ข้อสังเกตฮิวแมนไรท์วอทช์
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
ฮิวแมนไรท์วอทช์ สหรัฐอเมริกา มีรายงานเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง โดยมีข้อสังเกต และข้อเสนอแนะที่แสดงถึงเจตนารมณ์ดี แต่ตั้งอยู่บนความเข้าใจที่มีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง
นายแบรด แอดัมส์ ผู้อำนวยการองค์กรภาคพื้นเอเชีย รายงานว่า "ทุกฝ่ายจำต้องควบคุมกำกับผู้สนับสนุนฝ่ายตน สั่งให้หยุดยั้งการโจมตีและให้มีการเจรจาสู่การหาทางออกทางการเมือง (political solution) ก่อนที่เหตุการณ์จะทวีความรุนแรง"
คำว่า "ทางออกทางการเมือง" บ่งบอกว่า ได้มีการสรุป เหมาเอาไว้แล้วว่า การชุมนุมเกิดจาก "ปัญหาทางการเมือง" จริงๆ แล้ว นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้ก่อให้เกิด "ปัญหาทางการเมือง" ใดๆ เลย นอกจากได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนายกฯ โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการแล้ว ท่านยังได้พยายามป้องกันแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมอย่างจริงจังมาตลอด โดยมิได้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากตำแหน่งหน้าที่ราชการแต่ประการใด
"ปัญหาในบ้านเมือง" เกิดขึ้นทันทีที่ศาลฎีกาได้พิพากษาให้ยึดเงินสี่หมื่นหกพันล้านบาทของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำลังหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ โดยปรากฏออกมาเป็น "การชุมนุมที่ผิดกฎหมาย" และอาศัย "ความรุนแรง" จากการ "ยิงระเบิด" รายวัน อย่าง "ผู้ก่อการร้าย" เพื่อบีบบังคับนายกฯ อภิสิทธิ์ ให้ยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข และปราศจากเหตุอันควรทางการเมือง
แน่นอนที่สุด การชุมนุมได้ละเมิด "สิทธิมนุษยชน" ของประชาชนที่จะใช้ชีวิตอย่างสงบสันติ เนื่องจากไม่สามารถสัญจรบนเส้นทางสาธารณะบริเวณราชประสงค์ รับบริการที่จำเป็นต่อชีวิตจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตลอดจนซื้อหาปัจจัยจากย่านการค้าราชประสงค์และสีลม
องค์กรน่าจะออกมาประณามการละเมิด "สิทธิมนุษยชน" โดยนายทักษิณกับแกนนำกลุ่มเสื้อแดงอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความเป็นธรรมต่อนายกฯ อภิสิทธิ์ การชุมนุมยังได้สำแดงเป้าหมายใหญ่ที่มุ่ง "ทำลายตัวบุคคลสำคัญ" ซึ่งได้แก่นายกฯ อภิสิทธิ์ ท่านประธานองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอีกท่านหนึ่งที่กลุ่มเสื้อแดงยังอุบเงียบชื่อไว้ด้วยเจตนาไม่โปร่งใส ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็น "ความเกลียดชัง" ส่วนตัวในโครงสร้างของราชอาณาจักรไทย และเป้าหมายที่จะเปลี่ยนไทยเป็น "รัฐไทยใหม่" โดยปราศจากเหตุอันควรทางการเมือง
นับได้ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่แตกต่างอะไรจากกรณี "โจรปล้นราชอาณาจักรไทย"
โดยแท้จริงแล้ว การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง คือ "การชุมนุมทางสังคม" บนพื้นฐาน "ความเกลียดชัง" ส่วนตัวโดยแท้ ย่อมใช้ "ทางออกทางการเมือง" ไม่ได้ แต่ต้องใช้ "ทางออกทางสังคม" (social solution) ซึ่งต้องอาศัยกำลังเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามเฉกเช่นกรณีอาชญากรรมทั้งหลาย ตามความจำเป็นเหมาะสม และด้วยหลักนิติธรรมขันติธรรม ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่
รายงานระบุด้วยว่า "การตรวจสอบควบคุมการแสดงออกในความเห็นทางการเมืองเป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตยของไทย" จริงๆ แล้ว "ประชาธิปไตย" ของไทยไม่มีโอกาสได้ผุดได้เกิดมาตลอด สืบเนื่องจากการซื้อสิทธิขายเสียงอย่างแยบยลทุกรูปแบบทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง การโฆษณาชวนเชื่อที่โกหกพกลมไร้ความเป็นจริง โดยเฉพาะในชนบทภาคอีสานและภาคเหนือ และระบบอุปถัมภ์ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงโดยนักการเมืองสามานย์ ผู้ต้องการมีอำนาจบริหารชาติบ้านเมืองอย่างอิสรเสรี เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเหนืออื่นใด
ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงมีแต่ "ธนาธิปไตย" กับ "อัตตาธิปไตย" มาตลอด หามี "ประชาธิปไตย" ไม่
เหตุการณ์ไม่สงบในบ้านเมืองขณะนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์มีทางออกทางเดียว คือ จำต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปราบปรามการชุมนุมเฉกเช่นกรณีที่เป็น "ปัญหาทางสังคม" โดยใช้ "ทางออกทางสังคม" คือ สลายการชุมนุมและจับกุมผู้ทำผิดกฎหมายเฉกเช่นอาชญากรจี้ปล้นเรียกค่าไถ่จากชาวบ้าน ยกเว้นแต่ว่า การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงเป็นการจี้ปล้นเรียกค่าไถ่จากชาติบ้านเมืองโดย "ผู้ก่อการร้าย" ซึ่งกระบวนการยุติธรรมระบุโทษไว้สูงสุด
บัดนี้ ประชาชนผู้ใส่เสื้อหลากสีในจำนวนที่มากกว่ากลุ่มเสื้อแดงหลายเท่า ได้ออกมาชุมนุมต่อต้านกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งไม่กล้าใส่เสื้อสีแดงอีก ด้วยขาดความมั่นใจในความถูกต้องชอบธรรมของตน
เมื่อไม่มี "ปัญหาทางการเมือง" มีแต่ "ปัญหาทางสังคม" และหากนายกฯ อภิสิทธิ์พยายามแก้ปัญหาการชุมนุมโดยใช้ "ทางออกทางการเมือง" ตามที่องค์กรเสนอแนะ จะโดยการพึ่งการเจรจาทางการเมืองซึ่งพังไปแล้วหรือวิถีทางอื่นใดก็ตาม การชุมนุมจะยืดเยื้อเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดการปะทะกันด้วย "ความรุนแรง" ระหว่างเสื้อสองสีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถึงวาระนั้นแล้ว ใครจะรับผิดชอบต่อการละเมิด "สิทธิมนุษยชน" ของกลุ่มเสื้อหลากสีโดยกลุ่มเสื้อแดง และการสูญเสียที่หลีกเลี่ยงได้ด้วยการใช้ "ทางออกทางสังคม."