Friday, April 9, 2010

ซุนซื่อ: ปรมาจารย์ยุทธศาสตร์ทหาร

        孫武 ซุนซื่อ หรือ ซุนหวู่ คือนักรบจีน ขุนพลเอก ยอดนักยุทธศาสตร์ นักปราชญ์ (สายปรมาจารย์เล่าจื๊อ) เกิดเมื่อ 25 ศตวรรษก่อน ในยุคสมัยใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า ปรมาจารย์เล่าจื๊อ และยอดนักการปกครองขงจื๊อ

ซุนซื่อ ขุนพลเอก ยอดนักยุทธศาสตร์ นักปราชญ์จีน สมัย 25 ศตวรรษก่อน ภาพ 663ไฮแลนด์

        นักประวัติศาสตร์จีนบางท่านยกย่องท่านซุนซื่อในฐานะที่เป็นผู้เขียนตำราพิชัยสงครามอมตะโด่งดัง ชื่อว่า “ศิลปะแห่งการทำสงคราม” ซึ่งผู้บัญชาการเหล่าทัพตะวันตกหลายท่านได้นำมาศึกษาแล้วนำไปปฏิบัติการในการสงคราม แต่ผู้คงแก่เรียนบางท่าน เช่นนักวิชาการนามว่า "วูซีฉู," นักเขียนนิรนามของค่ายความคิดหนึ่งในแคว้นฉีหรือหวู, ตลอดจนซุนบิน ผู้เป็นบุตรชายของท่านซุนซื่อเอง เป็นต้น เชื่อว่า “ซุนซื่อ” คือนามปากกาของบุคคลหรือองค์กรหนึ่ง
ตำรา ศิลปพิชัยสงคราม โดยซุนซื่อ ภาพ วิสต้า2

        จักรพรรดินโปเลียน โบนาพาร์ต (ค.ศ.1769 – 1821) ได้รับการยืนยันว่า ได้ศึกษาตำราพิชัยสงครามดังกล่าว แล้วนำยุทธศาสตร์ของท่านซุนซื่อไปรบชนะประเทศมหาอำนาจอย่างราชอาณาจักรอังกฤษและรัสเซียในบางสมรภูมิมาแล้ว แต่จุดอ่อนของนโปเลียนอยู่ที่มิได้ศึกษาธรรมชาติของตัวเอง ซึ่งส่งผลระยะยาวให้กองทัพบกและเรืออันเกรียงไกรในบัญชาการของตน ต้องประสบความปราชัยอย่างย่อยยับในที่สุด

จักรพรรดินโปเลียน ค.ศ.1769 - 1821 ภาพ ไดเร็คมีเดีย

        ในสหรัฐอเมริกา สงครามกลางเมือง (Civil War ค.ศ.1861–1865) เกิดขึ้นหลังจากสหรัฐฯได้แตกแยกเป็นสองกลุ่มรัฐใหญ่ คือ กลุ่มรัฐภาคเหนือ นำโดยประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น และกลุ่มรัฐภาคใต้ นำโดยประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สัน เดวิส สงครามนี้ได้รับการวิเคราะห์โดยนักประวัติศาสตร์การทหารสหรัฐฯ ว่า ฝ่ายเหนือประสบชัยชนะ เนื่องจากได้ดำเนินการรบตรงตามยุทธศาสตร์ในตำราพิชัยสงครามดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนฝ่ายใต้ต้องสูญเสียกำลังพลจาก 12,000 นาย ลงเหลือ 5,000 นาย และพ่ายแพ้ยับเยินจากการรบหฤโหดติดต่อกันสามวัน เมื่อปี 1863 ณ สมรภูมิที่เมืองเกตี้สเบิร์กโด่งดัง เนื่องจากทำตรงข้ามกับตำราดังกล่าวโดยสิ้นเชิง ในที่สุด กลุ่มรัฐภาคใต้ยอมสงบศึกในอีกสองปีต่อมา

        ในสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ.1939 – 1945) การยกพลขึ้นบกของกองทัพพันธมิตรเมื่อปี 1944 ที่ชายหาดโอมาห้าและนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส จนสามารถขับไล่และทำลายกองทัพนาซีอันมีวินัยของประเทศเยอรมันได้สำเร็จ นั้น นักประวัติศาสตร์การทหารวิเคราะห์ไว้ว่า ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี รูสเวลต์ สหรัฐฯ ได้มอบหมายอำนาจการรบให้กับพลเอก ดไวต์ ดี ไอเซนฮาวร์ สหรัฐฯ อย่างเด็ดขาด ในฐานะผบ.สูงสุดฝ่ายพันธมิตร ปรากฏว่า กองทัพพันธมิตรมีการแบ่งหน้าที่ระหว่างกองพลอย่างเด่นชัด มีการบัญชาการและสื่อสารอย่างมีผลดี และมีการอ่านกับปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้รับกับศัตรูเป็นประจำ ทั้งนี้ สอดคล้องกับ “ศิลปะแห่งการทำสงคราม” ทุกประการ

        ตรงกันข้าม นายอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในฐานะผู้นำสูงสุดแห่งรัฐเยอรมันนี ไม่ได้มอบหมายอำนาจให้ฝ่ายทหารอย่างเด็ดขาด มีการเข้าแทรกแซงฝ่ายทหารบ่อย มีการแบ่งหน้าที่แบบสับสน เช่น หน่วยรถยานเกราะถูกแบ่งเป็นสองส่วน โดยมีนายพลผู้บัญชาการท่านหนึ่งขึ้นตรงต่อนายฮิตเลอร์เอง เป็นต้น มีการสื่อสารที่สับสนล่าช้าผิดพลาดบ่อย มีการอ่านกับปรับแผนยุทธศาสตร์ล่าช้า ทั้งนี้ ขัดกับ “ศิลปะแห่งการทำสงคราม” ทุกประการ


