การอ่าน: วาระแห่งชาติ
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com
dhanarat333@gmail.com
ห้องสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกา สถาปนามา 209 ปี ใหญ่ที่สุดในโลก ภาพ ฮูกาฮอลิค
นับเป็นข่าวน่ายินดีที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ 6 ปีก่อน ได้ประกาศให้วันที่ 2 เมษายน 2552 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็น “วันรักการอ่าน” เพื่อเชิดชู "ทศวรรษแห่งการอ่าน" ตั้งแต่ปี 2552-2561 พร้อมทั้งส่งเสริมให้มี “การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ” โดยตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2555 คนไทยจะอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 10 เล่มต่อคน
“การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ” คือปัจจัยที่จำเป็นยิ่งสำหรับพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของชาติบ้านเมือง "การอ่าน" หรือ "การเรียนรู้" เปรียบได้กับการหว่านเมล็ดพันธุ์พืชแห่งวิชาความรู้ความชาญฉลาดลงบนผืนดินแห่งจิตใจ เมื่อจิตใจได้หล่อเลี้ยงเมล็ดเหล่านี้จนกลายเป็นธัญพืชที่เจริญเติบโตเป็นอาหารทิพย์ทางใจแล้ว ผู้หว่านหรือผู้อ่านย่อมมีความรอบรู้ ความชาญฉลาด ตลอดจนความช่ำชองโลกเพิ่มขึ้น และสามารถก้าวทันโลกได้ดีขึ้น
"การอ่าน" คือทักษะอย่างหนึ่งที่ฝึกฝนได้อย่างทักษะอื่นๆ คือ ยิ่งเริ่มฝึกแต่ยังเยาววัยได้ ก็ยิ่งมีสมรรถภาพสูง ดูตัวอย่าง นายไทเกอร์วูดส์ นักกอล์ฟอาชีพระดับโลก ได้รับการฝึกเล่นกอล์ฟตั้งแต่อายุย่างเข้า 2 ขวบ และนางซาราชัง (โรเดสคิว) นักไวโอลินคลาสสิกฝีมือระดับโลก เริ่มฝึกสีไวโอลินตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เป็นต้น วัยเด็กเป็นวัยที่สามารถรับการหล่อหลอมทางจิตใจได้ดีกว่าวัยผู้ใหญ่ ฉะนั้น เด็กที่มีโอกาสได้เข้าถึงและอ่านสื่อพิมพ์ต่างๆ ตามวัยอันควร ย่อมมีความน่าเป็นไปได้ที่จะ "รักการอ่าน" ในวัยผู้ใหญ่ ได้มากกว่าเด็กที่ไม่มีโอกาสดังกล่าว
ผลจาก "การอ่าน" มีนานัปการ อย่างน้อยที่สุด ผู้อ่านจะมีโอกาสได้คุ้นเคยกับโลกเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว (เครื่องบินไร้คนขับที่ควบคุมด้วยวิทยุทางไกล) และโลกมนุษย์ที่กำลังแคบเล็กลงทุกวัน (กลุ่มอาเซียนกำลังบุกเบิกกิจกรรมพัฒนาสังคมเศรษฐกิจหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน) ฉะนั้น การอ่านจะสามารถตระเตรียมคนไทยให้เป็นชาวโลกที่ทันสมัย พร้อมที่จะรับประโยชน์จากโลกได้อย่างเต็มที่
น่าเสียดายยิ่งที่สังคมไทยโดยรวมยังไม่มี "ค่านิยม" ใน "การอ่าน" มากเท่ากับ "การบริโภควัตุสิ่งของบริการ" คนไทยจึงยังเป็นคนประเภท "จิตนิยม" น้อยกว่าประเภท "วัตถุเงินทองนิยม" ฉะนั้น ความมุ่งหมายให้ประชาชนหยิบหนังสือตีพิมพ์หรือเปิดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาอ่าน ปีละ 10 เล่มต่อคน นั้น จึงน่าจะยังเป็นปรากฏการณ์ที่อุบัติขึ้นได้ยาก ยากไม่แพ้การปรากฏตัวของดาวหางบนท้องฟ้า
หนังสือพระไตรปิฎกเล่มใหญ่ที่สุด 1 ใน 729 แผ่นหินอ่อน 3.5x5.5 ฟุต ประเทศเมียนมาร์ ภาพ วากอง
ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มจำนวนเล่มหนังสืออ่าน ต่อคน ต่อปีได้?
"การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ" จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อมี “ห้องสมุดประชาชน” ทำหน้าที่สนับสนุนรองรับ ห้องสมุดคือคลังเก็บข้อมูลความรู้ที่บันทึกไว้บนแผ่นกระดาษและในระบบดิจิตอล ในรูปแบบของเสียง ภาพนิ่ง ภาพยนตร์ ตลอดจนซีดี/ดีวีดี เมื่อห้องสมุดพร้อมที่จะรับใช้ประชาชน (พลเมืองเป็นใหญ่) การเข้าถึงคลังดังกล่าวและ "การอ่าน" ก็จะเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวาง ในยามที่มีคนหิวข้าว แต่ไม่พบร้านอาหารเลย กิจกรรมรับประทานอาหารจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
เมื่อมี “การอ่าน” แล้ว จิตใจก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป "จินตนาการ" ซึ่งประกอบด้วยมโนภาพ ความใฝ่ฝัน ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ จะตกผลึกเป็นกิจกรรมทดลองสำรวจ ประดิษฐ์คิดค้น ริเริ่ม ตลอดจนนวัตกรรม ส่งผลให้ผู้อ่านมีพลังขับเคลื่อนการพัฒนาตนเองและชาติบ้านเมืองต่อไป "นักเผด็จการเพื่อตัวเอง" ย่อมไม่นิยมห้องสมุด เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนมีความชาญฉลาดยิ่งขึ้น เพื่อจะได้กดขี่ต่อไปได้นาน
ดร.อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ยอดอัจฉริยะ กล่าวไว้ว่า “อาหารเป็นปัจจัยจำเป็นต่อชีวิต ฉันใด จินตนาการก็จำเป็นต่อชีวิต ฉันนั้น”
เด็กร่ำรวยในเมือง ก็ดี เด็กยากจนในชนบท ก็ดี ต่างมี "พลังภายใน" หรือ "พลังขับเคลื่อนที่เกิดจากจิตตนโดยบริสุทธิ์และเอกเทศ" ซึ่งทำหน้าที่ดูดซับอาหารทิพย์จาก "การอ่าน" ได้อย่างเท่าเทียมกัน (แข่งเรือแข่งพายพอแข่งได้) ธรรมชาติได้บันทึกพลังดังกล่าวไว้ในรหัสพันธุกรรม เพื่อมนุษย์จะได้พึ่งตนเอง (ตนของตนเป็นที่พึ่งแห่งตน) วิวัฒนาการตนสู่ระดับสูงขึ้นไป และไม่สูญพันธุ์
ห้องสมุดประชาชนกรุงบอสตัน แมสซาชูเซทส์ สหรัฐฯ ภาพ ธนรัตน์
การสำรวจรายหนึ่งในสหรัฐฯ พบว่า ประชาชนใช้บริการ "ห้องสมุดประชาชน" บ่อยกว่าโรงภาพยนตร์ถึงครึ่งเท่า สังเกตได้ว่า หลังเลิกเรียนแล้ว นักเรียนจะนิยมเข้าห้องสมุดประชาชนกันหนาตา เพื่อค้นหาหนังสือและใช้คอมพิวเตอร์สืบค้นข้อมูลความรู้ทางอินเตอร์เน็ต ทำการบ้าน เขียนรายงาน ยิ่งกว่านั้น ในช่วงบ่ายเย็นบางวัน บรรณารักษ์จะจัดรายการพิเศษ อ่านนิทานประกอบภาพให้เด็กระดับอนุบาลฟัง เพื่อเสริมสร้าง "จินตนาการ" และความคุ้นเคยกับห้องสมุดให้เกิดขึ้นกับเด็กน้อยเหล่านี้แต่เยาววัย
โดยธรรมชาติแล้ว คนเรามี "ความอยากรู้" (curiosity) อยู่ในจิตวิญญาณ ทำให้ชอบ"สำรวจ" ค้นหาข้อมูลความรู้จากโลกรอบตัว ทว่า เมื่อไม่มี “ห้องสมุดประชาชน” ที่มี "คุณภาพกับปริมาณ" พอเพียงสำหรับตอบสนองความต้องการข้อนี้แล้วไซร้ “เด็กวันนี้” จะหันไปเผาผลาญเวลาอันมีคุณค่ายิ่งของตน ด้วยการไป "สำรวจ" โลกที่อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ มุมซุบซิบนินทาว่ากล่าวกันในสื่อสังคมออนไลน์ คอมพิวเตอร์เกม การแข่งรถบนถนนสาธารณะตอนค่ำ เพื่อดูว่าใครเก่งกว่าใคร ตลอดจนยาเสพติดให้โทษ
