Wednesday, May 5, 2010



วัฒนธรรมศึกสงคราม
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต

แผนล้มเจ้า ล้มอำมาตย์ ล้มรัฐบาล ตลอดจนพิฆาตบุคคลสำคัญในรัฐบาลเริ่มสิ้นฤทธิ์ เสื้อแดงหมดความภูมิใจในเสื้อสีตน สีไม่แดงทั้งแผ่นดินแล้ว

ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อแผนดังกล่าวอย่างเต็มอัตราศึก ได้แก่ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ในสภาพ "ไฟสุมขอน" มาตลอด

เมื่อ 2,718 ปีก่อน ก่อนยุคสามก๊ก กษัตริย์ฉูส่งสองทัพใหญ่ไปตีราชอาณาจักรฉิน โดยมีแม่ทัพซูงยี่กับ ขุนพลเสียงยู่ (项羽) คุมทัพเหนือ และขุนพลลิ่วบั๋ง (劉邦) คุมทัพใต้ ทั่้งสองทัพมุ่งยึดครองเมืองหลวงเสียนหยางของอาณาจักรฉิน 

เสียงยู่ในทัพเหนือมาจากครอบครัวชาวเมือง เป็นคนใจร้อน ส่วนลิ่วบั๋งในทัพใต้มาจากครอบครัวชาวนา เป็นคนใจเย็น ไร้ความเป็นทหารหาญ โปรดปรานสุรานารีเหนืออื่นใด  

เสียงยู่ไม่เห็นด้วยกับกษัตริย์ฉูที่ให้ลิ่วบั๋งไปตีเมืองหลวงโดยเส้นทางตรง ด้วยเกรงว่าจะไปถึงก่อนและจะเป็นผู้บังคับการกองทัพตนที่กำลังมุ่งหน้าไปสมทบจากภาคเหนือ

ในขณะบัญชาการรบอยู่ภาคเหนือ แม่ทัพซูงยี่เกิดลังเลใจไม่สั่งให้กำลังพลเข้าประจัญบานกับกองทัพฉินผู้เป็นศัตรู เสียงยู่ก็บรรลุโทสะสุดขีด บุกเข้าไปประกาศลั่นในกระโจมแม่ทัพว่า แม่ทัพซูงยี่ทรยศต่อแผ่นดิน พลางชักดาบออกฟันคอแม่ทัพขาดฉับพลัน แล้วสถาปนาตนเป็นแม่ทัพแทนทันที

ขุนพลเสียงยู่ไม่ฟังกุนซือ ภาพนิรนาม

จากนั้น เสียงยู่ยกทัพลงใต้โดยพลการ ด้วยเชื่อมั่นในตนเองว่ามีสมรรถภาพเหนือกว่าลิ่วบั๋ง ทั้งๆ ที่ทั้งสองก็เคยรบกับข้าศึกอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ เยี่ยงพี่น้องร่วมสาบานกันมาตลอด  

ณ สมรภูมิเสียนหยาง เสียงยู่ได้พบกับลิ่วบั๋ง และได้รับคำเสนอแนะจากกุนซือตนว่า "ลิ่วบั๋งเป็นคนชอบแก้วแหวนเงินทองนารีสตรีงาม แต่ก็หาได้เสพสุขกับสิ่งเหล่านี้ที่สนามรบนี่ไม่ แสดงว่าลิ่วบั๋งมีจุดมุ่งหมายสูงส่งแอบแฝงอยู่" พลางกระซิบให้วางแผนชิงปลิดชีพลิ่วบั๋งก่อน จะดีกว่าเป็นแน่แท้

ในงานเลี้ยงรับรองลิ่วบั๋ง เสียงยู่วางแผนให้ทหารตนแสดงศิลปะวิทยาวุุธให้ชม ในขณะฟ้อนรำด้วยท่าฟันดาบรวดเร็วฉับไวและคอยดูสัญญาณจากเสียงยู่ให้ลงมือพิฆาตลิ่วบั๋ง เสียงยู่เกิดลังเลใจ ไม่ส่งสัญญาณให้พิฆาตลิ่วบั๋งตามจังหวะที่ตั้งไว้ ลิ่วบั๋งเกิดเฉลียวใจก็ชิงเผ่นหนีไปได้ กุนซือของเสียงยู่ถึงกับร้องลั่นว่า "ท่านทำเละเทะอย่างนี้ วันหนึ่ง ลิ่วบั๋งจะย้อนกลับมาจับท่านและพวกเราเป็นเชลยหมด"

หลังสำเร็จศึกยึดเมืองเสียนหยางได้ เสียงยู่ก็ยกทัพไล่ล่าลิ่วบั๋งทันที หลายเดือนต่อมา ก็ต้อนลิ่วบั๋งจนมุม ลิ่วบั๋งขอเจรจาสงบศึกทันที

กุนซือเสนอแนะให้พิฆาตลิ่วบั๋งอีก ย้ำว่า มิฉะนั้น จะเสียใจภายหลัง แต่เสียงยู่กลับต้องการแสดง "ความปรานี" สั่งจับเป็นอย่างเดียว เพื่อให้ลิ่วบั๋งยอมซูฮกตนว่าเก่งกว่าเขา ในขณะเจรจากัน ลิ่วบั๋งฉวยโอกาสหลบหนีไปได้อีก พร้อมกับทหารหยิบมือเดียว

เสียงยู่ไล่ล่าลิ่วบั๋งอีก คราวนี้ ด้วยความร้อนใจจนขาดสติ วันหนึ่ง เสียงยู่จับบิดาของลิ่วบั๋งมาได้ ส่งเสียงตะโกนสั่งให้ลิ่วบั๋งยอมแพ้เสียดีๆ มิฉะนั้น จะจับบิดาต้มจนสุก ลิ่วบั๋งตอบอย่างใจเย็นว่า "เราได้สาบานเป็นพี่น้องกัน พ่อข้าฯ ก็คือ พ่อเจ้า หากเจ้าต้องการต้มพ่อเจ้า ก็ส่งน้ำแกงมาให้ข้าฯ ซดด้วย!"

