู้มาเยือน” เป็นภาพยนตร์ชีวิตที่ไม่มีพระเอกหนุ่มหล่อหรือนางเอกสาวสวยอย่างภาพยนตร์ชีวิตทั่วไป พระเอกแสดงโดยริชาร์ด เจนกินส์ ดารารุ่นเก่า รับบทบาทเป็นพ่อหม้ายวัย 52 ปี สอนวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ที่วิทยาลัยคอนเนคติคัต อยู่ห่างจากมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยรถส่วนตัวราว 1 ชั่วโมง 45 นาที

พ่อหม้ายอาจารย์ ดร.วอลเตอร์ เวล เป็นคนค่อนข้างอนุรักษนิยม แต่ก็ปรับเปลี่ยนใจได้เสมอ ตามที่ตนเห็นควร ภายหลังภรรยายล้มป่วยแล้วจากไป อาจารย์ก็หันมาฝึกเรียนเล่นเปียโนคุณภาพสูงราคาแพงของเธอ ด้วยใจระลึกถึงเธอ ฝึกเรียนกับครูสตรีวัยเดียวกันได้สักพัก ก็ไปลงเอยในรูปแบบที่ไม่ได้ตั้งใจไว้

ชีวิตการสอนของอาจารย์ค่อนข้างจำเจ น่าเบื่อหน่าย หมุนเวียนใช้คำบรรยายเก่าเก็บซ้ำซาก ไร้ชีวิตชีวา โดยมักยืนบรรยายและใช้โสตทัศนูปกรณ์บ้าง ส่วนนิสิตก็นั่งฟังด้วยความเบื่อหน่ายเซ็งสุดๆ ทั้งอาจารย์และนิสิตต่างมีอาการซังกะตาย ต่างทำหน้าที่ใช้เวลาให้ผ่านไปกับการสอนการเรียน เอาตัวรอดไปวันๆ

วันหนึ่ง คณะเศรษฐศาสตร์ได้ขอให้อาจารย์เดินทางไปมหานครนิวยอร์ก เพื่อร่วมประชุมทางวิชาการและแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ข้อหนึ่งของอาจารย์อีกคนหนึ่ง ซึ่งติดขัดไปไม่ได้ อาจารย์ปฏิเสธคำขอทันที แต่หัวหน้าคณะยืนยันหนักแน่นให้ไป โดยให้อ่านบทปาฐกถาที่เจ้าของทฤษฎีได้เขียนไว้แล้ว ในที่สุด อาจารย์ก็จำยอมไป

ในมหานครนิวยอร์ก อาจารย์มีอพาร์ตเมนต์ที่ซื้อไว้นานแล้ว เมื่อสมัยยังเรียนหนังสืออยู่ ปัจจุบัน นานๆ ครั้งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ อาจารย์จะขับรถจากวิทยาลัยที่ตนสอนอยู่ไปนอนค้างคืนที่บ้านแห่งที่สองนี้ เพื่อชมละครบรอดเวย์หรือฟังคอนเสิร์ตยอดนิยมในวันรุ่งขึ้น ทว่า การไปเยือนบ้านตัวเองครั้งนี้ อาจารย์ไปพบจุดเปลี่ยนชีวิตตน อย่างที่มิได้คาดฝันมาก่อน

เมื่อไขกุญแจประตูบ้านแล้วก้าวเข้าไปในอพาร์ตเมนต์ อาจารย์สังเกตเห็นแสงไฟสาดออกมาจากห้องน้ำอย่างผิดปกติ พอแง้มประตูห้องน้ำออก ก็เห็นหญิงสาวผิวดำคนหนึ่ง กำลังแช่ตัวอยู่ในอ่างอาบน้ำ พอเธอเหลือบไปเห็นชายแปลกหน้ายืนจ้องดูตนอยู่ ก็ตกใจสุดขีด ส่งเสียงร้องกรี๊ดๆ คิดว่ามีคนร้ายมาทำมิดีมิร้าย เสียงร้องกรี๊ดทำให้แฟนหนุ่มของเธอวิ่งออกจากห้องนอน แสดงท่าทุบตีอาจารย์ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ส่วนอาจารย์ก็ทำท่าปกป้องตัวเองเป็นพัลวัน

เมื่อความโกลาหลสงบลง อาจารย์เริ่มชี้แจงแสดงตนเป็นเจ้าของบ้าน ทั้งสองฝ่ายก็เริ่มรู้จักกัน ดูเหมือนว่า ผู้ดูแลอาคารอพาร์ตเมนต์หยิบกุญแจผิดห้องให้กับหนุ่มสาวคู่นี้ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่ไม่รู้ประสีประสา ทำให้พลัดเข้าไปอยู่ในบ้านของอาจารย์ จะโดยบังเอิญหรือไม่ ก็ตาม

ในแต่ละวัน หลังการประชุมทางวิชาการช่วงเช้า อาจารย์มักไปเดินเล่นที่สวนหย่อนใกล้ๆ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เลยได้พบเห็นคนผิวดำกลุ่มหนึ่ง กำลังตีกลองตามศิลปวัฒนธรรมตนอย่างสนุกสนาน เสียงกลองดังกึกก้องระทึกใจยิ่ง ดึงดูดความสนใจของผู้คนที่เดินผ่านไปมา ชายหนุ่มเชื้อสายอาหรับ ผู้เป็นแฟนและอยู่ด้วยกันกับหญิงสาวผิวดำในอพาร์ตเมนต์ตน ก็ร่วมวงตีกลองอยู่ด้วย

