จิตรู้ทันรู้สำเร็จ
ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
เมื่อสมัย 800 ปี ถึง 1,100 ปี ก่อน ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในยุคสมัยของ “นักรบซามูไร” ผู้เก่งกาจในวิทยายุทธฟันดาบ พิชิตข้าศึกได้ทั้งสิบทิศ จนได้สถาปนาตนเป็น “โชกุน” ผู้ครองแผ่นดิน
กลุ่ม “นักรบซามูไร” นี้ ได้พัฒนาการสู้ศึกบนหลังม้ามาเป็นบนพื้นดินด้วยการใช้ดาบ ซึ่งได้วิวัฒนาการเป็นดาบยาวกว่าเดิม คือไม่ต่ำกว่า 60 เซนติเมตร ใบดาบมีลักษณะโค้งเล็กน้อยตอนท่อนปลาย ผ่านกระบวนการผลิตที่ยุ่งยาก จนมีความแข็งแกร่งและคมกริบ มีแรงฟันที่ทรงพลังกว่าดาบตรงธรรมดาหลายเท่า มีความคมที่สามารถผ่าเส้นผมตามยาวออกเป็นสองซีกได้
นักรบกลุ่มนี้ ยังได้นำเอา “ปรัชญาคุณธรรมแห่งนักรบ” ของประเทศจีนมาพัฒนาต่อเนื่องเป็น “วิถีแห่งนักรบบูชิโด้” ยึดมั่นในวินัยและศักดิ์ศรี จนได้รับการขนานนามเป็น “นักรบซามูไร” อันเกรียงไกร
มีตำนานเล่ากันว่า วันหนึ่งนักดาบซามูไรคนหนึ่ง พาคณะบริวารเดินทางไปกราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดพุทธเซนแห่งหนึ่ง เมื่อคุกเข่าลง วางดาบซามูไรลงบนพื้นห้องรับรอง กราบนมัสการท่านเจ้าอาวาสเรียบร้อยแล้ว นักดาบอาคันตุกะก็เริ่มสนทนากับเจ้าอาวาส
“กราบนมัสการพระคุณเจ้า ข้าฯได้ยินคำว่า นรกกับสวรรค์มาช้านาน ขอกราบพระคุณเจ้า ได้เมตตาตอบให้หายข้องใจสักหน่อยได้ไหมว่า นรกกับสวรรค์นั้น มีจริงหรือไม่ ขอรับ?”
ท่านเจ้าอาวาสนั่งนิ่งอยู่พักใหญ่ แล้วตอบด้วยสุ้มเสียงหนักแน่นว่า
“เรื่องนรกกับสวรรค์นี้ เป็นเรื่องเข้าใจยาก คนงี่เง่าอย่างโยมเจ้า จะไม่มีวันเข้าใจได้หรอก”
ในบัดดลนักดาบผู้มาเยือนเริ่มมีอาการ “เลือดขึ้นหน้า” หน้าตาแดงก่ำด้วยความพิโรธโกรธกริ้ว เมื่อได้ยินคำสบประมาทจากเจ้าอาวาส พลันคว้าดาบซามูไรที่วางอยู่บนพื้นมาถือไว้ พรวดพราดลุกขึ้นยืน ชักตัวดาบอันคมกริบออกจากฝักอย่างว่องไว ทิ้งฝักลงพื้น สองมือกำด้ามดาบไว้แน่น ยกดาบขึ้นเหนือศีรษะ พร้อมที่จะฟันลงไปที่คอท่านเจ้าอาวาส พลางตะโกนลั่น
“ฮึ่ม! พระคุณเจ้า อยากให้หัวหลุดออกจากบ่ารึไง?”
