Wednesday, April 29, 2015

วัฒนธรรมพาณิชย์

โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com


เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 นายโมฮาเหม็ด บูอาซิซิ ชาวตูนิเซียวัย 26 ปี จุดไฟเผาตัวเองหน้าที่ทำการของผู้ว่าการท้องถิ่น เพื่อประท้วงความไม่เป็นธรรมในสังคมนายโมฮาเหม็ดเป็นชายโสดยากจน มีอาชีพเร่ขายผลไม้สดมาแต่เยาว์วัย นอกจากลูกค้าขาประจำแล้ว บางวันก็มีตำรวจคอยเข้ามารังควาน โดยกุข้อหาไม่มีใบอนุญาต ซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องมี แล้วขู่กรรโชกเรียกสินบน

ต่อมานายโมฮาเหม็ดยอมลงทุนกู้หนี้ยืมสิน ได้เงินมาก้อนหนึ่งราว 6,000 บาท แล้วนำไปซื้อผลไม้สดหลากหลายมากขึ้นมาขายและซื้อเครื่องชั่งอย่างดีมาใช้ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาอุดหนุนเพิ่มขึ้น

เช้าวันที่ 17 นั้น นายโมฮาเหม็ดเข็นรถเร่โฉมใหม่ออกประเดิมขายตามเส้นทางเดิม สักครู่ตำรวจก็เข้าไปกุข้อหาไม่มีใบอนุญาตอีก เมื่อไม่ได้ "ค่าปรับ" ตำรวจก็ยึดผลไม้ เครื่องชั่งกับรถเข็นทั้งหมดทันที โดยไม่ฟังเสียงว่ายังขายอะไรไม่ได้เลย

ในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัวและเป็นหนี้สินหนักอึ้งมาหมาดๆ นายโมฮาเหม็ดตกอยู่ในสภาพช็อก สะเทือนใจสุดขีด เลือดขึ้นหน้า แล้ววิ่งไปร้องทุกข์กับผู้ว่าการท้องถิ่นทันที ทว่า ผู้ว่าการฯ กลับนิ่งเฉย ไม่ยอมรับรู้อะไรทั้งสิ้น

เมื่อถูกตำรวจรังแกและผู้ว่าการฯ ทอดทิ้งซ้ำเติม นายโมฮาเหม็ดก็ให้รู้สึกว่า ชีวิตตนนี่ช่าง "สิ้นไร้ไม้ตอก ไร้ความหมาย" เสียจริงๆ จึงซื้อน้ำมันเบนซินมาขวดหนึ่ง แล้วประกาศว่า หากผู้ว่าการฯ ไม่ออกมารับเรื่องร้องทุกข์ ตนจะใช้น้ำมันเบนซินในมือราดตัว แล้วจุดไฟเผาตัวเอง กระนั้นก็ตาม ผู้ว่าการฯ ก็ยังนิ่งเฉยอยู่ ในที่สุดนายโมฮาเหม็ดตัดสินใจด้วยความห้าวหาญ ทำตามประกาศทันที

ปรากฏว่า นายโมฮาเหม็ดถูกไฟเผาไหม้เสื้อผ้า เนื้อหนังไปราว 90% ของร่างกาย ตกอยู่ในสภาพไม่รู้สึกตัวจนถึงวันที่ 4 มกราคม 2011 ก็สิ้นลมหายใจ

ในบัดดล นายโมฮาเหม็ดได้รับการยกย่องเป็นวีรชนพลีชีพต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม และกลายเป็นชนวนก่อให้เกิดการประท้วงรัฐบาลตูนิเซียอย่างรุนแรงทั่วประเทศ จนกระทั่งประธานาธิบดีตูนิเซีย นายเบน อาลี กับครอบครัวต้องวิ่งหัวซุกหัวซุนหาประเทศลี้ภัยแทบเอาตัวไม่รอด

ยิ่งกว่านั้น นายโมฮาเหม็ดยังกลายเป็นชนวนจุดระเบิดการประท้วงด้วยการเผาตัวเองตายในอีกหลายประเทศ ก่อให้เกิด "ความปั่นป่วนทางการเมือง" ในกลุ่มประเทศอาหรับ จนได้รับการขนานนามเหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้ว่า "การลุกฮือในอาหรับ"

กรณีของนายโมฮาเหม็ดนี้ บ่งบอกถึงพิษสงร้ายกาจยิ่งของ "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ที่ถือว่า "ค่าของคน" อยู่ที่ "วัตถุเงินทอง" ที่มีอยู่ คือ ยิ่งมีวัตถุเงินทองมากก็ยิ่งมีศักดิ์กับสิทธิ์มาก..ยิ่งมีอำนาจมาก..ยิ่งอยู่เหนือผู้อื่นใดทั้งสิ้น โดยไม่คำนึงว่าจะได้วัตถุเงินทองมาโดยชอบด้วยศีลธรรมจริยธรรมนิติธรรมหรือไม่