ต่อมา อาจารย์ทดลองนั่งตีกลองของชายหนุ่มที่อพาร์ตเมนต์ดู ปรากฏว่า บังเกิดความเสน่หาในดนตรีศิลป์แห่งกลองขึ้นมา ชายหนุ่มก็สอนเทคนิคตีกลองและซื้อหากลองใบใหม่มาให้อาจารย์ฝึกฝน เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นค่าเช่าบ้าน

วันหนึ่ง ขณะที่ชายหนุ่มกับอาจารย์กำลังอุ้มกลองคนละใบ และพยายามก้าวผ่านด่านเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน หลังจากที่ได้ชำระค่าโดยสารแล้ว ในจังหวะนั้น ตำรวจนอกเครื่องแบบสองนายตรูกันเข้าไปที่ชายหนุ่มทันที และขอดูบัตรประจำตัวที่ออกโดยรัฐ แต่ชายหนุ่มไม่มีบัตร เนื่องจากได้เข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย จึงถูกจับกุมตัวไปคุมขังที่สถานีตำรวจทันที

อาจารย์รีบตามไปขอประกันตัวชายหนุ่ม แต่ตำรวจปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าเป็นกรณีเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย หากให้ประกันตัวแล้วก็อาจหายตัวได้ อนึ่ง ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ได้เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายในมหานครนี้ ตึกระฟ้าฝาแฝดโด่งดังสองหลังชื่อเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถูกชาวอาหรับหลายคนขับเครื่องบินพาณิชย์สองลำ ชนถล่มจนทรุดหายไป ส่งผลให้ผู้คนในตึกตายทันทีร่วมสามพันคน

แม้ว่าอาจารย์ได้ลงทุนจ้างทนายความไว้ แต่ทนายกลับไม่สามารถแบ่งปันเวลาไปต่อสู้คดีได้ทันกาล ในที่สุด ชายหนุ่มถูกย้ายไปกักขังอยู่ในเรือนจำห่างไกลอย่างรวดเร็ว เพื่อรอการเนรเทศต่อไป ส่วนแฟนสาวต้องรีบย้ายออกจากอพารต์เมนต์ เพราะไม่มีบัตรประจำตัวเช่นกัน

แม้ได้พยายามวิ่งเต้นช่วยชายหนุ่มด้วยตนเองที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหลายครั้ง ในฐานะที่มีสัญชาติอเมริกันโดยกำเนิด อาจารย์ก็พบแต่การปฏิสัมพันธ์ที่เยือกเย็นอย่างยิ่งจากเจ้าหน้าที่ที่นั่งอยู่หลังช่องหน้าต่าง จนอาจารย์ระเบิดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวโกรธกริ้วอย่างสุดขีด ส่งเสียงตะโกนดังลั่นใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่ยอมรับรู้และไม่ยอมเข้าใจอะไรทั้งสิ้น โดยถือว่าตนมีหน้าที่ที่จักต้องทำตามระบบระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เท่านั้น

พฤติกรรมโกรธกริ้วสุดขีดของอาจารย์ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกที่ว่า สังคมที่อาจารย์กำลังใช้ชีวิตเผชิญหน้าอยู่ทุกวันนี้ จริงๆ แล้ว ช่างใจดำอำมหิต ไร้ความชอบธรรม ไร้มนุษยธรรม โดยสิ้นเชิงมาตลอด

อาจารย์มองว่า ชายหนุ่มหญิงสาวคู่นี้ คือมนุษย์ปุถุชนทั่วไป แม้ว่าชายหนุ่มได้ทำผิดกฎหมายเข้าเมืองจริง แต่ก็มิใช่อาชญากรเลวร้ายอย่างคนที่ปล้นฆ่าประชาชน จึงน่าจะให้รับโทษาณุโทษตามควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวชายหนุ่มเองก็ถูกทุนสามานย์ในบ้านเกิดตน เอารัดเอาเปรียบ ยึดอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวตนไปอย่างไม่ชอบธรรม จนต้องลี้ภัยทางเศรษฐกิจไปอยู่สหรัฐ

ภาพชีวิตจริงน่าสลดใจที่ระเบิดอยู่ต่อหน้านี้ ส่งผลให้อาจารย์ต้องค้นหา “ความหมาย” ในชีวิตตนใหม่หมด โดยเฉพาะชีวิตการเป็นอาจารย์อันทรงเกียรติและสอนอยู่ในระดับอุดมศึกษามานาน

บัดนี้ อาจารย์เริ่มมองเห็น “ความกรวง” ของชีวิตตนและของสังคม ซึ่งโดยแก่นแท้แล้ว ผูกพันอยู่กับเศรษฐกิจล้วนๆ เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ใจดำอำมหิต ตัวใครตัวมัน ไร้ความชอบธรรม ไร้มนุษยธรรม และสามารถเนรเทศชายหนุ่มให้กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนที่ผูกพันอยู่กับเศรษฐกิจล้วนๆ เช่นกัน

