Friday, May 15, 2015

ทำไมปาเกียวจึงแพ้?

โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com


ศึกชิงแชมป์รุ่นเวลเตอร์เวตโลก เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2558 ณ เมืองลาสเวกัส มลรัฐเนวาดา สหรัฐ ระหว่างฟลอยด์ เมย์เวตเธอร์ อายุ 38 ปี (ฟลอยด์) ชาวอเมริกัน และแมนนี ปาเกียว 36 ปี (ปาเกียว) ชาวฟิลิปปินส์นั้น วงการกีฬามวยสหรัฐถือว่าเป็นศึกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษ

ยิ่งใหญ่ที่สุดในด้านรางวัลตอบแทนที่สูงมากสุดๆ สำหรับนักมวยทั้งสอง คาดกันว่าตกราว 300 ล้านดอลลาร์ โดยใช้เวลาร่วม 5 ปีกว่าจะสรุปผลเจรจาลงนามในสัญญาได้ ซึ่งประกอบด้วยเงื่อนไขค่าตอบแทนนักมวย วิธีการตรวจร่างกายเพื่อป้องกันการแอบใช้ยาเพิ่มสมรรถภาพนักมวย ค่าลิขสิทธิ์จากการถ่ายทอดสด แผ่นดีวีดี ค่าโฆษณา ฯลฯ

ที่เกรียวกราวได้แก่คำให้สัมภาษณ์ของฟลอยด์ ผู้พูดในทำนองว่า ปาเกียวจุกจิกไล่ล่าเอาค่าตอบแทนสูงๆ ทำให้มีสัญญาล่าช้า ปาเกียวก็โต้ตอบด้วยคำท้าทายฟลอยด์ให้บริจาครายได้ทั้งหมดของนักมวยทั้งสองให้แก่การกุศล ฟลอยด์ต้องหน้าเสียไป ไม่รับคำท้าที่ปาเกียวท้าด้วยความจริงใจ เพราะปาเกียวเป็นคนใจบุญช่วยเหลือชาวฟิลิปปินส์ยากจนมามาก แถมใจกว้างควักเงินส่วนตัวซื้อตั๋วแจกแฟนมวยที่มาเชียร์ตน รวมเป็นเงินราว 4 ล้านดอลลาร์ ค่าตั๋วราคามีตั้งแต่ 3,500 ถึง 250,000 ดอลลาร์ต่อ 1 ที่นั่ง (1 ดอลลาร์ ตกราว 32 บาท) ตั๋วผีตั้งขายในราคานับล้านดอลลาร์ขึ้นไป

โดยที่ตั๋วดูมวยคู่ยิ่งใหญ่คู่นี้เป็นตั๋วที่ใฝ่หากันยิ่ง ผู้ดำเนินงานจึงไม่ยินยอมให้บรรดาดาราภาพยนตร์และผู้มีชื่อเสียงโด่งดังได้เข้าชมฟรีรอบๆ สังเวียนตามธรรมเนียมเดิม แต่ให้บุคคลผู้รับเชิญเหล่านี้ได้ดูฟรี หากยินยอมนำสัญลักษณ์ของกิจการที่ต้องการโฆษณาในสนามมวยมาสวมใส่ขณะอยู่ในบริเวณเวทีมวย โดยกิจการนั้นยินดีเป็นผู้จ่ายค่าตั๋วราคาราว 100,000 ดอลลาร์ ให้ดูเหมือนว่าเงื่อนไขดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ ปรากฏว่ามีดาราดังๆ นั่งกระจายอยู่รอบสังเวียนด้วยเครื่องแต่งกายส่วนตัวกันทั้งนั้น

ทำไมปาเกียวจึงพ่ายแพ้ฟลอยด์?




