Wednesday, June 10, 2015

ประชามติร่าง รธน.
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com



อนุสนธิข่าวไทยโพสต์ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2558 เกี่ยวกับประเด็นทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่รายงานว่า ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ไปแสดงปาฐกถาในสัมมนาเรื่อง "การเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ" โดยมี กมธ.ยกร่างฯ คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในร่าง กมธ.ยกร่างฯ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมสัมมนา เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2558 จังหวัดขอนแก่น โดยพาดหัวข่าวว่า

"'บวรศักดิ์' ลั่น เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อ 65 ล้านคน ไม่ใช่เพื่อนักการเมืองไม่ถึงพันคน ปลุกประชาชนอย่าฟังใคร-อย่าเชื่อไลน์ ท่านคือคำพิพากษาสุดท้าย กร้าว ทุกคนเกิดมาวันแรกไม่มีตำแหน่ง เมื่อเข้าโลงศพเหลือเพียงความเป็นพลเมืองเท่านั้น"

ดร.บวรศักดิ์ ในฐานะประธานยกร่างฯ น่าจะมีความภูมิใจที่ร่าง รธน. ได้รับการต้อนรับด้วยเสียงเกรียวกราว แม้จะมาจากจำนวนจิ๋วเดียวของ "พลเมือง 65 ล้านคน" และ "นักการเมืองไม่ถึงพันคน" ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเพียงในบางส่วน มิใช่ทั้งหมดของร่าง รธน. เพราะการร่าง รธน.นี้ มิใช่เรื่องง่ายๆ อย่าง "ปอกกล้วยเข้าปาก" จริงๆ แล้ว มีผู้ใดบ้างที่สามารถยกร่าง รธน.ครั้งเดียวให้ถูกใจพระเดชพระคุณทั้งหลายได้หมด? หากมี ผู้นั้นก็น่าจะมีอุปนิสัยใจคอแบบฮิตเลอร์กระมัง?

ตรงกันข้าม หากยกร่างฯ แล้ว มีแต่คนนิ่งเฉย ไม่แสดงความเห็นอะไรทั้งสิ้น ดร.บวรศักดิ์กับคณะยกร่างฯ จะไม่รู้สึกหนาวบ้างเลยหรือ? ไม่กลุ้มใจมากกว่ามีคนแสดงความเห็นหรอกหรือ? เสียงเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยที่ผ่านมา ซึ่งอาจไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้ใดนัก คือสัญญาณบ่งบอกการได้ใช้สิทธิ์แสดงความเห็นตามหลักการประชาธิปไตย มิใช่หรือ?

ดร.บวรศักดิ์อาจเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ได้ทุ่มเทกำลังกายกับกำลังใจอย่างหนักหน่วง เพื่อให้มีผลงานร่าง รธน. สวยงามออกมา แต่ก็มิวายถูกยกขึ้นวางบนเขียงให้นักการเมืองเข้าคิวใช้ปังตอสับเสียเละ โดยทำติดต่อกันอยู่ร่วมสัปดาห์ แบบไม่เว้นแม้กระทั่งวันสุดสัปดาห์ จน "เละ" ยิ่งกว่าหมูสับที่เขาใช้ทำบะช่อเสียอีก เสียงสับปังๆ แต่ละครั้งดังทะลุเข้าไปในหัวใจ ทำให้หัวใจห่อเหี่ยวชอบกล ก็เลยต้องเล่าแจ้งแถลงไขความในใจหน่อย ในทำนองว่า ที่ทำเนี่ยไม่ได้ทำให้พวกเธอเท่านั้นนะ ทำให้พลเมือง 65 ล้านคนย่ะ

เป็นอันว่า ทั้งฝ่ายยกร่างฯ และฝ่ายวิจารณ์ ต่างก็ได้แสดง "ความเห็น" ของตนออกมาทั่วถ้วน เจ๊ากันไป นับได้ว่าต่างก็ได้แสดงจิตวิญญาณประชาธิปไตยออกมาครบถ้วนตามกระบวนการ ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แม้ คสช.กำลังใช้ ม.44 ดูแลความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมืองอยู่ แต่ความเห็นทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในกรอบของกฎหมาย หลักการ ตลอดจนเหตุผล ก็มิได้ถูกกดเก็บไว้ ดังเช่นเมื่อครั้งที่ถูกอำนาจเผด็จการในอดีตปกครองอยู่

ดร.บวรศักดิ์กล่าวต่อไปว่า "คนที่จะตัดสินว่าผ่าน-ไม่ผ่าน คือพ่อแม่พี่น้อง ท่านคือผู้พิพากษา ถ้าเกิดท่านบอกไม่เอา ผมก็กลับไปนอนบ้าน" ตามหลักประชาธิปไตย พลเมืองเป็นใหญ่ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะโหวตให้ร่าง รธน. ผ่าน-ไม่ผ่าน แต่หากจะให้พลเมือง 65 ล้านคน เป็น "ผู้พิพากษา" นั้น ดูออกจะรวดเร็วเกินไปหน่อย

