Tuesday, November 14, 2017


ปฏิรูป : จุดบอดที่น่าขจัด

โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต

dhanarat333@gmail.com


       หลีจื๊อ นักปราชญ์จีน สมัย 25 ศตวรรษก่อน มีความรอบรู้ดียิ่งในคำสอนของปรมาจารย์เล่าจื๊อและยอดนักการปกครองขงจื๊อ...ขนาดสามารถตีความคำสอนที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันของทั้งสองท่าน ให้มีความกลมกลืนกันขึ้นมาได้อย่างน่าทึ่ง

        ท่านหลีจื๊อได้เล่านิทานอมตะสอนใจไว้เรื่องหนึ่ง ความว่า กาลครั้งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งในแคว้นฉี เป็นคนหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่ก็ยังยากจนมาตลอด อย่างเก่งก็เก็บสะสมได้ไม่เกินหนึ่งเหรียญทองคำ ที่น่าเวทนายิ่ง ก็คือ มีสังขารวัยชราภาพ เวลาเดิน จะสะบัดไปซ้ายทีขวาที ไม่ทรงตัว

        ตื่นนอนเช้า ชายชราจะคิดแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ ตลอดวัน หลับนอนตอนค่ำ ก็ฝันแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ ตลอดคืน แต่ก็ยังต้องใช้ชีวิตแบบ "ตีนถีบปากกัด" มาเรื่อย ไม่ร่ำรวยขึ้นมาสักที

        วันหนึ่งๆ ชายชราได้แต่เดินไปที่บ้านเศรษฐีทั้งหลาย เพื่อของานทำ ก็ได้แต่งานที่ต้องใช้แรงกายอย่างเหนื่อยยากแสนเข็ญเกินสังขาร โดยได้รับค่าจ้างตอบแทนแบบย่ำแย่มาก พอได้เงินมาบ้าง ก็นำไปเล่นพนันที่หน้าร้านขายเหล้า ปรากฏว่า ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวกลับบ้านเป็นประจำ ในที่สุด เหรียญทองคำอันสุดท้ายในย่ามก็มีอันต้องหลุดจากมือ เข้าสู่กระเป๋าของเซียนพนันผู้เป็นเจ้ามือ ด้วยความเสียดายยิ่ง
        วันหนึ่ง ชายชราตื่นแต่เช้าตรู่ จัดแจงแต่งตัวให้แลดูเรียบร้อย มุ่งหน้าเดินไปยังตลาด ตรงรี่ไปที่ซุ้มขายทองคำ พลันฉกฉวยทองคำแท่งใหญ่มาได้แท่งหนึ่งแล้ว ก็รีบวิ่งหนีกระย่องกระแย่งไปตามทางเท้า ทว่า วิ่งไปได้ไม่นาน ก็ถลาเข้าชนอย่างจังเข้ากับเจ้าหน้าที่รักษาการณ์คนหนึ่ง ซึ่งยืนขวางทางอยู่ เลยถูกลากเข้าห้องขังตามระเบียบ
        "เจ้าคิดยังไงถึงได้ไปขโมยทองคำแท่งของคนอื่น ต่อหน้าต่อตาผู้คนตั้งมากมายในตลาดแบบนั้น?" ผู้พิพากษาถามชายชราด้วยความสงสัย
        "ข้าแต่ศาลที่เคารพ เมื่อตอนที่คว้าทองคำแท่งนั้น ข้าฯ มองเห็นแต่ทองคำ มองไม่เห็นคนอื่นเลย ขอรับ" ชายชราสารภาพอย่างตรงไปตรงมา
        ท่านหลีจื๊อให้ข้อคิดไว้ว่า เรามักมองไม่เห็น "ปัจจัยอันประเสริฐในตัวเรา" โดยมุ่งมั่นแต่จะ "มี" หรือ "ครอบครอง" ปัจจัยนอกตัวอย่างวัตถุเงินทองอำนาจ เพื่อเพิ่ม "ราคาค่างวด" ให้กับตน แทนที่จะมุ่งมั่น "เป็นอยู่" กับ "ความเป็นจริงในปัจจุบันกาล" พูดง่ายๆ แทนที่จะ "เป็นอยู่กับความพอเพียงตามอัตภาพ" เรากลับ"โลภโมโทสัน"  "ละเมอหลงใหล" ไปกับ "ความฝันสำหรับอนาคตกาล" อย่างไม่สมจริง แบบ "สร้างวิมานในอากาศ"
         ในที่นี้ "ปัจจัยอันประเสริฐในตัวเรา" ได้แก่ "ศีลธรรม" "จริยธรรม" "คุณธรรม" "การทำตนให้เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม" "ความพอเพียง" ตลอดจน  "พระกามาลสูตร" (ความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ก้มหน้าเดินตามก้นผู้อื่น) ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่มี "คุณค่า" สูงยิ่งต่อตัวเราเอง ส่วนการครอบครองปัจจัยนอกตัวเรา ซึ่งเราถือว่ามี "ราคาค่างวด" โดยวิธีมิชอบด้วย "ศีลธรรม" ฯลฯ นั้น นับเป็นการกระทำที่ไม่ได้ "เป็นอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันกาล" อย่างสมจริง

          พูดง่ายๆ "การตั้งใจฉกฉวยปัจจัยนอกตัวในปัจจุบันกาล เพื่อจะได้ครอบครองในอนาคตกาล" คือ "การไม่ได้เป็นอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันกาลหรือความพอเพียงตามอัตภาพ" นับเป็นการใช้ชีวิตอยู่กับอนาคตกาลที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง ต้องตื่นเต้นครุ่นคิดทั้งในขณะตื่นนอนกับนอนหลับว่า "เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้วัตถุเงินทองอำนาจนอกกายมาครอบครองในภายภาคหน้าอย่างคนอื่นทั้งหลาย?" ด้วยความละเมอหลงผิดว่าจะได้มีหน้ามีตา ไม่อายชาวบ้าน เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล!

        ชีวิตที่ไม่ยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบันกาลและความพอเพียงตามอัตภาพ ย่อมจะได้รับการตอบสนองตาม "กฎแห่งกรรม" ที่บ่งบอกไว้ว่า "ทำความดีได้ดี ทำความชั่วได้ชั่ว" เสมอเหมือนกันหมด เมื่อชายชราทำความชั่วไว้ ก็ถูกจับเข้าห้องขัง เพื่อรับโทษานุโทษตามกฎหมายบ้านเมืองอย่างทันตาเห็น

        ตรงกันข้าม ชีวิตที่ได้ใช้เวลาสูดดมชมชื่นดอกไม้นานาพันธุ์ข้างทาง..ได้ชื่นชมแสงสีทองสุกอร่ามเรืองตาจากขอบฟ้ายามย่ำรุ่งหรือย่ำค่ำ..ได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านที่ไม่หรูหราแต่กระทัดรัดอย่างพอเพียง..หรือได้นั่งเล่นหมากรุกกับเพื่อนบ้าน หลังจากที่ได้ประกอบอาชีพสุจริตแล้ว คือชีวิตที่มีแต่กำไรกับกำไร โดยมิต้องลงทุนเสี่ยงชีวิตทรัพย์สินใดๆ มากมายเลย 

        นิทานสอนใจเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ความปรารถนาหรือกิเลสอัปมงคลตาม "ความใฝ่ฝัน" ที่จะ "รวยลัด" ขึ้นมาในอนาคตกาล ได้ก่อให้เกิด "จุดบอด" ในปัจจุบันกาล ส่งผลให้ชายชรามองไม่เห็นผู้คนมากมายที่กำลังชุมนุมอยู่ในซุ้มขายทองแท่ง และไม่รู้ว่าจะต้องวิ่งไปชนกับเจ้าหน้าที่รักษาการณ์ในตลาด ในที่สุด "ความเป็นจริงในปัจจุบันกาล" ที่ว่า "ทองคำแท่งนี้ไม่ใช่ของเรา" ก็ทำให้ทองกับชายชราต้องพรากจากกัน คือ ทองกลับไปหาเจ้าของโดยชอบ ส่วนชายชราก็ย้ายที่พักเข้าห้องขังเรียบร้อยโรงเรียนจีน
        ผู้ใดที่ฉ้อฉลฉ้อโกงเงินทองแผ่นดินไป ไม่ว่าจำนวนเท่าใด ก็เปรียบได้กับชายชราดังกล่าว สักวันหนึ่ง ผู้นั้นจะต้องวิ่งไปชนเจ้าหน้าที่รักษาการณ์ ถูกส่งขึ้นศาลดำเนินคดีตามความยุติธรรม หรือต้องพบกับความตายสักวันหนึ่ง ตาม "กฎแห่งธรรมชาติ" ซึ่งจะย่างกรายเข้ามากระชากเงินทองที่โกงแผ่นดินไป ให้หลุดออกจากมืออย่างไม่มีทางเลี่ยงได้ พูดง่ายๆ "มามือเปล่า ไปมือเปล่า" ตาม "กฎแห่งธรรมชาติ" ที่กำหนดให้เราใช้ชีวิตแบบ "เป็นอยู่กับปัจจุบันกาลอย่างพอเพียงตามอัตภาพ" และให้เราทำการภาวนาจิต มิใช่ให้ใฝ่หาครอบครองปัจจัยนอกกายอย่างคนขาดสติสัมปชัญะ
        การใช้ชีวิตอยู่กับ "ปัจจัยอันประเสริฐในตัวเรา" ซึ่งได้แก่ "ศีลธรรม" ฯลฯ ดังกล่าว คือการก้าวเข้าสู่ "ความร่ำรวยและความสุขขนานแท้จริง" คือ ไม่โกงก็รวยได้ และไม่มีผู้ใดหรืออำนาจใดจะสามารถขวางกั้นหรือกระชาก "ความเจริญสุข" ให้พลัดพรากจากผู้ใช้ชีวิตกับปัจจัยดังกล่าวได้เลย

        "ค่านิยมในการครอบครองทรัพย์สินเงินทองอำนาจ" นอกกาย ไม่ด้วยเล่ห์ก็ด้วยกล โดยไม่คำนึงถึง "ความเป็นจริง" อย่างสมจริง คือ ค่านิยมของ "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ"  ซึ่งเป็นลัทธิที่มี "จุดบอด" ที่ไม่แตกต่างอะไรไปจากจุดบอดของชายชราดังกล่าว จริงๆแล้ว วิชาเศรษฐศาสตร์ตะวันตกคือวิชาของ "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ที่ "กระจายรายได้" เข้าสู่กระเป๋าคนรวย มิใช่สู่มือคนจน ดังนั้น ภายใต้ระบบเศรษฐศาสตร์ตะวันตกที่เรากำลังเดินตามก้นผู้อื่นอยู่ นั้น คนรวยมีแต่รวยยิ่งขึ้น ส่วนคนจนมีแต่จนดิ่งลง บางครอบครัวตกอยู่ในสภาพอดมื้อกินมื้อ ย่ำแย่กว่าสัตว์เลี้ยงในบางบ้านเสียอีก

        ด้วยเหตุนี้ ผู้นำประเทศน่าจะพิจารณานำ "พุทธเศรษฐศาสตร์" มาบริหารประเทศ โดยมิต้องเกรงว่าจะเป็น "แกะดำ" ในยุคโลกาภิวัฒน์ เพราะพุทธเศรษฐศาสตร์คือ "ภาพกระจกเงา" ของ "พระธรรม" อันเป็นสัจธรรมที่ทันสมัยอยู่เสมอ  นักเศรษฐศาสตร์อัจฉริยะชาวอังกฤษนามว่า "อีเอฟ ชูมาเชอร์" (E. F. Schumacher) ได้ศึกษาพระไตรปิฎกแล้วฟันธงว่า เป็นพระคัมภีร์พุทธที่มีระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืนแฝงอยู่อย่างแยบยล คือ มีคำชี้แนะให้เราใช้ทุนทรัพย์ทั้งปวงอย่างสมเหตุสมผลและยั่งยืน

        ท่านชูมาเชอร์มองว่า พระไตรปิฎกสอนให้เราใช้ทรัยพยากรธรรมชาติอย่างมีเหตุมีผล จึงแนะนำให้ปวงชนในแต่ละชุมชนรากหญ้าเป็นผู้ริเริ่มเลือกทำกิจกรรมเศรษฐกิจตามอัตภาพของตนและท้องถิ่น เพื่อจะได้ใช้และอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างเหมาะสมที่สุดและเป็นมรดกสืบทอดแก่บุตรหลานอย่างสูงสุดต่อไป ยิ่งกว่านั้น ท่านยังได้เสนอแนะให้ผู้นำประเทศทั้งหลาย นำพุทธเศรษฐศาสตร์ไปพิจารณาบริหารชาติบ้านเมือง เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนต่อไป

        หากจะปฏิรูปชาติบ้านเมืองทั้งที ผู้นำก็น่าจะป้องกันแก้ไข "จุดบอด" ของชายชรา ด้วยการเสริมสร้าง "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" ที่นิยมวิถีชีวิตที่กอปรด้วย "ปัจจัยอันประเสริฐในตัวเรา"ซึ่งได้แก่ "ศีลธรรม" ฯลฯ ดังกล่าว ซึ่งพระบรมศาสดาโลกทั้งหลายได้ทรงชี้แนะไว้เป็นช่องทางให้มวลมนุษย์ได้เข้าสู่ความเจริญสุขหรือสวรรค์อย่างแท้จริง

        เกมส์ชีวิตไม่จำต้องมีแต่ "แพ้หรือชนะ" เท่านั้น คือ ทุกชีวิตมีสิทธิ์ "ชนะกับชนะ" ได้ โดยเฉพาะเมื่อได้ทำงานหาเงินหาทองมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตชอบธรรม ดังนี้แล้ว จะมีเหตุผลใดหรือที่เศรษฐีจะมีความเจริญสุขไม่ได้?