กิจกรรมเผาผลาญเวลาดังกล่าว ย่อมไม่เสริมสร้างสติปัญญาเลย แถมทำให้สิ้นเปลืองเวลาเงินทองและอาจบาดเจ็บสูญเสียชีวิตด้วย แต่ก็เป็นทางออกที่ "เด็กวันนี้" ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะขาด "ห้องสมุดประชาชน" เป็นพี่เลี้ยงกระตุ้นให้เกิด "ความสนใจ" ในวิชาความรู้หรือวิชาชีพหนึ่งใด ซึ่งจะดลใจให้มีการ "จับกลุ่ม" ทำกิจกรรมเสริมสร้างอื่นๆแทน ตามความสนใจที่ตรงกัน เช่น กลุ่มนักดนตรี นักร้อง นักกีฬา นักกวี นักอ่าน นักเขียน นักวรรณคดี นักประวัติศาสตร์ ตลอดจนกลุ่มผู้มีจิตอาสาสนใจช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น
แม้จะมีปัจจัยสี่อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่ขาดอาหารทิพย์จาก "การอ่าน" แล้ว จิตวิญญาณของ "เด็กวันนี้" จะซูบซีดผอมโซอ่อนแอ มองเห็นโลกแต่ในวงแคบของ "วัตถุเงินทอง" เท่านั้น มองไม่เห็นโลกในวงกว้างออกไปของ "มนุษยชาติ" และจะกลายเป็นคนประเภท "ครึ่งคนครึ่งวัตถุ" ที่ไร้ชีวิตชีวา ไร้ความอบอุ่น ไม่รับรู้ ไม่เข้าใจคำว่ามนุษยชาติ ตรงกันข้าม "เด็กวันนี้" ที่ได้รับอาหารทิพย์ดังกล่าว จะกลายเป็นคนประเภท "คนเต็มตัว" ที่มีชีวิตชีวา มีความอบอุ่น เข้าใจคำว่ามนุษยชาติ และมีจิตสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบต่อตนเองและสังคมส่วนรวม
จิตวิญญาณที่ซูบซีดผอมโซอ่อนแอ มุ่งกอบโกยแต่ "วัตถุเงินทอง" แก่งแย่งชิงดีชิงเด่นสู่ความร่ำรวยกับอำนาจเพื่อส่วนตัว ขนาด "ฟ้ามิอาจบังกั้น" นั้น คือ "ทาสแท้" และ "ธาตุแท้" ของ “ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ” ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์ที่รังแต่จะบั่นทอนสุขภาพจิตกับร่างกายตัวเอง ส่งผลให้เจ็บป่วยเรื้อรังทั้งทางใจกับกาย บนความร่ำรวยยิ่งใหญ่ที่มีคนคอยป้อนยาป้อนน้ำด้วยช้อนทองฝังเพชร ดังตัวอย่างที่พบเห็นบ่อยๆ
โดยที่เป็นคลังแห่งข้อมูลความรู้ทั้งปวง เช่น วัฒนธรรม ศาสนา วรรณคดี ศิลปะ การดนตรี ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ สัตวศาสตร์ บรรพชีวินวิทยาปรัชญา ดาราศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ตลอดจนวิชาชีพต่างๆ เป็นต้น "ห้องสมุดประชาชน" จะสามารถจุดประกาย "ความอยากรู้" ท้าทายจิตวิญญาณของ “เด็กวันนี้” และอำนวยแสงสว่างให้ “ผู้ใหญ่วันหน้า” มองเห็นคำเฉลยอันชอบธรรมสำหรับตอบโจทย์ในชีวิต โดยเฉพาะรู้จัก “รักษาตัวรอดจากอวิชชาเป็นยอดดี” ทั้งนี้ เป็นการพัฒนา "ทรัพยากรมนุษย์" ที่จำเป็นยิ่งต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองทั้งทางจิตใจและวัตถุ
"ห้องสมุดประชาชน" จำต้องมี “บรรณารักษ์” ซึ่งสังคมไทยยังไม่ได้ให้การยอมรับในศักดิ์ศรีของอาชีพอย่างเหมาะควร ทั้งๆที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการนี้ รัฐบาลน่าจะพิจารณาจัดตั้งทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก สาขาวิชา "บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์" อย่างพอเพียง สำหรับเล่าเรียนในสหรัฐฯ เพื่อรองรับ “การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ” อย่างสมจริง
