Wednesday, April 29, 2015

สมัชชาพลเมืองกับสภาพลเมือง
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต


คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ร่างแรก โดยระบุเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไว้ 4 ข้อ คือ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม และนำชาติสู่สันติสุข


นับเป็นข่าวน่ายินดีที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 มีเจตนารมณ์อันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยอยู่ข้อหนึ่ง คือ "สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่" เพราะพลเมืองหรือปวงชนตามระบอบนี้คือผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแห่งแผ่นดินไทย โดยมุ่งหมายให้มีบทบัญญัติประมวลกฎหมายท้องถิ่น ให้กระจายอำนาจสู่พลเมืองเพิ่มขึ้น


กลยุทธ์ของการกระจายอำนาจตามร่างรัฐธรรมนูญนี้อยู่ที่การจัดตั้ง "สมัชชาพลเมือง" ขึ้นมา เพื่อให้มีส่วนร่วมตัดสินใจดำเนินงานกับ "ผู้มีอำนาจ" สมัชชานี้ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากองค์ประกอบหลากหลายพลเมืองในท้องถิ่น และมาจากการสมัครใจที่ไม่รับผลตอบแทนใดๆ สำหรับการใช้เวลาหรือทรัพยากรส่วนตัว ทั้งนี้ เป็นองค์กรที่จำกัดอยู่กับการแสดงความคิดเห็นหรือชี้แนะ โดยมุ่งหมายให้ฝ่าย "ผู้มีอำนาจ" มาหารือกับตนในฐานะตัวแทนประชาชน


พูดง่ายๆ ก็คือ สมัชชาพลเมืองเปรียบได้กับแมวที่มีหน้าที่คอยจับตาป้องปรามหนูที่ชอบขโมยของกินของใช้ในบ้าน แม้ว่าแมวจะมีสิทธิ์เรียกร้องให้หนูมาพูดคุยกับตน เพื่อให้เกิดความเจริญสุขในบ้าน แต่หนูบางตัวก็คือหนูที่เกิดมาเพื่อแอบทำลายข้าวของส่วนรวมที่ขวางหน้าอยู่ ฉะนั้น แมวกับหนูจะพูดคุยกันอย่างไรๆ ก็สิ้นสุดกันที่ "น้ำลาย" เท่านั้น ส่วน "น้ำมือ" จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างไรหรือไม่นั้น ก็อาจเป็นแค่ความใฝ่ฝัน


หนูบางตัวก็แสนฉลาด รู้จักเอาใจแมวสารพัด จู่ๆ ก็อาจมีหนูใจดีแต่เป็นหนูขี้อายไม่ประสงค์จะออกนาม เที่ยววาง "ข้าวยาปลาปิ้ง" กลิ่นหอมฉุยสุดรัญจวนกวนใจยิ่งทิ้งไว้ทั่วบ้าน ต่อให้เป็นแมวระดับใกล้อรหันต์ เมื่อเจอภาวะ "สวรรค์บนดิน" จะหนึ่งหรือหลายครั้งก็ตาม ตบะก็มีสิทธิ์กลายเป็นหม้อดินที่เปราะแตกได้ง่าย ไม่ช้าก็เร็ว


อย่าลืมว่า แมวหรือหนูโดยทั่วไปต่างก็อยู่ภายใต้ "กฎแห่งธรรมชาติ" เดียวกัน
อย่าได้แปลกใจเลยที่อาจมีแมวบางตัวที่ได้กิน "ข้าวยาปลาปิ้ง" เข้าไปแล้ว ก็รู้สึกอิ่มหมีพีมันสุดๆ ก้าวเดินได้สองสามก้าวก็ล้มตัวลงนอน อ้าปากหาวหวอดๆ แม้จะชายตามองเห็นหนูตัวเล็กๆ ตาดำๆ ตัวดำๆ วิ่งผ่านสายตาจากซ้ายไปขวา พร้อมมีของคาบคาอยู่ในปาก เจ้าแมวก็อาจเกียจคร้านเกินไปที่จะลุกขึ้นไปเชิญชวนเจ้าหนูมานั่งจับเข่าคุยกัน แต่จะทำเป็น "เอาหูไปนา เอาตาไปไร่" หรือทำเป็น "ขยันโง่" ขึ้นมาเสียฉิบ ส่วนเจ้าหนูนั่นก็อาจคายของลงบนพื้นชั่วคราว หันหน้าไปแยกเขี้ยวจุ๋มจิ๋ม อวดลิ้นสีแดง ส่งยิ้มให้กับแมว แถมยกเท้าหน้าขวาแสดงท่าไฮไฟว์ก่อนหายลับตาไปอีกด้วย

