พลเมืองเป็นใหญ่
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com
ไม่ว่าใครจะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรๆ ก็ไม่มีวันได้รธน.แบบที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า “กระสุนเงิน” (ซิลเวอร์บูลเลต silver bullet)
“กระสุนเงิน” หมายถึงสิ่งหนึ่งเดียวที่สามารถแก้ไขปัญหาสลับซับซ้อนยุ่งยากได้อย่างแม่นยำสิ้นซาก จริงๆ แล้ว ไม่มีใครสามารถสร้างกุญแจวิเศษดอกเดียวที่ไขประตูที่มีกลไกสลับซับซ้อนยุ่งยากทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ สู่ทางออกอันยั่งยืนได้
รธน.ยิ่งเขียนก็ยิ่งยุ่งยาก ยิ่งไปกระทบปัจจัยต่างๆ ได้ เช่น กระทรวงทบวงกรม พรรคการเมือง ตลอดจนพลเมืองปวงชน เป็นต้น ส่งผลให้รธน.ที่บรรจงเขียนด้วยเจตนาดี กลับกลายเป็นเรื่อง “ทำคุณบูชาโทษ” ได้
ผลกระทบต่อกระทรวงทบวงกรมปรากฏขึ้น เมื่อคณะผู้พิพากษาศาล รวม 427 คน ได้ออกมาคัดค้านมติของกมธ.ยกร่างฯ ที่ให้เพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม จากตัวแทนฝ่ายการเมืองที่เดิมมีอยู่ 2 คน เป็นอย่างน้อย 1 ใน 3 ว่า มติดังกล่าวทำให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีอิทธิพลในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา กลายเป็นการทำลายศาลยุติธรรม มิใช่ปฏิรูปศาลยุติธรรมให้ดีขึ้น
ผลกระทบต่อพรรคการเมืองปรากฏขึ้น เมื่อนักการเมืองพรรคหนึ่งวิจารณ์ที่มาของ ส.ว.ในร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่เขาเลือกคนของเขาขึ้นมาก่อนแล้วให้ประชาชนเลือกคนที่เขาได้เลือกขึ้นมาไว้อีกทีหนึ่ง และยืนยันว่ารับไม่ได้ เพราะถอยหลังสุดคลอง
ส่วนผลกระทบต่อพลเมือง นั้น เห็นได้จากการให้ “พลเมืองเป็นใหญ่” โดยให้พลเมืองมีองค์กรอย่าง “สมัชชาพลเมือง” ตรวจสอบการดำเนินงาน การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน การจัดซื้อจัดจ้างโดย “ผู้มีอำนาจ” รวมทั้งการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ตลอดจนผู้สมัครรับเลือกตั้ง
การตรวจสอบหรือ “จับผิด” โดยมุ่งหมายให้ผู้มีอำนาจทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง เปรียบได้กับ “ดาบสองคม” ที่ฟาดฟันได้ทั้งผู้ตั้งใจทำงานด้วยความสุจริตและผู้ตั้งใจทุจริต ผลข้างเคียงคือคนสุจริตจะทำงานไม่สำเร็จ เพราะต้องคอยปกป้องชี้แจงตอบคำถามที่มีท่าทีไม่ไว้เนื้อเชื่อใจจากพลเมือง
ส่วนคนทุจริตจะยังสามารถโกงกินชาติได้สำเร็จ เพียงใช้เล่ห์เหลี่ยมในการกล่อมหรือลดแลกแจกแถมให้พลเมือง แถมโปรยยิ้มสร้างความสนิทสนมไว้ จนพลเมืองกลายเป็นเครือญาติกับผู้มีอำนาจและกอดคอปรองดองกันอย่างหวานซึ้ง ในที่สุด พลเมืองก็กลายเป็นแมวน่ารักแสนเชื่อง แต่อนิจจาจับหนูไม่เป็นเสียแล้ว
การจับผิดผู้มีอำนาจที่ทำทุจริตเพื่อตัวเอง นั้น น่าจะให้ฝ่ายนิติรัฐนิติธรรมเป็นผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบ ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับมืออาชีพและมีอุปกรณ์ทันสมัยสำหรับจับกุมผู้มีอำนาจที่ประกอบ “อาชญากรรมทางเศรษฐกิจของชาติ” อยู่แล้ว จะมัววุ่นวายไปไย?