         สังคมไทยจะมีความเจริญสุขได้ก็ต่อเมื่อผู้นำได้ยุบสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้นแทนที่ เพื่อให้สังคมไทยเป็นอริยสังคมที่ตื่นแล้ว ให้คนไทยเป็นอริยชนที่ตื่นแล้ว โดยมีวัดเป็นวัดพุทธ มิใช่เป็นวัดพุทธพาณิชย์ที่ถูกใช้เป็นแหล่งส้องสุมอาวุธ เก็บรักษารถยนต์หรูหราไว้มากมาย ตลอดจนขายบริการทำพิธีกรรม หรือปลุกเสกไสยศาสตร์ เพื่อสร้างความร่ำรวยอันน่าอับอายสลดใจให้กับสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ทั้งหลาย จนกระทั่งคนไทยไม่มีพระพุทธศาสนาแท้จริงเป็นเข็มทิศนำทางชีวิตต่อไป 

        ตราบใดที่วิญญาณจิต "เศรษฐกิจตะวันตก" ยังชักนำวิญญาณจิต "สังคมไทย" อยู่ เราก็จะยังมีแต่ปวงชน (ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย) ที่ยากจนแสนเข็ญ อีกทั้งนิยมคิดพูดทำอย่างชายชราดังกล่าว เราจะยังมีแต่ปัญหาโกงกินในหมู่ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ที่รังแต่จะขยายวงกว้างออกไป ส่วนรัฐบาลก็จะยังต้องใช้เงินแผ่นดินมหาศาลในการบำรุงรักษาระบบตุลาการและก่อสร้างเรือนจำเพิ่มเติมอย่างไม่จบสิ้น ทั้งนี้ เพื่อเลี้ยงดูผู้บกพร่องทางวิญญาณจิตอย่างชายชราต่อไป

        ปัญหาของชายชรา นั้น คนไทยทุกคนจะต้องมีส่วนรับผิดชอบป้องกันแก้ไขร่วมกับผู้นำประเทศ เพราะผู้นำฯ "ตบมือข้างเดียวไม่ดัง" และไม่มี "ไม้กายสิทธิ์" ที่มีอำนาจชี้ไม้ให้เป็นนกได้ โดยเราอาจเริ่มต้นด้วยการเข้าวัดทำความสะอาดและบูรณะวัด ร่วมใจกันปฏิรูปวัดให้เป็น "โรงพยาบาลรักษาวิญญาณจิต" ตามที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้สอนไว้ 

        นอกจากนี้ เราต้องช่วยกันใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการเสริมสร้างสื่อมวลชนให้เป็นสื่ออริยชนที่ตื่นแล้ว และเป็นอยู่กับความพอเพียง ช่วยกันสร้างกับเผยแพร่คำสอนของพระบรมศาสดาโลก โดยตีพิมพ์และเว็บไซต์ที่มีคุณภาพ ใช้สื่อสังคมอย่างผู้ตื่นแล้ว และติดตั้งคำสอนของพระบรมศาสดาโลกที่ให้ทุกคนภาวนาจิตและลดละเลิกการครอบครองปัจจัยนอกกาย ตามที่สาธารณะต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อเผยแผ่ "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" สู่ปวงชนอย่างกว้างขวางและจริงจัง และให้ไทยได้เป็น "ศาลาพักร้อน" ของชาวโลกทั้งหลายท่ามกลางความปั่นป่วนอยู่ทั่วโลก

        หาไม่แล้ว เราก็จะยังร่วมกันมัวเมาหลงใหลพัฒนาชาติบ้านเมืองแบบน้ำเน่าอยู่ เพื่อหาวิมานอะไรมิทราบ?


Thursday, July 9, 2015

จิตรู้ทันรู้สำเร็จ

ธนรัตน์ ยงวานิชจิต



เมื่อสมัย 800 ปี ถึง 1,100 ปี ก่อน ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในยุคสมัยของ “นักรบซามูไร” ผู้เก่งกาจในวิทยายุทธฟันดาบ พิชิตข้าศึกได้ทั้งสิบทิศ จนได้สถาปนาตนเป็น “โชกุน” ผู้ครองแผ่นดิน

กลุ่ม “นักรบซามูไร” นี้ ได้พัฒนาการสู้ศึกบนหลังม้ามาเป็นบนพื้นดินด้วยการใช้ดาบ ซึ่งได้วิวัฒนาการเป็นดาบยาวกว่าเดิม คือไม่ต่ำกว่า 60 เซนติเมตร ใบดาบมีลักษณะโค้งเล็กน้อยตอนท่อนปลาย ผ่านกระบวนการผลิตที่ยุ่งยาก จนมีความแข็งแกร่งและคมกริบ มีแรงฟันที่ทรงพลังกว่าดาบตรงธรรมดาหลายเท่า มีความคมที่สามารถผ่าเส้นผมตามยาวออกเป็นสองซีกได้ 

นักรบกลุ่มนี้ ยังได้นำเอา “ปรัชญาคุณธรรมแห่งนักรบ” ของประเทศจีนมาพัฒนาต่อเนื่องเป็น “วิถีแห่งนักรบบูชิโด้” ยึดมั่นในวินัยและศักดิ์ศรี จนได้รับการขนานนามเป็น “นักรบซามูไร” อันเกรียงไกร

มีตำนานเล่ากันว่า วันหนึ่งนักดาบซามูไรคนหนึ่ง พาคณะบริวารเดินทางไปกราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดพุทธเซนแห่งหนึ่ง เมื่อคุกเข่าลง วางดาบซามูไรลงบนพื้นห้องรับรอง กราบนมัสการท่านเจ้าอาวาสเรียบร้อยแล้ว นักดาบอาคันตุกะก็เริ่มสนทนากับเจ้าอาวาส

“กราบนมัสการพระคุณเจ้า ข้าฯได้ยินคำว่า นรกกับสวรรค์มาช้านาน ขอกราบพระคุณเจ้า ได้เมตตาตอบให้หายข้องใจสักหน่อยได้ไหมว่า นรกกับสวรรค์นั้น มีจริงหรือไม่ ขอรับ?”

ท่านเจ้าอาวาสนั่งนิ่งอยู่พักใหญ่ แล้วตอบด้วยสุ้มเสียงหนักแน่นว่า

“เรื่องนรกกับสวรรค์นี้ เป็นเรื่องเข้าใจยาก คนงี่เง่าอย่างโยมเจ้า จะไม่มีวันเข้าใจได้หรอก”

ในบัดดลนักดาบผู้มาเยือนเริ่มมีอาการ “เลือดขึ้นหน้า” หน้าตาแดงก่ำด้วยความพิโรธโกรธกริ้ว เมื่อได้ยินคำสบประมาทจากเจ้าอาวาส พลันคว้าดาบซามูไรที่วางอยู่บนพื้นมาถือไว้ พรวดพราดลุกขึ้นยืน ชักตัวดาบอันคมกริบออกจากฝักอย่างว่องไว ทิ้งฝักลงพื้น สองมือกำด้ามดาบไว้แน่น ยกดาบขึ้นเหนือศีรษะ พร้อมที่จะฟันลงไปที่คอท่านเจ้าอาวาส พลางตะโกนลั่น

“ฮึ่ม! พระคุณเจ้า อยากให้หัวหลุดออกจากบ่ารึไง?”

ท่านเจ้าอาวาสตอบด้วยน้ำเสียงเยือกเย็นทันทีว่า “นี่แหละคือนรก”

นักดาบซามูไรยืนแน่นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง เริ่มรู้สึกตัวขึ้นมาแล้วว่า อารมณ์โกรธกริ้วของตน นั้น คือ “นรก” นั่นเอง จึงวางดาบลง คุกเข่าก้มลงกราบขออภัยท่านเจ้าอาวาสด้วยน้ำเสียงสีหน้าสำนึกผิด

ทันใดนั้น ท่านเจ้าอาวาสก็กล่าวขึ้นอย่างเยือกเย็นว่า “นี่แหละคือสวรรค์”

เมื่อได้ยินได้ฟังประโยคท้ายสุดจากเจ้าอาวาสแล้ว น้ำตาของนักรบซามูไรก็เริ่มซึมออกมาในเบ้าตา ด้วยความดื่มด่ำซาบซึ้งใจเป็นอย่างยิ่งใน “คำไขข้อข้องใจ” จากท่านเจ้าอาวาส

“ภาวะจิต” ที่ได้เกิดขึ้นกับนักดาบซามูไรนั้น ก็เกิดขึ้นได้กับผู้คนทั่วไป โดยเฉพาะกับผู้ที่ยังไม่สันทัดใน “การรู้ทันอารมณ์” ของตัวเองและผู้อื่น ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุม “อารมณ์อกุศล” ของตน และไม่สามารถเสริมสร้าง “ความสัมพันธ์ด้วยอารมณ์กุศล” กับผู้อื่น

พระพุทธศาสนาได้บ่งบอกวิถีทางฝึกฝนจิตตนให้เข้มแข็งด้วย “การทำสมาธิ”โดยสำรวมจิตกับกายให้อยู่นิ่ง หายใจเข้า-ออกลึกๆ ปล่อยให้ความคิดผ่านเข้ามาแล้วผ่านออกไปเป็นระลอกๆ ในช่วงเชื่อมต่อของแต่ละระลอกนี้ คือ “ความสงบเงียบที่แท้จริง” ซึ่งแม้อาจสงบอยู่ได้เพียง 1 วินาที ก็เป็น “ความสงบ” ที่ตรงกับ “ความว่างเปล่า” ระหว่างดวงดาวในจักรวาล หรือ “พลังมืด” (dark energy) ที่ทำให้จักรวาลขยายตัวออกไป

“ความว่างเปล่า” นี้ คือ “ภาวะจิตว่าง” หรือ “นิพพาน” นั่นเอง 

ผู้ใดที่เข้าไปอยู่ใน “ความว่างเปล่า” นี้ได้ จะเข้าถึง “จิตว่าง” หรือ “นิพพาน” มี “สมรรถนะรู้ทันอารมณ์” สามารถควบคุมกิเลสตัณหาอกุศลของตนได้ หาไม่แล้วจะถูก “ไฟอารมณ์” เผาไหม้ อย่างเช่นนักดาบยอดซามูไรดังกล่าว

วิชาจิตวิทยาตะวันตกสมัยใหม่นี้ กำลังเร่งเครื่องไล่ตามให้ทัน “พระธรรม” อยู่ เรียก “สมรรถนะรู้ทันอารมณ์” นี้ว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” (Emotional Intelligence) ขณะนี้ นักจิตวิทยาสามารถอาศัย “กระบวนการวิทยาศาสตร์” พิสูจน์ได้ว่า ความฉลาดข้อนี้มีฐานตั้งอยู่ ณ ส่วนลึกตรงกลางสมอง ขนาดบ่งชี้ได้ว่า อวัยวะที่เป็นบ่อเกิดของความฉลาดข้อนี้ ได้แก่ “ปมประสาท” ชื่อว่า “อมิกดาลา” (amygdala) ทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการของอารมณ์ “ขลาดกลัว” และ “ก้าวร้าวดุดัน” ที่สังเกตเห็นได้อยู่ทั่วไป

