จีวรร้อน
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com
ยุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคของ "วัตถุเงินทองอำนาจ" อย่างแท้จริง
นับเป็นยุคที่มีแต่ความร้อน ร้อนจากการผลิตวัตถุเสนอบริการที่ต้องใช้พลังงานมหาศาล ร้อนจากภาวะโลกร้อนที่มาจากการผลิตบริการ ร้อนจากการแข่งขันกันเสนอขายวัตถุบริการให้กับผู้บริโภค ร้อนจากกิเลสตัณหาของผู้บริโภคที่ซื้อหาวัตถุบริการทั้งที่เป็นและไม่เป็นปัจจัยสี่ ตลอดจนร้อนจากการแข่งขันกันคิดพูดทำเพื่อให้ได้มาซึ่ง "วัตถุเงินทองอำนาจ"
ความร้อนเหล่านี้กำลังแผ่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในไทย ซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาช้านาน กระนั้นก็ตาม ชาวพุทธไทยและแม้กระทั่งพระภิกษุสงฆ์ ต่างก็ถูกไฟอันร้อนแรงของ "วัตถุเงินทองอำนาจ" ลวกมาแล้ว ไม่มากก็น้อย
"พระธรรม" สอนชาวพุทธให้ใช้วิถีชีวิตแบบ "มัชฌิมาปฏิปทา" มี "ความประพฤติสายกลาง" ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ตาม "มรรคมีองค์แปด" เพื่อฝึกฝนตนให้มีความมั่นคงในศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งมีอานุภาพต่อต้านความร้อนดังกล่าวได้
อนิจจา ชาวพุทธไทยปัจจุบันจำนวนมาก นับถือพุทธแต่ปากกับมือ จิตไม่ได้อยู่กับพระธรรม จิตจึงนำกายให้พูดทำตามอารมณ์ ตามความพอใจ ซึ่งผันแปรอย่างน้ำขึ้น-น้ำลง ไม่นิ่งอยู่ใน "ความสมดุล" ของ "เหตุผลกับอารมณ์" ที่น่าสลดใจยิ่ง พระบางรูปก็ไม่นิ่งอยู่ใน "ความสมดุล" เช่นกัน
การไม่ได้นิ่งอยู่ใน "ความสมดุล" นี้ คือสาเหตุสำคัญข้อหนึ่งของ "จีวรร้อน" ที่ร้อนก็เพราะพระบางรูปกำลังถูกกล่าวหาว่าทำผิดข้อบัญญัติทางธรรมและทางโลก ยังความเสื่อมเสียต่อพระดีๆ ด้วย
ในการนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการปกป้องพิทักษ์กิจการพุทธศาสนา ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการ "จับตาเส้นทางปฏิรูป : พิมพ์เขียวปฏิรูปพระพุทธศาสนา" ออกอากาศวันที่ 2 มิถุนายน 2558 ทางโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยระบุ 4 ประเด็นใหญ่ที่พึงทำการปฏิรูปดังจะได้เสนอพร้อมข้อสังเกตส่วนตัว ดังนี้