ชีวิตประจำวันของ "สาวกลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" นี้ วนเวียนอยู่กับการหายใจเข้าเป็นเงินทอง หายใจออกเป็นวัตถุ โดยอยู่กับ "วัฒนธรรมซื้อขายครอบครอง" ทุกอย่างที่ขวางหน้า มองเห็นมนุษย์เป็นวัตถุไร้ความรู้สึกที่ซื้อขายกำจัดได้อย่างผักปลา และถือว่าจุดหมายปลายทางสำคัญกว่าวิถีทาง

ตำรวจชั่วดังกล่าวคือ "เจ้าหน้าที่รัฐ" ผู้สวม "จิตวิญญาณ" และถือปฏิบัติตาม "วัฒนธรรมพาณิชย์" ดังกล่าวของสาวกนี้เป็นประจำ จนกระทั่งเลิก "คิด พูด ทำ" แบบ "เจ้าหน้าที่รัฐ" ที่โปร่งใส และเริ่มคิดพูดทำแบบ "เจ้าหน้าที่รัฐพาณิชย์" ที่โกงกินอย่างสาวก

ในกรณีของไทย ข้าราชการผู้สวม "จิตวิญญาณ" และถือปฏิบัติตาม "วัฒนธรรมพาณิชย์" ของสาวกเป็นประจำ ก็จะเริ่ม "คิดพูดทำ" แบบ "ข้าราชการพาณิชย์" ที่โกงกินอย่างสาวกเช่นกัน

สาวกสามารถทำให้หน่วยราชการหนึ่งใด คิดพูด ทำตาม "วัฒนธรรมพาณิชย์" ของตนได้ง่ายมาก เพียงลงทุนซื้อข้าราชการ สำคัญๆ ไว้ แล้วบงการให้ทำราชการตาม "รัฐพาณิชย์ธรรมนูญแห่งตน" ซึ่งกำหนดแต่สิทธิของตน มิใช่ตาม "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ซึ่งกำหนดสิทธิกับหน้าที่ของประชาชนทั้งประเทศ

เมื่อสาวกต้องการยึด "รัฐวิสาหกิจ" ใด ก็กุเรื่องไร้สาระขึ้นมาเป็นข้ออ้างสำหรับแปรรูปรัฐวิสาหกิจเดิม ให้เป็นรัฐวิสาหกิจใหม่ ตาม "รัฐพาณิชย์ธรรมนูญแห่งตน" ส่วนผลกำไรขององค์กรใหม่นี้ ย่อมเป็น "หญ้าปากคอก" ของสาวก

ผู้เคราะห์ร้ายที่สุดได้แก่ราษฎรผู้เป็นลูกค้าของรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูปเป็น "รัฐพาณิชย์วิสาหกิจ" ซึ่งมุ่งกอบโกยเงินทองมากกว่าดูแลภาวะอยู่ดีกินดีของราษฎร ผู้ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องตกอยู่ในสภาพ "สิ้นไร้ไม้ตอก" และ "กินน้ำใต้ศอก" เช่นนี้ เพราะว่ารัฐวิสาหกิจเดิมเป็นองค์กรที่ตราตั้งด้วยนิติธรรมและเจตนารมณ์ให้บริการแก่ราษฎรทุกคน มิใช่เฉพาะสาวกผู้ถือหุ้นและมีเงินล้นฟ้าท้ามหาสมุทร

รัฐบาลชุดต่างๆ ในอดีตได้ทำการแปรพันธุ์ "พลังงานชาติ" ให้เป็น "พลังงานพาณิชย์" โดยจำยอมเปิดสัมปทานการบริหารพลังงานชาติให้กับกลุ่มทุนผูกขาดต่างชาติหลายครั้งด้วยสัญญากับเงื่อนไขที่ไทยเสียเปรียบ

ในช่วงเวลานี้ ได้จังหวะเวลาที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องพิจารณาในประเด็นวิกฤติที่ว่า ไทยควรเปิดสัมปทานพลังงานชาติครั้งที่ 21 ให้กับเอกชนต่างชาติเมื่อใด

เสียงที่พึงรับฟังเพื่อพิจารณาได้แก่ เสียงที่แสดงออกถึงความเป็นเอกเทศอิสระจาก "วัฒนธรรมพาณิชย์" ซึ่งน่าจะได้แก่เสียงข้างมากจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช. และ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดจนเสียงจากบรรดาผู้นำภาคประชาชนที่กล้าออกมาแสดงจิตวิญญาณประชาธิปไตย เพื่อเสนอแนะทางเลือกที่ให้แก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมก่อนเปิดสัมปทานครั้งที่ 21