ฝีมือกำกับยอดเยี่ยมของนายแมคคาร์ธี่ ได้ถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ผู้กอปรด้วยศีลธรรมจริยธรรมของอาจารย์ออกมาอย่างมีศิลป์และด้วยความละเอียดอ่อนยิ่ง เมื่อมารดาแม่หม้ายทรงเสน่ห์เชื้อสายอาหรับของชายหนุ่ม ได้ขึ้นเครื่องบินจากมลรัฐอื่นมาตามหาบุตรถึงบ้านอาจารย์ ด้วยความห่วงใยที่จู่ๆ ก็เงียบหายไปนาน

ทั้งมารดาของชายหนุ่มกับอาจารย์มีโอกาสอยู่ด้วยกันสองต่อสองในอพาร์ตเมนต์อยู่หลายวัน ทั้งนี้ ด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีงามยิ่งจากเจ้าของบ้าน โดยอาจารย์มิได้ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของมารดาชายหนุ่มแต่ประการใด

ช่วงท้ายของภาพยนตร์แสดงภาพอาจารย์นั่งตีกลองอยู่ในสวนหย่อนใจ บางครั้งก็ภายในชานชาลารถไฟฟ้าใต้ดิน ทั้งนี้ แสดงว่าอาจารย์ได้ละทิ้งอาชีพงานสอนอันทรงเกียรติโดยสิ้นเชิง หันมาใช้ชีวิตอิสระ ระบายความหดหู่ใจด้วยการตีกลองอย่างชายหนุ่มที่ถูกเนรเทศ ในขณะเดียวกัน ก็ใช้มาตรการอารยะขัดขืน คือ ไม่ทำการอื่นใดที่จะเป็นการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจในสังคมอีกต่อไป

ภาพยนตร์เรื่อง “ผู้มาเยือน” นี้ ให้คติน่าคิดว่า ชีวิตอันทรงเกียรติ อุดมด้วยปัจจัยสี่ และสะดวกสบาย นั้น จะมี “ความหมาย” อันใด เมื่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกเดียวกันอย่างชายหนุ่ม ผู้มีส่วนเกื้อกูลและรับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจในสังคม ด้วยการทำงานสุจริตเลี้ยงชีพ อุดหนุนสินค้าบริการ ตลอดจนชำระภาษีอากร กลับถูกค่านิยมในวัตถุเงินทองอันเห็นแก่ตัว บดขยี้ทิ้งราวกับเศษขยะชิ้นหนึ่ง


โจทย์ของ "ผู้มาเยือน" คือ ความเป็นมนุษย์เยี่ยง "สัตว์ประเสริฐ" ของพระบรมศาสดาโลก ยังมีหลงเหลือจริงๆ อยู่ในสังคมปัจจุบันอีกเท่าใด?

จีวรร้อน

โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com


ยุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคของ "วัตถุเงินทองอำนาจ" อย่างแท้จริง 

นับเป็นยุคที่มีแต่ความร้อน ร้อนจากการผลิตวัตถุเสนอบริการที่ต้องใช้พลังงานมหาศาล ร้อนจากภาวะโลกร้อนที่มาจากการผลิตบริการ ร้อนจากการแข่งขันกันเสนอขายวัตถุบริการให้กับผู้บริโภค ร้อนจากกิเลสตัณหาของผู้บริโภคที่ซื้อหาวัตถุบริการทั้งที่เป็นและไม่เป็นปัจจัยสี่ ตลอดจนร้อนจากการแข่งขันกันคิดพูดทำเพื่อให้ได้มาซึ่ง "วัตถุเงินทองอำนาจ"

ความร้อนเหล่านี้กำลังแผ่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในไทย ซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาช้านาน กระนั้นก็ตาม ชาวพุทธไทยและแม้กระทั่งพระภิกษุสงฆ์ ต่างก็ถูกไฟอันร้อนแรงของ "วัตถุเงินทองอำนาจ" ลวกมาแล้ว ไม่มากก็น้อย

"พระธรรม" สอนชาวพุทธให้ใช้วิถีชีวิตแบบ "มัชฌิมาปฏิปทา" มี "ความประพฤติสายกลาง" ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ตาม "มรรคมีองค์แปด" เพื่อฝึกฝนตนให้มีความมั่นคงในศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งมีอานุภาพต่อต้านความร้อนดังกล่าวได้

อนิจจา ชาวพุทธไทยปัจจุบันจำนวนมาก นับถือพุทธแต่ปากกับมือ จิตไม่ได้อยู่กับพระธรรม จิตจึงนำกายให้พูดทำตามอารมณ์ ตามความพอใจ ซึ่งผันแปรอย่างน้ำขึ้น-น้ำลง ไม่นิ่งอยู่ใน "ความสมดุล" ของ "เหตุผลกับอารมณ์" ที่น่าสลดใจยิ่ง พระบางรูปก็ไม่นิ่งอยู่ใน "ความสมดุล" เช่นกัน

การไม่ได้นิ่งอยู่ใน "ความสมดุล" นี้ คือสาเหตุสำคัญข้อหนึ่งของ "จีวรร้อน" ที่ร้อนก็เพราะพระบางรูปกำลังถูกกล่าวหาว่าทำผิดข้อบัญญัติทางธรรมและทางโลก ยังความเสื่อมเสียต่อพระดีๆ ด้วย

ในการนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการปกป้องพิทักษ์กิจการพุทธศาสนา ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการ "จับตาเส้นทางปฏิรูป : พิมพ์เขียวปฏิรูปพระพุทธศาสนา" ออกอากาศวันที่ 2 มิถุนายน 2558 ทางโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยระบุ 4 ประเด็นใหญ่ที่พึงทำการปฏิรูปดังจะได้เสนอพร้อมข้อสังเกตส่วนตัว ดังนี้

1.การบริหารเงินในวัด สังเกตได้ว่า เมื่อเข้าวัด บรรดาอุบาสก อุบาสิกา มักบริจาคถวายเงินทองให้กับวัดและพระด้วยจิตศรัทธา ในบางโอกาส การบริจาคได้ก่อให้เกิดการไหลเทของเงินเข้าวัดอย่างมากมายรวดเร็วเกินคาด จนกรรมการวัดหรือพระมิอาจทำบัญชีรับเงินได้อย่างถูกต้องทันกาล ในกรณีที่ทำบัญชี ก็ทำแบบเงียบๆ ไม่เปิดเผย ไม่โปร่งใส และไม่ยอมให้มีการตรวจสอบบัญชีจากนักสอบบัญชี ส่งผลให้เกิดข้อกังขาในพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในวัด

ฉะนั้น ผู้มีจิตศรัทธาบางท่านที่มีความรังเกียจต่อการบริหารเงินในวัด ย่อมไม่ปรารถนาเข้าวัดบูชาพระรัตนตรัย รู้สึกกราบนมัสการพระคุณเจ้าได้ไม่สนิทใจ และไม่ประสงค์เกื้อกูลกิเลสอกุศลในวัด ทั้งนี้ เพราะไม่ปรารถนาให้วัดพุทธกลายเป็น "วัดพุทธพาณิชย์" ผลก็คือ วัดดีๆ ก็พลอยวิบัติไปกับวัดเลวๆ ด้วย

ปรากฏการณ์ดังกล่าว กำลังเกิดขึ้นและ "เน่า" อยู่ในวัดหลายแห่ง หากปล่อยทิ้งไว้ ผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายอาจขออยู่ห่างวัดตลอดไป วัดก็จะกลายเป็นวัดร้าง เมื่อพระเลวมีรายได้จากเงินบริจาคลดลง ก็จะสึกออกมาเป็นเศรษฐีคนหนึ่ง มีเงินมีทองที่แอบเก็บๆ ไว้ในขณะนุ่งห่มจีวรอยู่ พอจับจ่ายใช้สอยไปได้ตลอดชีวิต ส่วนสถาบันศาสนา ก็จะ "เน่า" ตามวัดเหล่านั้นไปด้วย โดยปริยาย

2.การขาดภาวะผู้นำ อาการ "เน่า" ในวัดสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอขององค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลวัดพุทธทั่วประเทศ ชื่อว่า "มหาเถรสมาคม" (มส.) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ไทย ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535

นอกจากจะไม่จัดระเบียบให้วัดสะอาดปราศจากมลทินแล้ว มส.ปัจจุบันยังออกมาแสดงบทบาทในฐานะผู้มีทั้งอำนาจเด็ดขาดในการ "บริหารปกครอง" ศาสนกิจสงฆ์ และอำนาจสูงสุดในการ "พิพากษา" พฤติกรรมสงฆ์ จึงสามารถปกป้องคุ้มครองพระที่ทำผิดพระธรรมวินัยและตัวบทกฎหมาย ให้พ้นผิดพ้นมลทิน ราวกับว่าเป็นเหตุการณ์ในฝัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ กรณีของ "พระธัมมชโย" แห่งวัดธรรมกาย ที่ให้พ้นผิดข้อกล่าวหาและกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมอย่างน่าทึ่งและน่าสลดใจที่สุด ท่ามกลางความงุนงงในหมู่ชาวพุทธทั่วไปว่า นี่หรือ มส. "ผู้นำ" ปัจจุบันของพระพุทธศาสนาไทย?

ปัจจุบัน พระพุทธศาสนาไทยกำลังกลายเป็นศาสนาที่คุ้มครองอาชญากรให้พ้นเงื้อมมือกฎหมายบ้านเมืองแล้วหรือ? แล้วในอนาคต จะมิกลายเป็นศาสนาที่มีแต่อาชญากรเข้าไปมั่วสุมกันอยู่หรือ?

นอกจากนี้ มส.ปัจจุบันยังปล่อยให้มีการแต่งตั้งโยกย้ายพระสงฆ์องคเจ้าตามแต่พระสังฆาธิการจะโปรดปราน เชิง "เผด็จการ" ก่อให้เกิด "วัฒนธรรมการเมือง" ในหมู่สงฆ์ เพียบพร้อมด้วยการวิ่งเต้นแบ่งปันผลประโยชน์

โดยพระธรรมวินัยแล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายพระเป็นหน้าที่ของ      พุทธบริษัทสี่ อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ร่วมกันพินิจพิจารณาอย่างเปิดเผย มีระบบระเบียบ และเป็นคณะบุคคลเชิง "ประชา ธิปไตย" เพื่อให้ได้พระดีมีพระธรรมวินัยมาทำหน้าที่ในวัดต่อไป

เมื่อ มส.ปัจจุบันปกครองคณะสงฆ์ตาม "วัฒนธรรมแห่งอธรรม" แล้ว พระที่แอบทำบัญชีทุจริต จะมีเวลาหรือจิตใจทำหน้าที่ของพระในการศึกษาพระธรรม เผยแผ่พระธรรม และภาวนาจิตตนเพียงใด? พุทธบริษัทสี่จะมีโอกาสเรียนรู้เข้าใจพระธรรม เกิดปัญญาของตนเอง จนสามารถดับกิเลสและแสดงธรรมให้ผู้อื่นเข้าใจด้วย เพื่อจะได้ช่วยรักษาพระศาสนาตามที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายฝากฝังไว้ ได้อย่างไร?