1.ปาเกียวด่วนใจร้อนลงนามในสัญญา ทั้งๆ ที่รู้ตัวว่าตนได้รับบาดเจ็บที่หัวไหล่จากการขึ้นชกเมื่อราว 3 สัปดาห์ก่อน ต่อมาหัวไหล่ก็ยังไม่หายดีในวันใกล้ชกกับฟลอยด์ แถมมีอาการกำเริบ จึงขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐเนวาดาให้ฉีดยาแก้ปวดก่อนชก ซึ่งก็ได้รับอนุญาต แต่เจ้าหน้าที่กลับคำในวินาทีสุดท้าย ทำให้ค่ายปาเกียวคิดที่จะยกเลิกและเลื่อนการชกออกไป แต่เมื่อพิจารณาข้อดีข้อเสียแล้ว ปาเกียวตัดสินใจเดินหน้าต่อไป ปาเกียวกล่าวหลังชกครบ 12 ยกว่า ตนต้องใช้แขนเพียงข้างเดียวชกตลอดเวลา เนื่องจากหัวไหล่ไม่ปกติ

2.ฟลอยด์เป็นนักมวยที่เคยชนะ 47 ครั้ง ติดต่อกันตลอด 19 ปี ไม่เคยแพ้ใครเลย กลายเป็นนักมวยที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในสหรัฐ มีบิดาซึ่งเป็นอดีตนักมวยเป็นครูฝึก จ้างคนครัวทำอาหารเป็นพิเศษ โดยคุยว่าบางมื้อตกราวหมื่นดอลลาร์ ตลอดจนมีรถยนต์ราคานับสิบล้านดอลลาร์ต่อคันร่วม 20 คัน ฉะนั้นจึงน่าจะอยู่ในฐานะที่จะซื้อหาคำแนะนำในด้านเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางกายภาพ และพัฒนายุทธศาสตร์การชกทั้งหมดจากกุนซือเก่งๆ ได้ไม่ยากนัก

โดยที่ปาเกียวเป็นนักชกลูกทุ่ง เดินหน้าลูกเดียว ตามด้วยการรัวหมัดซ้ายขวารวดเร็วปานฟ้าแลบอย่างนักตีกลองที่รัวกลองชุด พลางหาจังหวะลั่นหมัดซ้ายฟ้าผ่าของตนปิดเกม ซึ่งก็ได้ผลดีเป็นส่วนใหญ่ในการชกครั้งก่อนๆ ตรงกันข้าม ฟลอยด์เป็นนักมวยชาญฉลาด มีกลยุทธ์รับและรุกที่แยบยล ราวกับถอดรหัสออกมาจากยุทธศาสตร์ใน "ตำราพิชัยสงคราม" ของปรมาจารย์ยิ่งใหญ่จีนโบราณ นามว่า "ซุนซื่อ" (ซุนหวู่)

3.ยุทธศาสตร์ของท่านซุนซื่อมีอยู่กว้างๆ ว่า "ขุนพลที่เก่งกาจในเชิงรุก จะทำให้คู่ปรปักษ์อ่อนแอในเชิงรับขุนพลที่เก่งกาจในเชิงรับ จะทำให้คู่ปรปักษ์อ่อนแอในเชิงรุก" ดูเหมือนว่า ฟลอยด์ใช้ยุทธศาสตร์นี้ตลอด 12 ยก จนแฟนมวยพากันโห่ร้องด้วยความรู้สึกว่า ฟลอยด์วิ่งหนีปาเกียว ขี้ขลาด ไม่กล้าแลกหมัดกับปาเกียว

4.ท่านซุนซื่อบอกกลยุทธ์แรกไว้ว่า "เมื่อเรายื่นจุดอ่อนของเราให้กับคู่ปรปักษ์ เราจะทำให้เขาเข้าหาเราตามที่เราต้องการ" คือ เมื่อเราใช้อุบายปล่อยเหยื่อให้กับคู่ปรปักษ์ เขาจะวิ่งเข้าหาเหยื่อของเรา ในการนี้ ฟลอยด์ทำเป็นถอยเรื่อยๆ จนติดมุมหรือเชือกสังเวียน ล่อให้ปาเกียวเข้าประชิดตัวรัวหมัดใส่ตน ในขณะที่ตนยกสองแขนปกป้องตัวไว้หมด พอได้จังหวะก็ลั่นหมัดชุดสองนัดเข้าเป้า เก็บคะแนน ก่อนก้มตัวลงต่ำ ดีดตัวออกทางข้างๆ แล้วส่ายศีรษะร้องเยอะเย้ยว่า "ไม่เป็นอะไรเลย" เพื่อทำลายขวัญปาเกียว ฟลอยด์ทำซ้ำในทำนองนี้มากครั้ง จนถูกแฟนมวยโห่ร้องเหยียดหยาม แต่ก็เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ฟลอยด์เอาตัวรอดได้ แถมทำให้ปาเกียวเริ่มสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไปบ้าง