สมัชชาพลเมืองนี้เปรียบได้กับ "ขวดเหล้าใหม่" ที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้บรรจงสร้างขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์ที่ดีน่าสรรเสริญ แต่ขวดเหล้าใหม่นี้จะมีประโยชน์แน่แท้ปานใดก็ขึ้นอยู่กับ "เหล้า" ที่จะบรรจุเข้าไปอยู่ในขวดนั้น หากเป็นเหล้าดีในขวดดีสวยงาม ปวงชนก็จะได้ "เหล้าใหม่ในขวดใหม่" อันทรงคุณค่าและประโยชน์ ทว่า หากเป็นเหล้าที่พร่องในคุณภาพ ปวงชนเองก็จะได้ "เหล้าเก่าในขวดใหม่" ซึ่งจะไม่อำนวยความสมหวังตามเจตนารมณ์


เรื่องคุณภาพนั้น จำต้องใช้ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง คือ "เวลา" ที่พอเพียง เหล้าองุ่นจะดีมีคุณภาพสูงย่อมต้องได้รับการบ่มมานานพอ โจทย์ที่จะต้องตอบให้ในขณะนี้ คือ เราได้ใช้เวลาพัฒนาพลเมือง นักลงทุน นักการเมือง ตลอดจนข้าราชการทั้งหลายทั้งปวงให้ "ก้าว" สู่ความมีคุณภาพอย่างพอเพียงหรือยัง? สู่การเป็นนักประชาธิปไตยที่กอปรด้วยคุณธรรมกับจริยธรรมหรือยัง?


จริงๆ แล้ว การสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่นั้น ไม่จำต้องจำกัดอยู่กับการให้พลเมืองมีสิทธิ์เข้าไปดูแลหรือร่วมตัดสินใจในการทำงานกับ "ผู้มีอำนาจ" โดยเฉพาะกับนักการเมืองทุกระดับ ซึ่งมีความสามารถสูงในการแสดงละครน้ำเน่าที่มีแต่การลดแลกแจกแถม เพื่อยึดอำนาจอธิปไตยให้ได้ภายในเวลาสี่วินาที ในช่วงที่พลเมืองพากันเข้าแถวไปหย่อนบัตรเลือกตั้งให้กับตน


พลเมืองสามารถเป็นใหญ่ได้ทันที โดยมิต้องทำอะไรเลยก็ได้ หากรัฐธรรมนูญเพียงแต่มีบทบัญญัติที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ขั้นพื้นฐานโดยชอบของพลเมือง ให้ปลอดภัยจากการละเมิดกฎหมายบ้านเมืองหรือจริยธรรมโดยผู้มีอำนาจ ในรูปแบบโกงกินขายชาติ และหากข้าราชการเพียงแต่ทำตามหน้าที่รับผิดชอบลงโทษผู้ละเมิดให้หนักหนาสาสมกับความผิด ซึ่งจริงๆ แล้วเทียบเท่าได้กับการเป็นกบฏต่อชาติบ้านเมืองทีเดียว