3.การขาดกลไกรองรับพระธรรมวินัย สถาบันศาสนาขาดกลไกทำหน้าที่พินิจพิจารณาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตีความพระธรรมวินัย ดังกรณีที่วัดธรรมกายให้พระเดินธุดงค์บนทางเท้าที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ นับเป็นการละเมิดพระธรรมวินัยและผิดวิถีชีวิตของพระ ซึ่งปวารณาตนไว้ว่า จะอยู่กับความยากจน สละแล้วซึ่งกิเลสตัณหา และงดแล้วซึ่งความพอใจในผัสสะทั้งปวง แต่ มส.ก็ยังห้าวหาญกล่าวในทำนองว่า รู้สึกมีบุญบารมีที่ได้เดินธุดงค์สัมผัสกลีบกุหลาบดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่แน่ใจว่า ท่านกล่าวด้วยอำนาจพระรัตนตรัย อำนาจมืดแห่งวัตถุเงินทอง หรืออำนาจวิเศษอื่นใดกันแน่

4.พระนิยมฝักใฝ่ทางโลก ปัจจุบันพระบางรูปนิยมเล่าเรียนวิชาทางโลก เพื่อรับวุฒิบัตรระดับปริญญาโทและเอกจากสถาบันสงฆ์อย่างออกหน้าออกตา โดยใช้งบแผ่นดินเรียนฟรีตลอดหลักสูตรหลายปี ฟรีหมดทุกรายการ คิดเป็นเงินหลายล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นการขัดพระธรรมวินัย ซึ่งให้พระสงฆ์ทำหน้าที่ศึกษาธรรมะ เผยแผ่ธรรมะ และภาวนาจิต เพื่อการหลุดพ้นจากวัฏสงสารและสืบทอดพระพุทธศาสนา อีกทั้งเป็นการเล่าเรียนที่ซ้ำซ้อนกับเยาวชนฆราวาสที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว เพื่อประกอบอาชีพทางโลก

วันหนึ่ง อีกไม่นานเกินรอ พระเหล่านี้จะสึกออกมาประกอบอาชีพทางโลก เพื่อรับเงินเดือนค่าตอบแทนสูงๆ จากกิจการทางโลก โดยอาศัยวุฒิปริญญาโท-เอกที่ตนได้นุ่งห่มจีวรไปเล่าเรียนมาได้ฟรีๆ พฤติกรรมแบบนี้เรียกว่า "ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว" หรือ "นกสองหัว" กันแน่?

นอกจากประเด็นทั้งสี่แล้ว กลุ่มพระที่เป็นฝ่ายเดียวกับพระที่ผิดพระธรรมวินัย ได้ออกมาโจมตีใส่ร้ายกรรมการปกป้องพิทักษ์กิจการพุทธศาสนาอย่างเลื่อนลอย เช่น กรรมการกำลังวางแผนเก็บภาษีพระ หาทางลงโทษพระในสถานหนัก ต้องการย้ายเจ้าอาวาสทุก 5 ปี เป็นต้น นายไพบูลย์ได้ปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า เป็นการใส่ร้ายป้ายสีที่ปราศจากความเป็นจริงทั้งสิ้น

กรณีผิดพระธรรมวินัยดังกล่าว สะท้อนให้เห็นการ "เน่า" ของสถาบันศาสนาที่เริ่มมาจาก "ภายใน" ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับการ "ล่มสลาย" ของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

จักรวรรดิโรมันเริ่มขึ้นในสมัยใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า เจริญรุ่งเรืองด้วยวิทยาการที่สร้างความเกรียงไกรสุดยอดให้กับกองทัพโรมัน แต่ก็มิวายต้องพบจุดอวสานด้วย "จิตวิญญาณ" ที่อ่อนแอลงของ "ผู้นำ" ที่ต้องการ "อำนาจ" เพื่อส่วนตัวมากกว่าเพื่อ "การอยู่ดีกินดี" ของชาวโรมัน

ทั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการสู้ทัพจับศึกภายในเพื่อ "ชิงตำแหน่งจักรพรรดิ" การแต่งตั้ง "จักรพรรดิไร้น้ำยา" ด้วยวัฒนธรรมการเมือง ตลอดจน "ความหมดศรัทธา" ของชาวโรมันในตัวผู้นำ

โดยที่ "สถาบันศาสนา" เป็นเสาหลักหนึ่งของชาติ มีหน้าที่หล่อหลอมจิตวิญญาณชาวไทยให้เป็นผู้มีจิตตื่นรู้ กอปรด้วยสติปัญญา สามารถขับเคลื่อนชาติไทยสู่ความเจริญทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมีผลดี ตามที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในสมัยกรุงสุโขทัย ตลอดมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังเห็นได้จากพระพุทธรูปทรงสง่างามยิ่งที่หล่อด้วยทองคำแท้ล้วนๆ หลายองค์ และวัดวาอารามอันวิจิตรงดงามใหญ่โต ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมชุมชนสำหรับการศาสนกิจ การเรียนการสอน ตลอดจนการจัดงานเทศกาลตามประเพณีนิยมมาเป็นอย่างดี และเห็นได้จากการค้าขายที่เฟื่องฟูยิ่งกับนานาประเทศที่ส่งเรือบรรทุกสินค้ามาเทียบท่าที่เมืองสยามอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์

