Friday, June 12, 2015


จิตสำนึกไทยไม่โก
ดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com




ในการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ "ต่อต้านการทุจริต สร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง" เมื่อวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2558 โดยกรมประชาสัมพันธ์ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละจังหวัด เป็นประธานในจังหวัด ร่วมสร้างจิตสำนึกพร้อมกันไปกับนายกรัฐมนตรีนั้น

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์และประกาศเจตนารมณ์ "ต่อต้านการทุจริต สร้างจิตสำนึกไทยไม่โกง" ด้วยน้ำเสียงแสดงถึงความจริงจังและจริงใจ โดยกล่าวถึงการที่ตนได้รักษา "เกียรติศักดิ์ทหาร" รับใช้แผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาตลอด อีกทั้งในตอนท้ายรายการ ท่านนายกฯ ก็ได้กล่าวคำปฏิญาณตนต่ออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นำหน้าข้าราชการในทุกจังหวัด ด้วยเจตนารมณ์ที่จะทำราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อทำได้แล้ว ขอให้มีความเจริญสุข หาไม่แล้ว ขอให้มีอันเป็นไป

จุดน่าสนใจหนึ่งของงานได้แก่ การฉายวีดิทัศน์สองชุดที่แสดงภาพชนชั้นยากจนอาศัยอยู่ในเพิงมุงด้วยสังกะสีติดสนิม ผู้คนบนท้องถนนประท้วงขับไล่รัฐบาลโกงแผ่นดิน เด็กๆ เตือนใจผู้ใหญ่ให้แสดงจริยธรรมคุณธรรม คือ ให้เข้าคิวรับบริการ ปิดก๊อกน้ำให้สนิท ไม่จอดรถในที่สำรองสำหรับผู้พิการโดยที่ตนไม่พิการ ฯลฯ เพื่อจะได้ไม่ติดเป็นนิสัยโกงต่อไป

นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ มีข้อสังเกตว่า เด็กมีจิตใจบริสุทธิ์อยู่แล้ว จึงฝากฝังขอให้ผู้ใหญ่ช่วยกันดูแลเด็กให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่โกงในวันหน้า

ข้อสังเกตนี้ได้รับการยืนยันโดย ดร.พอล บลูม นักจิตวิทยามหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา ดร.บลูมได้ทำการวิจัยทารกวัย 9 เดือน และวัย 21 เดือน พบว่า แม้ว่าทารกเหล่านี้ยังไม่สามารถรับรู้หรือเข้าใจความคิดเชิงนามธรรมที่จับความได้ยากอย่างศีลธรรมคุณธรรม แต่ก็ได้แสดงออกถึงการมีคุณลักษณะดังกล่าว หลังจากที่ได้ดูการแสดงหุ่นเชิด ซึ่งมีตุ๊กตาตัวหนึ่งแสดงบทบาทเป็นตัวเกเร ไม่ร่วมมือเล่นกับตุ๊กตาอีกสองตัว คือ หลังจากได้เล่นส่งบอลไปมากับตุ๊กตาตัวอื่น จู่ๆ ตัวเกเรก็หอบเอาบอลหลบหนีออกจากฉากไป ทำให้ตุ๊กตาตัวอื่นอดเล่นบอลต่อ เมื่อตุ๊กตาตัวเกเรกับตัวอื่นมาอยู่พร้อมหน้าทารกเหล่านี้ ปรากฏว่า ทารกส่วนใหญ่ไม่ยื่นขนมเป็นรางวัลให้ตุ๊กตาเกเร แต่ยื่นให้กับตุ๊กตาไม่เกเร แถมทารกบางคนกำมือทุบตุ๊กตาเกเรด้วยซ้ำไป

เมื่อเด็กมีความบริสุทธิ์อยู่ในใจ ทำไมจึงกลายเป็นคนโกงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่?


นักจิตวิเคราะห์โด่งดัง ดร.อิริค ฟรอม์ม ผู้ได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ได้ให้คำตอบไว้ว่า เนื่องจากเด็กได้รับคำสั่งสอนเตือนใจจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ ให้มุ่งหาเงินหาทองเมื่อโตแล้ว จะโดยวิธีใดก็ได้ เพื่อให้ร่ำรวยมากๆ ไว้ จะได้ไม่อับอายขายหน้าคนอื่นเขา

คำพูดของผู้ใหญ่มีอำนาจอิทธิพลต่อเด็กมาก ทำให้เด็กจดจำไปทำในอีกหลายปีต่อมา จนกลายเป็นคนมีสันดานโกง มุ่งเอาเปรียบผู้อื่น ดร.ฟรอม์มมองว่า คนโกงเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในภาวะจิตที่สามารถทำตนให้เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมได้เลย ส่วนปรมาจารย์เล่าจื้อ มองว่า คนเหล่านี้เปรียบได้กับ "ข้าวนอกนา" ที่ไม่อำนวยประโยชน์ต่อผู้ใด

แล้วจะมีวิธีเยียวยาผู้ใหญ่ประเภท "ข้าวนอกนา" ที่ขยันโกงเหล่านี้ได้อย่างไร?