“อาชญากรรมทางเศรษฐกิจของชาติ” คือ โจรกรรมที่นานาชาติถือว่าบ่อนทำลายชาติบ้านเมืองอย่างร้ายแรงยิ่ง ประเทศหนึ่งที่ได้ทำการตรวจสอบผู้มีอำนาจที่ร่ำรวยล้นฟ้าท้ามหาสมุทรอย่างผิดปกติภายในเวลารวดเร็วปานฟ้าแลบเสมอมาได้แก่สาธารณะประชาชนจีน
ในปี 2557 รัฐบาลจีนได้ส่งรายชื่อผู้ได้รับการฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยข้อหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ราว 150 รายไปให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา พร้อมกับขอความร่วมมือในการจับกุมผู้ต้องหาเหล่านี้ ส่งกลับไปเข้ากระบวนการยุติธรรมที่จีน นับเป็นการไล่ล่าแบบสุดขอบฟ้ากันทีเดียว ผู้ได้รับคำพิพากษาว่ามีความผิดจริงจะถูกนับเป็นศัตรูของแผ่นดินที่ละเมิดความเป็นใหญ่ของพลเมือง มีสิทธิ์รับโทษขั้นสูงสุดถึงประหารชีวิต
หากต้องการให้ “พลเมืองเป็นใหญ่” ด้วยความจริงใจ รธน.น่าจะมีบทบัญญัติปกป้องคุ้มครองส่งเสริมสนับสนุนให้พลเมืองมีสิทธิ์รวมตัวกันด้วยจิตอาสา ระดับ “รากหญ้า” ในหมู่บ้านหรือตำบล แล้วแต่ความเหมาะสม ทั่วประเทศ เพื่อพิจารณากำหนดวิถีทางใน “การพัฒนาสังคมเศรษฐกิจในชุมชนตน” ทั้งนี้ โดยได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ในการให้คำปรึกษาแนะแนวและข้อมูลความรู้ทันสมัยที่จำเป็นสำหรับการก่อตั้ง การกำหนดโครงสร้างหน้าที่ การดำเนินงาน ฯลฯ เพื่อกลุ่มจะได้นำไปพิจารณาตัดสินใจด้วยความรอบรู้ในงานพัฒนาชุมชนตนต่อไป
ขอเรียกกลุ่มรากหญ้านี้ว่า “สภาพลเมือง” สภานี้มีความเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มที่มีชื่อเดียวกัน
“สภาพลเมือง” มีความเป็นเอกเทศ มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งทาง “สังคมเศรษฐกิจ” ในชุมชนตน เช่น ให้พลเมืองมีความรู้ทักษะทัศนะคติในการเป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดา ปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียงของในหลวง และค่านิยมหลัก 12 ประการของแผ่นดิน มีความรู้ทักษะทันสมัยกับทัศนะคติเหมาะสมสำหรับรองรับวิชาชีพใหม่ๆ ที่ยั่งยืน รักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ขจัดแหล่งอบายมุข ผันทรัพยากรชุมชนให้เป็นแหล่งรายได้ อนุรักษ์นิเวศวิทยา ใช้ทรัพยากร ธรรมชาติกับพลังงานอย่างชาญฉลาด เป็นต้น ทั้งนี้ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหนึ่งเดียว
ในระยะแรก หน่วยราชการจักต้องทำการประชาสัมพันธ์อย่างหนักหน่วง เพื่อให้ชุมชนมีความเข้าใจ ความคุ้นเคย และความกล้าที่จะรับ “สภาพลเมือง” มาเป็น “วัฒนธรรมชุมชน” ของตน ต่อมา ชุมชนใดที่ได้ก่อตั้งสภานี้แล้ว และประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นตัวแบบหรือแรงดลใจให้กับชุมชนอื่นที่ยังรอดูผลลัพธ์อยู่
เมื่อได้ลงรากฐานในชุมชนแล้ว “สภาพลเมือง” ในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จะกลายเป็นกลไกถ่วงดุลกับ “สภาผู้แทนราษฎร” ที่เป็น “ผู้แทน” ของพลเมืองผู้เป็นเจ้าของอธิปไตย คือ หลังเลือกตั้ง นักการเมืองสามานย์อาจเล็ดลอดระบบคัดสรรเข้าไปนั่งโกงกินขายชาติบ้านเมืองในรัฐสภาอันทรงเกียรติอีก ในภาวะเช่นนี้ “สภาพลเมือง” จะช่วยบรรเทาบทบาทบริหารชาติบ้านเมืองของรัฐสภา ด้วยการกระจายอำนาจการบริหารจากส่วนกลางสู่พลเมืองท้องถิ่น ในขณะที่ชุมชนท้องถิ่นทำการพัฒนาชุมชนของตน ด้วยตนเอง และเพื่อตนเอง ตามหลักการประชาธิปไตย
“สภาพลเมือง” จะปลดแอกให้พลเมืองเป็นอิสรเสรีทางสังคมเศรษฐกิจ ไม่แบมือรับอะไรต่อมิอะไรตามนโยบายประชานิยมของรัฐบาลโกงกินขายชาติ ไม่เป็นเหยื่อโครงการลดแลกแจกแถมของนักการเมืองสามานย์ และไม่มีเงื่อนไขที่ผูกมัดตนให้ไปใช้เวลาสี่วินาทีหย่อนบัตรเลือกตั้งให้นักการเมืองไปโกงกินขายชาติอีก ทั้งนี้ พลเมืองจะได้เริ่มดำเนินวิถีชีวิตแบบ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และมี “ภูมิคุ้มกัน” ทั้งทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจต่อไป
“สภาพลเมือง” ก็ดี รธน.ก็ดี ต่างก็เป็นระบบกลไกที่เปรียบได้กับ “ขวดเหล้าใหม่” ซึ่งไม่ว่าจะสมบูรณ์หรือไม่เพียงใด ก็มิอาจอำนวยประโยชน์อันพึงประสงค์เท่าที่ควร หาก “เหล้าใหม่” หรือ “พลเมืองเป็นใหญ่” ที่บรรจุเข้าไป ยังไม่พร้อมที่จะเป็นใหญ่ คือ ยังไม่มีจิตวิญญาณอันกอปรด้วยศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนกลไกประชาธิปไตยอย่างมีผลดี ในที่สุด เราก็จะได้แต่ “เหล้าเก่าในขวดใหม่” อย่างเดิมๆ แล้วจะมีประโยชน์อันใด?