ท่านเจ้าอาวาสตอบด้วยน้ำเสียงเยือกเย็นทันทีว่า “นี่แหละคือนรก”
นักดาบซามูไรยืนแน่นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง เริ่มรู้สึกตัวขึ้นมาแล้วว่า อารมณ์โกรธกริ้วของตน นั้น คือ “นรก” นั่นเอง จึงวางดาบลง คุกเข่าก้มลงกราบขออภัยท่านเจ้าอาวาสด้วยน้ำเสียงสีหน้าสำนึกผิด
ทันใดนั้น ท่านเจ้าอาวาสก็กล่าวขึ้นอย่างเยือกเย็นว่า “นี่แหละคือสวรรค์”
เมื่อได้ยินได้ฟังประโยคท้ายสุดจากเจ้าอาวาสแล้ว น้ำตาของนักรบซามูไรก็เริ่มซึมออกมาในเบ้าตา ด้วยความดื่มด่ำซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งใน “คำไขข้อข้องใจ” จากท่านเจ้าอาวาส
“ภาวะจิต” ที่ได้เกิดขึ้นกับนักดาบซามูไรนั้น ก็เกิดขึ้นได้กับผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะกับผู้ที่ยังไม่สันทัดใน “การรู้ทันอารมณ์” ของตัวเองและผู้อื่น ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุม “อารมณ์อกุศล” ของตน และไม่สามารถเสริมสร้าง “ความสัมพันธ์ด้วยอารมณ์กุศล” กับผู้อื่น
พระพุทธศาสนาได้บ่งบอกวิถีทางฝึกฝนจิตตนให้เข้มแข็งด้วย “การทำสมาธิ”โดยสำรวมจิตกับกายให้อยู่นิ่ง หายใจเข้า-ออกลึกๆ ปล่อยให้ความคิดผ่านเข้ามาแล้วผ่านออกไปเป็นระลอกๆ ในช่วงเชื่อมต่อของแต่ละระลอกนี้ คือ “ความสงบเงียบที่แท้จริง” ซึ่งแม้อาจสงบอยู่ได้เพียง 1 วินาที ก็เป็น “ความสงบ” ที่ตรงกับ “ความว่างเปล่า” ระหว่างดวงดาวในจักรวาล หรือ “พลังมืด” (dark energy) ที่ทำให้จักรวาลขยายตัวออกไป
“ความว่างเปล่า” นี้ คือ “ภาวะจิตว่าง” หรือ “นิพพาน” นั่นเอง
ผู้ใดที่เข้าไปอยู่ใน “ความว่างเปล่า” นี้ได้ จะเข้าถึง “จิตว่าง” หรือ “นิพพาน” มี “สมรรถนะรู้ทันอารมณ์” สามารถควบคุมกิเลสตัณหาอกุศลของตนได้ หาไม่แล้วจะถูก “ไฟอารมณ์” เผาไหม้ อย่างเช่นนักดาบยอดซามูไรดังกล่าว
วิชาจิตวิทยาตะวันตกสมัยใหม่นี้ กำลังเร่งเครื่องไล่ตามให้ทัน “พระธรรม” อยู่ เรียก “สมรรถนะรู้ทันอารมณ์” นี้ว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” (Emotional Intelligence) ขณะนี้ นักจิตวิทยาสามารถอาศัย “กระบวนการวิทยาศาสตร์” พิสูจน์ได้ว่า ความฉลาดข้อนี้มีฐานตั้งอยู่ ณ ส่วนลึกตรงกลางสมอง ขนาดบ่งชี้ได้ว่า อวัยวะที่เป็นบ่อเกิดของความฉลาดข้อนี้ ได้แก่ “ปมประสาท” ชื่อว่า “อมิกดาลา” (amygdala) ทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการของอารมณ์ “ขลาดกลัว” และ “ก้าวร้าวดุดัน” ที่สังเกตเห็นได้อยู่ทั่วไป
ปัจจุบันนักจิตวิทยอุตสาหกรรมและองค์การ วิจัยค้นพบว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” คือคุณสมบัติสำคัญยิ่งของ “ภาวะผู้นำ” คือ ผู้นำที่มีความฉลาดข้อนี้ สามารถประสบผลสำเร็จในงานไม่มากก็น้อย ในการนำพาทีมงานสู่การบรรลุเป้าหมายงาน ได้ดีกว่าผู้นำที่ขาดคุณสมบัติข้อนี้ ไม่ว่าจะทำงานค้ากำไร งานรับใช้ประชาชน งานกำกับกองทัพในศึกสงคราม หรืองานแพทย์พยาบาลอยู่ และพบว่า แพทย์พยาบาลที่มีความฉลาดข้อนี้ สามารถเยียวยาคนไข้ให้หายป่วยได้ดีกว่าแพทย์พยาบาลที่ไม่มีความฉลาดข้อนี้
ดร.แดเนียล โกลแมน นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การอเมริกัน ผู้บุกเบิกเผยแพร่และวิจัยเกี่ยวกับ “ความฉลาดทางอารมณ์” มานับสิบๆ ปี ยืนยันหนักแน่นว่า ความฉลาดข้อนี้คือคุณสมบัติที่ “ขาดมิได้” ของผู้ทำหน้าที่ “ผู้นำ” หรือ “หัวหน้างาน” ในองค์การ
