กตัญญูกตเวที โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต dhanarat333@gmail.com
ภูมิ เว สัปปุริสานัง กตัญญูกตเวทิตา
ความกตัญญูเป็นพื้นฐานของคนดี
พระพุทธเจ้า
โลกอาจรอดได้แม้เพราะกตัญญูกตเวที
พุทธทาส อินทปัญโญ
ไม่มีใครมีไม้กายสิทธิ์สำหรับเนรมิตความเจริญสุขให้กับตนได้ แต่ทุกคนมี “พลังกายสิทธิ์” ซึ่งได้แก่ “กตัญญูกตเวที”
ศาสนาระดับโลกทั้งหลายมีคำสั่งสอนตรงกันอยู่ข้อหนึ่ง คือ มวลมนุษย์พึงปฏิบัติต่อกันด้วย “เมตตาจิต”
ทว่า ในโลกเทคโนโลยีของ “วัตถุเงินทองนิยม” มวลมนุษย์มีความหวงแหนในวัตถุเงินทองมาก เพราะ หามาได้ด้วยความลำบากยากยิ่ง เมตตาจิตจึงกลายเป็นความหรูหราฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นในโลกที่ผู้คน นิยมแข่งขันกันบริโภคเพื่อมิให้น้อยหน้าชาวบ้าน
เมตตาจิตคือจิตปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเป็นสุข โดยการให้ถ้อยคำสิ่งมงคลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ด้วยความเต็มใจปราศจากเงื่อนไข ทำให้ผู้รับมี “กตัญญู” ความรู้สึกซาบซึ้งในเมตตาจิตนั้น และมี “กตเวที” ความรู้สึกต้องการตอบแทนการทำบุญ ทำคุณต่อตน เพื่อยกย่องนับถือน้ำใจนั้นด้วย “ความจริงใจ”
กตัญญูกตเวทีก็คือ “ความรู้สำนึกในบุญคุณและได้ตอบแทนให้ปรากฏ” ต่อต้นกำเนิดของ “บุญคุณ” เช่น บิดามารดาผู้ให้การอุปการะเลี้ยงดูฝึกอบรมเรามาแต่เกิด แผ่นดินที่อำนวยโอกาสให้เราได้รับสรรพสิ่งอันมีคุณค่ากับราคามาตลอดชีวิต ประชาชนผู้ให้โอกาสนักการเมืองได้รับการเลือกตั้ง แม้กระทั่งศัตรูคู่ปรปักษ์ผู้ทำให้เราต้องปรับปรุงสมรรถภาพตนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เป็นต้น
นักจิตวิทยาสมัยนี้มีผลวิจัยเกี่ยวกับกตัญญูกตเวทีมากมาย พอสรุปได้บ้าง ดังนี้
ศาสตราจารย์จิตวิทยา จี โบโน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยนักเรียนอายุ 10-14 ปี จำนวน 700 คน ติดต่อกัน 4 ปี เกี่ยวกับ “กตัญญูฯ” ซึ่งกำหนดนิยาม เชิงวิทยาศาสตร์ไว้เป็น “การมองโลกเชิงเสริมสร้าง”
ดร.โบโนพบว่า ในปีที่สี่ กลุ่มผู้ได้คะแนนกตัญญูฯในระดับ 20% บนสุด มองเห็นความหมายในชีวิตตนและมีความพอใจในชีวิตตนเพิ่มขึ้น 15 % มีอารมณ์ทำลายลดลง 13 % มีจิตโศรกซึมลดลง 15 % ในขณะที่มีความสุขและความหวังในชีวิตเพิ่มขึ้น 17 % จากปีแรก และพบว่า ผู้มีคะแนนกตัญญูฯสูงมักเป็นผู้มี พฤติกรรมคดโกง ใช้สุรายาเสพติด และฝ่าฝืนระเบียบ กฎเกณฑ์ในจำนวนน้อยคนเท่านั้น