ปัจจุบันนักจิตวิทยอุตสาหกรรมและองค์การ วิจัยค้นพบว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” คือคุณสมบัติสำคัญยิ่งของ “ภาวะผู้นำ” คือ ผู้นำที่มีความฉลาดข้อนี้ สามารถประสบผลสำเร็จในงานไม่มากก็น้อย ในการนำพาทีมงานสู่การบรรลุเป้าหมายงาน ได้ดีกว่าผู้นำที่ขาดคุณสมบัติข้อนี้ ไม่ว่าจะทำงานค้ากำไร งานรับใช้ประชาชน งานกำกับกองทัพในศึกสงคราม หรืองานแพทย์พยาบาลอยู่ และพบว่า แพทย์พยาบาลที่มีความฉลาดข้อนี้ สามารถเยียวยาคนไข้ให้หายป่วยได้ดีกว่าแพทย์พยาบาลที่ไม่มีความฉลาดข้อนี้

ดร.แดเนียล โกลแมน นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การอเมริกัน ผู้บุกเบิกเผยแพร่และวิจัยเกี่ยวกับ “ความฉลาดทางอารมณ์” มานับสิบๆ ปี ยืนยันหนักแน่นว่า ความฉลาดข้อนี้คือคุณสมบัติที่ “ขาดมิได้” ของผู้ทำหน้าที่ “ผู้นำ” หรือ “หัวหน้างาน” ในองค์การ 

แม้ผู้นำคนหนึ่งใดจะมีเชาวน์ปัญญาสูง ฝีมือในการวิเคราะห์ยอดเยี่ยม ความรู้ระดับดุษฎีบัณฑิต ตลอดจนความคิดอ่านดีๆ นับไม่ถ้วน แต่หากขาดความฉลาดข้อนี้แล้ว ผู้นำคนนั้นก็จะยังไม่เป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมจริง

ข่าวดีมีอยู่ว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” คือทักษะที่ฝึกฝนให้เกิดขึ้นมาได้ แต่โดยที่สังคมกำลังสนใจความฉลาดข้อนี้อยู่มาก จึงต้องระมัดระวังเลือกผู้ฝึกให้ดี ดร.โกลแมนเตือนไว้ว่า นักจิตวิทยาที่ได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้องในเทคนิคเสริมสร้างความฉลาดข้อนี้เท่านั้น จะสามารถฝึกฝนผู้รับฝึกให้ใช้ส่วนที่ถูกต้องของสมอง (limbic system) มิใช่ส่วนที่ผิด (neocortex) ในการเสริม “สมรรถนะรู้ทันอารมณ์” หาไม่แล้วการฝึกฝนผิดๆ กลับจะส่งผลอันไมพึงปรารถนาต่องานด้วย

ดร.โกลแมนได้ทำการศึกษาวิจัยกับกิจการขนาดใหญ่หลายแห่ง ทั้งในสหรัฐ ทวีปยุโรป และเอเชีย พบว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 5 ประการ ต่อท้ายด้วยพฤติกรรมเด่นชัด ดังนี้ 

(1) รู้สำนึกในตัวเองเสมอ มั่นใจในตัวเอง ประเมินตัวเองอย่างสมจริง เล่าเรื่องขำขันเกี่ยวกับความเปิ่นซุ่มซ่ามของตน

(2) รู้จักกำกับความรู้สึกของตน น่าไว้วางใจได้ ไม่เครียดกับความกำกวม เปิดใจพร้อมปรับเปลี่ยนตน

(3) มีแรงจูงใจสูง ต้องการสำเร็จสูง มองโลกในแง่ดีแม้จะอยู่ในภาวะล้มเหลว และรักษาพันธสัญญาต่อองค์การ

(4) มีความสามารถสูงในการหยั่งรู้เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เก่งกาจเสริมสร้างรักษาศักยภาพไม่ธรรมดาให้กับองค์การ อ่อนไหวรับรู้ภาวะจิตในต่างวัฒนธรรม เต็มใจบริการลูกค้า

(5) มีท่าทีพร้อมเป็นมิตรกับผู้อื่น เก่งกาจนำพาการเปลี่ยนแปลงองค์การสู่สำเร็จ เก่งกาจโน้มน้าวผู้อื่น เชี่ยวชาญสร้างและชักนำทีมงาน

นอกจากนี้ ดร.เซอร์จี อาฟนาเซียฟ มหาวิทยาลัยยอร์ค สหพันธรัฐรัสเซีย ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ “การทำสมาธิเพิ่มพูนความฉลาดทางอารมณ์ ในกลุ่มคนงานอพยที่พูดภาษารัสเซียในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” ซึ่งได้รับการเผยแพร่ตีพิมพ์ในวารสารปริทัศน์ระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการวิจัยในหลากหลายวิชา ภาคฤดูร้อน ค.ศ.2014 พบว่า

“การทำสมาธิ” ในรูปแบบหนึ่งใด สามารถเพิ่มพูน “ความฉลาดทางอารมณ์” ได้เสมอเหมือนกัน และ “การเสริมสร้างสมรรถนะรู้ทันอารมณ์” ในตัวเองและบุคคลอื่น ส่งผลให้คนงานอพยพสามารถปรับจิตใจและวิธีเข้ากับสังคมรอบนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ดร.เดวิด แมคคลีแลนด์ นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การอเมริกันเรืองนาม ได้ศึกษาวิจัยพบว่า ผู้นำหรือหัวหน้างานผู้มีผลงานยอดเยี่ยม จักต้องมีองค์ประกอบทางจิต 3 ประการ ในลักษณะที่ “สมดุลกัน” คือ มีความต้องการ (1) อำนาจ โดยเฉพาะอำนาจเพื่อส่วนรวม  (2) สัมพันธ์ และ (3) สำเร็จ เพราะจะส่งผลให้ผู้นำสามารถอ่านจิตใจกับอารมณ์ของลูกน้อง ซึ่งก็มีความต้องการทั้งสามนี้อยู่แล้ว แต่ในลักษณะที่ไม่สมดุลกัน โดยเฉพาะ “ความต้องการสำเร็จ” ที่มักขาดอยู่ในผู้คนทั่วไป ข่าวดีมีอยู่ว่า นักจิตวิทยาสามารถฝึกฝนผู้สนใจให้มีความต้องการนี้ขึ้นมาได้เช่นกัน

จากประสบการณ์ที่ได้ฝึกฝนนักบริหารบุคคล และผู้นำในอุตสาหกรรมและองค์การไทย รวมทั้งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาหลายปี เกี่ยวกับความต้องการ "อำนาจ” “สัมพันธ์” และ “สำเร็จ” ในขณะรับราชการอยู่กรมแรงงานนั้น พอจะกล่าวได้ว่า ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี 


ทั้งนี้ เพราะเป็นการฝึกฝนจิตใจให้รู้จักกำกับความต้องการ “อำนาจ” ของตนเพื่อส่วนรวม รู้จักระวังความต้องการ “สัมพันธ์” ของตน มิให้ถูกผู้ไม่หวังดีเอารัดเอาเปรียบ และรู้จักเสริมสร้างความต้องการ "สำเร็จ" ของตน ปรับปรุงตนให้มีสมรรถนะสูงขึ้น รู้จักคิดอย่างสมจริง นิยมรับรู้ข้อมูลป้อนกลับทั้งที่่ดีกับไม่ดี แต่เป็นจริง เพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงตน 
นอกจากนี้ ความรู้ในความต้องการดังกล่าว ยังนำไปประยุกต์ฝึกฝนตน เลือกหรือฝึกฝนคู่ครองชีวิต ให้อยู่ในลักษณะสมดุล นับเป็นความรู้ที่อำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาทางสังคมเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งในระดับส่วนตัวและส่วนรวมอย่างแท้จริง




“ความฉลาดทางอารมณ์” ก็ดี “ความต้องการอำนาจ สัมพันธ์ สำเร็จ” ก็ดี ล้วนเป็นวิชาความรู้ที่นักจิตวิทยาดังกล่าว พบว่า “จำเป็นและขาดมิได้” สำหรับ “ผู้นำ” ผู้มีผลงานยอดเยี่ยม 

อนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการน่าจะพิจารณานำวิชาความรู้ดังกล่าว ไปเสริมสร้าง “คุณภาพ” ประชากร โดยเริ่มฝึกฝนอย่างมีระบบให้กับผู้บริหาร ครู อาจารย์ในกระทรวง ตลอดจนนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาขึ้นไป เพื่อช่วยพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและการเมืองต่อไป

โดยที่การฝึกฝนทางจิตดังกล่าว คือการฝึกฝนทาง “โลก” ที่สอดคล้องกับการฝึกฝนทาง “ธรรม” ที่ให้หมั่นทำสมาธิและหมั่นคิดด้วย “เหตุ” และ “ผล” ตามความเป็นจริง ไม่งมงาย และนักจิตวิทยาอุตสาหกรรรมและองค์การดังกล่าว พบว่า มีศักยภาพส่งผลให้เกิด "ความรู้ทันอารมณ์" และ “ความต้องการสำเร็จ” ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรก็ตาม...

รัฐบาลจึงน่าจะพิจารณาบูรณาการวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ ให้เข้าไปอยู่อย่างถาวร ในกระบวนการปฏิรูปชาติบ้านเมือง หากต้องการ “ปฏิรูปอย่างแท้จริง.”





กาสิโน
ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com

"เงิน" คือปัจจัยจำเป็นในการครองชีพ แต่จำเป็นถึงเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น คือ ระดับ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

ค่านิยมต่างชาติ" ได้ยึดไทยเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมมานาน ส่งผลให้คนไทยจำนวนมาก ละทิ้งค่านิยมทาง "จิตนิยม" ที่มีรากฐานมาจาก "พระพุทธศาสนา" หันไปยึด "วัตถุเงินทองอำนาจ" หรือ "สิ่งนอกกาย" อย่างกว้างขวาง ฝังรากอยู่ลึก ลึกจน "เงินทอง" กลายเป็น "พระเจ้าแห่งสิ่งนอกกาย" สำหรับบูชา อย่างชาวกรีกเมื่อ 3,600 ปีก่อน ที่มี "เทพเจ้าเซอุส" เป็น "เทพแห่งท้องฟ้า กฎระเบียบ ชอบธรรม" สำหรับบูชา

ไทยจึงมีสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" อยู่ดาษดื่น ซึ่งมี "ความอิ่มหมีพีมัน" ในเงินทองตั้งแต่ระดับ "แสนล้านบาท" ลงมา แต่สาวกลัทธิอุบาทว์นี้ไม่มีสิทธิ์ติดรายชื่ออภิมหาเศรษฐีโลกในนิตยสารฟอร์บส์โด่งดัง เพราะเป็นผู้ได้เงินมาด้วยอำนาจทางการเมือง และเป็นเงินที่ไม่มีสิทธิ์สืบทอดมรดกโดยชอบธรรม คือ เป็นเงินที่ต้องคืนให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินโดยชอบ

กระนั้นก็ตาม สาวกลัทธิอุบาทว์นี้ก็ยังพยายามหาทางเพิ่มพูน "เงินทอง" ให้กับตัวเองอย่างไม่รู้จักพอเพียง โดยได้เสนอในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ออกกฎหมายรับรองการตั้งบ่อนพนัน "กาสิโน" ซึ่งไม่อำนวยผลดีต่อสังคมเศรษฐกิจเลย แถมมีเจ้ามือเครื่องมืออุปกรณ์ครบครันพร้อมสำหรับโกงกินเงินคนไทย ถ่ายเทเข้ากระเป๋าส่วนตัวต่อไป

เหตุผลที่สาวกลัทธิอุบาทว์ยกขึ้นอ้างแบบไร้เดียงสา คือ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของเงินไทยสู่ต่างประเทศที่มี "กาสิโน" บริการคนไทยที่ข้ามเขตแดนไปเล่นพนันกันนับล้านบาทต่อปี

แล้วหากชาวต่างด้าวแห่กันมาร่วมวงไพบูลย์ เปิด "กาสิโน" ในไทย เงินไทยจะอยู่ในไทยได้อย่างไร?