1.การบริหารเงินในวัด สังเกตได้ว่า เมื่อเข้าวัด บรรดาอุบาสก อุบาสิกา มักบริจาคถวายเงินทองให้กับวัดและพระด้วยจิตศรัทธา ในบางโอกาส การบริจาคได้ก่อให้เกิดการไหลเทของเงินเข้าวัดอย่างมากมายรวดเร็วเกินคาด จนกรรมการวัดหรือพระมิอาจทำบัญชีรับเงินได้อย่างถูกต้องทันกาล ในกรณีที่ทำบัญชี ก็ทำแบบเงียบๆ ไม่เปิดเผย ไม่โปร่งใส และไม่ยอมให้มีการตรวจสอบบัญชีจากนักสอบบัญชี ส่งผลให้เกิดข้อกังขาในพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในวัด
ฉะนั้น ผู้มีจิตศรัทธาบางท่านที่มีความรังเกียจต่อการบริหารเงินในวัด ย่อมไม่ปรารถนาเข้าวัดบูชาพระรัตนตรัย รู้สึกกราบนมัสการพระคุณเจ้าได้ไม่สนิทใจ และไม่ประสงค์เกื้อกูลกิเลสอกุศลในวัด ทั้งนี้ เพราะไม่ปรารถนาให้วัดพุทธกลายเป็น "วัดพุทธพาณิชย์" ผลก็คือ วัดดีๆ ก็พลอยวิบัติไปกับวัดเลวๆ ด้วย
ปรากฏการณ์ดังกล่าว กำลังเกิดขึ้นและ "เน่า" อยู่ในวัดหลายแห่ง หากปล่อยทิ้งไว้ ผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายอาจขออยู่ห่างวัดตลอดไป วัดก็จะกลายเป็นวัดร้าง เมื่อพระเลวมีรายได้จากเงินบริจาคลดลง ก็จะสึกออกมาเป็นเศรษฐีคนหนึ่ง มีเงินมีทองที่แอบเก็บๆ ไว้ในขณะนุ่งห่มจีวรอยู่ พอจับจ่ายใช้สอยไปได้ตลอดชีวิต ส่วนสถาบันศาสนา ก็จะ "เน่า" ตามวัดเหล่านั้นไปด้วย โดยปริยาย
2.การขาดภาวะผู้นำ อาการ "เน่า" ในวัดสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอขององค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลวัดพุทธทั่วประเทศ ชื่อว่า "มหาเถรสมาคม" (มส.) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ไทย ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535
นอกจากจะไม่จัดระเบียบให้วัดสะอาดปราศจากมลทินแล้ว มส.ปัจจุบันยังออกมาแสดงบทบาทในฐานะผู้มีทั้งอำนาจเด็ดขาดในการ "บริหารปกครอง" ศาสนกิจสงฆ์ และอำนาจสูงสุดในการ "พิพากษา" พฤติกรรมสงฆ์ จึงสามารถปกป้องคุ้มครองพระที่ทำผิดพระธรรมวินัยและตัวบทกฎหมาย ให้พ้นผิดพ้นมลทิน ราวกับว่าเป็นเหตุการณ์ในฝัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ กรณีของ "พระธัมมชโย" แห่งวัดธรรมกาย ที่ให้พ้นผิดข้อกล่าวหาและกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมอย่างน่าทึ่งและน่าสลดใจที่สุด ท่ามกลางความงุนงงในหมู่ชาวพุทธทั่วไปว่า นี่หรือ มส. "ผู้นำ" ปัจจุบันของพระพุทธศาสนาไทย?
ปัจจุบัน พระพุทธศาสนาไทยกำลังกลายเป็นศาสนาที่คุ้มครองอาชญากรให้พ้นเงื้อมมือกฎหมายบ้านเมืองแล้วหรือ? แล้วในอนาคต จะมิกลายเป็นศาสนาที่มีแต่อาชญากรเข้าไปมั่วสุมกันอยู่หรือ?