การสำรวจรายหนึ่งในสหรัฐฯ พบว่า ประชาชนใช้บริการ "ห้องสมุดประชาชน" บ่อยกว่าโรงภาพยนตร์ถึงครึ่งเท่า สังเกตได้ว่า หลังเลิกเรียนแล้ว นักเรียนจะนิยมเข้าห้องสมุดประชาชนกันหนาตา เพื่อค้นหาหนังสือและใช้คอมพิวเตอร์สืบค้นข้อมูลความรู้ทางอินเตอร์เน็ต ทำการบ้าน เขียนรายงาน ยิ่งกว่านั้น ในช่วงบ่ายเย็นบางวัน บรรณารักษ์จะจัดรายการพิเศษ อ่านนิทานประกอบภาพให้เด็กระดับอนุบาลฟัง เพื่อเสริมสร้าง "จินตนาการ" และความคุ้นเคยกับห้องสมุดให้เกิดขึ้นกับเด็กน้อยเหล่านี้แต่เยาววัย
บรรณารักษ์กำลังเล่านิทานให้เด็กๆฟังที่ห้องสมุดซอกัส รัฐแมสซาชูเซทส์ สหรัฐฯ ภาพ ห้องสมุดฯ
“ห้องสมุดประชาชน” ของสหรัฐฯ เริ่มมีขึ้นเมื่อ 284 ปีก่อน ปัจจุบัน มีถึง 9,041 แห่ง (สถิติสถาบันพิพิธภัณฑ์และบริการห้องสมุด 2555) ทั่วสหรัฐฯ โดยมีเจตนารมณ์ส่งเสริมประชาชนให้มีความรอบรู้ ความชาญฉลาด นอกเหนือจากการเรียนรู้ในห้องเรียน เพื่อเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อชาติบ้านเมือง
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมี “ห้องสมุดรัฐสภา” ที่ยังครองตำแหน่งแชมป์ห้องสมุดใหญ่ที่สุดของโลก ติดต่อกันมา 25 ปี โดยมีสิ่งตีพิมพ์ประเภทหนังสืออย่างเดียวนับได้ 23.5 ล้านเล่ม (มีภาษาไทยด้วย) และมีสื่อบันทึกประเภทอื่นๆอีกมหาศาล ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการศึกษาหาความรู้ของ "ผู้แทนราษฏร" เพียง 535 คน เป็นสำคัญ ประชาชนมีสิทธิ์เข้าไปใช้บริการได้ แต่ยืมหนังสือและสื่อต่างๆออกไปไม่ได้ รัฐใช้งบประมาณ 600 ล้านดอลลาร์ต่อปี (1 ต่อ 32 บาท) สำหรับบำรุงรักษาห้องสมุดยักษ์นี้
หาก "ผู้แทนราษฎร" ไทยไม่สนใจที่จะอ่านหนังสือหรือใช้ "ห้องสมุดรัฐสภา" อันทรงเกียรติที่สร้างด้วยเงินมหาศาลจากภาษีราษฎร ก็เป็นสิทธิ์และทางเลือกของเขา แต่บรรดาราษฎรชั้นสูงและข้าราชการเกษียณงาน ผู้มี "จิตสำนึกต่อสังคมกับแผ่นดิน" ที่ได้อำนวยโอกาสให้ตนได้รับสิ่งดีงามนานาประการ น่าจะช่วยกันสร้างหรือเสริมสร้าง "ห้องสมุดประชาชน" อย่างน้อยหนึ่งแห่งต่อจังหวัด เพื่อให้ประชาชนทุกวัยได้มีโอกาสพัฒนาวิชาความรู้ความช่ำชองโลกให้กับตนเอง เริ่มก้าวสู่การปฏิวัติตนเอง และพึ่งพิงตนเอง โดยไม่ต้องคอยพึ่งพา "ผู้แทนราษฎร" ให้ชักนำตนไปตามวาระซ่อนเร้นของนักการเมืองอย่างเคย
การปลูกป่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ฉันใด การเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการสร้าง "ห้องสมุดประชาชน" ก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ฉันนั้น
ทั้งนี้ "ผู้แทนราษฎร" ในอนาคต จะได้ตื่นตัวพากันหันหน้าเข้าไปศึกษาวิจัยใน "ห้องสมุดรัฐสภา" อันทรงเกียรติบ้าง เพื่อจะได้ไม่ต้องอับอายขายหน้าเด็กๆทั้งหลายที่พากันเข้าไปใช้บริการ "ห้องสมุดประชาชน" กันอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ.