มหากฎบัตรกับรัฐธรรมนูญไทย
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com
ปีค.ศ.1215 (พ.ศ.2758) จารึกปีกำเนิดของเอกสารประ วัติศาสตร์โด่งดังฉบับหนึ่งของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ชื่อว่า Magna Charta (Magna Carta) แปลว่า "มหากฎ บัตร" "มหากฎบัตร" นี้ น่าจะนับได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ (รธน.) ฉบับแรกของโลก ซึ่งกำหนดกติกาการปฏิสัมพันธ์ในสังคมไว้ถึง 63 มาตราด้วยกัน และมีอายุครบ 800 ปี พอดีในปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) นี้
เมื่อสมัย 800 ปีก่อน พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ พระนามว่าจอห์น ได้ทรงก่อให้เกิดความทุกข์และขุ่นเคืองใจเป็นอย่างใหญ่หลวงในหมู่ขุนนางระดับล่าง ด้วยการบีบบังคับให้ขุนนางเหล่านี้ยกทรัพย์สินเงินทองส่วนตัวออกมาถวายพระองค์ เพื่อใช้จ่ายเป็นเงินทองสำหรับทำสงครามกับประเทศฝรั่งเศส
เมื่อพ่ายแพ้ฝรั่งเศส บรรดาขุนนาง 45 คนก็รวมตัวกันใช้ "กำลังทหาร" ยึดเมืองหลวงกรุงลอนดอน บีบบังคับให้กษัตริย์จอห์น ทรงถือปฏิบัติตามแนวพระราชกรณียกิจของกษัตริย์อังกฤษองค์หนึ่ง พระนามว่าเฮนรี่ที่หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอให้พระองค์ทรงเลิกกดขี่ข่มเหงข้าราชบริพารและราษฎร เช่น ห้ามจำคุกเหล่าขุนนางโดยมิชอบธรรม ให้ขุนนาง 25 คนเป็นผู้จัดระเบียบการเก็บภาษีจากราษฎร และให้ยอมรับนับถือสิทธิ์โดยชอบของฝ่ายการศาสนา เป็นต้น โดยมีบาทหลวงใหญ่แห่งอังกฤษเป็นผู้ยกร่างเขียน "มหากฎบัตร" นี้
เพื่อให้เหตุการณ์ตึงเครียดผ่านพ้นไป กษัตริย์จอห์นทรงตกลงร่วมกับฝ่ายขุนนาง ยอมรับ "มหากฎบัตร" เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1215
ทว่า ต่อมาอีกเพียงไม่กี่เดือน "มหากฎบัตร" ก็กลายเป็นชนวนให้เกิดการสู้ทัพจับศึกระหว่างคู่ตกลง จวบจนพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่สาม ประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรนิกายคาทอลิก ผู้เป็นเจ้าเหนือหัวของกษัตริย์จอห์น ทรงมีพระบัญชาให้ยกเลิก "มหากฎบัตร" ด้วยเหตุผลว่า เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นภายใต้ภาวการณ์บีบบังคับตึงเครียด ผิดปกติวิสัย
ในปี ค.ศ.1216 เมื่อกษัตริย์จอห์นเสด็จสวรรคต "มหากฎบัตร" ก็กลับออกมาใช้เป็นกฎหมายบ้านเมืองอีก โดยได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ต่อมาเมื่อการสู้ทัพจับศึกภายในประเทศได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1217 และหลังจากที่ได้รับการปรับปรุงอีกเล็กน้อย "มหากฎบัตร" ก็ได้รับการยอมรับเป็นกติกาใหม่สำหรับการปกครองประเทศ กลายเป็น "ฐานราก" ของระบบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพของชาวอังกฤษตราบเท่าทุกวันนี้