5.ท่านซุนซื่อบอกกลยุทธ์ที่อยู่ตรงข้ามกับข้อ 4 ว่า "เมื่อเราก่อให้เกิดความเสียหายต่อคู่ปรปักษ์ เราจะทำให้คู่ปรปักษ์ขยาดที่จะเข้าประชิดเรา" คือ เมื่อเรารุกโจมตีจุดสำคัญของคู่ปรปักษ์ เขาจะเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นเชิงรับโดยปริยาย ในการนี้ ฟลอยด์ชกไปถูกที่ขาขวาของปาเกียว ปาเกียวประท้วงต่อกรรมการบนเวทีทันที ส่งผลให้ปาเกียวเริ่มแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวต่อกลยุทธ์บ้าบิ่นกล้าผิดกติกาของฟลอยด์ ทำให้ต้องตั้งสติใหม่ หันมาระวังตัวปกป้องตนมากขึ้นโดยปริยาย

6.ท่านซุนซื่อบอกกลยุทธ์ข้อต่อไปว่า "จงปรากฏตัวในที่ที่คู่ปรปักษ์ต้องรีบปกป้องตน" ในจังหวะประชิดตัว ฟลอยด์ใช้แขนยาวกว่าของตนรวบรัดคอปาเกียวให้ล็อกติดกับลำตัวตน ทำให้ปาเกียวหยุดรุกได้ฉมังและหันมาปกป้องตัวมิให้คอได้รับบาดเจ็บทันที ในขณะเดียวกันฟลอยด์ก็ชกที่ชายโครงปาเกียวเพื่อเก็บคะแนน

7.ท่านซุนซื่อบอกกลยุทธ์ที่คู่ขนานกับข้อ 6 ว่า "จงเคลื่อนที่อย่างว่องไว สู่จุดที่คู่ปรปักษ์ไม่ได้คาดคิด" มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในอดีตฟลอยด์มักปักหลัก  ต่อสู้กับคู่ชกคนก่อนๆ อยู่บริเวณกลางสังเวียนเป็นส่วนใหญ่ แต่ครั้งนี้ฟลอยด์กลับเต้นอยู่รอบสังเวียนบ่อยๆ แสร้งถอยติดมุมหลายครั้ง ทำให้ปาเกียวต้องปรับกลยุทธ์ของตน คือ ตกอยู่ในภาวะผู้ตามในเชิงกลยุทธ์ ส่วนฟลอยด์กลายเป็นผู้นำเกม คอยลั่นหมัดไปถูกปาเกียว และเก็บคะแนนไปเรื่อยๆ

8.ท่านซุนซื่อบอกกลยุทธ์ท้ายสุดไว้ว่า "ท่านจะประสบผลสำเร็จในการโจมตีได้แน่ หากท่านโจมตีจุดที่มิได้รับการปกป้องไว้" ฟลอยด์ใช้กลยุทธ์ข้อนี้กับปาเกียวและกับตัวเองด้วย คือ ไม่ยอมตั้งอยู่ในความประมาท พยายามไม่ให้มี "จุดที่มิได้รับการปกป้องไว้" มุ่งตั้งรับมากกว่าตั้งรุก เพราะตระหนักดีว่า หมัดซ้ายของปาเกียวมีฤทธิ์เดชทำให้ตนหน้าแตกหรือหลับได้ง่ายๆ อีกทั้งได้เจอจังๆ เข้าครั้งหนึ่ง จนปากเบี้ยว เล่นเอาเซไปพักหนึ่ง เมื่อตั้งรับปกป้องตนอย่างเข้มแข็ง ปาเกียวก็ย่อมทำอันตรายตนไม่สำเร็จ ฉะนั้น เมื่อไม่ยอมใช้มาตรการประจัญบานอย่างปาเกียว แฟนมวยในสนามจึงตัดสินให้ฟลอยด์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปโดยปริยาย

เมื่อครบ 12 ยก ปรากฏว่า ฟลอยด์ได้คะแนนชนะจากกรรมการทั้ง 3 เป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 118-110, 116-112 และ 116-112 ฟลอยด์ชกถูกปาเกียว 148 ครั้ง จากการรัวหมัด 435 ครั้ง (ร้อยละ 34) ส่วนปาเกียวชกถูกฟลอยด์เพียง 81 ครั้ง จากการปล่อยหมัด 429 ครั้ง (ร้อยละ 19) ทั้งนี้ เป็นการนับด้วยระบบคอมพิวบ๊อกซ์ที่มีคน 2 คนคอยจับตาดูคู่ชกประจำตัวของตน ในขณะที่เลือกกดปุ่ม 4 ปุ่มที่กำกับ 4 ท่าชก ส่งจำนวนครั้งเข้าเครื่องคำนวณ เพื่อประกอบการตัดสินของคณะกรรมการ

ฟลอยด์เป็นนักมวยระดับอภิมหาเศรษฐีที่มีค่านิยมใน "วัตถุเงินทอง" สูง คือ เป็นสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" สื่อบางแห่งตั้งฉายาว่าเป็น "นักมวยนักธุรกิจ" รวมเป็นคนเดียว ผู้รู้จักปล่อยหมัดอย่างประหยัด นิยมสรรหาความสุขใส่ตนด้วยการสรรหาวัตถุสิ่งของหรูหราฟุ่มเฟือยราคาแพงๆ ในขณะเดียวกัน สื่อต่างๆ พากันประโคมกันว่า ฟลอยด์ก็มีปัญหาความสัมพันธ์ที่มีความก้าวร้าวรุนแรงในครอบครัว โดยกล่าวหาว่าฟลอยด์รังแกชกต่อยเพศหญิง ทำให้ผู้หญิงในสังคมไม่ชื่นชอบฟลอยด์เท่าใดนัก

ส่วนปาเกียวเป็นนักมวยลูกทุ่ง มาจากความยากจนข้นแค้น ไต่เต้าเส้นทางเศรษฐกิจสู่ความร่ำรวยจากการขึ้นสังเวียน แต่รวยน้อยกว่าฟลอยด์หลายเท่า กระนั้นก็ตาม ปาเกียวเป็นคนใจกุศล มี "จิตนิยม" สูง คือ เป็นสาวก "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" ช่วยเหลือชาวฟิลิปปินส์ด้วยกันที่ประสบความเดือดร้อนมาตลอด เช่น อนุญาตให้เด็กหนุ่มยากจนทั้งหลายในชุมชนตนมีสิทธิ์ใช้สถานที่ฝึกซ้อมมวยของตนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะต้องการให้เด็กเหล่านี้สามารถออกไปชกมวยทำเงินเลี้ยงดูบิดามารดา บริจาคเงินช่วยบิดามารดาของเด็กหนุ่มบางคนให้ได้รับการเยียวยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีความตั้งใจทำงานอันทรงเกียรติช่วยเหลือผู้ยากไร้ เป็นต้น

ไม่ว่าใครจะมีค่านิยมอย่างใด ข้อสำคัญ พึงมียุทธศาสตร์ในการดำเนินชีวิต รู้จักจัดการอย่างมีผลดีกับเหตุการณ์ที่อาจไม่ส่งเสริมสนับสนุนตน โดยประยุกต์ยุทธศาสตร์จาก "ตำราพิชัยสงคราม" ของท่านซุนซื่อ ผู้มีพื้นฐานอยู่กับหลักปรัชญาของปรมาจารย์เล่าจื้อ อย่างที่ฟลอยด์ได้แสดงออกมาตลอด 12 ยก อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าฟลอยด์จะรู้จักท่านซุนซื่อหรือไม่ก็ตาม

สรุป ฟลอยด์รู้จักตั้งรับและตั้งรุกปาเกียวอย่างมีศาสตร์และศิลป์ โดยมิคำนึงหรือสนใจว่าแฟนมวยจะพอใจกับวิธีการชกของตนหรือไม่ แต่คำนึงเพียงอย่างเดียวคือ เอาตัวรอดปลอดภัยสู่ชัยชนะที่ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 48 จนสำเร็จ หากชนะติดต่อกันอีกเป็นครั้งที่ 49 ต่อไป ฟลอยด์จะทำสถิติเสมอกับร็อกกี้ มาร์เซียโน นักชกโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก.

No comments:

Post a Comment