ดร.ฟรอม์มชี้แนะว่า ในการเยียวยาพฤติกรรมผู้ใหญ่นั้น ให้ปฏิบัติตามแนวพระอริยสัจสี่ของพระพุทธเจ้า คือ (1) ให้ลองนึกคิดดูว่า ตนมีทุกข์หรือไม่ สังเกตได้จากอาการวิตกกังวล นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย เครียด หวาดผวาคนลอบทำร้ายหรือโกงสมบัติตน ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นอาการของจิตที่สงบไม่เป็น มีทุกข์ (2) ให้ลองไตร่ตรองดูว่าทุกข์ที่มีอยู่นั้น มาจากไหน? ดูไปดูมาแล้วจะเห็นว่ามาจากกิเลสตัณหาในตัวเอง มี "ความทะยาน" อยากได้แบบไม่สิ้นสุด ส่งผลให้โกงเงินผู้อื่นหรือแผ่นดิน (3) เมื่อ "ความทะยาน" หลุดพ้นว่างไปจากจิตแล้ว การคิดโกงก็สงบลงด้วยใช่ไหม? เมื่อไม่มีตัวแล้ว จะมีเงาได้อย่างไร? (4) ให้บอก "ทางออก" จากทุกข์ เช่น ให้ศึกษาปฏิบัติ "มรรคมีองค์แปด" เป็นต้น เพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ให้บังเกิดศีล สมาธิ และปัญญา สำหรับดำรงชีพบน "ทางสายกลาง" ซึ่งปลอดจากความเครียดและสามารถเยียวยาพฤติกรรมโกงได้ ส่งผลให้พ้นทุกข์ได้

การสร้างจิตสำนึกในรายการถ่ายทอดสดดังกล่าว ด้วยการสวมเสื้อยืดแสดงข้อความต่อต้านการโกง การแสดงท่าไขว้แขนบนหน้าอก การกำมือขวาชูนิ้วโป้งบนอกซ้าย ตลอดจนการร้องเพลงต่อต้านการโกงนั้น เมื่อทำอย่างสม่ำเสมอนานวันเข้า จะกลายเป็น "ข้อเตือนใจ" ที่ซึมซับเข้าไปในจิตใต้สำนึก กระตุ้นให้ต่อต้านการโกงต่อไปได้ไม่มากก็น้อย

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจำต้องมีมาตรการ "ป้องปราม" ด้วยการกำหนดและบังคับใช้ "กฎหมาย" ที่เฉียบขาดอย่างไม่เว้นหน้า เพื่อให้เป็น "กำแพง" ป้องกันมิให้คนโกงปีนข้ามไปโกงกินในบ้านเมือง

ทว่า กฎหมายหรือกำแพงก็คือระบบ ซึ่งเป็นสิ่งไม่มีชีวิต คนย่อมฉลาดกว่าสิ่งไม่มีชีวิต สามารถค้นหาวิธีปีนข้ามกำแพงไปได้ ไม่ช้าก็เร็ว ดังกรณีนักโทษสองคนในคดีฆาตกรรม สามารถแหกคุกหลบหนีออกจากเรือนจำคลินตัน เมืองแดนเนอโมรา รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการมีระบบคุมขังที่เหนียวแน่นมั่นคงระดับสุดยอดของประเทศ นักโทษทั้งสองใช้เครื่องมือไฟฟ้าเจาะตัดผนังเหล็กกล้าเป็นช่องเล็ก แล้วมุดเข้าไปในอุโมงค์ใต้ดินที่เลี้ยวลดคดเคี้ยวออกไปยังท่อระบายน้ำที่มีฝาปิดนอกเรือนจำ ผู้คุมเรือนจำตรวจพบการแหกคุกเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2558 นี้

ดังเช่นนักโทษสองคนดังกล่าว คนโกงโดยสันดานระดับมืออาชีพและไร้ "หิริโอตตัปปะ" กำลังรอจังหวะให้ "โรดแม็พปฏิรูป" สิ้นสุดลง แล้วสมัครรับเลือกตั้ง ใช้อำนาจมืด มุดเข้าไปในสภาอันทรงเกียรติ ทำการโกงอย่างมันมือและหนักกว่าทุกครั้งในอดีต เพื่อชดเชยโอกาสโกงที่ขาดหายไปจากการปฏิรูปชาติบ้านเมือง

ตราบใดที่ยังไม่มีระบบหรือกฎหมายใดในโลกที่สามารถเยียวยาปัญหาโกงแผ่นดินได้อย่างฉมังขลังจริง รัฐบาลก็น่าจะพิจารณากำหนดมาตรการระยะยาวที่เจาะลึกเข้าไปในปัญหาดังกล่าว ดังนี้

1.ฝึกฝนเยาวชนให้มีค่านิยมใน "จิตนิยม" ในโรงเรียนและครัวเรือน คือ ส่งเสริมให้บุตรหลานชาวพุทธมีโอกาสได้เรียนรู้ปฏิบัติ "มรรคมีองค์แปด" ตามวัยอันควร ดังคติพจน์ที่ว่า "ไม้อ่อนดัดง่าย"

