พึ่งตนได้ด้วยสุขภาพดี
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
อาจารย์ตั๊กม้อ ภาพ โยชิโตชิ
อาจารย์ตั๊กม้อ (พระโพธิธรรม) เป็นพระธรรมทูตชาวอินเดีย เดินทางเข้าประเทศจีนเมื่อพุทธศตวรรษที่ 11 เพื่อทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่กลับกลายเป็นผู้ก่อตั้ง “นิกายเซน” ที่อยู่ในขอบเขตแห่งพระพุทธศาสนา โดยมิได้ตั้งใจ
หลังจากที่ทำธุดงควัตรอยู่ที่ภาคใต้ของแผ่นดินจีนสมัยนั้นได้พักหนึ่ง อาจารย์ตั๊กม้อก็เปลี่ยนเข็มทิศเดินทางขึ้นเหนือ จนไปพบวัดเส้าหลิน เมื่อได้ทำความรู้จักกับพระสงฆ์องค์เจ้าในวัดแล้ว ก็พบว่า แม้เหล่าบรรพชิตจะเข้มแข็งรอบรู้ในพระธรรม แต่ยังอ่อนแอทางกายภาพอยู่มาก คือ ขาดความบึกบึนสำหรับปฏิบัติกรรมฐานติดต่อกันนานๆ ซึ่งกลายเป็นบรรทัดฐานทรหดยิ่งของเซน
อาจารย์ท่านออกแบบวิธีออกกำลังกาย เพื่อฝึกฝนบรรพชิตให้มีกายภาพที่แข็งแรง ด้วยลีลากระบวนยุทธ์ต่างๆ ซึ่งได้พัฒนาเป็นศิลปะป้องกันตัวอันลือลั่นไปทั่วโลก เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ลีลามวยโหลหันเส้าหลิน”
อาจารย์ท่านออกแบบวิธีออกกำลังกาย เพื่อฝึกฝนบรรพชิตให้มีกายภาพที่แข็งแรง ด้วยลีลากระบวนยุทธ์ต่างๆ ซึ่งได้พัฒนาเป็นศิลปะป้องกันตัวอันลือลั่นไปทั่วโลก เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ลีลามวยโหลหันเส้าหลิน”
จริงอยู่ พระพุทธศาสนาสอนให้เราพึ่งพาตัวเราเอง ไม่พึ่งจิ้งจก ตุ๊กแก ต้นไม้ใบหญ้า ภูเขาไฟ พระจันทร์ พระอาทิตย์ รูปปั้น ภาพเขียน ลูกแก้ว บุคคลที่เราลุ่มหลง ฯลฯ ทว่า ก่อนที่จะพึ่งตัวเองได้ ร่างกายกับจิตใจตนจะต้องมีสุขภาพดี มีความสมดุลระหว่างหยิง (เย็น) กับหยาง (ร้อน) อยู่เป็นพื้นฐาน การรักษาสุขภาพจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่สนองตอบ "กฎแห่งธรรมชาติ" ในตัวเรา ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรมและหน้าที่สำคัญยิ่งของเราทุกคน
นับแต่ที่มวลมนุษย์ได้ผลัดกันค้นพบและประดิษฐ์กระแสไฟฟ้าขึ้นมาใช้เมื่อราว 200 ปีก่อน โลกได้แปรเปลี่ยนไปเป็นโลกที่สามารถมีความสว่างไสวได้ตลอดคืน เมื่อมีไฟฟ้า หลอดไฟ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เราก็ไม่จำต้องเข้านอนหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าอีกต่อไป
คาดกันว่า ราวร้อยละ 60 ของคนสมัยนี้ เข้านอนหลังเที่ยงคืน ในขณะที่ต้องตื่นเช้าตรู่ เพื่อประกอบภารกิจส่วนตัว ส่งผลให้มีเวลานอนหลับพักผ่อนร่างกายกับจิตใจไม่ครบ 7 ชั่วโมง
มูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา พบว่า “ภาวะอดนอน” ซึ่งได้แก่การได้นอนหลับน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อคืน มีผลกระทบต่อสุขภาพกายมากมาย นายแพทย์โจเซฟ เมอร์โคล่า สรุปผลการอดนอนไว้ดังนี้
1. มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน คนอดนอนชอบอาหารเครื่องดื่มรสหวานและทำจากแป้งมากกว่าอาหารที่ตนคุ้นเคยและผัก เพราะน้ำตาลกับกลูโคสในเลือดคือเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนการทำงานของสมอง ฉะนั้น อดนอนเมื่อใด เราจะแสวงหาแต่อาหารจำพวกน้ำตาลกับแป้ง เพื่อกระตุ้นสมองให้ทำงาน ส่งผลให้เราไม่รู้สึกง่วงได้ชั่วครู่ แต่ร่างกายจะเริ่มเข้าสู่สภาพเริ่มเป็นโรคเบาหวาน