เหตุผลที่ว่า บ่อนพนันสร้างงานกับเศรษฐกิจนั้น ก็ไม่จริง เพราะธุรกิจเดิมที่ตั้งอยู่รอบๆ บ่อนสร้างใหม่ ลงเอยก็ต้องล้มละลายไป เนื่องจากลูกค้าเดิมต่างหันไปจับจ่ายที่บ่อนหมด ส่วนเงินภาษีอากรจากบ่อนจะตรงกับกำไรแท้จริงเพียงใด ก็มีแต่เจ้าของบ่อนเท่านั้นที่รู้

นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจชาติบ้านเมือง ย่อมพิสูจน์ได้ว่า "กาสิโน" มี "ข้อเสีย" มากกว่า "ข้อดี" อย่างแน่นอน

ดร.พอล แซมมวลซัน นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลอัน ทรงเกียรติ สรุปไว้ว่า "การพนันเป็นเพียงการถ่ายเทเงินระหว่างบุคคลแบบไม่มีอะไรงอกเงย ไม่มีเงินจากแหล่งใหม่เข้ามา..มีแต่ดูดซับเวลาและทรัพยากร..ตัดทอนรายได้ของชาติ"

ในระดับบุคคล บ่อนในและนอก "กาสิโน" ล้วนมุ่งโกงเงินของแฟนพนันกันทั้งนั้น เดวิด ไอเมอร์ มีรายงานน่าสนใจจากเฉนหยาง ประเทศจีน ผ่านเดอะเทเลกราฟ 24 มิถุนายน 2558 เกี่ยวกับเซียนพนันชื่อนายมา และแฟนพนันชื่อนายหวัง (นามสมมติหมด)

นายมาเคยเป็นเจ้ามือไพ่เร่ร่อน แอบเล่นพนันอยู่ในอาคารห้องชุดตามเมืองต่างๆ เพราะรัฐบาลจีนมีกฎหมายกำหนดให้ "กาสิโน" เป็น "กิจการผิดกฎหมาย" และ "ปีศาจชั่วร้าย" เขามีพรสวรรค์ในการแจกไพ่ให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ โยนลูกเต๋าให้กลิ้งแบบจับวาง และเล่นไพ่นกกระจอกให้ชนะได้เสมอ บางครั้งก็แอบสวม "เลนส์สัมผัส" สั่งทำพิเศษ ช่วยให้มองเห็น "ตำหนิ" บนไพ่ที่สั่งทำสำรับละ 1,000 หยวน (1 : 5.45 บาท) เคยชนะไพ่ได้เงินถึง 780,000 หยวนในหนึ่งชั่วโมง แม้เคยเตือนผู้คนว่า เจ้ามือ 90% ในบ่อน โกงท่าเดียว ก็ไม่มีใครเชื่อ จนได้เห็นตนสาธิตให้ดูสดๆ ว่า โกงได้ง่ายขนาดไหน

ส่วนนายหวังสร้างเนื้อสร้างตัวจนเป็นชนชั้นกลางในปี 2547 มีภรรยาสุดที่รักและลูกชายอ่อนวัยหนึ่งคน จากนั้น ก็เริ่มเล่นไพ่แบล็กแจ็ก แล้วติดไพ่นี้จนหมดตัวไป 1.7 ล้านหยวนในสองปี เคยหมดไป 200,000 หยวนในหนึ่งคืน เงิน 2 ล้านหยวนที่เก็บมา 7 ปี เสียให้กับการพนันไปเกือบหมด จนเหลือเงินไม่พอสั่งซื้อสินค้ามาขาย ลูกค้าที่เคยมีก็หดหายไป ในที่สุด ภรรยาพาลูกชายแยกจากไปอยู่กับพ่อแม่เธอ

เมื่อเห็นนายมาสาธิตกลโกงให้ดูแล้ว นายหวังถึงกับร้องขึ้นว่า มิน่าเล่า เห็นมีเจ้ามือสองสามคนที่ไม่เคยเสียเงิน แต่ตัวเองเสียเงินตลอด แล้วปฏิญาณตนจะไม่เล่นพนันอีก

ในระดับสังคม เมื่อปี 2554 นายเอิร์ล กริโนลส์ รายงานไว้กับศูนย์จริยธรรมคริสเตียน มหาวิทยาลัยเบเลอร์ สหรัฐ ว่า การพนันก่อให้เกิดความเสียหายทางสังคม 9 ข้อ คือ
  1. อาชญากรรม : ปลอมแปลงเอกสาร ฉ้อฉล โจรกรรมการค้า
  2. การจ้างงาน : เสียผลิตภาพและเวลาทำงาน สรรหาคัดเลือกและฝึกอบรมใหม่
  3. การล้มละลาย : เสียทรัพยากรทางกฎหมายและอื่นๆ
  4. การฆ่าตัวตาย : เสียชีวิตของแฟนพนันที่ท้อแท้สิ้นหวัง กระทบต่อครอบครัวและสังคม
  5. การเจ็บป่วยจากติดพนัน : เค้นเครียด วิตกกังวล โรคหัวใจกับหลอดเลือด โรคซึมเศร้า โรคเรียนรู้เสื่อม
  6. การสังคมสงเคราะห์ : ค้ำจุนการตกงาน รักษาพยาบาล และใช้ จ่ายอื่นๆ
  7. การรักษากฎหมาย : ควบคุมการพนันกับอุตสาหกรรมพนัน
  8. ครอบครัว : ทะเลาะวิวาท แตกแยก หย่าร้าง ละเมิดละเลยเด็กๆ ในครอบครัว
  9. เงินมิชอบ : ได้มามิชอบ ขโมยมา ไม่ได้แจ้งความกับตำรวจ 

ทั้งนี้ เดวิดได้แสดงตัวเลขบ่งบอกค่าเสียหายในแต่ละข้อด้วย โดยสรุปว่า คนติดพนันหนึ่งคนจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายต่อสังคมราว 9,393 เหรียญต่อปี (1 : 32 บาท)

คนติดพนันได้อย่างไร?

องค์กรช่วยเหลือคนติดพนัน คานาดา เปิดเว็บไซต์ชี้แนะไว้ว่า คนติดพนันเมื่อตกอยู่ใน "ภาวะจิต" ดังนี้

มีมายาคติว่าตนกำกับจังหวะโชคลาภได้ ละเมอว่าตนกำลังใช้ฝีมือสติปัญญาเล่นพนันอยู่ แต่จังหวะโชคลาภมีช่องทางเดินที่ไม่เข้าข้างออกข้างผู้ใด ไม่ตามใจผู้ใด

หลงใหลเสน่หาเงินรางวัล การพนันก่อให้เกิดความรู้สึกดี-ชอบ ทุกคนชอบชนะพนัน จำจังหวะชนะได้นานกว่าแพ้ บางคนชนะตอนแรกเริ่ม เลยหลงเชื่อว่าการพนันคือเส้นทางสู่การเป็นเศรษฐี

ผีพนันครอบงำ แฟนพนันมือใหม่มักชนะได้เงินในช่วงแรก จึงหลงผิดว่าตนเป็นคนมีโชคลาภ เกิดแรงดลใจพนันไปเรื่อยๆ ชนะเมื่อใดก็ให้รู้สึกครึ้มอกครึ้มใจ อยากที่จะรู้สึกเช่นนั้นอีก จึงเล่นพนันต่อไปเรื่อยทั้งที่แพ้ตลอด

โชคลาภจะกลับมา กลับพบเพียงโชคร้าย แต่ก็หยุดพนันไม่ได้ ด้วยหลงผิดว่า โชคลาภใหญ่จะกลับ ยิ่งแพ้ถี่ขึ้น ก็ยิ่งหลงผิดว่ากำลังขยับใกล้โชคลาภเข้าไปทุกที พฤติกรรมพนันจึงเป็นทางตัน มิใช่ทางออกสู่โชคลาภ

เมื่อตกอยู่ใน "ภาวะจิต" ดังกล่าว แฟนพนันก็ไม่แตกต่างอะไรไปจาก "หนูติดจั่น" กลายเป็น "คนตายทั้งเป็น" ที่นั่งอยู่ข้างๆ เจ้ามือยอดนักโกงและอุปกรณ์การพนันที่ออกแบบมาให้เอาเปรียบแฟนพนัน ตลอดวันคืนอยู่ใน "กาสิโน" ที่เจ้าของบ่อนอุตส่าห์ลงทุนมหาศาลสร้างไว้ต้อนรับแฟนพนันเป็นอย่างดียิ่ง จะได้ไม่รีบหนีไปไหน

นอกจาก "ภาวะจิต" ดังกล่าวแล้ว แฟนพนันยังขยับตัวลุกขึ้นเดินออกจาก "กาสิโน" ไม่ได้ เพราะ "สมอง" ถูกพฤติกรรมเล่นพนันของตน "บงการจี้ปล้น" จน "สติแตก" ไปแล้ว

เบ็น ธอมัส ผู้ก่อตั้งองค์กรเดอะคอนเนคโทม อธิบายภาวะ "บงการจี้ปล้น" ไว้ในเว็บไซต์ว่า ณ ส่วนลึกเข้าไปในศีรษะคือที่ตั้งของสมองส่วนหนึ่ง ซึ่งจะเกิดคลื่นกิจกรรมคึกคักทุกครั้งที่แฟนพนัน "คาดหมายล่วงหน้า" ว่าจะได้รับโชคลาภจากพนัน อาการคึกคักนี้เกิดขึ้นเพราะเซลล์ประสาทในสมองส่วนนี้ ขับสาร "โดปามีน" ออกมา ส่งผลให้เกิด "ความรู้สึกอภิรมย์หรรษาพาเพลิน" ดลใจให้แฟนพนันกล้าเสี่ยงเงินอย่างบ้าบิ่น โดยมิรู้ตัว จนสิ้นเนื้อประดาตัว นำพาตนเองกับครอบครัวสู่ "นรกบนดิน"

เบ็น ธอมัส แนะว่า เมื่อสมองถูก "บงการจี้ปล้น" อยู่ จงพยายามหาตัวเลขมาคำนวณเล่นๆ หรือเพ่งจิตไปที่ "ปัจจุบันกาล" โดยทำสมาธิแบบเรียบง่าย ให้รู้ลมหายใจเข้า-ออก ลึกๆ ช้าๆ เพื่อให้สมองส่วนหน้านำความจริงมาคิด จะได้มองเห็นความไร้เหตุผลในพฤติกรรมพนัน และหยุดเล่นพนันก่อนที่จะสายเกินไป

เฟอรริส จาบร์ รองบรรณาธิการใหญ่ วารสารไซแอนติฟิกอเมริกัน ได้นำชีวิตจริงของแฟนพนันคนหนึ่ง นามสมมติว่า เชอร์ลี มาเล่าเป็นอุทาหรณ์ ในวารสารฉบับ 15 ตุลาคม 2556 ดังนี้

เชอร์ลีเริ่มพนันเมื่ออายุราว 25 ปี จากการไปเที่ยวเมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐ กับเพื่อนๆ อีกสิบปีต่อมา ในขณะประกอบอาชีพเป็นทนายความ เธอมีโอกาสไปเล่นพนันโดยลำพังบ่อยๆ ที่บ่อนใกล้เคียง เมื่ออายุได้ 40 ปี เธอเริ่มขาดงานสัปดาห์ละถึงสี่ครั้ง เพื่อไปเล่นพนันในบ่อนเปิดใหม่อีกแห่งหนึ่ง

ที่บ่อนใหม่นี้ เธอนิยมเล่นไพแบล็กแจ็กแทบจะล้วนๆ กล้าเสี่ยงเงินนับพันๆ เหรียญ ในแต่ละรอบ แล้วก็ต้องไปกระเสือกกระสนพลิกพรมในรถค้นหาเศษเหรียญจ่ายค่าผ่านด่านทางด่วน เธอหาเงินมาได้เท่าใดก็นำไปพนันจนหมด แถมเป็นหนี้มหึมา เป็นหนี้ติดเงิน
บัตรเครดิตหลายใบ เธอสารภาพว่า "ดิฉันต้องการพนันตลอดเวลา ชอบมากๆ ชอบความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะพนัน"

