Monday, August 23, 2010


ปฏิรูป : จิตวิทยาสุคติ
โดย : ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
 dhanarat333@gmail.com


            การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมได้ส่งผลให้ประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นของวัฒนธรรมที่นิยม “การมี” หรือ “การครอบครองวัตถุเงินทอง” มาตลอด

            ปัจจุบัน สังคมไทยกำลังเป็นโรคจิตที่ไม่ต่างอะไรจากสังคมอื่นที่นิยม “การมี” ดังกล่าว โดยมีแนวโน้มทรุดหนักลงอย่างไม่รู้ตัว มีอนาคตที่เปรียบได้กับกบเป็นๆ ที่อยู่ในหม้อน้ำที่อุ่นขึ้นเรื่อยๆ บนเตาไฟร้อนแรง

            นักจิตวิทยาอเมริกันมองเห็นความหายนะของสังคมที่เน้น “การมี” มานาน โดยพยายามเยียวยาความทุกข์ใจที่ “ปลายเหตุ” คือที่ "อาการ" เช่น อาการคับข้องใจ ตึงเครียด ก้าวร้าว วิตกกังวล ภาพหลอน นอนไม่หลับ ฝันร้าย อาฆาตพยาบาท ซึมเศร้า คลุ้มคลั่ง เจ็บป่วยโดยไม่มีสาเหตุทางสรีระ เป็นต้น ปรากฏว่า ไม่ประสบผลดีเท่าที่ควร

            นักจิตวิทยาจึงได้หันไปศึกษาภาวะผาสุก (ความสําราญความสบาย) เช่น อาการผ่อนคลาย ใจเย็น จิตผ่องใส นอนหลับง่าย ไม่ฝันร้าย ปลอดจากอาการ “สามวันดีสี่วันไข้” เป็นต้น เพื่อค้นหา “สาเหตุ” ของภาวะผาสุก ในที่สุด พบว่า มีสาเหตุมาจากจิตที่รู้จักและได้นำ “ศีลธรรมจริยธรรม” "เมตตาธรรม” ตลอดจน “ความมีเหตุมีผล” ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งตรงกับจิตของ “ผู้เสริมสร้างทำคุณประโยชน์ต่อสังคม” ที่ศาสตราจารย์ ดร.อิริค ฟรอม นักจิตเคราะห์เรืองนาม ได้ชี้ให้เห็นเมื่อ 6 ทศวรรษก่อน

            การค้นพบสาเหตุแห่งความผาสุกนี้ ส่งผลให้เกิดวิชาใหม่ ชื่อว่า Positive Psychology (จิตวิทยาเชิงบวก) ขอเรียกว่า “จิตวิทยาสุคติ” ซึ่งกลมกลืนเป็นครั้งแรกเข้ากับ “ศีลธรรม” “การทำคุณต่อเพื่อนมนุษย์” ศจ.ดร.มาร์ติน เซลิกแมน นักจิตวิทยาอเมริกันโด่งดัง เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งวิชาใหม่นี้เมื่อราวสิบปีก่อน

            ปัจจุบัน “จิตวิทยาสุคติ” ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากสถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกา เช่น มหาวิทยาลัยแห่งนอร์ทแคโรไลนา ม.วิสคอนซิน ม.ฮาร์วาร์ด ม.แห่งเพนซิลเวเนีย และในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ คานาดา ออสเตรเลีย และ สกอตแลนด์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสถาบันที่มีมาตรฐานสูงและชื่อเสียงโด่งดังทั้งสิ้น

            ดร. ท็อด คัชดาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์หนุ่มแน่นแห่งมหาวิทยาลัยจอร์ชเมสัน รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐฯ มีประสบการณ์ที่น่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับวิธีสอนจิตวิทยาสุคติ ตามรายงานของดีที แม็กซ์ นักเขียนอิสระ

            อาจารย์คัชดาน ตั้งชื่อวิชาของท่านว่า “ความสุขโดยวิถีเชิงวิทยาศาสตร์” มีหัวข้อย่อย คือ การมองโลกในแง่ดี กตัญญูกตเวที สัมมาสติ ความหวัง และจิตวิญญาณ 

            แก่นของวิชาอยู่ที่ทำให้ลูกศิษย์มองเห็นความแตกต่างระหว่าง “รู้สึกดี” ซึ่งก่อให้เกิดความหิวโหยอยากได้มากขึ้น อย่างเช่นกิเลสตัณหาที่ไม่รู้จักอิ่มหรือพอเพียง กับ “ทำดี” ซึ่งนำไปสู่ความสุขบริสุทธิ์ที่กอปรด้วยความอิ่มเอิบใจ ไม่ถูกกิเลสตัณหาครอบงำ

            การบ้านข้อแรกได้แก่การไปทำอะไรสักอย่างที่นักศึกษาเองชอบ ซึ่งทำแล้วก่อให้เกิดความรู้สึกหรรษาสนุกสนานเพลิดเพลินบันเทิงใจ แล้วบันทึกประสบการณ์ไว้ ส่วนการบ้านข้อที่สองได้แก่การไปทำอะไรอีกสักอย่างที่เป็นการ "ให้" ผู้อื่นด้วยเมตตาจิตอย่างปราศจากเงื่อนไขและอัตตา แล้วทำบันทึกประสบการณ์ไว้เช่นกัน