พลเมืองเป็นใหญ่จริง แต่พลเมืองไม่จำต้องรู้เรื่องนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เก่งกาจไปหมดทุกคน โดยเฉพาะพลเมืองที่หาเช้ากินตอนดึก ตลอด 6 หรือ 7 วันต่อสัปดาห์ จะให้พลเมืองเหล่านี้ไปหาเวลา ทรัพยากร สำหรับไปติวเข้มวิชาดังกล่าวได้จากไหน? พลเมืองทั้งหลายจึงจำต้องยืนหยัดทำหน้าที่เป็น "ผู้ว่าจ้าง" หรือ "ลูกค้า" ของท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ซึ่งมีความเก่งกาจในเรื่อง รธน. ให้ทำหน้าที่เป็น "ผู้พิพากษา" แทน

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า พลเมืองผู้มีสิทธิ์แสดงประชามติราว 45 ล้านคน (2550) ไม่ต้องไปแสดงประชามติ ตรงกันข้าม เมื่อถึงเวลา พลเมืองผู้มีสิทธิ์ก็ควรไปแสดงประชามติให้ผ่าน-ไม่ผ่าน ร่าง รธน. แรกนี้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะหลังจากที่ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายดังกล่าว ยอมร่วมกันทำการพิจารณากลั่นกรองแก้ไขปรับปรุงร่าง รธน. จนถึงระดับที่เห็นสมควรให้พลเมืองได้มีโอกาสไปสถานที่หนึ่งใด (หากมีเวลา) เปิดแง้มร่าง รธน. ฉบับพร้อมรับประชามติ ซึ่งได้รับการอาบน้ำปะแป้งลูบด้วยน้ำหอมเรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาในขั้นท้ายสุดว่า ตนจะ "พิพากษา" ให้ผ่านหรือไม่ผ่าน ประการใด ตามหลักประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันแสดงประชามติ พลเมืองส่วนหนึ่งที่ใจจริงไม่นิยมประชาธิปไตย แต่นิยมใส่หน้ากากประชาธิปไตยมาตลอด ก็อาจออกโรงต่อต้านร่าง รธน. ด้วยการออกโฆษณาหาเสียงหาพวกให้ทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อไม่ให้ร่าง รธน.ผ่าน และจะได้ก่อกวนการปฏิบัติภารกิจของ คสช.ต่อไป โดยยอมเสี่ยงกับการละเมิดข้อห้ามต่างๆ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552

ในกรณีที่เกิดกรณีก่อกวนดังกล่าวจริง ก็แสดงว่า ประชาธิปไตยอาจมิใช่ "เนื้อคู่" ของไทย เนื่องจากมีกลุ่มนักการเมืองอาชีพที่มีความมุ่งมั่นต่อต้านกระบวนการประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ คสช.ได้ออกมาเสี่ยงชีวิตในยามวิกฤติหน้าสิ่วหน้าขวาน เพื่อกอบกู้ชาติบ้านเมืองและประชาธิปไตย ท่ามกลางการประจัญบานระหว่างผู้ประท้วงแบบอหิงสาสันติ เพื่อขับไล่รัฐบาล และผู้ใช้อาวุธสงครามร้ายแรงต่อผู้ประท้วง ซึ่งเป็นการต่อต้านกระบวนการประชาธิปไตย ในลักษณะที่ส่อให้เห็นท่าทีเหยียดหยามเหยียบย่ำหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง

นอกจากนี้ ดร.บวรศักดิ์ยังเชิญชวนให้พลเมืองผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ใช้สติปัญญาในการแสดงประชามติ โดยให้ระลึกถึง "หลักเตือนใจ" ใน "กาลามสูตร" ของพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้ "พิพากษา" ได้โดยเที่ยงธรรม ให้ร่าง รธน.ผ่านหรือไม่ผ่าน

ท่านพุทธทาสสอนไว้ว่า "หลัก (กาลามสูตร) นี้ เป็นการแสดงถึงความที่พระพุทธศาสนาให้ความเป็นอิสระ ในความเชื่ออย่างถึงที่สุด" คือ พระพุทธศาสนามีศรัทธาในศักยภาพของมนุษย์ ในการเลือก "ความเชื่อ" ที่ถูกต้อง ตามที่ตนได้พิจารณาด้วยสติปัญญาโดยเอกเทศ