นอกจากนี้ มส.ปัจจุบันยังปล่อยให้มีการแต่งตั้งโยกย้ายพระสงฆ์องคเจ้าตามแต่พระสังฆาธิการจะโปรดปราน เชิง "เผด็จการ" ก่อให้เกิด "วัฒนธรรมการเมือง" ในหมู่สงฆ์ เพียบพร้อมด้วยการวิ่งเต้นแบ่งปันผลประโยชน์
โดยพระธรรมวินัยแล้ว การแต่งตั้งโยกย้ายพระเป็นหน้าที่ของ พุทธบริษัทสี่ อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ร่วมกันพินิจพิจารณาอย่างเปิดเผย มีระบบระเบียบ และเป็นคณะบุคคลเชิง "ประชา ธิปไตย" เพื่อให้ได้พระดีมีพระธรรมวินัยมาทำหน้าที่ในวัดต่อไป
เมื่อ มส.ปัจจุบันปกครองคณะสงฆ์ตาม "วัฒนธรรมแห่งอธรรม" แล้ว พระที่แอบทำบัญชีทุจริต จะมีเวลาหรือจิตใจทำหน้าที่ของพระในการศึกษาพระธรรม เผยแผ่พระธรรม และภาวนาจิตตนเพียงใด? พุทธบริษัทสี่จะมีโอกาสเรียนรู้เข้าใจพระธรรม เกิดปัญญาของตนเอง จนสามารถดับกิเลสและแสดงธรรมให้ผู้อื่นเข้าใจด้วย เพื่อจะได้ช่วยรักษาพระศาสนาตามที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายฝากฝังไว้ ได้อย่างไร?
3.การขาดกลไกรองรับพระธรรมวินัย สถาบันศาสนาขาดกลไกทำหน้าที่พินิจพิจารณาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตีความพระธรรมวินัย ดังกรณีที่วัดธรรมกายให้พระเดินธุดงค์บนทางเท้าที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ นับเป็นการละเมิดพระธรรมวินัยและผิดวิถีชีวิตของพระ ซึ่งปวารณาตนไว้ว่า จะอยู่กับความยากจน สละแล้วซึ่งกิเลสตัณหา และงดแล้วซึ่งความพอใจในผัสสะทั้งปวง แต่ มส.ก็ยังห้าวหาญกล่าวในทำนองว่า รู้สึกมีบุญบารมีที่ได้เดินธุดงค์สัมผัสกลีบกุหลาบดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่แน่ใจว่า ท่านกล่าวด้วยอำนาจพระรัตนตรัย อำนาจมืดแห่งวัตถุเงินทอง หรืออำนาจวิเศษอื่นใดกันแน่
4.พระนิยมฝักใฝ่ทางโลก ปัจจุบันพระบางรูปนิยมเล่าเรียนวิชาทางโลก เพื่อรับวุฒิบัตรระดับปริญญาโทและเอกจากสถาบันสงฆ์อย่างออกหน้าออกตา โดยใช้งบแผ่นดินเรียนฟรีตลอดหลักสูตรหลายปี ฟรีหมดทุกรายการ คิดเป็นเงินหลายล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นการขัดพระธรรมวินัย ซึ่งให้พระสงฆ์ทำหน้าที่ศึกษาธรรมะ เผยแผ่ธรรมะ และภาวนาจิต เพื่อการหลุดพ้นจากวัฏสงสารและสืบทอดพระพุทธศาสนา อีกทั้งเป็นการเล่าเรียนที่ซ้ำซ้อนกับเยาวชนฆราวาสที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว เพื่อประกอบอาชีพทางโลก
วันหนึ่ง อีกไม่นานเกินรอ พระเหล่านี้จะสึกออกมาประกอบอาชีพทางโลก เพื่อรับเงินเดือนค่าตอบแทนสูงๆ จากกิจการทางโลก โดยอาศัยวุฒิปริญญาโท-เอกที่ตนได้นุ่งห่มจีวรไปเล่าเรียนมาได้ฟรีๆ พฤติกรรมแบบนี้เรียกว่า "ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว" หรือ "นกสองหัว" กันแน่?