แม้ผู้นำคนหนึ่งใดจะมีเชาวน์ปัญญาสูง ฝีมือในการวิเคราะห์ยอดเยี่ยม ความรู้ระดับดุษฎีบัณฑิต ตลอดจนความคิดอ่านดีๆ นับไม่ถ้วน แต่หากขาดความฉลาดข้อนี้แล้ว ผู้นำคนนั้นก็จะยังไม่เป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมจริง
ข่าวดีมีอยู่ว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” คือทักษะที่ฝึกฝนให้เกิดขึ้นมาได้ แต่โดยที่สังคมกำลังสนใจความฉลาดข้อนี้อยู่มาก จึงต้องระมัดระวังเลือกผู้ฝึกให้ดี ดร.โกลแมนเตือนไว้ว่า นักจิตวิทยาที่ได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้องในเทคนิคเสริมสร้างความฉลาดข้อนี้เท่านั้น จะสามารถฝึกฝนผู้รับฝึกให้ใช้ส่วนที่ถูกต้องของสมอง (limbic system) มิใช่ส่วนที่ผิด (neocortex) ในการเสริม “สมรรถนะรู้ทันอารมณ์” หาไม่แล้วการฝึกฝนผิดๆ กลับจะส่งผลอันไมพึงปรารถนาต่องานด้วย
ดร.โกลแมนได้ทำการศึกษาวิจัยกับกิจการขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งในสหรัฐ ทวีปยุโรป และเอเชีย พบว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 5 ประการ ต่อท้ายด้วยพฤติกรรมเด่นชัด ดังนี้
(1) รู้สำนึกในตัวเองเสมอ มั่นใจในตัวเอง ประเมินตัวเองอย่างสมจริง เล่าเรื่องขำขันเกี่ยวกับความเปิ่นซุ่มซ่ามของตน
(2) รู้จักกำกับความรู้สึกของตน น่าไว้วางใจได้ ไม่เครียดกับความกำกวม เปิดใจพร้อมปรับเปลี่ยนตน
(3) มีแรงจูงใจสูง ต้องการสำเร็จสูง มองโลกในแง่ดีแม้จะอยู่ในภาวะล้มเหลว และรักษาพันธสัญญาต่อองค์การ
(4) มีความสามารถสูงในการหยั่งรู้เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เก่งกาจเสริมสร้างรักษาศักยภาพไม่ธรรมดาให้กับองค์การ อ่อนไหวรับรู้ภาวะจิตในต่างวัฒนธรรม เต็มใจบริการลูกค้า
(5) มีท่าทีพร้อมเป็นมิตรกับผู้อื่น เก่งกาจนำพาการเปลี่ยนแปลงองค์การสู่สำเร็จ เก่งกาจโน้มน้าวผู้อื่น เชี่ยวชาญสร้างและชักนำทีมงาน
นอกจากนี้ ดร.เซอร์จี อาฟนาเซียฟ มหาวิทยาลัยยอร์ค สหพันธรัฐรัสเซีย ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “การทำสมาธิเพิ่มพูนความฉลาดทางอารมณ์ ในกลุ่มคนงานอพยที่พูดภาษารัสเซียในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” ซึ่งได้รับการเผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสารปริทัศน์ระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการวิจัยในหลากหลายวิชา ภาคฤดูร้อน ค.ศ.2014 พบว่า
“การทำสมาธิ” ในรูปแบบหนึ่งใด สามารถเพิ่มพูน “ความฉลาดทางอารมณ์” ได้เสมอเหมือนกัน และ “การเสริมสร้างสมรรถนะรู้ทันอารมณ์” ในตัวเองและบุคคลอื่น ส่งผลให้คนงานอพยพสามารถปรับจิตใจและวิธีเข้ากับสังคมรอบนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ดร.เดวิด แมคคลีแลนด์ นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การอเมริกันเรืองนาม ได้ศึกษาวิจัยพบว่า ผู้นำหรือหัวหน้างานผู้มีผลงานยอดเยี่ยม จักต้องมีองค์ประกอบทางจิต 3 ประการ ในลักษณะที่ “สมดุลกัน” คือ มีความต้องการ (1) อำนาจ โดยเฉพาะอำนาจเพื่อส่วนรวม (2) สัมพันธ์ และ (3) สำเร็จ เพราะจะส่งผลให้ผู้นำสามารถอ่านจิตใจกับอารมณ์ของลูกน้อง ซึ่งก็มีความต้องการทั้งสามนี้อยู่แล้ว แต่ในลักษณะที่ไม่สมดุลกัน โดยเฉพาะ “ความต้องการสำเร็จ” ที่มักขาดอยู่ในผู้คนทั่วไป ข่าวดีมีอยู่ว่า นักจิตวิทยาสามารถฝึกฝนผู้สนใจให้มีความต้องการนี้ขึ้นมาได้เช่นกัน