ศรัทธาดังกล่าว ได้รับการรองรับจากผลการศึกษาวิจัยโดยนักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐ ที่พบว่า เด็กทารกวัย 5 เดือน และวัย 21 เดือน มี "ความรู้สำนึกในศีลธรรม" อยู่ในจิตใจ คือ รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ในขณะที่จิตใจยังบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ตามธรรมชาติ และปราศจากความรู้สึกนึกคิดผิดๆ ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในข้อพึงระวัง 10 ข้อ ใน "กาลามสูตร" ดังกล่าว

ท่านพุทธทาสย้ำว่า "ให้เชื่อการพิจารณาของตนเอง ว่า คำสอนเหล่านั้น เมื่อประพฤติ กระทำตามไปแล้ว จะมีผลเกิดขึ้นอย่างไร ถ้ามีผลเกิดขึ้น เป็นการทำตนเองและผู้อื่น ให้เป็นทุกข์ เดือดร้อน ก็เป็นคำสอน ที่ไม่ควรปฏิบัติตาม ถ้าไม่เป็นไป เพื่อทำตนเอง และผู้อื่นให้เดือดร้อน แต่เป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญ ย่อมเป็นคำสอน ที่ควรทำตาม"

ตัวอย่างของการกระทำให้ตนและผู้อื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน ได้แก่ กรณี "กมธ.ยกร่างฯ ยังดึงดัน แข็งขืน ดื้อดึงไม่ปรับแก้ แถมหาเหตุผลมาชี้แจงหักล้างไม่ได้" "ถึงวันนั้น คนอยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งต้องการฉีกหน้า ตบหน้ารัฐบาล จะถือโอกาสใช้เวทีเหล่านี้ปลุกปั่นให้เกิดแตกแยก" และ "ถ้านักการเมือง กลุ่มการเมืองไม่ยอมรับต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว เขาจะเอาฐานมวลชนออกมาคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่ ถ้าประชามติไม่ผ่าน ก็เสียทั้งเงิน ทั้งเวลา.." ส่วนตัวอย่างการกระทำที่เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญได้แก่ "ถ้า สปช.ลงมือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้ว บ้านเมืองก็จะได้ไม่วุ่นวาย ไร้แรงกระเพื่อมจากการทำประชามติ" ทั้งนี้ ตามที่นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. ได้ยกตัวอย่างไว้

ในตอนท้าย ดร.บวรศักดิ์ฝากข้อคิดไว้ว่า "ตนและทุกคนเกิดมาวันแรกไม่มีตำแหน่ง และวันที่เข้าโลงศพหรือวันตายนั้น ทุกคนก็ไม่ได้มีตำแหน่งเช่นกัน แต่จะเหลือเพียงแค่ความเป็นพลเมืองไทยเท่านั้น"

ข้อคิดดังกล่าว นับเป็นปรัชญาที่ล้ำลึกมาก แบบเดียวกับที่ปรมาจารย์เล่าจื้อสอนไว้ว่า ชีวิตคนเราเปรียบได้กับสายน้ำที่ไหลเทไปมาอยู่บนผิวโลก จนกระทั่งไปสู่จุดอวสานในมหาสมุทร คือ เกิดเป็นน้ำ ตายก็เป็นน้ำ และไม่มีสายน้ำใดสามารถนำปัจจัยหนึ่งใดจากผิวโลก ติดตัวไปที่มหาสมุทรได้เลย

ดูเหมือนว่า ผู้ที่พึงสดับฟังข้อคิดดังกล่าวของ ดร.บวรศักดิ์ให้ดี น่าจะเป็นคนที่ได้ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศนานเสียจนไม่อยากกลับบ้านเกิดเมืองนอนอีกแล้วกระมัง?

พลเมืองเป็นใหญ่ได้ตามเจตนารมณ์ของ คสช.ก็ต่อเมื่อท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายที่มีหน้าที่ยกร่าง รธน. หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง รธน. ต่างหันหน้าเข้าหากัน ร่วมมือกัน ทำการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่าง รธน.อย่างสุดความสามารถ เพื่อเสนอผลลัพธ์ที่ออกมาเป็น รธน.ฉบับประชามติ ต่อพลเมืองเป็นใหญ่ ซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็น "ผู้ว่าจ้าง" หรือ "ลูกค้า" ของท่านผู้เกียรติดังกล่าวอยู่ โดยมีความหวังว่า ทุกท่านจะร่วมมือกันแสดงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ด้วยความจริงใจ เพื่อความเจริญสุขของลูกหลานทั้งหลาย

หลักการสำคัญข้อหนึ่งของประชาธิปไตย คือ ทุกคนในระบอบนี้พึงรู้จักและร่วมใจกันทำหน้าที่รับผิดชอบของตนต่อชาติบ้านเมือง ด้วยการสลัดอัตตาออกไปจากตัวเอง แสดงคารวะธรรมต่อกัน และยอมน้อมนำเอา "กาลามสูตร" มาประยุกต์กับตัวเองด้วย มิใช่หรือ?.

No comments:

Post a Comment