ดร.โบโนสรุปว่า “กตัญญูกตเวทีคือคุณธรรมเด่นชัดที่สังคมจำต้องทำการปลูกฝังไว้ในบุตรหลาน เรา เพื่อช่วยกันเสริมสร้างโลกใบนี้ไว้”
รองศาสตราจารย์จิตวิทยา เจ ฟรอช์ มหาวิทยาลัยฮอฟสตร้า รัฐนิวยอร์ก ได้ทำการวิจัยนักเรียนอายุ 14-19 ปี 1,035 คน พบว่า ผู้มีกตัญญูฯเด่นชัด มักทำคะแนนเฉลี่ยสะสมผลการเรียนได้สูงกว่า มีความพอใจในชีวิตตนมากกว่า มีการสมาคมสังสรรค์บ่อยกว่า มีความอิจฉาริษยาน้อยกว่า และมีวัตถุนิยมน้อยกว่าเพื่อนๆ ที่มีคะแนนกตัญญูฯน้อยกว่าตน และพบว่ากตัญญูฯมีอิทธิพลสูงกว่าวัตถุนิยมต่อชีวิตประจำวันของวัยรุ่นเหล่านี้
ดร. ฟรอช์ ชี้แนะไว้ว่า “วิธีเยียวยาวัตถุนิยมที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งได้แก่การฝึกฝนวัยรุ่นให้มีความรู้สึกขอบ คุณซาบซึ้งใจในสิ่งที่ตนมีอยู่”
ดร. อาร์ เอ็มมอนส์ ศาสตราจารย์จิตวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เดวีส สรุปผลวิจัย ของตนไว้ว่า “ผู้มีกตัญญูฯมักแสดงอารมณ์เสริมสร้าง คือ มีความเบิกบานใจ ความกระตือรือร้น เมตตาจิต ความสงบสุข และการมองในแง่ดีมากกว่าผู้ไม่มี อีกทั้ง สามารถยับยั้งอารมณ์ทำลายล้างที่เกิดจากความอิจฉาริษยา ความขุ่นเคือง ความโลภ และความขมขื่นใจ ของตน”
วารสารบุคลิกภาพและจิตวิทยาทางสังคม เสนอ ไว้ว่า ผู้ที่ทำบันทึกสรรพสิ่งดีงามที่ตนได้รับหรือที่มีอยู่ ในโลกนี้ ด้วยความรู้สึกขอบคุณเป็นประจำ มักมองเห็นความสดชื่นในชีวิตและนึกคิดในเชิงเสริมสร้างได้มากขึ้น วารสารจิตวิทยาประยุกต์:สุขภาพกับความอยู่ดีมีสุขรายงานว่า เมื่อได้ใช้เวลา 15 นาทีก่อนนอน ระลึกถึงและบันทึกสรรพสิ่งดีงามที่เราได้รับด้วยความซาบซึ้งในน้ำใจของผู้ให้ เราจะสามารถหลับได้รวดเร็วและยาวนานกว่าไม่ได้ทำ
วารสารความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเสนอว่า เมื่อ สามีภรรยาได้แสดงต่อกันถึงความซาบซึ้งใจในสิ่งดีงามที่ต่างได้รับจากกัน ความสัมพันธ์ระหว่างกันจะพัฒนาเข้มแข็งยิ่งขึ้น
วารสารหทัยวิทยาอเมริกันรายงานว่า เมื่อได้แสดงความรู้สึกขอบคุณและอารมณ์เสริมสร้างออกมา เราจะสามารถช่วยอภิบาลการเต้นของหัวใจได้
นอกจากนี้ ยังมีวิจัยอื่นๆ ที่พบว่า กตัญญูฯสามารถ ช่วยนักกีฬาไม่ให้เหนื่อยล้าอ่อนแรงได้ง่าย สร้างความ พอใจในระดับสูงต่อตนเองและทีมกีฬาตน และเสริมภูมิคุ้มกันต่ออารมณ์ทำลายล้างที่เกิดขึ้นเมื่อประสบ กับการสูญเสียอย่างใหญ่หลวง
เหตุใดกตัญญูฯจึงอำนวยแต่สิ่งดีงามแก่เรา?