ข่าวน่ายินดีล่าสุดระบุว่า รัฐบาลได้ตัดสินใจชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แล้ว ตามข้อเสนอดังกล่าว

นอกจากนี้ สาวกยังได้เข้าครอบงำ "การเมืองประชาธิป ไตย" โดยทำการแปรพันธุ์ "ข้าราชการการเมือง" เดิมให้ "คิด พูด ทำ" ตาม "วัฒนธรรมพาณิชย์" ของสาวก จนกลายพันธุ์เป็น "ข้าราชการการเมืองพาณิชย์" ส่งผลให้ชาติอยู่ใต้ "รัฐพาณิชย์ธรรมนูญแห่งตน" ของสาวก ส่วน "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" นั้น เหลืออยู่แต่ชื่อสำหรับอ้างอิงให้อุ่นใจเท่านั้น

"การเมืองพาณิชย์" พันธุ์อุบาทว์ใหม่นี้ มีกติกาบีบบังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนต้องทุ่มเทเงินทุนมหาศาล เพื่อจะได้ชนะเลือกตั้ง และเปิดโอกาสให้ทุนสามานย์แอบส่งสมุนรับใช้เข้าแข่งขันเลือกตั้ง ซุ่มจ้างวานมืออาชีพลอบทำร้ายคู่แข่ง รวมทั้งซ่องสุมวิ่งเต้นสมาชิกสภานิติบัญญัติบางคน ให้ออกกฎหมายที่อำนวยประโยชน์ต่อตน ทั้งนี้ เป็นการบ่อนทำลายการเมืองระบบประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง

"สถาบันศาสนา" ซึ่งน่าจะใสสะอาดอยู่ ก็ยังมิวาย "คิด พูด ทำ" ตาม "วัฒนธรรมพาณิชย์" ของสาวก จน "วัดพุทธ" หลายแห่งได้แปรพันธุ์เป็น "วัดพุทธพาณิชย์" ไปแล้ว ในขณะที่การบริหารของสถาบันนี้ กำลังเอนอ่อนไปตาม "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ดังเช่นกรณีพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) และพระคึกฤทธิ์ (โสตฺถิผโล) เป็นต้น

แม้ข้าราชการผู้ไม่ได้ขายตัวให้แก่ใคร ก็สามารถน้อมรับ "วัฒนธรรมพาณิชย์" และเข้าร่วมโกงกินงบประมาณแผ่นดิน ละทิ้งหรือละเมิดหน้าที่รับผิดชอบจนโครงการจำนำข้าวนับแสนล้านบาทล่มสลาย ส่งผลให้ชาวนาฆ่าตัวตายไปหลายราย ตลอดจนใจกล้าหน้าด้าน ขยิบตาเชื้อเชิญต่างชาติให้ยึดครองผลประโยชน์ของไทยแบบหน้าตาเฉย ไร้ความสำนึกผิดในกิจกรรมปล้นชาติของตนโดยสิ้นเชิง

ส่วน "องค์กรสื่อสารมวลชน" นั้น บางรายก็ได้แปรสายพันธุ์ตัวเองเป็น "องค์กรสื่อสารมวลชนพาณิชย์" ของสาวกแล้ว

สรุป "วัฒนธรรมพาณิชย์" ของสาวก เปรียบได้กับ "เชื้อโรค" ที่ระบาดอย่างเงียบๆ สู่ทุกคนหรือองค์กรได้ ผู้ใดที่ไม่ยอมสยบต่อโรคนี้ จะไม่ได้รับเมตตาปรานีจากสาวก ผู้ไร้ทั้งมโนธรรมและความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ขนาดได้ทำให้นายโมฮาเหม็ดและชาวนาไทยฆ่าตัวตายได้

โรคจัญไรนี้เกิดจาก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ที่เติบโตมาอย่างผิด "กฎแห่งธรรมชาติ" เสมือน "มะเร็ง" ที่เกาะกินทำลายร่างกายผู้ป่วยจนแตกดับทั้งผู้ป่วยและตัวมะเร็งเอง ดังกรณีประเทศตูนิเซียเมื่อปี 2553 ที่ติดโรคจัญไรนี้ ส่งผลให้บรรดาผู้นำประเทศเผ่นหนีทิ้งบ้านเมืองไว้กับความล่มจมหายนะ

เราผู้เป็นสาวก "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" พึงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทต่อโรคจัญไรนี้ เพื่อจะได้รู้ทัน ปกป้องตนจากพิษสงมหันตภัยของโรค ทั้งนี้ ด้วยการยืนหยัด และส่งเสริมให้สังคม "คิด พูด ทำ" ตาม "วัฒนธรรมไทยเดิม" ซึ่งมีรากฐานมาจาก "พระพุทธศาสนา" ก่อนที่จะสายเกินไป.

No comments:

Post a Comment