2. มีน้ำหนักเพิ่ม คือ เมื่ออดนอน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเล็ปตินน้อยลง ซึ่งเป็นสารที่เตือนสมองให้รู้ว่า ร่างกายได้รับอาหารถึงจุดพอเพียงแล้ว คือ เตือนให้หยุดรับประทานอาหาร ขนม ผลไม้ ฯลฯ ได้แล้ว ในขณะเดียวกัน ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเกรลินเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้รู้สึกหิว หิว และหิว ฉะนั้น ภาวะอดนอนจะส่งผลให้เราขยันหาอาหารรับประทาน เสมือนรถยนต์ที่วิ่งโดยไม่มีระบบห้ามล้อ
3. แก่ก่อนวัยรวดเร็วเกินคาด
4. มีโรคความดันโลหิตสูง
5. เพิ่มการเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายขาดความสมดุลตาม "กฏแห่งธรรมชาติ" มะเร็งของสัตว์ในห้องทดลองที่ถูกบังคับให้อดนอนมากๆ มักเติบโตรวดเร็วกว่าปกติถึงสองหรือสามเท่า
ส่วนผลกระทบต่อสุขภาพจิตนั้น มีอยู่ไม่น้อย สลีบเด็กซ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหากำไร ได้เสนอข้อมูลความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของการนอนหลับไว้มาก มาย ดังนี้
ภาวะอดนอนกับภาวะติดสุราเหมือนกันตรงที่มีผลกระทบต่อการใช้สมองในการคิดและสร้างสรรค์ คนอดนอนตลอดคืนหนึ่งคืน จะมีอาการหงุดหงิดและงุ่มง่ามในวันถัดไป โดยจะเหนื่อยง่ายหรือเคลื่อนไหวฉับไวกว่าปกติ คนอดนอนสองคืนติดต่อกัน จะเพ่งความสนใจได้ไม่นาน และจะทำผิดพลาดในงานได้ง่ายๆ คนอดนอนสามคืนติดต่อกัน จะเริ่มมองเห็นภาพผิดจากความเป็นจริง และมักไม่ได้อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง
คนที่หลับเพียงคืนละสี่ห้าชั่วโมง จะอยู่ในภาวะ “ขาดดุลเวลานอนหลับ” และมีอาการต่างๆ ดังกล่าว การหลับชดเชยในวันหยุดอาจช่วยผ่อนภาวะขาดดุลได้บ้าง แต่ผ่อนได้ไม่หมด ส่งผลให้ยกยอดขาดดุลไปทบไว้ต่อไป
กองทัพบกสหรัฐวิจัยพบเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า การอดนอนบั่นทอนความฉลาดทางอารมณ์ (ไม่สามารถรู้ทันอารมณ์ตัวเอง) และตัดทอนทักษะในการคิดเสริมสร้าง
นอนคืนละ 5.5 ชั่วโมง มีผลกระทบระยะสั้นดังนี้ คือ ความตื่นตัวลดลงถึงร้อยละ 32 ความจำจะเสื่อม การเรียนรู้ไม่คล่องแคล่วเท่าที่ควร ความสามารถในการใช้ความคิดและใช้ข้อมูลจะติดขัดไม่คล่องแคล่ว อุบัติเหตุในงานมีโอกาสเกิดง่ายขึ้นถึงสองเท่า ผลกระทบระยะยาว มีอาทิ จิตซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน ความรู้สึกเฉื่อยชา ตลอดจนความสัมพันธ์กับคู่ชีวิตย่ำแย่ลง
นอกจากนี้ การอดนอนยังก่อให้เกิดอันตรายบนท้องถนนอย่างมาก สำนักงานความปลอดภัยทางจราจรบนถนนความเร็วสูงแห่งชาติ สหรัฐฯ ประมาณการไว้ว่า โดยเฉลี่ยวแล้ว “ง่วงแล้วขับ” ได้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง 100,000 ราย บาดเจ็บ 71,000 ราย ตาย 1,550 ราย ในแต่ละปี
กระทรวงคมนาคม สหรัฐฯ รายงานว่า ร้อยละ 20 ของคนขับรถทั้งหมดเคยหลับคาพวงมาลัยอย่างน้อยหนึ่งครั้ง “ง่วงแล้วขับ” เป็นภัยที่น่ากลัวยิ่ง โดยมักเกิดขึ้นบนถนนที่ให้ใช้ความเร็วสูง