ในการนี้ ขอให้ คสช.พิจารณาข้อเสนอแนะ 3  ข้อ ดังนี้1.ปฏิรูปโครงสร้างหน้าที่ของ มส.ใหม่หมด ให้มี 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหารศาสนกิจและปกครองสงฆ์ด้วยหลักนิติธรรม ฝ่ายนิติ บัญญัติออกกฎหมายลูกรองรับพระธรรมวินัย และฝ่ายตุลาการเพื่อตีความพระธรรมวินัยและพิพากษาตามกฎหมายลูก

2.ปฏิรูป พ.ร.บ.เกี่ยวกับ มส.ใหม่หมดให้ทันสมัย3.ปฏิรูปกรมการศาสนา โดยยกขึ้นเป็น "กระทรวงการศาสนา" เพื่อให้มีสมรรถภาพเหมาะสมกับการทำงานที่ละเอียดอ่อนและกว้างใหญ่ไพศาล โดยเฉพาะงานฟื้นฟูทำนุบำรุงวัดพุทธนับพันๆ แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นศูนย์ชุมชนอย่างเช่นสมัยก่อน และงานดับ "จีวรร้อน" ซึ่งล้วนเป็น "งานช้าง" ที่ต้องอาศัย "ช้าง" เท่านั้น จึงจะสัมฤทธิผล

หากตั้งอยู่ในความประมาท จักรวรรดิโรมันจะกลายเป็นอุทาหรณ์เตือนใจที่สายเสียแล้ว.



ประชามติร่าง รธน.
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com



อนุสนธิข่าวไทยโพสต์ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2558 เกี่ยวกับประเด็นทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่รายงานว่า ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ไปแสดงปาฐกถาในสัมมนาเรื่อง "การเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ" โดยมี กมธ.ยกร่างฯ คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในร่าง กมธ.ยกร่างฯ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมสัมมนา เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2558 จังหวัดขอนแก่น โดยพาดหัวข่าวว่า

"'บวรศักดิ์' ลั่น เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อ 65 ล้านคน ไม่ใช่เพื่อนักการเมืองไม่ถึงพันคน ปลุกประชาชนอย่าฟังใคร-อย่าเชื่อไลน์ ท่านคือคำพิพากษาสุดท้าย กร้าว ทุกคนเกิดมาวันแรกไม่มีตำแหน่ง เมื่อเข้าโลงศพเหลือเพียงความเป็นพลเมืองเท่านั้น"

ดร.บวรศักดิ์ ในฐานะประธานยกร่างฯ น่าจะมีความภูมิใจที่ร่าง รธน. ได้รับการต้อนรับด้วยเสียงเกรียวกราว แม้จะมาจากจำนวนจิ๋วเดียวของ "พลเมือง 65 ล้านคน" และ "นักการเมืองไม่ถึงพันคน" ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเพียงในบางส่วน มิใช่ทั้งหมดของร่าง รธน. เพราะการร่าง รธน.นี้ มิใช่เรื่องง่ายๆ อย่าง "ปอกกล้วยเข้าปาก" จริงๆ แล้ว มีผู้ใดบ้างที่สามารถยกร่าง รธน.ครั้งเดียวให้ถูกใจพระเดชพระคุณทั้งหลายได้หมด? หากมี ผู้นั้นก็น่าจะมีอุปนิสัยใจคอแบบฮิตเลอร์กระมัง?

ตรงกันข้าม หากยกร่างฯ แล้ว มีแต่คนนิ่งเฉย ไม่แสดงความเห็นอะไรทั้งสิ้น ดร.บวรศักดิ์กับคณะยกร่างฯ จะไม่รู้สึกหนาวบ้างเลยหรือ? ไม่กลุ้มใจมากกว่ามีคนแสดงความเห็นหรอกหรือ? เสียงเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยที่ผ่านมา ซึ่งอาจไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ใดนัก คือสัญญาณบ่งบอกการได้ใช้สิทธิ์แสดงความเห็นตามหลักการประชาธิปไตย มิใช่หรือ?

ดร.บวรศักดิ์อาจเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ได้ทุ่มเทกำลังกายกับกำลังใจอย่างหนักหน่วง เพื่อให้มีผลงานร่าง รธน. สวยงามออกมา แต่ก็มิวายถูกยกขึ้นวางบนเขียงให้นักการเมืองเข้าคิวใช้ปังตอสับเสียเละ โดยทำติดต่อกันอยู่ร่วมสัปดาห์ แบบไม่เว้นแม้กระทั่งวันสุดสัปดาห์ จน "เละ" ยิ่งกว่าหมูสับที่เขาใช้ทำบะช่อเสียอีก เสียงสับปังๆ แต่ละครั้งดังทะลุเข้าไปในหัวใจ ทำให้หัวใจห่อเหี่ยวชอบกล ก็เลยต้องเล่าแจ้งแถลงไขความในใจหน่อย ในทำนองว่า ที่ทำเนี่ยไม่ได้ทำให้พวกเธอเท่านั้นนะ ทำให้พลเมือง 65 ล้านคนย่ะ

เป็นอันว่า ทั้งฝ่ายยกร่างฯ และฝ่ายวิจารณ์ ต่างก็ได้แสดง "ความเห็น" ของตนออกมาทั่วถ้วน เจ๊ากันไป นับได้ว่าต่างก็ได้แสดงจิตวิญญาณประชาธิปไตยออกมาครบถ้วนตามกระบวนการ ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แม้ คสช.กำลังใช้ ม.44 ดูแลความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมืองอยู่ แต่ความเห็นทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในกรอบของกฎหมาย หลักการ ตลอดจนเหตุผล ก็มิได้ถูกกดเก็บไว้ ดังเช่นเมื่อครั้งที่ถูกอำนาจเผด็จการในอดีตปกครองอยู่

ดร.บวรศักดิ์กล่าวต่อไปว่า "คนที่จะตัดสินว่าผ่าน-ไม่ผ่าน คือพ่อแม่พี่น้อง ท่านคือผู้พิพากษา ถ้าเกิดท่านบอกไม่เอา ผมก็กลับไปนอนบ้าน" ตามหลักประชาธิปไตย พลเมืองเป็นใหญ่ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะโหวตให้ร่าง รธน. ผ่าน-ไม่ผ่าน แต่หากจะให้พลเมือง 65 ล้านคน เป็น "ผู้พิพากษา" นั้น ดูออกจะรวดเร็วเกินไปหน่อย

พลเมืองเป็นใหญ่จริง แต่พลเมืองไม่จำต้องรู้เรื่องนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เก่งกาจไปหมดทุกคน โดยเฉพาะพลเมืองที่หาเช้ากินตอนดึก ตลอด 6 หรือ 7 วันต่อสัปดาห์ จะให้พลเมืองเหล่านี้ไปหาเวลา ทรัพยากร สำหรับไปติวเข้มวิชาดังกล่าวได้จากไหน? พลเมืองทั้งหลายจึงจำต้องยืนหยัดทำหน้าที่เป็น "ผู้ว่าจ้าง" หรือ "ลูกค้า" ของท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ซึ่งมีความเก่งกาจในเรื่อง รธน. ให้ทำหน้าที่เป็น "ผู้พิพากษา" แทน

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า พลเมืองผู้มีสิทธิ์แสดงประชามติราว 45 ล้านคน (2550) ไม่ต้องไปแสดงประชามติ ตรงกันข้าม เมื่อถึงเวลา พลเมืองผู้มีสิทธิ์ก็ควรไปแสดงประชามติให้ผ่าน-ไม่ผ่าน ร่าง รธน. แรกนี้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะหลังจากที่ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายดังกล่าว ยอมร่วมกันทำการพิจารณากลั่นกรองแก้ไขปรับปรุงร่าง รธน. จนถึงระดับที่เห็นสมควรให้พลเมืองได้มีโอกาสไปสถานที่หนึ่งใด (หากมีเวลา) เปิดแง้มร่าง รธน. ฉบับพร้อมรับประชามติ ซึ่งได้รับการอาบน้ำปะแป้งลูบด้วยน้ำหอมเรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาในขั้นท้ายสุดว่า ตนจะ "พิพากษา" ให้ผ่านหรือไม่ผ่าน ประการใด ตามหลักประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันแสดงประชามติ พลเมืองส่วนหนึ่งที่ใจจริงไม่นิยมประชาธิปไตย แต่นิยมใส่หน้ากากประชาธิปไตยมาตลอด ก็อาจออกโรงต่อต้านร่าง รธน. ด้วยการออกโฆษณาหาเสียงหาพวกให้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อไม่ให้ร่าง รธน.ผ่าน และจะได้ก่อกวนการปฏิบัติภารกิจของ คสช.ต่อไป โดยยอมเสี่ยงกับการละเมิดข้อห้ามต่างๆ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552

ในกรณีที่เกิดกรณีก่อกวนดังกล่าวจริง ก็แสดงว่า ประชาธิปไตยอาจมิใช่ "เนื้อคู่" ของไทย เนื่องจากมีกลุ่มนักการเมืองอาชีพที่มีความมุ่งมั่นต่อต้านกระบวนการประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ คสช.ได้ออกมาเสี่ยงชีวิตในยามวิกฤติหน้าสิ่วหน้าขวาน เพื่อกอบกู้ชาติบ้านเมืองและประชาธิปไตย ท่ามกลางการประจัญบานระหว่างผู้ประท้วงแบบอหิงสาสันติ เพื่อขับไล่รัฐบาล และผู้ใช้อาวุธสงครามร้ายแรงต่อผู้ประท้วง ซึ่งเป็นการต่อต้านกระบวนการประชาธิปไตย ในลักษณะที่ส่อให้เห็นท่าทีเหยียดหยามเหยียบย่ำหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง

นอกจากนี้ ดร.บวรศักดิ์ยังเชิญชวนให้พลเมืองผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ใช้สติปัญญาในการแสดงประชามติ โดยให้ระลึกถึง "หลักเตือนใจ" ใน "กาลามสูตร" ของพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้ "พิพากษา" ได้โดยเที่ยงธรรม ให้ร่าง รธน.ผ่านหรือไม่ผ่าน