ในปี 2544 ศาลพิพากษาให้เธอมีความผิดฐานโกงเงินมหาศาลจากลูกค้าหลายราย และสั่งจำคุกทันที 2 ปี พฤติกรรมพนันของเธอจัดอยู่ในประเภท "เสพติดพนัน" อย่างเช่นคนที่ติดยาเสพติด สุรา หรือบุหรี่ ทั้งนี้ เป็นบรรทัดฐานใหม่ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ซึ่งมีมติล่าสุดเมื่อพฤษภาคม 2556 ให้ "ผู้ติดพนัน" เข้าข่าย "โรคจิตเสพติดพนัน" เพราะเกิดจากแรงผลักดันทางชีววิทยาของโดปามีนดังกล่าว ซึ่งรุนแรงกว่า "ติดพนัน" จากแรงผลักดันทางจิตวิทยาอย่างเดียว ส่งผลให้การเยียวยาอาการ "เสพติดพนัน" ต้องปรับเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่หมด

สรุป : บ่อน "กาสิโน" คือศูนย์รวมของเจ้ามือยอดนักโกงและเครื่องมืออุปกรณ์พนันที่ออกแบบให้อำนวยความได้เปรียบต่อเจ้าของบ่อนลูกเดียว อย่างเช่นเกมพนันรูเล็ตต์ ซึ่งคอมพิวเตอร์ได้คำนวณออกมานานแล้วว่า เจ้าของบ่อนมีแต่ "รวยกับรวย" เท่านั้น "กาสิโน" จึงเปรียบได้กับ "โรงฆ่าสัตว์" ดีๆ นั่นเอง ที่ติดเครื่องปรับอากาศ บริการเหล้ายาปลาปิ้ง พร้อมด้วยห้องนอนวิลิศมาหรา เพื่อแฟนพนันจะได้ไม่หนีไปไหน ผู้ชนะพนันแล้วเลิกได้ทันท่วงที ก็ย่อมอดไม่ได้ที่จะใช้เงินชนะพนันมา ซื้อหาบริการในบ่อน คืนเงินให้บ่อน "เจ๊า" กันไป ส่วนผู้แพ้แล้วไม่เลิก ก็ "เจ๊ง" กลับบ้านไปนอนกอดทุกข์เช็ดน้ำตาต่อไป

สังเกตได้ว่า ในขณะเดินเข้าบ่อน แฟนพนันจำนวนมากมีอาการรื่นเริง แต่ในขณะเดินออกจากบ่อน กลับมีสีหน้าหม่นหมองปนความหวังว่าจะได้กลับเข้าไปพนันอีกทันทีที่หาเงินมาได้อีก แบบ "หนูติดจั่น" ที่ขยันหาเงินช่วยสร้างบำรุงบ่อนพนันให้ฟรีๆ โดยไม่คิดค่าเวลา ค่าแรง ค่าอาหาร ค่ารถ ค่าแตกแยกหย่าร้างในครอบครัว ค่าหมอ ค่ายา ตลอดจนค่าติดคุกหลังละเมิดกฎหมายเพื่อหาเงินไปส่งส่วยให้บ่อน

เมื่อ "กาสิโน" ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีแต่โทษมหันต์ต่อสังคมแล้ว ใครยังอยากให้พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย เอาชีวิตกับอนาคตที่ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปทิ้งให้กับบ่อน ก็เชิญยุยงให้ตั้ง "กาสิโน" ทั่วไทยไปเลย.

Tuesday, June 30, 2015


มหากฎบัตรกับรัฐธรรมนูญไทย
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com



ปีค.ศ.1215 (พ.ศ.2758) จารึกปีกำเนิดของเอกสารประ วัติศาสตร์โด่งดังฉบับหนึ่งของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ชื่อว่า Magna Charta (Magna Carta) แปลว่า "มหากฎ บัตร" "มหากฎบัตร" นี้ น่าจะนับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับแรกของโลก ซึ่งกำหนดกติกาการปฏิสัมพันธ์ในสังคมไว้ถึง 63 มาตราด้วยกัน และมีอายุครบ 800 ปี พอดีในปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) นี้


เมื่อสมัย 800 ปีก่อน พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ พระนามว่าจอห์น ได้ทรงก่อให้เกิดความทุกข์และขุ่นเคืองใจเป็นอย่างใหญ่หลวงในหมู่ขุนนางระดับล่าง ด้วยการบีบบังคับให้ขุนนางเหล่านี้ยกทรัพย์สินเงินทองส่วนตัวออกมาถวายพระองค์ เพื่อใช้จ่ายเป็นเงินทองสำหรับทำสงครามกับประเทศฝรั่งเศส

เมื่อพ่ายแพ้ฝรั่งเศส บรรดาขุนนาง 45 คนก็รวมตัวกันใช้ "กำลังทหาร" ยึดเมืองหลวงกรุงลอนดอน บีบบังคับให้กษัตริย์จอห์น ทรงถือปฏิบัติตามแนวพระราชกรณียกิจของกษัตริย์อังกฤษองค์หนึ่ง พระนามว่าเฮนรี่ที่หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอให้พระองค์ทรงเลิกกดขี่ข่มเหงข้าราชบริพารและราษฎร เช่น ห้ามจำคุกเหล่าขุนนางโดยมิชอบธรรม ให้ขุนนาง 25 คนเป็นผู้จัดระเบียบการเก็บภาษีจากราษฎร และให้ยอมรับนับถือสิทธิ์โดยชอบของฝ่ายการศาสนา เป็นต้น โดยมีบาทหลวงใหญ่แห่งอังกฤษเป็นผู้ยกร่างเขียน "มหากฎบัตร" นี้

เพื่อให้เหตุการณ์ตึงเครียดผ่านพ้นไป กษัตริย์จอห์นทรงตกลงร่วมกับฝ่ายขุนนาง ยอมรับ "มหากฎบัตร" เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1215

ทว่า ต่อมาอีกเพียงไม่กี่เดือน "มหากฎบัตร" ก็กลายเป็นชนวนให้เกิดการสู้ทัพจับศึกระหว่างคู่ตกลง จวบจนพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่สาม ประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรนิกายคาทอลิก ผู้เป็นเจ้าเหนือหัวของกษัตริย์จอห์น ทรงมีพระบัญชาให้ยกเลิก "มหากฎบัตร" ด้วยเหตุผลว่า เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวการณ์บีบบังคับตึงเครียด ผิดปกติวิสัย

ในปี ค.ศ.1216 เมื่อกษัตริย์จอห์นเสด็จสวรรคต "มหากฎบัตร" ก็กลับออกมาใช้เป็นกฎหมายบ้านเมืองอีก โดยได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ต่อมาเมื่อการสู้ทัพจับศึกภายในประเทศได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1217 และหลังจากที่ได้รับการปรับปรุงอีกเล็กน้อย "มหากฎบัตร" ก็ได้รับการยอมรับเป็นกติกาใหม่สำหรับการปกครองประเทศ กลายเป็น "ฐานราก" ของระบบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพของชาวอังกฤษตราบเท่าทุกวันนี้

"มหากฎบัตร" ประกอบด้วย 63 มาตรา กล่าวถึงการสืบทอดมรดก หนี้สินเมื่อผู้เป็นหนี้ตายไป สิทธิของแม่หม้ายที่จะแต่งงานอีกได้หรือไม่ การลงโทษปรับผู้ละเมิดกฎหมาย ฯลฯ อาทิ มาตรา 39 กำหนดให้ราษฎรมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาคดีความตามกระบวนการยุติธรรมอันชอบธรรม และมาตรา 40 กษัตริย์ทรงสัญญาที่จะไม่ขาย ปฏิเสธ หรือหน่วงเหนี่ยวความยุติธรรมต่อราษฎร เป็นต้น ทั้งนี้ ได้ผ่านการแก้ไขปรับปรุงมาหลายครั้ง กว่าจะตกผลึกเป็น "ฐานราก" ของระบบ รธน.อังกฤษ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษก็ได้มีมาตรการฝึกฝนประชากรให้มีความรู้ความเข้าใจใน "ระบอบประชาธิปไตย" มาแต่ต้น

สังเกตได้ว่า "มหากฎบัตร" ถือกำเนิดมาจาก "การปฏิวัติ" ด้วย "กำลังทหาร" ต่อกษัตริย์จอห์น โดยขุนนางกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการปฏิวัติเพื่อส่วนรวม โดยมุ่งจำกัดการใช้พระราชอำนาจต่อขุนนางและราษฎรทั่วไป ให้อยู่ในกรอบแห่งความชอบธรรม

ขอย้อนกลับมาที่ไทยเมื่อ 22 พฤษภาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาประกาศใช้กฎอัยการศึก แล้วเจรจากับรัฐบาลหุ่นเชิด ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งหมดความชอบธรรมอยู่แล้ว ให้ตกลงก้าวลงโดยดุษฎี ตามข้อเสนอของประชาชน ผู้ประท้วงด้วยวิธีอหิงสาสันติ แต่รัฐบาลไม่ตกลง ไม่ยี่หระต่อการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนจำนวนมากที่ถูกบดขยี้ด้วยอาวุธสงครามจากผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง พล.อ.ประยุทธ์จึงตัดสินใจใช้ "กำลังทหาร" ยึดอำนาจรัฐ ตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเริ่มทำการปฏิรูปชาติบ้านเมืองที่ "เล๊ะตุ้มเป๊ะ" เรื้อรังมานาน

การตัดสินใจของบรรดาขุนนางดังกล่าว ก็ดี การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดี ล้วนเป็นการใช้ "กำลังทหาร" เพื่อกอบกู้ชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเมืองการปกครอง เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

ผลจากการใช้ "กำลังทหาร" นั้น ได้ส่งผลให้เกิดมี "กติกาการปกครอง" คือ "มหากฎบัตร" สำหรับกลุ่มขุนนางดังกล่าว และ "รธน.ฉบับร่าง" สำหรับ คสช. ณ วันนี้

"มหากฎบัตร" ได้ฝ่าคลื่นลมปั่นป่วนทางการเมืองอยู่ร่วม "สองปี" กว่าจะเริ่มตกผลึกเป็นรูปธรรม กลายเป็น "ฐานราก" ของ รธน.อังกฤษปัจจุบัน โดย "ไม่มี" การผ่านประชามติ ส่วน "รธน.ฉบับร่าง" ก็กำลังประสบคลื่นลมที่พัดประเด็นร้อนร้อยแปดพันเก้ารายการ เข้าสู่เวทีการเมืองไทย หลังจากที่ได้มีการยกร่าง รธน.มาเพียง "ครึ่งปี" เท่านั้น อย่าลืมว่า ประเทศไทยสมัยนี้มีโครงสร้างชาติบ้านเมืองที่มี "ความสลับซับซ้อน" มากกว่าอังกฤษสมัย 800 ปีก่อน หลายๆ เท่าตัวทีเดียว

แล้วไทยจะมี รธน.ฉบับที่ 20 หรือไม่?ไทยจะมี รธน.ฉบับที่ 20 หรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่รัฐบาลปัจจุบันจะสามารถเยียวยาประเด็นทางการเมือง 2 ข้อ ดังนี้ ได้หรือไม่

1."ความขมขื่น" ของประชาชนจำนวนมหาศาล ที่มีต่อพฤติกรรมโกงกินขายชาติบ้านเมือง ระดับ "เรื้อรัง" ของบรรดานักการเมืองสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" กำลังกลายเป็น "ความหวาดผวา" ว่า รธน.ฉบับต่อไป จะมีช่องโหว่เปิดโอกาสให้ฝูงนักการเมือง "ผีกระสือ" ทั้งปวง ลอยศีรษะเข้าสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติ จนแลดูน่าขนลุกขนพองไปทั่ว หรือไม่? "ความหวาดผวา" นี้ อาจส่งผลให้เกิด "ความไม่เต็มใจ" ที่จะออกมาลงคะแนนเสียงให้ รธน.ฉบับร่าง ผ่านประชามติ

เมื่อไม่ผ่าน คสช.ก็อาจต้องเริ่มสรรหา รธน.ฉบับใหม่มาเข้ากระบวนการเขียนกันใหม่ หรือปรับปรุงฉบับอื่นๆ ซึ่งจะล้มเหลวอีก ตราบเท่าที่ประชาชนยังมี "ความหวาดผวา" ไม่มั่นใจว่า บ้านเมืองจะกลับเข้าสู่ภาวะสลดใจอีหรอบเดิมหรือไม่ และ "ฝ่ายเสียผลประโยชน์" จากการปฏิรูป ยังแสดงท่าทาง "ชักใบให้เรือเสีย" อยู่

2.การยึดพระราชอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2475 โดย "คณะราษฎร" นั้น คือการปฏิวัติรัฐประหารแบบ "ชิงสุกก่อนห่าม" ในขณะเดียวกัน ก็ผลักดันชาติบ้านเมืองให้กระโจนสู่ "ระบอบประชาธิปไตย" ที่ "นำเข้า" มาจากนอก โดยไม่มีการเตรียมการใดๆ "ก่อนหรือหลัง" การปฏิวัติ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่า ระบอบดังกล่าวคืออะไร ใครมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อใด ที่เป็นการสนับสนุนระบอบนี้ ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงยังขาด "ฐานราก" ของ "จิตวิญญาณประชาธิปไตย" มาตั้งแต่ปี 2475

แทนที่จะวางแผนการเตรียมการดังกล่าว "คณะราษฎร" กลับดำเนินนโยบายให้ประชาชนลอกเลียนวิถีชีวิตตามแบบฉบับของต่างชาติ เช่น ให้เลิกเคี้ยวหมาก ให้รับประทานขนมปัง ให้ผู้ชายใส่หมวก เสื้อเชิ้ต เสื้อนอก กางเกงขายาว และรองเท้าหนัง ส่วนผู้หญิงให้สวมเสื้อแขนยาวกับกระโปรงยาว และรองเท้าหนัง เป็นต้น ราวกับว่าเมืองสยามคือเมืองหนาวที่มีหิมะตกอากาศหนาวสั่นเหมือนเมืองนอก โดยเข้าใจผิดว่า หากทุกคนใช้ชีวิตเหมือนชาวต่างชาติได้แล้ว ทุกคนก็จะรู้เรื่องประชาธิปไตยของชาวต่างชาติ คือ หลงละเมอว่า เมื่อใส่ชุดเสื้อนอกผูกเนคไทอย่างชาวต่างชาติแล้ว คนไทยก็จะเก่งกาจอย่างชาวต่างชาติโดยปริยาย!

ทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่ได้ทำตามบัญชาของ "คณะราษฎร" มาร่วม 80 ปี ประชาชนไทยจำนวนมากก็ยังไม่สันทัดเรื่องระบอบประชาธิปไตยเท่าใดนัก คือ ยังมี "ความเชื่อผิดๆ" เกี่ยวกับบทบาทของตัวเองและนักการเมืองต่อระบอบดังกล่าวอยู่มากมาย

"ความเชื่อผิดๆ" ซึ่งทำลายระบอบดังกล่าว มีอาทิ คะแนนเสียงเลือกตั้งซื้อขายกันได้ ใครจะจ้างมือมืดแจกไข้โป้งหรือน้อยหน่าเหล็กให้คู่แข่งรับเลือกตั้งก็จ้างไป เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ประชาชนก็หมดหน้าที่ทางการเมืองโดยสิ้นเชิง ใครจะใช้วาจาหยาบคายหรืออวัยวะส่วนล่างทำร้ายผู้อื่นในสภาอันทรงเกียรติก็เป็นเรื่องขำขัน ประธานสภาใช้อำนาจบิดเบี้ยวกติกาในการอภิปรายก็ย่อมมีอำนาจทำได้ นายกรัฐมนตรีคนหนึ่งไม่ยอมเข้าประชุมร่วมกับผู้แทนราษฎรเลยก็เป็นเรื่องความพอใจของท่านนายกฯ ใครจะโกงแผ่นดินก็โกงไป แต่อย่าโกงให้มากนัก ตลอดจนรัฐธรรมนูญคือกุญแจวิเศษดอกเดียวที่เปิดประตูให้ชาติก้าวสู่ความเจริญสุขได้ เป็นต้น

"ระบอบประชาธิปไตยไทย" จึงเปรียบได้กับ "ขบวนรถไฟที่ไม่ได้รับการดูแลให้วิ่งบนรางที่ถูกต้องแต่แรก" คือ เป็นขบวนที่ถูกปล่อยให้วิ่งบนรางที่ได้รับการสับรางผิดที่ไปเรื่อยๆ ตามยถากรรม โดยเริ่มต้นที่ "สถานีอารมณ์ร้อน" ของ "คณะราษฎร" ส่งผลให้ขบวนรถไฟนี้วิ่งแบบ "ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง" ไปไม่ถึง "เมืองประชาธิปไตย" ที่ต้องการมาร่วม 80 ปี สักที

ฉะนั้น เพื่อเยียวยาประเด็นทางการเมือง 2 ข้อดังกล่าว คสช.น่าจะพิจารณาทำงานที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการยกร่าง รธน. คือ "งานฝึกอบรม" ความรู้ความเข้าใจเรื่องระบอบประชาธิปไตยให้กับประชาชน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงชั้นผู้ใหญ่วัยเกษียณงาน โดยให้รู้ทั่วกันว่า แม้ระบอบดังกล่าวจะไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบ เช่น เป็นระบอบที่อนุญาตให้ทุนนิยมมีสิทธิ์วิ่งเต้น "ขาย" วาระทางการค้ากำไรให้นักการเมือง สำหรับนำไปออกกฎหมายรองรับวาระของตน เป็นต้น แต่หากประชาชนมี "คุณภาพ" คือ ตั้งอยู่ในกรอบของ "ศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม" แล้ว ระบอบที่ไม่สมบูรณ์แบบก็จะมีความสมบูรณ์แบบเพิ่มขึ้นได้ เพราะผู้คนที่มี "คุณภาพ" ย่อมไม่ละเมิดสิทธิ์โดยชอบธรรมของผู้อื่น คือ ไม่ "ขาย" วาระทางการค้าให้นักการเมือง หรือไม่โกงอยู่แล้ว

ในขณะที่การปฏิรูปครั้งล่าสุดนี้ มีเจตนารมณ์ให้ "พลเมืองเป็นใหญ่" ประชาชนก็น่าจะศึกษา รธน.ฉบับร่างให้แน่ชัดว่า "พลเมืองเป็นใหญ่" จริงหรือไม่? โดยลองศึกษาเจาะดูว่า รธน.ฉบับร่างได้ให้ "พลเมืองระดับชุมชน" เป็น "กลไกทางการเมือง" ที่มีสิทธิ์และได้รับการส่งเสริมคุ้มครองตามกฎหมาย ให้รวมตัวกันเป็น "สภาพลเมือง" ด้วยจิตอาสา เพื่อพัฒนาสังคมเศรษฐกิจในชุมชนตน โดยได้รับคำแนะนำและวิชาการจากหน่วยราชการ เพื่อกระจายอำนาจจาก "สภาผู้แทนราษฎร" ลงสู่ "สภาพลเมือง" จริงหรือไม่?

หากจริง ประชาชนก็น่าจะออกมาแสดงประชามติให้ รธน.ฉบับร่างผ่านไปด้วยดี เมื่อผ่านได้แล้ว "สภาพลเมือง" จะเป็น "กลไกทางการเมืองเดียว" ที่ประชาชนสามารถใช้กระตุ้นให้ผู้แทนราษฎร หันมารับรู้เอาใจใส่ต่อการพัฒนาชุมชนของประชาชน ด้วยประชาชน และเพื่อประชาชนเอง

เมื่อผู้แทนราษฎรที่เป็นสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ต้องใช้เวลามากขึ้นในการปฏิสัมพันธ์กับ "สภาพลเมือง" ทั้งตอนกลางวันและตอนฝัน ในเขตรับผิดชอบแล้ว เวลาสำหรับโกงกินขายชาติบ้านเมืองก็จะลดน้อยลงได้ ไม่มากก็น้อย

"สภาพลเมือง" จึงน่าจะเป็น "กลไกเชิงประชาธิปไตยเดียว" ที่สามารถเสริมสร้างคุณประโยชน์สำคัญยิ่งต่อชาติบ้านเมือง ทั้งในด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ในขณะที่ได้รับการส่งเสริมคุ้มครองจาก "รัฐธรรมนูญไทย" ตาม "ระบอบประชาธิปไตย" มิใช่หรือ?.

Friday, June 12, 2015


จิตสำนึกไทยไม่โก
ดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com




ในการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ "ต่อต้านการทุจริต สร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง" เมื่อวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2558 โดยกรมประชาสัมพันธ์ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัด เป็นประธานในจังหวัด ร่วมสร้างจิตสำนึกพร้อมกันไปกับนายกรัฐมนตรีนั้น

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์และประกาศเจตนารมณ์ "ต่อต้านการทุจริต สร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง" ด้วยน้ำเสียงแสดงถึงความจริงจังและจริงใจ โดยกล่าวถึงการที่ตนได้รักษา "เกียรติศักดิ์ทหาร" รับใช้แผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาตลอด อีกทั้งในตอนท้ายรายการ ท่านนายกฯ ก็ได้กล่าวคำปฏิญาณตนต่ออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นำหน้าข้าราชการในทุกจังหวัด ด้วยเจตนารมณ์ที่จะทำราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อทำได้แล้ว ขอให้มีความเจริญสุข หาไม่แล้ว ขอให้มีอันเป็นไป

จุดน่าสนใจหนึ่งของงานได้แก่ การฉายวีดิทัศน์สองชุดที่แสดงภาพชนชั้นยากจนอาศัยอยู่ในเพิงมุงด้วยสังกะสีติดสนิม ผู้คนบนท้องถนนประท้วงขับไล่รัฐบาลโกงแผ่นดิน เด็กๆ เตือนใจผู้ใหญ่ให้แสดงจริยธรรมคุณธรรม คือ ให้เข้าคิวรับบริการ ปิดก๊อกน้ำให้สนิท ไม่จอดรถในที่สำรองสำหรับผู้พิการโดยที่ตนไม่พิการ ฯลฯ เพื่อจะได้ไม่ติดเป็นนิสัยโกงต่อไป

นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ มีข้อสังเกตว่า เด็กมีจิตใจบริสุทธิ์อยู่แล้ว จึงฝากฝังขอให้ผู้ใหญ่ช่วยกันดูแลเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่โกงในวันหน้า

ข้อสังเกตนี้ได้รับการยืนยันโดย ดร.พอล บลูม นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ดร.บลูมได้ทำการวิจัยทารกวัย 9 เดือน และวัย 21 เดือน พบว่า แม้ว่าทารกเหล่านี้ยังไม่สามารถรับรู้หรือเข้าใจความคิดเชิงนามธรรมที่จับความได้ยากอย่างศีลธรรมคุณธรรม แต่ก็ได้แสดงออกถึงการมีคุณลักษณะดังกล่าว หลังจากที่ได้ดูการแสดงหุ่นเชิด ซึ่งมีตุ๊กตาตัวหนึ่งแสดงบทบาทเป็นตัวเกเร ไม่ร่วมมือเล่นกับตุ๊กตาอีกสองตัว คือ หลังจากได้เล่นส่งบอลไปมากับตุ๊กตาตัวอื่น จู่ๆ ตัวเกเรก็หอบเอาบอลหลบหนีออกจากฉากไป ทำให้ตุ๊กตาตัวอื่นอดเล่นบอลต่อ เมื่อตุ๊กตาตัวเกเรกับตัวอื่นมาอยู่พร้อมหน้าทารกเหล่านี้ ปรากฏว่า ทารกส่วนใหญ่ไม่ยื่นขนมเป็นรางวัลให้ตุ๊กตาเกเร แต่ยื่นให้กับตุ๊กตาไม่เกเร แถมทารกบางคนกำมือทุบตุ๊กตาเกเรด้วยซ้ำไป

เมื่อเด็กมีความบริสุทธิ์อยู่ในใจ ทำไมจึงกลายเป็นคนโกงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่?


นักจิตวิเคราะห์โด่งดัง ดร.อิริค ฟรอม์ม ผู้ได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ได้ให้คำตอบไว้ว่า เนื่องจากเด็กได้รับคำสั่งสอนเตือนใจจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ ให้มุ่งหาเงินหาทองเมื่อโตแล้ว จะโดยวิธีใดก็ได้ เพื่อให้ร่ำรวยมากๆ ไว้ จะได้ไม่อับอายขายหน้าคนอื่นเขา

คำพูดของผู้ใหญ่มีอำนาจอิทธิพลต่อเด็กมาก ทำให้เด็กจดจำไปทำในอีกหลายปีต่อมา จนกลายเป็นคนมีสันดานโกง มุ่งเอาเปรียบผู้อื่น ดร.ฟรอม์มมองว่า คนโกงเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในภาวะจิตที่สามารถทำตนให้เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมได้เลย ส่วนปรมาจารย์เล่าจื้อ มองว่า คนเหล่านี้เปรียบได้กับ "ข้าวนอกนา" ที่ไม่อำนวยประโยชน์ต่อผู้ใด

แล้วจะมีวิธีเยียวยาผู้ใหญ่ประเภท "ข้าวนอกนา" ที่ขยันโกงเหล่านี้ได้อย่างไร?