"มหากฎบัตร" ประกอบด้วย 63 มาตรา กล่าวถึงการสืบทอดมรดก หนี้สินเมื่อผู้เป็นหนี้ตายไป สิทธิของแม่หม้ายที่จะแต่งงานอีกได้หรือไม่ การลงโทษปรับผู้ละเมิดกฎหมาย ฯลฯ อาทิ มาตรา 39 กำหนดให้ราษฎรมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาคดีความตามกระบวนการยุติธรรมอันชอบธรรม และมาตรา 40 กษัตริย์ทรงสัญญาที่จะไม่ขาย ปฏิเสธ หรือหน่วงเหนี่ยวความยุติธรรมต่อราษฎร เป็นต้น ทั้งนี้ ได้ผ่านการแก้ไขปรับปรุงมาหลายครั้ง กว่าจะตกผลึกเป็น "ฐานราก" ของระบบ รธน.อังกฤษ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลอังกฤษก็ได้มีมาตรการฝึกฝนประชากรให้มีความรู้ความเข้าใจใน "ระบอบประชาธิปไตย" มาแต่ต้น
สังเกตได้ว่า "มหากฎบัตร" ถือกำเนิดมาจาก "การปฏิวัติ" ด้วย "กำลังทหาร" ต่อกษัตริย์จอห์น โดยขุนนางกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการปฏิวัติเพื่อส่วนรวม โดยมุ่งจำกัดการใช้พระราชอำนาจต่อขุนนางและราษฎรทั่วไป ให้อยู่ในกรอบแห่งความชอบธรรม
ขอย้อนกลับมาที่ไทยเมื่อ 22 พฤษภาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ออกมาประกาศใช้กฎอัยการศึก แล้วเจรจากับรัฐบาลหุ่นเชิด ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งหมดความชอบธรรมอยู่แล้ว ให้ตกลงก้าวลงโดยดุษฎี ตามข้อเสนอของประชาชน ผู้ประท้วงด้วยวิธีอหิงสาสันติ แต่รัฐบาลไม่ตกลง ไม่ยี่หระต่อการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนจำนวนมากที่ถูกบดขยี้ด้วยอาวุธสงครามจากผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง พล.อ.ประยุทธ์จึงตัดสินใจใช้ "กำลังทหาร" ยึดอำนาจรัฐ ตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเริ่มทำการปฏิรูปชาติบ้านเมืองที่ "เล๊ะตุ้มเป๊ะ" เรื้อรังมานาน
การตัดสินใจของบรรดาขุนนางดังกล่าว ก็ดี การตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดี ล้วนเป็นการใช้ "กำลังทหาร" เพื่อกอบกู้ชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเมืองการปกครอง เพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง
ผลจากการใช้ "กำลังทหาร" นั้น ได้ส่งผลให้เกิดมี "กติกาการปกครอง" คือ "มหากฎบัตร" สำหรับกลุ่มขุนนางดังกล่าว และ "รธน.ฉบับร่าง" สำหรับ คสช. ณ วันนี้
"มหากฎบัตร" ได้ฝ่าคลื่นลมปั่นป่วนทางการเมืองอยู่ร่วม "สองปี" กว่าจะเริ่มตกผลึกเป็นรูปธรรม กลายเป็น "ฐานราก" ของ รธน.อังกฤษปัจจุบัน โดย "ไม่มี" การผ่านประชามติ ส่วน "รธน.ฉบับร่าง" ก็กำลังประสบคลื่นลมที่พัดประเด็นร้อนร้อยแปดพันเก้ารายการ เข้าสู่เวทีการเมืองไทย หลังจากที่ได้มีการยกร่าง รธน.มาเพียง "ครึ่งปี" เท่านั้น อย่าลืมว่า ประเทศไทยสมัยนี้มีโครงสร้างชาติบ้านเมืองที่มี "ความสลับซับซ้อน" มากกว่าอังกฤษสมัย 800 ปีก่อน หลายๆ เท่าตัวทีเดียว
แล้วไทยจะมี รธน.ฉบับที่ 20 หรือไม่?ไทยจะมี รธน.ฉบับที่ 20 หรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่รัฐบาลปัจจุบันจะสามารถเยียวยาประเด็นทางการเมือง 2 ข้อ ดังนี้ ได้หรือไม่