เราต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นนับแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา เมื่อเกิดมาแล้ว เรายังต้องพึ่งพาบิดามารดา ผืนแผ่นดินที่อาศัยอยู่ ตลอดจนผู้อื่นๆ ในสังคม โดยต่าง พึ่งพากันและกันเป็นคู่ๆ เช่น คู่แพทย์กับชาวนา คู่ชาวนากับนักการเมือง และคู่นักการเมืองกับราษฎร เป็นต้น
นอกจากนี้ เรายังได้พึ่งพาบรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย ชาวเอเชียและอินเดียนแดงสืบทอด ประเพณีนิยมเก่าแก่นับพันๆ ปีที่ให้แสดงคารวะต่อบรรพชน เพราะตระหนักดีว่า ทุกคนเกิดมาด้วย “บารมี” ของบรรพชนผู้ได้ฟันฝ่าชีวิตด้วยสุขกับทุกข์ และได้สละ ชีวิตต่อสู้กับภัยต่างๆ เพื่อตัวเองและผู้อื่นมาแล้ว
นักบรรพชีวินวิทยาค้นพบว่า บรรพชนโบราณเริ่ม ลุกขึ้นยืนแล้วเดินด้วยสองขาหลังเมื่อราวสี่ล้านปีก่อน และมีมันสมองที่เริ่มทำงานอย่างในปัจจุบันเมื่อราวแสนกว่าปีนี้เอง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ผ่านการวิวัฒนาการมายาวนานและบันทึกเป็นมรดกสืบทอดมาในรหัสพันธุกรรมของเรา ส่งผลให้เราเป็นสัตว์ประเสริฐที่มี สมรรถภาพสูงกว่าสัตว์โลกอื่นๆ มิฉะนั้น เราก็จะยังเป็นสัตว์เดรัจฉานเลื้อยคลานอยู่อย่างตัวหางแดงนั่น
เมื่อเราจำต้องพึ่งพากันดังกล่าวแล้ว กตัญญูฯ คือ พลังจากธรรมชาติภายในตัวเราที่สนับสนุนให้เราหันหน้าเข้าหากัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติเอง
แล้วทำไมโลกนี้จึงยังมีคนอกตัญญูอยู่อีก?
เรายังมีผู้ที่หลงผิดอยู่ว่า วัตถุบนโลกนี้ล้วนซื้อขาย แลกเปลี่ยนด้วยเงินทองตามความพอใจได้หมด แม้ กระทั่งชีวิตมนุษย์ จึงไม่มีใครเป็นหนี้บุญคุณใคร กตัญญูฯก็กลายเป็นเรื่องไร้สาระ มีแต่เรื่องทวงหนี้สินกันเท่านั้น
ผู้หลงผิดบูชาและเป็นทาสของวัตถุเงินทอง คือผู้ ที่ตาบอดมองไม่เห็น “คุณธรรม” หรือ “กตัญญูฯ” ที่ “ค้ำจุน” โลกใบนี้อยู่ เสมือนบัวใต้น้ำที่จมอยู่ที่ก้นบึ้ง อยู่กับความมืดมิดขุ่นมัวของโคลนตม ทำให้มองไม่ เห็น “แสงธรรม” ที่ฉายแสง “คุณธรรมกตัญญูฯ” อยู่ บนผิวน้ำ
ผู้หลงผิดดังกล่าวได้แก่ “คนอกตัญญู” ที่ชวสกุณชาดกเตือนไว้ว่า “กตัญญูกตเวทีไม่มีในคนใด การคบกับคนนั้นก็ไร้ประโยชน์”
แม้ว่าผู้มีเมตตาจิตจะไม่อยู่หรือไม่ประสงค์จะรับการตอบแทนบุญคุณ เราก็ย่อมสามารถที่จะทดแทนการตอบแทนนั้นได้ด้วยการแสดงเมตตาจิตต่อผู้อื่นที่กำลังต้องการความช่วยเหลืออยู่
ไม่มีใครมีไม้กายสิทธิ์สำหรับเนรมิตความ เจริญสุขให้กับตนได้ แต่ทุกคนมี “พลังกายสิทธิ์” ซึ่งได้แก่ “กตัญญูกตเวที” ที่มีศักยภาพเสริมสร้าง “สวรรค์บนดิน” ให้แก่ตนและผู้อื่นได้
ซิเซอโร่ นักปราชญ์นักการเมืองชาวโรมันสมัย 21 ศตวรรษก่อน ประกาศไว้ว่า “หัวใจของกตัญญูกตเวทีมิได้เป็นเพียงหัวใจของคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่านั้น แต่เป็นหัวใจอันเป็นบ่อเกิดของคุณธรรมทั้งปวงด้วย”
กตัญญูกตเวทีก็คือพรจากธรรมชาติที่ช่วยให้มวลมนุษย์สามารถอยู่ด้วยกันอย่างเจริญสุขได้.
No comments:
Post a Comment