ท่านพุทธทาสสอนไว้ว่า "หลัก (กาลามสูตร) นี้ เป็นการแสดงถึงความที่พระพุทธศาสนาให้ความเป็นอิสระ ในความเชื่ออย่างถึงที่สุด" คือ พระพุทธศาสนามีศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ ในการเลือก "ความเชื่อ" ที่ถูกต้อง ตามที่ตนได้พิจารณาด้วยสติปัญญาโดยเอกเทศ

ศรัทธาดังกล่าว ได้รับการรองรับจากผลการศึกษาวิจัยโดยนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐ ที่พบว่า เด็กทารกวัย 5 เดือน และวัย 21 เดือน มี "ความรู้สำนึกในศีลธรรม" อยู่ในจิตใจ คือ รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ในขณะที่จิตใจยังบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ตามธรรมชาติ และปราศจากความรู้สึกนึกคิดผิดๆ ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในข้อพึงระวัง 10 ข้อ ใน "กาลามสูตร" ดังกล่าว

ท่านพุทธทาสย้ำว่า "ให้เชื่อการพิจารณาของตนเอง ว่า คำสอนเหล่านั้น เมื่อประพฤติ กระทำตามไปแล้ว จะมีผลเกิดขึ้นอย่างไร ถ้ามีผลเกิดขึ้น เป็นการทำตนเองและผู้อื่น ให้เป็นทุกข์ เดือดร้อน ก็เป็นคำสอน ที่ไม่ควรปฏิบัติตาม ถ้าไม่เป็นไป เพื่อทำตนเอง และผู้อื่นให้เดือดร้อน แต่เป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญ ย่อมเป็นคำสอน ที่ควรทำตาม"

ตัวอย่างของการกระทำให้ตนและผู้อื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน ได้แก่ กรณี "กมธ.ยกร่างฯ ยังดึงดัน แข็งขืน ดื้อดึงไม่ปรับแก้ แถมหาเหตุผลมาชี้แจงหักล้างไม่ได้" "ถึงวันนั้น คนอยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งต้องการฉีกหน้า ตบหน้ารัฐบาล จะถือโอกาสใช้เวทีเหล่านี้ปลุกปั่นให้เกิดแตกแยก" และ "ถ้านักการเมือง กลุ่มการเมืองไม่ยอมรับต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว เขาจะเอาฐานมวลชนออกมาคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่ ถ้าประชามติไม่ผ่าน ก็เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา.." ส่วนตัวอย่างการกระทำที่เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญได้แก่ "ถ้า สปช.ลงมือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้ว บ้านเมืองก็จะได้ไม่วุ่นวาย ไร้แรงกระเพื่อมจากการทำประชามติ" ทั้งนี้ ตามที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. ได้ยกตัวอย่างไว้

ในตอนท้าย ดร.บวรศักดิ์ฝากข้อคิดไว้ว่า "ตนและทุกคนเกิดมาวันแรกไม่มีตำแหน่ง และวันที่เข้าโลงศพหรือวันตายนั้น ทุกคนก็ไม่ได้มีตำแหน่งเช่นกัน แต่จะเหลือเพียงแค่ความเป็นพลเมืองไทยเท่านั้น"

ข้อคิดดังกล่าว นับเป็นปรัชญาที่ล้ำลึกมาก แบบเดียวกับที่ปรมาจารย์เล่าจื้อสอนไว้ว่า ชีวิตคนเราเปรียบได้กับสายน้ำที่ไหลเทไปมาอยู่บนผิวโลก จนกระทั่งไปสู่จุดอวสานในมหาสมุทร คือ เกิดเป็นน้ำ ตายก็เป็นน้ำ และไม่มีสายน้ำใดสามารถนำปัจจัยหนึ่งใดจากผิวโลก ติดตัวไปที่มหาสมุทรได้เลย

ดูเหมือนว่า ผู้ที่พึงสดับฟังข้อคิดดังกล่าวของ ดร.บวรศักดิ์ให้ดี น่าจะเป็นคนที่ได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศนานเสียจนไม่อยากกลับบ้านเกิดเมืองนอนอีกแล้วกระมัง?

พลเมืองเป็นใหญ่ได้ตามเจตนารมณ์ของ คสช.ก็ต่อเมื่อท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายที่มีหน้าที่ยกร่าง รธน. หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง รธน. ต่างหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกัน ทำการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่าง รธน.อย่างสุดความสามารถ เพื่อเสนอผลลัพธ์ที่ออกมาเป็น รธน.ฉบับประชามติ ต่อพลเมืองเป็นใหญ่ ซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็น "ผู้ว่าจ้าง" หรือ "ลูกค้า" ของท่านผู้เกียรติดังกล่าวอยู่ โดยมีความหวังว่า ทุกท่านจะร่วมมือกันแสดงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ด้วยความจริงใจ เพื่อความเจริญสุขของลูกหลานทั้งหลาย

หลักการสำคัญข้อหนึ่งของประชาธิปไตย คือ ทุกคนในระบอบนี้พึงรู้จักและร่วมใจกันทำหน้าที่รับผิดชอบของตนต่อชาติบ้านเมือง ด้วยการสลัดอัตตาออกไปจากตัวเอง แสดงคารวะธรรมต่อกัน และยอมน้อมนำเอา "กาลามสูตร" มาประยุกต์กับตัวเองด้วย มิใช่หรือ?.