2.เสริมสร้างอย่างเป็นรูปธรรม ให้เกิด "บรรยากาศการดำรงชีพ" หรือ "ค่านิยม" ที่เทิดทูน "ศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม" หรือ "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" ตามคำสอนในศาสนาโลก มิใช่บูชา "วัตถุเงินทอง" หรือ "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ตามแนวคิดของทุนนิยมที่ "ไร้จิตสำนึก" ในธรรมะดังกล่าว

3.ยกระดับกรมการศาสนาให้เป็น "กระทรวงการศาสนา" เพื่อทำหน้าที่ฟื้นฟูวัดวาอารามทั่วประเทศให้มีชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่หมด โดยมุ่งทำการปฏิรูป "วัดพุทธพาณิชย์" ให้เป็น "วัดพุทธ" ขนานแท้ และพร้อมที่จะเป็นศูนย์รวมของชุมชนสำหรับ (1) เรียนรู้พระธรรมกับวัฒนธรรม (2) แสดงจิตอาสาช่วยทำนุบำรุงรักษาวัดให้สะอาดงดงามปลอดจากอิทธิพลทางการเมือง (3) จัดงานตามประเพณีนิยมอันดีงาม (4) เรียนรู้ปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง (5) เสริมสร้าง "จิตนิยม" แทน "วัตถุเงินทองนิยม" ซึ่งก่อให้เกิดวัฒนธรรมอุบาทว์ของการบริโภคล้นเกินและการอวดมั่งอวดมี เพียงเพื่อไม่ให้น้อยหน้าผู้อื่น

นอกจากมาตรการระยะยาวแล้ว รัฐบาลน่าจะมีมาตรการเด็ดขาดสำหรับจัดการกับ "ผู้ให้สินบน" แก่เจ้าหน้าที่ ด้วยการบัญญัติและบังคับใช้กฎหมายที่ลงโทษ "ผู้ให้และผู้รับสินบน" อย่างเช่นคดีอุกฉกรรจ์ทั้งหลาย คือ "เชือดคอไก่ให้ลิงดู" เพื่อให้เกิดความขยาดกลัวไม่คิดอยากโกงกันอีก

ตัวอย่างมาตรการเด็ดขาดหนึ่งเกิดขึ้นที่ฝ่ายการจราจร รัฐออนตาริโอ ประเทศแคนาดา หน่วยงานนี้เคยติดป้ายประกาศโทษปรับ 250 เหรียญแคนาดา (1 ต่อ 27 บาท) สำหรับผู้ไม่พิการที่จอดรถในที่สำรองไว้สำหรับผู้พิการ แต่ก็มีการฝ่าฝืนกฎหมายข้อนี้บ่อย โดยเฉพาะ ณ ที่จอดแห่งหนึ่ง จึงเปลี่ยนป้ายประกาศเพิ่มโทษปรับเป็น 2,500 เหรียญ ปรากฏว่าการฝ่าฝืนหายวับไปทันที

การโกงเงินของแผ่นดินคือการขโมยเงินโดยชอบธรรมของปวงชน และการละเมิดความไว้วางใจที่ปวงชนได้มอบอำนาจบริหารชาติบ้านเมืองไว้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ส่งผลให้ปวงชนที่ยากไร้ ไม่ได้รับการบริการจากรัฐโดยชอบธรรม ด้วยขาดเงินแผ่นดินที่ถูกโกงไป นับเป็นอาชญากรรมที่ฝ่ายตุลาการในหลายประเทศพิจารณาเห็นว่า เป็นความอาญาขั้นอุกฉกรรจ์ สมควรรับโทษถึงขั้นประหารชีวิต เพื่อเป็นอุทาหรณ์แก่คนที่คิดจะโกงแผ่นดินต่อไป

การปราบปราม "วัฒนธรรมโกงแผ่นดิน" เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจริงจัง เฉียบขาด และรอบคอบ มิฉะนั้น รัฐบาลจะเสียเวลา เสียทรัพยากรเปล่าๆ ข้อสำคัญ ปวงชนจะหมด "ศรัทธา" ในผู้บริหารชาติบ้านเมือง

ปรมาจารย์ขงจื้อ ปราชญ์แห่งการปกครอง เตือนไว้ว่า  "ศรัทธา" ของปวงชน มีอานุภาพรุนแรงยิ่งกว่าคลังอาหารหรือกองทัพของปวงชน คือ ชาติบ้านเมืองจะดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้อย่างแน่นอน หากปวงชน "หมดศรัทธา" ในผู้บริหารชาติบ้านเมือง

"จิตสำนึกไทยไม่โกง" จะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้นั้น รัฐบาลจำต้องมีและดำเนินการตาม "แผนปฏิบัติการที่สมบูรณ์แบบ" ซึ่งเจาะลึกเข้าไปในจิตใจของคนโกง เสริมสร้าง "ค่านิยม" ของ "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" ชี้ให้เห็นมหันตภัยของ "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ในขณะที่ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคนโกงด้วยการลงมือ  "เชือดคอไก่ให้ลิงดู" เพื่อรักษา "ศรัทธา" ของปวงชนและเอกราชของชาติไว้อีกนานแสนนาน.

No comments:

Post a Comment