ฉะนั้น เพื่อให้ “พลเมืองเป็นใหญ่” เป็น “เหล้าใหม่ในขวดใหม่” เราน่าจะทำการปฏิรูปสังคมอย่าง “กว้างและลึก” กว่าที่ทำอยู่กับสี่กระทรวง คือ พัฒนาสังคมฯ สาธารณสุข ศึกษาธิการ และเทคโนโลยีฯ
ในการนี้ เราน่าจะให้ “กระทรวงวัฒนธรรม” ได้เข้าไปมีส่วนร่วมประสานงานกับทั้งสี่กระทรวงดังกล่าว เพื่อให้พลเมืองในข่ายสี่กระทรวงนี้ ได้เข้าถึงแหล่งที่มีองค์ความรู้สำหรับเสริมสร้าง “จิตวิญญาณ” ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์รธน.ได้อย่างยั่งยืน
พลเมืองย่อมมีศักยภาพที่จะปรับปรุงตนให้เก่งกาจยิ่งขึ้นในทางมงคลหรือในทางอัปมงคลต่อส่วนรวมได้ตลอดเวลา การพัฒนาพลเมืองหรือสังคม โดยให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็น “ช้างเท้าหลัง” อยู่ตลอดมา รังแต่จะเพิ่มโอกาสให้พลเมืองปรับปรุงตนให้เก่งกาจยิ่งขึ้นในทางไม่พึงปรารถนาได้ ฉะนั้น ต่อให้มีรธน.อีกร้อยพันฉบับ ก็ไม่สามารถกอบกู้ชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากกำมือของ “ผู้มีอำนาจ” ที่บูชา “วัตถุเงินทองอำนาจ” เหนืออื่นใดและมองเห็นพลเมืองเป็นผักปลาที่ซื้อขายเป็นเข่งๆ ในตลาดสดสำหรับทำประโยชน์สนองตอบกิเลสตนที่ยึดมั่นในสิ่งที่ตนบูชา
ก่อนที่จะนำรธน.ร่างฯ สู่การทำประชามติ กมธ.ร่างฯ น่าจะหวนกลับไปทำการบ้านให้เรียบร้อยดีที่สุด พิจารณาข้อเสนอแนะจากพลเมืองด้วยจิตไร้อคติ ไร้อัตตา ไร้การยึดมั่นถือมั่นตามทัศนะคติหรือความเชื่อส่วนตน และเปิดใจเยี่ยงนักประชาธิปไตย ทำการยกร่างรธน.ใหม่หมด ทั้งนี้ เพื่อให้มีรธน.ที่ให้ “พลเมืองเป็นใหญ่” สมตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริง
เมื่อทำสำเร็จแล้ว พลเมืองจะสรรเสริญชื่นชมในความอดทนกับความเสียสละตลอดจนความรับผิดชอบของกมธ.ร่างฯ ในขณะที่มีความซาบซึ้งใจในความกล้าหาญกับความเสียสละของคสช.ยิ่งขึ้น ที่ยอมเสี่ยงภัยกับเหตุการณ์ล่อแหลมทางการเมือง ในวันประวัติศาสตร์ที่ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อให้ชาติบ้านเมืองได้ปรับตนเข้าสู่เส้นทางมงคล ตามที่วีรชนกับทหารหาญได้เรียกร้องสละชีวิตเลือดเนื้อต่ออาวุธสงครามของผู้บูชา “วัตถุเงินทองอำนาจ” มาตลอด
“พลเมืองเป็นใหญ่” คือปัจจัยวิกฤติเดียวที่สามารถสานต่อเจตนารมณ์ดังกล่าวของคสช.
No comments:
Post a Comment