1."ความขมขื่น" ของประชาชนจำนวนมหาศาล ที่มีต่อพฤติกรรมโกงกินขายชาติบ้านเมือง ระดับ "เรื้อรัง" ของบรรดานักการเมืองสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" กำลังกลายเป็น "ความหวาดผวา" ว่า รธน.ฉบับต่อไป จะมีช่องโหว่เปิดโอกาสให้ฝูงนักการเมือง "ผีกระสือ" ทั้งปวง ลอยศีรษะเข้าสภาผู้แทนราษฎรอันทรงเกียรติ จนแลดูน่าขนลุกขนพองไปทั่ว หรือไม่? "ความหวาดผวา" นี้ อาจส่งผลให้เกิด "ความไม่เต็มใจ" ที่จะออกมาลงคะแนนเสียงให้ รธน.ฉบับร่าง ผ่านประชามติ
เมื่อไม่ผ่าน คสช.ก็อาจต้องเริ่มสรรหา รธน.ฉบับใหม่มาเข้ากระบวนการเขียนกันใหม่ หรือปรับปรุงฉบับอื่นๆ ซึ่งจะล้มเหลวอีก ตราบเท่าที่ประชาชนยังมี "ความหวาดผวา" ไม่มั่นใจว่า บ้านเมืองจะกลับเข้าสู่ภาวะสลดใจอีหรอบเดิมหรือไม่ และ "ฝ่ายเสียผลประโยชน์" จากการปฏิรูป ยังแสดงท่าทาง "ชักใบให้เรือเสีย" อยู่
2.การยึดพระราชอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2475 โดย "คณะราษฎร" นั้น คือการปฏิวัติรัฐประหารแบบ "ชิงสุกก่อนห่าม" ในขณะเดียวกัน ก็ผลักดันชาติบ้านเมืองให้กระโจนสู่ "ระบอบประชาธิปไตย" ที่ "นำเข้า" มาจากนอก โดยไม่มีการเตรียมการใดๆ "ก่อนหรือหลัง" การปฏิวัติ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่า ระบอบดังกล่าวคืออะไร ใครมีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบต้องทำอะไร อย่างไร เมื่อใด ที่เป็นการสนับสนุนระบอบนี้ ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงยังขาด "ฐานราก" ของ "จิตวิญญาณประชาธิปไตย" มาตั้งแต่ปี 2475
แทนที่จะวางแผนการเตรียมการดังกล่าว "คณะราษฎร" กลับดำเนินนโยบายให้ประชาชนลอกเลียนวิถีชีวิตตามแบบฉบับของต่างชาติ เช่น ให้เลิกเคี้ยวหมาก ให้รับประทานขนมปัง ให้ผู้ชายใส่หมวก เสื้อเชิ้ต เสื้อนอก กางเกงขายาว และรองเท้าหนัง ส่วนผู้หญิงให้สวมเสื้อแขนยาวกับกระโปรงยาว และรองเท้าหนัง เป็นต้น ราวกับว่าเมืองสยามคือเมืองหนาวที่มีหิมะตกอากาศหนาวสั่นเหมือนเมืองนอก โดยเข้าใจผิดว่า หากทุกคนใช้ชีวิตเหมือนชาวต่างชาติได้แล้ว ทุกคนก็จะรู้เรื่องประชาธิปไตยของชาวต่างชาติ คือ หลงละเมอว่า เมื่อใส่ชุดเสื้อนอกผูกเนคไทอย่างชาวต่างชาติแล้ว คนไทยก็จะเก่งกาจอย่างชาวต่างชาติโดยปริยาย!
ทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่ได้ทำตามบัญชาของ "คณะราษฎร" มาร่วม 80 ปี ประชาชนไทยจำนวนมากก็ยังไม่สันทัดเรื่องระบอบประชาธิปไตยเท่าใดนัก คือ ยังมี "ความเชื่อผิดๆ" เกี่ยวกับบทบาทของตัวเองและนักการเมืองต่อระบอบดังกล่าวอยู่มากมาย
"ความเชื่อผิดๆ" ซึ่งทำลายระบอบดังกล่าว มีอาทิ คะแนนเสียงเลือกตั้งซื้อขายกันได้ ใครจะจ้างมือมืดแจกไข้โป้งหรือน้อยหน่าเหล็กให้คู่แข่งรับเลือกตั้งก็จ้างไป เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ประชาชนก็หมดหน้าที่ทางการเมืองโดยสิ้นเชิง ใครจะใช้วาจาหยาบคายหรืออวัยวะส่วนล่างทำร้ายผู้อื่นในสภาอันทรงเกียรติก็เป็นเรื่องขำขัน ประธานสภาใช้อำนาจบิดเบี้ยวกติกาในการอภิปรายก็ย่อมมีอำนาจทำได้ นายกรัฐมนตรีคนหนึ่งไม่ยอมเข้าประชุมร่วมกับผู้แทนราษฎรเลยก็เป็นเรื่องความพอใจของท่านนายกฯ ใครจะโกงแผ่นดินก็โกงไป แต่อย่าโกงให้มากนัก ตลอดจนรัฐธรรมนูญคือกุญแจวิเศษดอกเดียวที่เปิดประตูให้ชาติก้าวสู่ความเจริญสุขได้ เป็นต้น