ดร.ฟรอม์มชี้แนะว่า ในการเยียวยาพฤติกรรมผู้ใหญ่นั้น ให้ปฏิบัติตามแนวพระอริยสัจสี่ของพระพุทธเจ้า คือ (1) ให้ลองนึกคิดดูว่า ตนมีทุกข์หรือไม่ สังเกตได้จากอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เครียด หวาดผวาคนลอบทำร้ายหรือโกงสมบัติตน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นอาการของจิตที่สงบไม่เป็น มีทุกข์ (2) ให้ลองไตร่ตรองดูว่าทุกข์ที่มีอยู่นั้น มาจากไหน? ดูไปดูมาแล้วจะเห็นว่ามาจากกิเลสตัณหาในตัวเอง มี "ความทะยาน" อยากได้แบบไม่สิ้นสุด ส่งผลให้โกงเงินผู้อื่นหรือแผ่นดิน (3) เมื่อ "ความทะยาน" หลุดพ้นว่างไปจากจิตแล้ว การคิดโกงก็สงบลงด้วยใช่ไหม? เมื่อไม่มีตัวแล้ว จะมีเงาได้อย่างไร? (4) ให้บอก "ทางออก" จากทุกข์ เช่น ให้ศึกษาปฏิบัติ "มรรคมีองค์แปด" เป็นต้น เพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ให้บังเกิดศีล สมาธิ และปัญญา สำหรับดำรงชีพบน "ทางสายกลาง" ซึ่งปลอดจากความเครียดและสามารถเยียวยาพฤติกรรมโกงได้ ส่งผลให้พ้นทุกข์ได้

การสร้างจิตสำนึกในรายการถ่ายทอดสดดังกล่าว ด้วยการสวมเสื้อยืดแสดงข้อความต่อต้านการโกง การแสดงท่าไขว้แขนบนหน้าอก การกำมือขวาชูนิ้วโป้งบนอกซ้าย ตลอดจนการร้องเพลงต่อต้านการโกงนั้น เมื่อทำอย่างสม่ำเสมอนานวันเข้า จะกลายเป็น "ข้อเตือนใจ" ที่ซึมซับเข้าไปในจิตใต้สำนึก กระตุ้นให้ต่อต้านการโกงต่อไปได้ไม่มากก็น้อย

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจำต้องมีมาตรการ "ป้องปราม" ด้วยการกำหนดและบังคับใช้ "กฎหมาย" ที่เฉียบขาดอย่างไม่เว้นหน้า เพื่อให้เป็น "กำแพง" ป้องกันมิให้คนโกงปีนข้ามไปโกงกินในบ้านเมือง

ทว่า กฎหมายหรือกำแพงก็คือระบบ ซึ่งเป็นสิ่งไม่มีชีวิต คนย่อมฉลาดกว่าสิ่งไม่มีชีวิต สามารถค้นหาวิธีปีนข้ามกำแพงไปได้ ไม่ช้าก็เร็ว ดังกรณีนักโทษสองคนในคดีฆาตกรรม สามารถแหกคุกหลบหนีออกจากเรือนจำคลินตัน เมืองแดนเนอโมรา รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการมีระบบคุมขังที่เหนียวแน่นมั่นคงระดับสุดยอดของประเทศ นักโทษทั้งสองใช้เครื่องมือไฟฟ้าเจาะตัดผนังเหล็กกล้าเป็นช่องเล็ก แล้วมุดเข้าไปในอุโมงค์ใต้ดินที่เลี้ยวลดคดเคี้ยวออกไปยังท่อระบายน้ำที่มีฝาปิดนอกเรือนจำ ผู้คุมเรือนจำตรวจพบการแหกคุกเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2558 นี้

ดังเช่นนักโทษสองคนดังกล่าว คนโกงโดยสันดานระดับมืออาชีพและไร้ "หิริโอตตัปปะ" กำลังรอจังหวะให้ "โรดแม็พปฏิรูป" สิ้นสุดลง แล้วสมัครรับเลือกตั้ง ใช้อำนาจมืด มุดเข้าไปในสภาอันทรงเกียรติ ทำการโกงอย่างมันมือและหนักกว่าทุกครั้งในอดีต เพื่อชดเชยโอกาสโกงที่ขาดหายไปจากการปฏิรูปชาติบ้านเมือง

ตราบใดที่ยังไม่มีระบบหรือกฎหมายใดในโลกที่สามารถเยียวยาปัญหาโกงแผ่นดินได้อย่างฉมังขลังจริง รัฐบาลก็น่าจะพิจารณากำหนดมาตรการระยะยาวที่เจาะลึกเข้าไปในปัญหาดังกล่าว ดังนี้

1.ฝึกฝนเยาวชนให้มีค่านิยมใน "จิตนิยม" ในโรงเรียนและครัวเรือน คือ ส่งเสริมให้บุตรหลานชาวพุทธมีโอกาสได้เรียนรู้ปฏิบัติ "มรรคมีองค์แปด" ตามวัยอันควร ดังคติพจน์ที่ว่า "ไม้อ่อนดัดง่าย"

2.เสริมสร้างอย่างเป็นรูปธรรม ให้เกิด "บรรยากาศการดำรงชีพ" หรือ "ค่านิยม" ที่เทิดทูน "ศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม" หรือ "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" ตามคำสอนในศาสนาโลก มิใช่บูชา "วัตถุเงินทอง" หรือ "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ตามแนวคิดของทุนนิยมที่ "ไร้จิตสำนึก" ในธรรมะดังกล่าว

3.ยกระดับกรมการศาสนาให้เป็น "กระทรวงการศาสนา" เพื่อทำหน้าที่ฟื้นฟูวัดวาอารามทั่วประเทศให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่หมด โดยมุ่งทำการปฏิรูป "วัดพุทธพาณิชย์" ให้เป็น "วัดพุทธ" ขนานแท้ และพร้อมที่จะเป็นศูนย์รวมของชุมชนสำหรับ (1) เรียนรู้พระธรรมกับวัฒนธรรม (2) แสดงจิตอาสาช่วยทำนุบำรุงรักษาวัดให้สะอาดงดงามปลอดจากอิทธิพลทางการเมือง (3) จัดงานตามประเพณีนิยมอันดีงาม (4) เรียนรู้ปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง (5) เสริมสร้าง "จิตนิยม" แทน "วัตถุเงินทองนิยม" ซึ่งก่อให้เกิดวัฒนธรรมอุบาทว์ของการบริโภคล้นเกินและการอวดมั่งอวดมี เพียงเพื่อไม่ให้น้อยหน้าผู้อื่น

นอกจากมาตรการระยะยาวแล้ว รัฐบาลน่าจะมีมาตรการเด็ดขาดสำหรับจัดการกับ "ผู้ให้สินบน" แก่เจ้าหน้าที่ ด้วยการบัญญัติและบังคับใช้กฎหมายที่ลงโทษ "ผู้ให้และผู้รับสินบน" อย่างเช่นคดีอุกฉกรรจ์ทั้งหลาย คือ "เชือดคอไก่ให้ลิงดู" เพื่อให้เกิดความขยาดกลัวไม่คิดอยากโกงกันอีก

ตัวอย่างมาตรการเด็ดขาดหนึ่งเกิดขึ้นที่ฝ่ายการจราจร รัฐออนตาริโอ ประเทศแคนาดา หน่วยงานนี้เคยติดป้ายประกาศโทษปรับ 250 เหรียญแคนาดา (1 ต่อ 27 บาท) สำหรับผู้ไม่พิการที่จอดรถในที่สำรองไว้สำหรับผู้พิการ แต่ก็มีการฝ่าฝืนกฎหมายข้อนี้บ่อย โดยเฉพาะ ณ ที่จอดแห่งหนึ่ง จึงเปลี่ยนป้ายประกาศเพิ่มโทษปรับเป็น 2,500 เหรียญ ปรากฏว่าการฝ่าฝืนหายวับไปทันที

การโกงเงินของแผ่นดินคือการขโมยเงินโดยชอบธรรมของปวงชน และการละเมิดความไว้วางใจที่ปวงชนได้มอบอำนาจบริหารชาติบ้านเมืองไว้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ส่งผลให้ปวงชนที่ยากไร้ ไม่ได้รับการบริการจากรัฐโดยชอบธรรม ด้วยขาดเงินแผ่นดินที่ถูกโกงไป นับเป็นอาชญากรรมที่ฝ่ายตุลาการในหลายประเทศพิจารณาเห็นว่า เป็นความอาญาขั้นอุกฉกรรจ์ สมควรรับโทษถึงขั้นประหารชีวิต เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่คนที่คิดจะโกงแผ่นดินต่อไป

การปราบปราม "วัฒนธรรมโกงแผ่นดิน" เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจริงจัง เฉียบขาด และรอบคอบ มิฉะนั้น รัฐบาลจะเสียเวลา เสียทรัพยากรเปล่าๆ ข้อสำคัญ ปวงชนจะหมด "ศรัทธา" ในผู้บริหารชาติบ้านเมือง

ปรมาจารย์ขงจื้อ ปราชญ์แห่งการปกครอง เตือนไว้ว่า  "ศรัทธา" ของปวงชน มีอานุภาพรุนแรงยิ่งกว่าคลังอาหารหรือกองทัพของปวงชน คือ ชาติบ้านเมืองจะดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้อย่างแน่นอน หากปวงชน "หมดศรัทธา" ในผู้บริหารชาติบ้านเมือง

"จิตสำนึกไทยไม่โกง" จะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้นั้น รัฐบาลจำต้องมีและดำเนินการตาม "แผนปฏิบัติการที่สมบูรณ์แบบ" ซึ่งเจาะลึกเข้าไปในจิตใจของคนโกง เสริมสร้าง "ค่านิยม" ของ "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" ชี้ให้เห็นมหันตภัยของ "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ในขณะที่ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคนโกงด้วยการลงมือ  "เชือดคอไก่ให้ลิงดู" เพื่อรักษา "ศรัทธา" ของปวงชนและเอกราชของชาติไว้อีกนานแสนนาน.

Wednesday, June 10, 2015

ผู้มาเยือน

โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com


ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง The Visitor (2008) “ผู้มาเยือน” มีเนื้อหาสาระสะท้อนสังคม เผยวิถีชีวิตที่ไม่ค่อยได้ชมกันนัก ผสมผสานด้วยอารมณ์โรมานซ์เล็กน้อย ดูแล้ว น้ำตาคงไม่ถึงขนาดหยดออกจากเบ้าตา แต่อาจไหลลึกอยู่ในหัวใจ นับเป็นภาพยนตร์ที่หาดูได้ยากเรื่องหนึ่ง

“ผู้มาเยือน” เปิดฉายในปี 2551 มีความยาว 105 นาที (PG-13) กำกับการแสดงโดยทอม แมคคาร์ธี่ ผู้มีผลงานดีเด่นมาแล้วในเรื่อง The Station Agent “ผู้มาเยือน” ทำเงินจากโรงฉายได้ 9.2 ล้านดอลลาร์ (ราว 295 ล้านบาท)

ขอเล่าเรื่อง “ผู้มาเยือน” สู่กันฟัง พอหอมปากหอมคอ เพื่อจะได้มีฐานสำหรับทำความเข้าใจกับสาระอันน่าสนใจของภาพยนตร์

“ผู้มาเยือน” เป็นภาพยนตร์ชีวิตที่ไม่มีพระเอกหนุ่มหล่อหรือนางเอกสาวสวยอย่างภาพยนตร์ชีวิตทั่วไป พระเอกแสดงโดยริชาร์ด เจนกินส์ ดารารุ่นเก่า รับบทบาทเป็นพ่อหม้ายวัย 52 ปี สอนวิชาเศรษฐศาสตร์อยู่ที่วิทยาลัยคอนเนคติคัต อยู่ห่างจากมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยรถส่วนตัวราว 1 ชั่วโมง 45 นาที