เมื่อนัยน์ตาปิดสนิทลงเองด้วยความง่วงสุดขีด และไม่มีคนโดยสารคอยเตือนภัย คนขับจะปล่อยให้รถวิ่งด้วยความเร็วสูงต่อไปเรื่อยๆ จนเกิดอุบัติเหตุขั้นร้ายแรง อนึ่ง น่าสังเกตได้ว่า คนขับรถบรรทุกขนาดใหญ่มักมีโอกาสนอนหลับเพียงสองถึงสี่ชั่วโมงต่อคืนเท่านั้น
เมื่อนัยน์ตาปิดสนิทลงเองด้วยความง่วงสุดขีด และไม่มีคนโดยสารคอยเตือนภัย คนขับจะปล่อยให้รถวิ่งด้วยความเร็วสูงต่อไปเรื่อยๆ จนเกิดอุบัติเหตุขั้นร้ายแรง อนึ่ง น่าสังเกตได้ว่า คนขับรถบรรทุกขนาดใหญ่มักมีโอกาสนอนหลับเพียงสองถึงสี่ชั่วโมงต่อคืนเท่านั้น
ในโรงงานอุตสาหกรรม พนักงานที่ทำงานกะหลังเที่ยงคืนมักประสบอุบัติเหตุในงานและบนท้องถนนในอัตราที่น่าวิตกมาก เหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันดิบเอ็กซ์ซอนวัลดีซ์ที่ล่มลงในทะเล และโรงไฟฟ้าปรมาณูทรีไมล์ไอแลนด์ที่ร้าวรั่ว ล้วนมีสาเหตุมาจากพนักงานอดนอนทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาเชื่อว่า การอดนอนไม่ก่อให้เกิดจิตเภท (บุคคลิกภาพแตกแยก ไม่เป็นหนึ่งเดียว) หรือจิตซึมเศร้า แม้ว่าคนอดนอนอาจเริ่มมองเห็นภาพผิดจากความเป็นจริง แต่อาการนี้ไม่เหมือนกับคนจิตเภทที่มองเห็นภาพหลอน ส่วนเสียงหลอกหลอนก็ยังไม่พบว่าเคยเกิดกับคนอดนอน
ในส่วนของเยาวชน วิจัยในสหรัฐฯ พบว่า เด็กชั้นประถมเกือบร้อยละ 40 อยู่ในภาวะอดนอน ร้อยละ 15 ไม่ยอมเข้านอนเมื่อได้เวลา และร้อยละ 10 มีอาการง่วงเหงาหาวนอนตลอดวัน เด็กวัยรุ่นเกือบร้อยละ 13 เป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรังระดับรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์ พฤติกรรม และผลการเรียน ส่วนเด็กอนุบาลที่อดนอน มักมีอาการซึมเศร้าและมองตัวเองในแง่ติดลบ คือ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง
นักเรียนที่ได้คะแนนเกรดซี เกรดดี และเกรดเอฟ (สอบตก) มักเข้านอนโดยเฉลี่ยหลังนักเรียนเกรดเอราว 40 นาที และหลับน้อยกว่า 20 นาที เด็กอดนอนไม่สามารถเพ่งความตั้งใจได้นาน (จิตไม่นิ่ง) ตลอดจนมีทักษะในการสมาคมและการเรียนในระดับต่ำ ฉะนั้น ผู้ปกครองน่าจะสืบหาสาเหตุปัญหาการเรียนของลูกๆ ให้ถี่ถ้วนว่า เกิดจากการอดนอนหรือไม่ ก่อนที่จะลงมือเคี่ยวเข็ญลูกๆ ให้เหน็ดเหนื่อยกันเปล่าๆ
เห็นได้ว่า ไม่มีใครสามารถละเมิด "กฎแห่งธรรมชาติ" ในตัวเราเองได้ฟรีๆ ใครที่อดนอน เพื่อเบียดบังเวลาหลับไปทำการอื่น โดยไม่ได้หลับชดเชยภายหลัง เท่ากับก่อกรรมทำเข็ญกับตัวเอง กรรมจะตอบสนองลงโทษผู้นั้น ทั้งทางกายกับทางจิตอย่างแน่นอน
ทุกคนมีหน้าที่เบื้องต้นปฏิบัติตาม "กฎแห่งธรรมชาติ" ในตัวเรา ด้วยการนอนหลับให้พอเพียง โดยงดใช้สารกาเฟอีนกดเก็บความง่วงก่อนเข้านอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง หลังจากที่ได้หลับอย่างพอเพียง เราจะรู้สึกสดชื่น ไม่อ่อนเพลีย มีภูมิต้านทานโรคสูง ความไม่มีโรค ซึ่งเป็นลาภอันประเสริฐ ก็จะเป็นรางวัลอันล้ำค่า โดยเฉพาะเมื่อเรามีโภชนาการและการออกกำลังกายสม่ำเสมออยู่ด้วย
คนสมัยใหม่ในโลกแห่งเทคโนโลยี มักไม่บริหารเวลาให้มีเวลานอนหลับพักผ่อนอย่างพอเพียง โดยยอมชดใช้บาปที่ละเลยการนอนหลับอย่างพอเพียงด้วยการสังเวยสุขภาพกายกับสุขภาพจิตไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง
เมื่อสุขภาพตนย่ำแย่ลง เราจะพึ่งตัวเองได้อย่างไร?