"ระบอบประชาธิปไตยไทย" จึงเปรียบได้กับ "ขบวนรถไฟที่ไม่ได้รับการดูแลให้วิ่งบนรางที่ถูกต้องแต่แรก" คือ เป็นขบวนที่ถูกปล่อยให้วิ่งบนรางที่ได้รับการสับรางผิดที่ไปเรื่อยๆ ตามยถากรรม โดยเริ่มต้นที่ "สถานีอารมณ์ร้อน" ของ "คณะราษฎร" ส่งผลให้ขบวนรถไฟนี้วิ่งแบบ "ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง" ไปไม่ถึง "เมืองประชาธิปไตย" ที่ต้องการมาร่วม 80 ปี สักที
ฉะนั้น เพื่อเยียวยาประเด็นทางการเมือง 2 ข้อดังกล่าว คสช.น่าจะพิจารณาทำงานที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการยกร่าง รธน. คือ "งานฝึกอบรม" ความรู้ความเข้าใจเรื่องระบอบประชาธิปไตยให้กับประชาชน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงชั้นผู้ใหญ่วัยเกษียณงาน โดยให้รู้ทั่วกันว่า แม้ระบอบดังกล่าวจะไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบ เช่น เป็นระบอบที่อนุญาตให้ทุนนิยมมีสิทธิ์วิ่งเต้น "ขาย" วาระทางการค้ากำไรให้นักการเมือง สำหรับนำไปออกกฎหมายรองรับวาระของตน เป็นต้น แต่หากประชาชนมี "คุณภาพ" คือ ตั้งอยู่ในกรอบของ "ศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม" แล้ว ระบอบที่ไม่สมบูรณ์แบบก็จะมีความสมบูรณ์แบบเพิ่มขึ้นได้ เพราะผู้คนที่มี "คุณภาพ" ย่อมไม่ละเมิดสิทธิ์โดยชอบธรรมของผู้อื่น คือ ไม่ "ขาย" วาระทางการค้าให้นักการเมือง หรือไม่โกงอยู่แล้ว
ในขณะที่การปฏิรูปครั้งล่าสุดนี้ มีเจตนารมณ์ให้ "พลเมืองเป็นใหญ่" ประชาชนก็น่าจะศึกษา รธน.ฉบับร่างให้แน่ชัดว่า "พลเมืองเป็นใหญ่" จริงหรือไม่? โดยลองศึกษาเจาะดูว่า รธน.ฉบับร่างได้ให้ "พลเมืองระดับชุมชน" เป็น "กลไกทางการเมือง" ที่มีสิทธิ์และได้รับการส่งเสริมคุ้มครองตามกฎหมาย ให้รวมตัวกันเป็น "สภาพลเมือง" ด้วยจิตอาสา เพื่อพัฒนาสังคมเศรษฐกิจในชุมชนตน โดยได้รับคำแนะนำและวิชาการจากหน่วยราชการ เพื่อกระจายอำนาจจาก "สภาผู้แทนราษฎร" ลงสู่ "สภาพลเมือง" จริงหรือไม่?
หากจริง ประชาชนก็น่าจะออกมาแสดงประชามติให้ รธน.ฉบับร่างผ่านไปด้วยดี เมื่อผ่านได้แล้ว "สภาพลเมือง" จะเป็น "กลไกทางการเมืองเดียว" ที่ประชาชนสามารถใช้กระตุ้นให้ผู้แทนราษฎร หันมารับรู้เอาใจใส่ต่อการพัฒนาชุมชนของประชาชน ด้วยประชาชน และเพื่อประชาชนเอง
เมื่อผู้แทนราษฎรที่เป็นสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ต้องใช้เวลามากขึ้นในการปฏิสัมพันธ์กับ "สภาพลเมือง" ทั้งตอนกลางวันและตอนฝัน ในเขตรับผิดชอบแล้ว เวลาสำหรับโกงกินขายชาติบ้านเมืองก็จะลดน้อยลงได้ ไม่มากก็น้อย
"สภาพลเมือง" จึงน่าจะเป็น "กลไกเชิงประชาธิปไตยเดียว" ที่สามารถเสริมสร้างคุณประโยชน์สำคัญยิ่งต่อชาติบ้านเมือง ทั้งในด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ในขณะที่ได้รับการส่งเสริมคุ้มครองจาก "รัฐธรรมนูญไทย" ตาม "ระบอบประชาธิปไตย" มิใช่หรือ?.