ประเทศหนึ่งที่เอาจริงเอาจังในเรื่องกำจัดโรคโกงกินขายชาติได้แก่ประเทศจีน ผู้มีอำนาจใดที่มีเงินทองทรัพย์สินมากผิดสังเกตภายในระยะเวลารวดเร็วปานฟ้าแลบ จะได้รับการสอบสวนทันที ไม่ต้องเสียเวลาพูดคุยกันระหว่างพลเมืองกับผู้มีอำนาจ ในกรณีที่พบความผิดจริงก็จะมีการลงโทษอย่างจริงจังทันที หากผู้ต้องสงสัยหลบหนีไปต่างประเทศก็จะทำการไล่ล่าสุดขอบฟ้ากันทีเดียว


ในปี 2557 รัฐบาลจีนได้ขอให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจับกุมและส่งกลับอดีตผู้มีอำนาจจีนจำนวน 150 คน ด้วยข้อหาประกอบ "อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ" ต่อชาติบ้านเมือง ทั้งๆ ที่ทั้งสองประเทศนี้ต่างก็ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน


พลเมืองจะเป็นใหญ่อีกทางหนึ่งได้ทันที โดยให้มีบทบาทในการดูแลเสริมสร้างสังคมเศรษฐกิจในชุมชนตนด้วยตนเอง เพื่อให้มีการอยู่ดีกินดี คือ รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติส่งเสริมสนับสนุน ตลอดจนคุ้มครองให้พลเมืองมีสิทธิ์โดยชอบที่จะรวมตัวกันในระดับ "รากหญ้า" ในแต่ละตำบลหรือหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยเป็นการรวมตัวกันด้วยความสมัครใจ ไม่มีการตอบแทนเวลาหรือทรัพยากรใดๆ ที่ได้ใช้ไปกับการรวมตัวกันนี้


เจตนารมณ์ของ "กลุ่มรากหญ้า" นี้ อยู่ที่การมีโอกาสได้พิจารณาตัดสินใจที่จะกระทำหรือไม่กระทำการใดๆ เพื่อยกระดับพื้นฐานทางสังคมเศรษฐกิจในชุมชนตนให้สูงขึ้นไป เช่น ให้มีการฝึกฝนเล่าเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและวิชาชีพที่ทันสมัย และให้มีการผลิตและบริการที่สามารถเพิ่มรายได้และยกระดับมาตรฐานการครองชีพให้ดีขึ้น เป็นต้น


ในระยะแรกเริ่ม "กลุ่มรากหญ้า" นี้ จำต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยราชการต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในด้านความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการก่อตั้ง โครงสร้าง หน้าที่ ตลอดจนการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ดังกล่าว


กลุ่มรากหญ้านี้ ขอเรียกว่า "สภาพลเมือง" โดยพลเมืองในชุมชนเลือกตัวเองเข้าไปช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างสรรค์ความเจริญสุขให้กับชุมชนตน ในช่วงแรก อาจมีพลเมืองที่ลังเลใจ เพราะยังไม่เข้าใจในหลักการปกครองตนเองด้วยตนเอง ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรหนึ่งเดียว แต่คุ้นเคยชินชากับการบริการสำเร็จรูปตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาลโกงกินขายชาติ ที่มุ่งมั่นให้พลเมืองเป็นผู้คล้อยตามผู้มีอำนาจลูกเดียว ตามระบอบอัตตาธิปไตย


อย่างไรก็ตาม เมื่อพลเมืองในบางชุมชนมีโอกาสรวมตัวกันเป็น "สภาพลเมือง" และมีผลงานน่าชื่นชมแบบ "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" แล้ว บางชุมชนที่ลังเลอยู่และเริ่มมองเห็นผลงานดังกล่าว ก็อาจยอมรับมาเป็นตัวแบบได้ไม่ช้าก็เร็ว