นอกจากประเด็นทั้งสี่แล้ว กลุ่มพระที่เป็นฝ่ายเดียวกับพระที่ผิดพระธรรมวินัย ได้ออกมาโจมตีใส่ร้ายกรรมการปกป้องพิทักษ์กิจการพุทธศาสนาอย่างเลื่อนลอย เช่น กรรมการกำลังวางแผนเก็บภาษีพระ หาทางลงโทษพระในสถานหนัก ต้องการย้ายเจ้าอาวาสทุก 5 ปี เป็นต้น นายไพบูลย์ได้ปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า เป็นการใส่ร้ายป้ายสีที่ปราศจากความเป็นจริงทั้งสิ้น
กรณีผิดพระธรรมวินัยดังกล่าว สะท้อนให้เห็นการ "เน่า" ของสถาบันศาสนาที่เริ่มมาจาก "ภายใน" ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับการ "ล่มสลาย" ของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
จักรวรรดิโรมันเริ่มขึ้นในสมัยใกล้เคียงกับพระพุทธเจ้า เจริญรุ่งเรืองด้วยวิทยาการที่สร้างความเกรียงไกรสุดยอดให้กับกองทัพโรมัน แต่ก็มิวายต้องพบจุดอวสานด้วย "จิตวิญญาณ" ที่อ่อนแอลงของ "ผู้นำ" ที่ต้องการ "อำนาจ" เพื่อส่วนตัวมากกว่าเพื่อ "การอยู่ดีกินดี" ของชาวโรมัน
ทั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการสู้ทัพจับศึกภายในเพื่อ "ชิงตำแหน่งจักรพรรดิ" การแต่งตั้ง "จักรพรรดิไร้น้ำยา" ด้วยวัฒนธรรมการเมือง ตลอดจน "ความหมดศรัทธา" ของชาวโรมันในตัวผู้นำ
โดยที่ "สถาบันศาสนา" เป็นเสาหลักหนึ่งของชาติ มีหน้าที่หล่อหลอมจิตวิญญาณชาวไทยให้เป็นผู้มีจิตตื่นรู้ กอปรด้วยสติปัญญา สามารถขับเคลื่อนชาติไทยสู่ความเจริญทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมีผลดี ตามที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในสมัยกรุงสุโขทัย ตลอดมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ดังเห็นได้จากพระพุทธรูปทรงสง่างามยิ่งที่หล่อด้วยทองคำแท้ล้วนๆ หลายองค์ และวัดวาอารามอันวิจิตรงดงามใหญ่โต ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมชุมชนสำหรับการศาสนกิจ การเรียนการสอน ตลอดจนการจัดงานเทศกาลตามประเพณีนิยมมาเป็นอย่างดี และเห็นได้จากการค้าขายที่เฟื่องฟูยิ่งกับนานาประเทศที่ส่งเรือบรรทุกสินค้ามาเทียบท่าที่เมืองสยามอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์
ในการนี้ ขอให้ คสช.พิจารณาข้อเสนอแนะ 3 ข้อ ดังนี้1.ปฏิรูปโครงสร้างหน้าที่ของ มส.ใหม่หมด ให้มี 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหารศาสนกิจและปกครองสงฆ์ด้วยหลักนิติธรรม ฝ่ายนิติ บัญญัติออกกฎหมายลูกรองรับพระธรรมวินัย และฝ่ายตุลาการเพื่อตีความพระธรรมวินัยและพิพากษาตามกฎหมายลูก
2.ปฏิรูป พ.ร.บ.เกี่ยวกับ มส.ใหม่หมดให้ทันสมัย3.ปฏิรูปกรมการศาสนา โดยยกขึ้นเป็น "กระทรวงการศาสนา" เพื่อให้มีสมรรถภาพเหมาะสมกับการทำงานที่ละเอียดอ่อนและกว้างใหญ่ไพศาล โดยเฉพาะงานฟื้นฟูทำนุบำรุงวัดพุทธนับพันๆ แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นศูนย์ชุมชนอย่างเช่นสมัยก่อน และงานดับ "จีวรร้อน" ซึ่งล้วนเป็น "งานช้าง" ที่ต้องอาศัย "ช้าง" เท่านั้น จึงจะสัมฤทธิผล
หากตั้งอยู่ในความประมาท จักรวรรดิโรมันจะกลายเป็นอุทาหรณ์เตือนใจที่สายเสียแล้ว.
No comments:
Post a Comment