พ่อหม้ายอาจารย์ ดร.วอลเตอร์ เวล เป็นคนค่อนข้างอนุรักษนิยม แต่ก็ปรับเปลี่ยนใจได้เสมอ ตามที่ตนเห็นควร ภายหลังภรรยายล้มป่วยแล้วจากไป อาจารย์ก็หันมาฝึกเรียนเล่นเปียโนคุณภาพสูงราคาแพงของเธอ ด้วยใจระลึกถึงเธอ ฝึกเรียนกับครูสตรีวัยเดียวกันได้สักพัก ก็ไปลงเอยในรูปแบบที่ไม่ได้ตั้งใจไว้

ชีวิตการสอนของอาจารย์ค่อนข้างจำเจ น่าเบื่อหน่าย หมุนเวียนใช้คำบรรยายเก่าเก็บซ้ำซาก ไร้ชีวิตชีวา โดยมักยืนบรรยายและใช้โสตทัศนูปกรณ์บ้าง ส่วนนิสิตก็นั่งฟังด้วยความเบื่อหน่ายเซ็งสุดๆ ทั้งอาจารย์และนิสิตต่างมีอาการซังกะตาย ต่างทำหน้าที่ใช้เวลาให้ผ่านไปกับการสอนการเรียน เอาตัวรอดไปวันๆ

วันหนึ่ง คณะเศรษฐศาสตร์ได้ขอให้อาจารย์เดินทางไปมหานครนิวยอร์ก เพื่อร่วมประชุมทางวิชาการและแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ข้อหนึ่งของอาจารย์อีกคนหนึ่ง ซึ่งติดขัดไปไม่ได้ อาจารย์ปฏิเสธคำขอทันที แต่หัวหน้าคณะยืนยันหนักแน่นให้ไป โดยให้อ่านบทปาฐกถาที่เจ้าของทฤษฎีได้เขียนไว้แล้ว ในที่สุด อาจารย์ก็จำยอมไป

ในมหานครนิวยอร์ก อาจารย์มีอพาร์ตเมนต์ที่ซื้อไว้นานแล้ว เมื่อสมัยยังเรียนหนังสืออยู่ ปัจจุบัน นานๆ ครั้งในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ อาจารย์จะขับรถจากวิทยาลัยที่ตนสอนอยู่ไปนอนค้างคืนที่บ้านแห่งที่สองนี้ เพื่อชมละครบรอดเวย์หรือฟังคอนเสิร์ตยอดนิยมในวันรุ่งขึ้น ทว่า การไปเยือนบ้านตัวเองครั้งนี้ อาจารย์ไปพบจุดเปลี่ยนชีวิตตน อย่างที่มิได้คาดฝันมาก่อน

เมื่อไขกุญแจประตูบ้านแล้วก้าวเข้าไปในอพาร์ตเมนต์ อาจารย์สังเกตเห็นแสงไฟสาดออกมาจากห้องน้ำอย่างผิดปกติ พอแง้มประตูห้องน้ำออก ก็เห็นหญิงสาวผิวดำคนหนึ่ง กำลังแช่ตัวอยู่ในอ่างอาบน้ำ พอเธอเหลือบไปเห็นชายแปลกหน้ายืนจ้องดูตนอยู่ ก็ตกใจสุดขีด ส่งเสียงร้องกรี๊ดๆ คิดว่ามีคนร้ายมาทำมิดีมิร้าย เสียงร้องกรี๊ดทำให้แฟนหนุ่มของเธอวิ่งออกจากห้องนอน แสดงท่าทุบตีอาจารย์ผู้เป็นเจ้าของบ้าน ส่วนอาจารย์ก็ทำท่าปกป้องตัวเองเป็นพัลวัน

เมื่อความโกลาหลสงบลง อาจารย์เริ่มชี้แจงแสดงตนเป็นเจ้าของบ้าน ทั้งสองฝ่ายก็เริ่มรู้จักกัน ดูเหมือนว่า ผู้ดูแลอาคารอพาร์ตเมนต์หยิบกุญแจผิดห้องให้กับหนุ่มสาวคู่นี้ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่ไม่รู้ประสีประสา ทำให้พลัดเข้าไปอยู่ในบ้านของอาจารย์ จะโดยบังเอิญหรือไม่ ก็ตาม

ในแต่ละวัน หลังการประชุมทางวิชาการช่วงเช้า อาจารย์มักไปเดินเล่นที่สวนหย่อนใกล้ๆ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เลยได้พบเห็นคนผิวดำกลุ่มหนึ่ง กำลังตีกลองตามศิลปวัฒนธรรมตนอย่างสนุกสนาน เสียงกลองดังกึกก้องระทึกใจยิ่ง ดึงดูดความสนใจของผู้คนที่เดินผ่านไปมา ชายหนุ่มเชื้อสายอาหรับ ผู้เป็นแฟนและอยู่ด้วยกันกับหญิงสาวผิวดำในอพาร์ตเมนต์ตน ก็ร่วมวงตีกลองอยู่ด้วย

ต่อมา อาจารย์ทดลองนั่งตีกลองของชายหนุ่มที่อพาร์ตเมนต์ดู ปรากฏว่า บังเกิดความเสน่หาในดนตรีศิลป์แห่งกลองขึ้นมา ชายหนุ่มก็สอนเทคนิคตีกลองและซื้อหากลองใบใหม่มาให้อาจารย์ฝึกฝน เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นค่าเช่าบ้าน

วันหนึ่ง ขณะที่ชายหนุ่มกับอาจารย์กำลังอุ้มกลองคนละใบ และพยายามก้าวผ่านด่านเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน หลังจากที่ได้ชำระค่าโดยสารแล้ว ในจังหวะนั้น ตำรวจนอกเครื่องแบบสองนายตรูกันเข้าไปที่ชายหนุ่มทันที และขอดูบัตรประจำตัวที่ออกโดยรัฐ แต่ชายหนุ่มไม่มีบัตร เนื่องจากได้เข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย จึงถูกจับกุมตัวไปคุมขังที่สถานีตำรวจทันที

อาจารย์รีบตามไปขอประกันตัวชายหนุ่ม แต่ตำรวจปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าเป็นกรณีเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย หากให้ประกันตัวแล้วก็อาจหายตัวได้ อนึ่ง ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก ได้เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายในมหานครนี้ ตึกระฟ้าฝาแฝดโด่งดังสองหลังชื่อเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถูกชาวอาหรับหลายคนขับเครื่องบินพาณิชย์สองลำ ชนถล่มจนทรุดหายไป ส่งผลให้ผู้คนในตึกตายทันทีร่วมสามพันคน

แม้ว่าอาจารย์ได้ลงทุนจ้างทนายความไว้ แต่ทนายกลับไม่สามารถแบ่งปันเวลาไปต่อสู้คดีได้ทันกาล ในที่สุด ชายหนุ่มถูกย้ายไปกักขังอยู่ในเรือนจำห่างไกลอย่างรวดเร็ว เพื่อรอการเนรเทศต่อไป ส่วนแฟนสาวต้องรีบย้ายออกจากอพารต์เมนต์ เพราะไม่มีบัตรประจำตัวเช่นกัน

แม้ได้พยายามวิ่งเต้นช่วยชายหนุ่มด้วยตนเองที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหลายครั้ง ในฐานะที่มีสัญชาติอเมริกันโดยกำเนิด อาจารย์ก็พบแต่การปฏิสัมพันธ์ที่เยือกเย็นอย่างยิ่งจากเจ้าหน้าที่ที่นั่งอยู่หลังช่องหน้าต่าง จนอาจารย์ระเบิดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวโกรธกริ้วอย่างสุดขีด ส่งเสียงตะโกนดังลั่นใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่ยอมรับรู้และไม่ยอมเข้าใจอะไรทั้งสิ้น โดยถือว่าตนมีหน้าที่ที่จักต้องทำตามระบบระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เท่านั้น

พฤติกรรมโกรธกริ้วสุดขีดของอาจารย์ นั้น ส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกที่ว่า สังคมที่อาจารย์กำลังใช้ชีวิตเผชิญหน้าอยู่ทุกวันนี้ จริงๆ แล้ว ช่างใจดำอำมหิต ไร้ความชอบธรรม ไร้มนุษยธรรม โดยสิ้นเชิงมาตลอด

อาจารย์มองว่า ชายหนุ่มหญิงสาวคู่นี้ คือมนุษย์ปุถุชนทั่วไป แม้ว่าชายหนุ่มได้ทำผิดกฎหมายเข้าเมืองจริง แต่ก็มิใช่อาชญากรเลวร้ายอย่างคนที่ปล้นฆ่าประชาชน จึงน่าจะให้รับโทษาณุโทษตามควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวชายหนุ่มเองก็ถูกทุนสามานย์ในบ้านเกิดตน เอารัดเอาเปรียบ ยึดอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวตนไปอย่างไม่ชอบธรรม จนต้องลี้ภัยทางเศรษฐกิจไปอยู่สหรัฐ

ภาพชีวิตจริงน่าสลดใจที่ระเบิดอยู่ต่อหน้านี้ ส่งผลให้อาจารย์ต้องค้นหา “ความหมาย” ในชีวิตตนใหม่หมด โดยเฉพาะชีวิตการเป็นอาจารย์อันทรงเกียรติและสอนอยู่ในระดับอุดมศึกษามานาน

บัดนี้ อาจารย์เริ่มมองเห็น “ความกรวง” ของชีวิตตนและของสังคม ซึ่งโดยแก่นแท้แล้ว ผูกพันอยู่กับเศรษฐกิจล้วนๆ เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ใจดำอำมหิต ตัวใครตัวมัน ไร้ความชอบธรรม ไร้มนุษยธรรม และสามารถเนรเทศชายหนุ่มให้กลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนที่ผูกพันอยู่กับเศรษฐกิจล้วนๆ เช่นกัน

ฝีมือกำกับยอดเยี่ยมของนายแมคคาร์ธี่ ได้ถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ผู้กอปรด้วยศีลธรรมจริยธรรมของอาจารย์ออกมาอย่างมีศิลป์และด้วยความละเอียดอ่อนยิ่ง เมื่อมารดาแม่หม้ายทรงเสน่ห์เชื้อสายอาหรับของชายหนุ่ม ได้ขึ้นเครื่องบินจากมลรัฐอื่นมาตามหาบุตรถึงบ้านอาจารย์ ด้วยความห่วงใยที่จู่ๆ ก็เงียบหายไปนาน

ทั้งมารดาของชายหนุ่มกับอาจารย์มีโอกาสอยู่ด้วยกันสองต่อสองในอพาร์ตเมนต์อยู่หลายวัน ทั้งนี้ ด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีงามยิ่งจากเจ้าของบ้าน โดยอาจารย์มิได้ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของมารดาชายหนุ่มแต่ประการใด

ช่วงท้ายของภาพยนตร์แสดงภาพอาจารย์นั่งตีกลองอยู่ในสวนหย่อนใจ บางครั้งก็ภายในชานชาลารถไฟฟ้าใต้ดิน ทั้งนี้ แสดงว่าอาจารย์ได้ละทิ้งอาชีพงานสอนอันทรงเกียรติโดยสิ้นเชิง หันมาใช้ชีวิตอิสระ ระบายความหดหู่ใจด้วยการตีกลองอย่างชายหนุ่มที่ถูกเนรเทศ ในขณะเดียวกัน ก็ใช้มาตรการอารยะขัดขืน คือ ไม่ทำการอื่นใดที่จะเป็นการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจในสังคมอีกต่อไป

ภาพยนตร์เรื่อง “ผู้มาเยือน” นี้ ให้คติน่าคิดว่า ชีวิตอันทรงเกียรติ อุดมด้วยปัจจัยสี่ และสะดวกสบาย นั้น จะมี “ความหมาย” อันใด เมื่อเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกเดียวกันอย่างชายหนุ่ม ผู้มีส่วนเกื้อกูลและรับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจในสังคม ด้วยการทำงานสุจริตเลี้ยงชีพ อุดหนุนสินค้าบริการ ตลอดจนชำระภาษีอากร กลับถูกค่านิยมในวัตถุเงินทองอันเห็นแก่ตัว บดขยี้ทิ้งราวกับเศษขยะชิ้นหนึ่ง


โจทย์ของ "ผู้มาเยือน" คือ ความเป็นมนุษย์เยี่ยง "สัตว์ประเสริฐ" ของพระบรมศาสดาโลก ยังมีหลงเหลือจริงๆ อยู่ในสังคมปัจจุบันอีกเท่าใด?