ในทุกสังคมย่อมมีทั้งคนดีคนเลวปะปนกันอยู่ กระนั้นก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีอยู่ด้วยกันก็คือ "ความต้องการที่จะพัฒนาตนเองสู่ความเจริญสุข" การได้รวมตัวกันระดับรากหญ้า ภายใต้การดูแลใกล้ชิดและการชี้แนะจากหน่วยราชการ ย่อมมีโอกาสที่จะประสบผลดีได้มากกว่าการรวมตัวกันแบบตัวใครตัวมันหรือภายใต้ "การชี้นำ" โดยผู้ไม่หวังดีแต่ผู้เดียว ซึ่งก็กำลังเกิดขึ้นอยู่กับบางชุมชนในชนบทอยู่แล้ว และเมื่อยิ่งมีตัวบทกฎหมายที่ลงโทษผู้ไม่หวังดีต่อ "สภาพลเมือง" กำกับดูแลอยู่ โอกาสที่ "สภาพลเมือง" จะประสบความสำเร็จก็จะยิ่งมีมากขึ้น


ในโลกที่ไม่สมประกอบและลุ่มหลงอยู่กับ "วัตถุเงินทองนิยม" นี้ ไม่มีทางเลือกใดที่สมบูรณ์แบบไปหมดทุกอย่าง แต่ละทางเลือกย่อมมีข้อดีข้อเสียปะปนกันอยู่ แต่จะมีบางทางเลือกที่อำนวยผลตอบแทนในทางมงคล ที่คุ้มค่ามากกว่าทางเลือกอื่นอย่างที่ไม่ยอมทำอะไรเลยเนื่องด้วยความกลัวผิด ซึ่งเป็นทัศนคติที่ทำลายตัวเองยิ่งกว่าภัยใดๆ จากภายนอกตัวเองทั้งหมด


การให้พลเมืองเป็นใหญ่ด้วยการโอนบทบาทคอยจับผิดผู้อื่นให้นั้น มิใช่กลยุทธ์ที่ยั่งยืน เพราะอาจทำให้ผู้มีอำนาจที่มีความสุจริตใจไม่สามารถทำงานให้สัมฤทธิผลได้ เนื่องจากถูกจดจ้องจับผิดอยู่ตลอดเวลา กลายเป็น "ดาบสองคม" ที่ฟันทั้งคนดีและคนชั่วได้พร้อมกัน นอกจากนี้ การจับผิดผู้อื่นนั้น ทุกสังคมมีสถาบันที่ทำหน้าที่นี้ด้วยฝีมือระดับมืออาชีพอยู่แล้ว จะมัววุ่นวายไปไย?


ส่วนการให้พลเมืองเป็นใหญ่ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้พลเมืองรวมตัวกันเป็น "สภาพลเมือง" นั้น ได้แก่การปฏิบัติตามวัฒนธรรมของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ให้พลเมืองเป็นใหญ่ในการกำหนดวิถีชีวิตตน ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหนึ่งเดียว

ในการนี้ "สภาพลเมือง" จะทำหน้าที่กระจายอำนาจจากส่วนกลาง โดยถ่วงดุลกับ "สภาผู้แทนราษฎร" ในรัฐสภา และจะได้ไม่ต้องนิ่งเฉยคอยแบมือรับอะไรต่อมิอะไรก็ได้ ตามที่รัฐสภาหรือรัฐบาลจะโปรดปรานหยิบยื่นมาให้ ทั้งนี้ พลเมืองจะได้ช่วยผ่อนคลายภารกิจทางส่วนกลางลงได้อีกด้วย


โจทย์ในที่นี้ คือ จะให้พลเมืองเป็นใหญ่ด้วยการให้คอยจับผิดผู้อื่น หรือจะให้พลเมืองเป็นใหญ่ด้วยการให้ลงมือป้องกันแก้ไขปัญหาสังคมเศรษฐกิจในชุมชนตน ที่ตนรู้ดีกว่าบุคคลภายนอกด้วยตนเอง เพื่อจะได้ลดบทบาทของรัฐบาลโกงกินขายชาติ ที่อาจเข้ามาทำมาหากินสร้างอาณาจักรส่วนตัวตามกลยุทธ์มอมเมาพลเมืองด้วยนโยบายประชานิยมอย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีก.

No comments:

Post a Comment