        ที่เมืองไทย การสลายม็อบกลุ่มเสื้อแดงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในขณะที่มีผู้ชุมนุมหลงเหลืออยู่ ราว 3,000 คน ในช่วงกลางเดือนเมษายน 2552 ด้วยการใช้กำลังทหารจากรัฐบาล สามารถประสบความสำเร็จโดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ นั้น นับได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ของท่านซุนซื่อที่ว่า

ในศิลปะแห่งการทำศึกสงคราม สิ่งที่ดีที่สุดได้แก่ การยึดครองฝ่ายตรงข้ามอย่างครบถ้วนทั้งหมดมาได้ โดยไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียแต่อย่างใด การทำลายฝ่ายตรงข้ามคือยุทธศาสตร์ที่ต่ำต้อย ดังนั้น การยึดครองทหารมาเป็นเชลยศึกย่อมดีกว่าการฆ่าฟันกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับทั้งกองทัพ หรือกองร้อยของฝ่ายตรงข้าม

        ทั้งนี้ ทำให้ระลึกถึงเหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ใครเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่!

         เมื่อปี 2549 กองทัพไทยได้จัดให้มีการฝึกอบรมบรรดานายทหารระดับพันเอกพันโทของสามเหล่าทัพ ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเป็นรุ่นแรก เรียกชื่อการฝึกอบรมว่า “หลักสูตรนักยุทธศาสตร์ทหาร” โดยได้ผนวกตำราพิชัยสงครามโด่งดังระดับโลกหลายเล่มเข้าในหลักสูตร รวมทั้ง “ศิลปะแห่งการทำสงคราม” ด้วย จึงไม่น่าแปลกใจเลยหากได้มีการนำยุทธศาสตร์ของท่านซุนซื่อมาประยุกต์ในการปราบม็อบดังกล่าว

ส่วนฝ่ายนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งบัญชากลุ่มเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยให้ทำอะไรสักอย่าง เพื่อจะได้มีอะไรติดไม้ติดมือไป และประกาศด้วยสีหน้ายิ้มเยาะว่าประสบ “ความสำเร็จ” เมื่อกลุ่มเสื้อแดงได้บุกเข้าไปทำลายการประชุมสุดยอดอาเซียนที่พัทยาตามต้องการ ได้สะท้อนให้เห็นการดำเนินแผนการต่อสู้ที่ขัดกับตำราพิชัยสงครามของท่านซุนซื่อที่ว่า

การมุ่งต่อสู้เพื่อเอาชนะในสมรภูมิทั้งหลาย นั้น หาใช่ความเลอเลิศวิเศษสุดแต่อย่างใดไม่ ความเลอเลิศวิเศษสุดอยู่ที่การทำลายแรงต้านทานของฝ่ายตรงข้ามโดยไม่ต้องใช้กำลังเข้าห้ำหั่นเลย

        จะเห็นได้ว่า กลุ่มเสื้อแดงคือ กองทัพที่มิได้เดินตามแผนยุทธศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เดินตามกำลังทรัพย์ที่นายทักษิณเคยพูดผ่านวิดีโอลิ้งก์ระหว่างการชุมนุมดังกล่าวว่า เงิน 500 บาทต่อคนไม่มีปัญหา อนึ่ง หากนายทักษิณสามารถใช้เงินซื้อราชอาณาจักรไทยได้สำเร็จ นักรัฐศาสตร์ทั่วโลกจะต้องเขียนตำรารัฐศาสตร์กันใหม่หมด

        สำหรับฉากการต่อสู้ของกลุ่มเสื้อแดงในครั้งต่อไป ขอผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายช่วยกันเตือนนายทักษิณ ให้เค้นเอาความสว่างใน “ศิลปะแห่งการทำสงคราม” จากที่ปรึกษาของนายทักษิณ ออกมาใช้ให้คุ้มกับค่าแรง ขืนพ่ายแพ้ยับเยินยืดเยื้อเรื้อรังบ่อยเข้า จะหาคนใส่เสื้อแดงทำยายากในอนาคต ยิ่งกว่านั้น ความปราชัยยับเยินของนายทักษิณครั้งล่าสุดนี้ ได้ส่งผลให้นักการเมืองที่ถือหางตนอยู่ พากันสั่นคลอนจนเริ่มแตกทัพ และมีทีท่าว่าจะพากันตีจากพรรคเพื่อไทยไปเข้ากับพรรคอื่นๆ กัน

        ท่านซุนซื่อได้บันทึกไว้ในตำราพิชัยสงครามทำด้วยแท่งไม้ไผ่ว่า
หากท่านไม่รู้จักทั้งศัตรูหรือตัวท่านเอง ท่านจะพ่ายแพ้ในทุกสมรภูมิ

        ในกรณีที่ปรึกษาของนายทักษิณไม่รู้จัก“ศิลปะแห่งการทำสงคราม” ดังกล่าว นายทักษิณก็น่าจะหันมาพึ่งตนเอง ด้วยการทำความรู้จักกับธรรมชาติในตัวเอง และศึกษาคำสอนของท่านปรมาจารย์เล่าจื๊อ จะได้เข้าใจตัวเองและตำราพิชัยสงครามดังกล่าว

        ก็จะได้ไม่ลงเอยแบบนโปเลียน.

No comments:

Post a Comment