จากประสบการณ์ที่ได้ฝึกฝนนักบริหารบุคคล และผู้นำในอุตสาหกรรมและองค์การไทย รวมทั้งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาหลายปี เกี่ยวกับความต้องการ "อำนาจ” “สัมพันธ์” และ “สำเร็จ” ในขณะรับราชการอยู่กรมแรงงานนั้น พอจะกล่าวได้ว่า ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ เพราะเป็นการฝึกฝนจิตใจให้รู้จักกำกับความต้องการ “อำนาจ” ของตนเพื่อส่วนรวม รู้จักระวังความต้องการ “สัมพันธ์” ของตน มิให้ถูกผู้ไม่หวังดีเอารัดเอาเปรียบ และรู้จักเสริมสร้างความต้องการ "สำเร็จ" ของตน ปรับปรุงตนให้มีสมรรถนะสูงขึ้น รู้จักคิดอย่างสมจริง นิยมรับรู้ข้อมูลป้อนกลับทั้งที่่ดีกับไม่ดี แต่เป็นจริง เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงตน
นอกจากนี้ ความรู้ในความต้องการดังกล่าว ยังนำไปประยุกต์ฝึกฝนตน เลือกหรือฝึกฝนคู่ครองชีวิต ให้อยู่ในลักษณะสมดุล นับเป็นความรู้ที่อำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาทางสังคมเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งในระดับส่วนตัวและส่วนรวมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ เพราะเป็นการฝึกฝนจิตใจให้รู้จักกำกับความต้องการ “อำนาจ” ของตนเพื่อส่วนรวม รู้จักระวังความต้องการ “สัมพันธ์” ของตน มิให้ถูกผู้ไม่หวังดีเอารัดเอาเปรียบ และรู้จักเสริมสร้างความต้องการ "สำเร็จ" ของตน ปรับปรุงตนให้มีสมรรถนะสูงขึ้น รู้จักคิดอย่างสมจริง นิยมรับรู้ข้อมูลป้อนกลับทั้งที่่ดีกับไม่ดี แต่เป็นจริง เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงตน
นอกจากนี้ ความรู้ในความต้องการดังกล่าว ยังนำไปประยุกต์ฝึกฝนตน เลือกหรือฝึกฝนคู่ครองชีวิต ให้อยู่ในลักษณะสมดุล นับเป็นความรู้ที่อำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาทางสังคมเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งในระดับส่วนตัวและส่วนรวมอย่างแท้จริง
“ความฉลาดทางอารมณ์” ก็ดี “ความต้องการอำนาจ สัมพันธ์ สำเร็จ” ก็ดี ล้วนเป็นวิชาความรู้ที่นักจิตวิทยาดังกล่าว พบว่า “จำเป็นและขาดมิได้” สำหรับ “ผู้นำ” ผู้มีผลงานยอดเยี่ยม
อนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการน่าจะพิจารณานำวิชาความรู้ดังกล่าว ไปเสริมสร้าง “คุณภาพ” ประชากร โดยเริ่มฝึกฝนอย่างมีระบบให้กับผู้บริหาร ครู อาจารย์ในกระทรวง ตลอดจนนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาขึ้นไป เพื่อช่วยพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและการเมืองต่อไป
โดยที่การฝึกฝนทางจิตดังกล่าว คือการฝึกฝนทาง “โลก” ที่สอดคล้องกับการฝึกฝนทาง “ธรรม” ที่ให้หมั่นทำสมาธิและหมั่นคิดด้วย “เหตุ” และ “ผล” ตามความเป็นจริง ไม่งมงาย และนักจิตวิทยาอุตสาหกรรรมและองค์การดังกล่าว พบว่า มีศักยภาพส่งผลให้เกิด "ความรู้ทันอารมณ์" และ “ความต้องการสำเร็จ” ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม...
รัฐบาลจึงน่าจะพิจารณาบูรณาการวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ให้เข้าไปอยู่อย่างถาวร ในกระบวนการปฏิรูปชาติบ้านเมือง หากต้องการ “ปฏิรูปอย่างแท้จริง.”