ธรรมาธิปไตย
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com
ในการอยู่ด้วยกันของประชากรจำนวนมากๆ เราจำต้องมี "กติกา" สำหรับส่งเสริมสนับสนุนให้อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข คือ มี "ระบอบการปกครอง" ซึ่งเปรียบได้กับ "ยานพาหนะ" ที่นำพาเราเดินทางสู่ "สันติสุข" อันพึงปรารถนาของทุกๆ คน
การเดินทางสู่สันติสุขย่อมยาวนานตลอดชีวิต หากจะให้ราบรื่นย่อมต้องมีแผนที่ แต่ที่สำคัญ ยิ่งกว่าแผนที่ ได้แก่ การสอบวัดตัวเองก่อน ว่า เราเป็นใคร มีรากฐานมาจากที่ใด วัฒนธรรมแบบใด เอกลักษณ์ (ความเป็นไทย) อย่างใด กำลังอยู่ ณ ที่ใด ฯลฯ
"ผลการสอบวัดตัวเอง" คือ "เข็มทิศที่ห้า" ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เพราะจะบ่งบอกว่า "เราคือใครและจะเริ่มเดินทางจากจุดใด" ตามแผนที่ที่มีสี่ทิศพร้อมอยู่แล้ว หากไม่มีจุดเริ่มต้น การเดินทางย่อมเป็นไปไม่ได้
เมื่อมี "เข็มทิศที่ห้า" แล้ว เราก็ต้องเลือกระบอบหรือยานพาหนะสำหรับนำพาเราเดินทางสู่จุดหมายปลายทาง คือ สันติสุข อันพึงปรารถนาของเรา โดยทำการคัดเลือกและ/หรือสร้างสรรค์ ระบอบที่เหมาะสมคู่ควรกับเรา โดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดจนเอกลักษณ์ (ความเป็นไทย) ของตัวเรา และต้องระวังไม่เลือกผิดระบอบ มิฉะนั้น จะส่งผลให้เราตกอยู่ในสภาพ "หัวมังกุท้ายมังกร" ไม่สามารถนำพาเราสู่สันติสุข อย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
พูดง่ายๆ เราต้องสอบวัดตัวเรา (เราเป็นใคร) ให้แน่ชัดก่อน เพื่อจะได้มี "เข็มทิศที่ห้า" ที่จำเป็นสำหรับเริ่มเดินทาง แล้วเลือกยานพาหนะ (ระบอบการปกครอง) ที่มีความเหมาะสมกับตนมาใช้เดินทางสู่จุดหมายปลายทางอันพึงปรารถนา (สันติสุข)
ระบอบหรือยานพาหนะมีให้เลือกหลายรูปแบบ เช่น "ประชาธิปไตย" ซึ่งอาศัยเสียงข้างมากเป็นหลักในการดำรงชีพ "อัตตาธิปไตย" ซึ่งอาศัยการบังคับบัญชาของบุคคลคนหนึ่งเป็นหลักฯ "อิสราธิปไตย" ซึ่งอาศัยการเป็นอิสระจากการถูกบังคับบัญชาโดยบุคคลคนหนึ่ง แต่ได้รับแต่การสนับสนุนทางทรัพยากรและความกระจ่างชัดแทน เป็นหลักฯ หรือ "ธรรมาธิปไตย" ซึ่งอาศัยพระธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นหลักฯ เป็นต้น
สามระบอบแรกดังกล่าว มีกติกาหรือกลไกที่ออกแบบโดย "ปุถุชน" ทั่วไป ผู้ไม่จำต้องนับถือศาสนาเดียวกัน โดยมีพื้นฐานอยู่ที่ "องค์ความรู้" (knowledge) ที่เปลี่ยนแปลงตามกาลสมัยอยู่เสมอ ส่งผลให้ขาดความเหมาะสมหรือผิดกาลเทศะได้
ส่วน "ธรรมาธิปไตย" มีกติกาที่ออกแบบโดย "พุทธมามกะ" โดยมีพื้นฐานอยู่ที่ "พระธรรม" ของ "อริยชน" คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็น "สัจธรรม" (absolute truth) ที่ไม่เปลี่ยนแปลงแต่ทันสมัยอยู่เสมอ
"ธรรมาธิปไตย" จึงเป็นระบอบที่มี "พระธรรม" มิใช่ "พระสงฆ์" หรือ "ปุถุชน" เป็นหลักในการตัดสินว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรชอบ อะไรมิชอบ ฯลฯ กล่าวคือ เป็นยานพาหนะที่มี "แสงสว่าง" นำทางให้เราเดินทางได้ทั้งกลางคืนกลางวัน รอดผ่านถ้ำมืดได้อย่างปลอดภัยสู่จุดหมายปลายทาง
"ธรรมาธิปไตย" จะปกครองและป้องกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชาติบ้านเมืองได้อย่างไร?