เสียงยู่ถึงกับตกตลึงแล้วเลิกทำตามที่ขู่ไว้ แต่ก็ไล่ล่าลิ่วบั๋งต่อไป จนวันหนึ่ง เสียงยู่พลาดท่า กระจายกำลังทหารออกมากเกินไป ลิ่วบั๋งตีกลับมาได้ แล้วล้อมค่ายบัญชาการเสียงยู่ไว้ได้ คราวนี้ เสียงยู่ตกอยู่ในฐานะขอเจรจาสงบศึก กุนซือของลิ่วบั๋งเสนอแนะให้จัดการปลิดชีพเสียงยู่ทันที และบดขยี้กองกำลังเสียงยู่โดยมิต้องปรานี อ้างว่า "หากให้หลบหนีไปก็จะเหมือนปล่อยเสือ เสียงยู่จะกลับมากัดกินท่านแน่นอน"

ลิ่วบั๋งเสนอให้เสียงยู่ทำสัญญาสงบศึก กล่อมให้ปลดวางทหารในบัญชา แต่พอเผลอก็แอบโจมตีพิฆาตทหารเกือบหมด เสียงยู่ไหวทันหลบหนีไปได้หวุดหวิดในขณะชุลมุน

เสียงยู่เริ่มรู้ตัวว่า ลิ่วบั๋งได้ตั้งค่าหัวตนไว้แล้ว ในจังหวะที่พบสหายเก่าหลูหม่าต๋องเดินปนเปอยู่กับทหารลิ่วบั๋ง เสียงยู่ก็แทรกเข้าไปกล่าวทักทายกับสหายเก่าว่า "ลิ่วบั๋งตั้งค่าหัวข้าฯ ไว้ด้วยทองคำหนึ่งพันชิ้น อีกทั้งแผ่นดินปกครองกว้างใหญ่เพียงพอกับหนึ่งหมื่นครัวเรือน ข้าฯ ขอตอบแทนคุณเจ้าสักครั้งเถอะ" กล่าวจบ เสียงยู่ก็ชัดมีดออกมาเชือดคอปลิดชีพตัวเองทันที

นักการทหารมองว่า ในขณะที่เรามีจิตเวทนาหรือมีความหวังจะสมานฉันท์กับศัตรู เรามักปล่อยศัตรูให้รอดตัวไป ซึ่งกลับเพิ่มพูนความหวาดผวาและความเกลียดชังในศัตรูต่อตัวเรา เพราะศัตรูย่อมรู้สึกถูกลบหลู่ดูหมิ่นที่ต้องพ่ายแพ้ ฉะนั้น ขืนยืดชีวิตศัตรูงูเห่าไว้ วันหนึ่งเราจะตายด้วยพิษมัน

กฎเหล็กของการต่อสู้ที่มี "ชีวิตเป็นเดิมพัน" คือ จงอย่าเสียเวลากับการสมานฉันท์ เกมนี้มีฝ่ายเดียวเท่านั้นที่ชนะและต้องชนะอย่างเด็ดขาด

"ผู้ใดใฝ่หาความสำเร็จ จงละทิ้งความปรานีเสีย" ท่านปรัชญาเมธีเกาฏิลียชาวอินเดีย ผู้แต่ง "อรฺถศาสฺตฺร" ได้เขียนเตือนใจไว้เมื่อหนึ่งศตวรรษก่อนยุคสมัยขุนพลทั้งสองนี้

ลิ่วบั๋งไต่เต้าต่อไปจนกลายเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งราชอาณาจักรฉู กำจัดคู่แข่งทางอำนาจ คือ องค์กษัตริย์แห่งฉูนั่นเอง แล้วสถาปนาตนเป็นจักรพรรดิ ยกทัพออกศึกที่ใดก็ได้ชัยชนะเด็ดขาดที่นั่น จนกลายเป็นจักรพรรดิยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน มีสมญานามว่า "ฮั่นเคาซื่อ" ผู้ก่อตั้ง ราชวงศ์ฮั่นอันลือลั่นยั่งยืน  

ขุนพลลิ่วบั๋ง กลายเป็นจักรพรรดิฮั่นเคาซื่อ ปฐมองค์ราชวงศ์ฮั่น จีน ภาพ นิรนาม

ใครจะจัดการอย่างไรกับนายทักษิณและสมุน เพื่อความสงบสุขอันยั่งยืนของชาติบ้านเมือง ก็น่าจะนำวัฒนธรรมศึกสองขุนพลในกองทัพเดียวกันนี้มาทบทวนดูสักครั้ง

No comments:

Post a Comment