ในด้านการปกครอง "ธรรมาธิปไตย" ย่อมคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นเกณฑ์ โดยเป็น "นิติรัฐ" มี "นิติธรรม" เยี่ยงอารยประเทศทั้งหลาย โดยให้แต่งตั้งคนดีมีศีลธรรมและความสามารถสูงเป็นผู้บริหารในระยะแรกเริ่ม และอาศัยหลักธรรมที่เน้นการสอนคนให้ตื่นจากกิเลสตัณหากับการยึดติดทั้งปวง กลายเป็นคนมีเสรีภาพจริงๆ ไม่ต้องกลับเข้าเรือนจำรอบแล้วรอบเล่า อย่างเช่นในสังคมโลกตะวันตก
ในด้านเศรษฐกิจ ให้อาศัยหลักธรรมต่างๆ เป็นพลังขับเคลื่อน เช่น "มรรคมีองค์แปด" "อิทธิบาทสี่" เพื่อการดำรงชีพและพัฒนาอาชีพ เป็นต้น ส่วนการกระจายรายได้ ให้เน้นการพึ่งตนเอง โดยการฝึกวิชาชีพ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อการประกอบอาชีพ ฯลฯ
ดร.อีเอฟ ชูมาเชอร์ (E.F. Schumacher) นักเศรษฐศาสตร์โด่งดังระดับโลก ได้เขียนหนังสืออมตะ "Small is Beautiful : Economics as if People Mattered (จิ๋วแต่แจ๋ว เศรษฐศาสตร์ในแง่ที่คนเป็นปัจจัยสำคัญ)" ปี 2516 โดยสาธยายถึง Buddhist Economics (เศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ) ไว้อย่างน่าสนใจ
นอกจากนี้ พุทธพจน์ยังสอนให้เราอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเยี่ยงภมรผึ้งที่ดูดน้ำหวานจากดอกไม้ไปทำรังผึ้ง โดยไม่ทำลายดอกไม้ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธอันยั่งยืนทันสมัยยิ่ง
ในด้านจิตใจ ให้อาศัยหลักธรรมต่างๆ เช่น "สติปัฏฐานสี่" เพื่อเจริญสัมมาสติ และ "ปฏิจจสมุปบาท" เพื่อหยั่งรู้กระบวนการทางใจที่เป็นกิเลส เป็นต้น ล้วนเป็นมรรควิธียกพลังจิตให้คิดดีทำดีอย่างมีประสิทธิผล เป็นการช่วยสร้างครอบครัวและชาติบ้านเมืองให้อยู่ดีมีสุข
ปัจจุบัน พระธรรมได้รับการศึกษาและยอมรับนับถือจากบรรดานักจิตวิทยาโด่งดังของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และอื่นๆ อีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลายๆ ท่านเหล่านี้ได้เขียนหนังสือเผยแพร่และประยุกต์พระธรรมในการรักษาคนป่วยเป็นโรคจิตได้อย่างมีผลดีมาแล้ว
โดยที่พระธรรมมีความสอดคล้องมากกว่าขัดแย้งกับศาสนาอื่น อีกทั้งได้อยู่คู่กับสถาบันชาติกับกษัตริย์ไทยมาร่วม 700 ปี "ธรรมาธิปไตย" จึงมีความเหมาะสมยิ่งสำหรับปกครองประเทศ ที่มีประชากรนับถือต่างศาสนาอยู่เป็นจำนวนมากอย่างไทย
ทันทีที่ "ธรรมาธิปไตย" เดินเครื่อง ยานพาหนะนี้จะแล่นฉิวด้วยจิตวิญญาณของอริยชนที่สามารถเจริญพัฒนาด้วยตนเอง และด้วยค่าบำรุงรักษาที่ต่ำมาก เพราะมีความพอเพียงอยู่ในตัว
ข้อเสนอข้างต้น คือ ภาพยกร่างของ "ธรรมาธิปไตย" ส่วนรายละเอียดจะเป็นภารกิจของส่วนรวมในการช่วยกันระดมความคิดสร้างสรรค์เสริมสร้างให้เป็นระบอบที่ยั่งยืน โดยอาจมีการปรับแต่งในทางปฏิบัติจนกว่าจะลงตัวเป็นส่วนใหญ่
หากสัมฤทธิผล ก็จะเป็นระบอบที่คู่ขนานกับระบอบของบางประเทศในภาคตะวันออกกลางที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และมีกติกาการปกครองอยู่มาก ที่มาจากบทบัญญัติในศาสนาโดยตรง
"ธรรมาธิปไตย" คือ สมุนไพรที่มีศักยภาพแก้พิษสง "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ได้ฉมัง และเป็นทางออกโค้งสุดท้ายของราชอาณาจักรไทย.