            ในข้อแรก นักศึกษาคนที่หนึ่งเล่าถึงประสบการณ์ที่ไปเล่นดำน้ำ แล้วมีเพศสัมพันธ์กับแฟนขณะอยู่ลึกลงไปราวสิบเมตร คนที่สองรายงานการได้ไปรับประทานอาหารเอร็ดอร่อยที่ภัตตาคารโด่งดังแห่งหนึ่ง แล้วถูกเรียกเก็บเงินค่าอาหารแพงกว่าที่คาดไว้มาก คนที่สามเล่าถึงการไปชมการแข่งรถที่สนามรถแข่งนัสคาร์ ได้สูดกลิ่นควันเหม็นของรถแข่ง ดื่มสุรา แล้วมีเพศสัมพันธ์ และคนที่สี่ รายงานถึงการอยู่บ้านดูรายการโทรทัศน์ที่โปรดปราน นั่งพูดคุยกับเพื่อนๆ

            ในข้อสอง นักศึกษาที่ชมการแข่งรถ ได้ไปบริจาคโลหิต ทั้งๆที่กลัวเข็มฉีดยา คนที่สองที่ถูกเรียกเก็บค่าบริการอาหารแพงสุดๆ ได้ไปซื้อเครื่องดื่มกระป๋องแจกให้คนไร้ถิ่นฐานข้างถนน คนที่สามรวบรวมเสื้อผ้าผู้หญิงเก่าใช้แล้วจากญาติพี่น้อง แล้วนำไปบริจาคให้กับบ้านพักหญิงที่ถูกสามีละเมิดทุบตีจนอยู่ด้วยกันไม่ได้ และคนที่สี่ได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารเล็กๆแห่งหนึ่ง แล้วให้ค่าทิปแก่พนักงานบริการ 50 เหรียญ ซึ่งมากกว่าค่าอาหารเสียอีก

            จากนั้น นักศึกษาคนหนึ่งกล่าวเปรียบเทียบประสบการณ์สองแบบ คือ การรับบริการที่สปากับการอาสาสมัครทำความสะอาดที่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง โดยชี้ว่าที่สปามีแต่สิ่งสะอาดหอมหวนสดชื่น แต่ที่บ้านชนบทมีแต่ขี้ม้าเกลื่อนกลาดส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว กระนั้นก็ตาม กลับรู้สึกติดตราตรึงใจกับรอยยิ้มของผู้ที่พาตนไปทำความสะอาดที่บ้านชนบท ยิ่งกว่ารอยยิ้มของสาวนวดที่สปาเสียอีก

            ต่อมา อาจารย์คัชดานชี้ให้เห็นบทเรียนจากชีวิตจริงโดยทันทีว่า “การทำดีต่อผู้อื่นย่อมส่งผลดีต่อผู้กระทำ” กล่าวในเชิงพุทธก็คือ “ทำความดีย่อมได้ความดี” ในบัดดล พลังศีลธรรมก็สว่างไสวขึ้นในจิตใจบรรดานักศึกษาทั้งหลาย

            ที่ตื่นเต้นกันได้แก่การบรรยายถึงการวิจัยมันสมองส่วนหน้าของคนมองโลกในแง่ดี อันเป็นสมองที่เราใช้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ตัดสินใจ ฯลฯ นักจิตวิทยาพบว่า สมองส่วนหน้าของคนมองโลกในแง่ดีมักทำงานอยู่ตลอดเวลา คือ มีชีวิตชีวา ตรงกันข้าม สมองส่วนหน้าของคนมองโลกในแง่ร้ายมักมีคลื่นไฟฟ้าต่ำ คือ ไร้ชีวิตชีวา อยู่ในภาวะผวาจิต และรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย

            ต่อไป อาจารย์คัชดานบรรยายหัวข้อเรื่องต่างๆ คือ กตัญญูกตเวทีกับการให้อภัย ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความรัก จิตวิญญาณกับการอยู่อย่างเป็นสุข และความหมายของชีวิตกับจุดมุ่งหมายของชีวิต ทั้งนี้ โดยไม่ใช้คำว่า “ศีลธรรม” เลย และให้นักศึกษาตระหนักว่า ยังมีอีก "วิถีชีวิตหนึ่ง" ที่นักจิตวิทยาได้วิจัยค้นพบแล้วว่า สามารถนำไปสู่ "ผลลัพธ์" หรือ "ผลการใช้ชีวิต" ที่เหนือกว่าวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับความพอใจของผัสสะ

            นอกจากนี้ อาจารย์คัชดานยังให้นักศึกษาฝึกทำสมาธิ โยคะ เขียนสาธยายความรู้สึกที่รักใครคนหนึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิต ไปเยี่ยมเยือนผู้มีบุญคุณ เขียนจดหมายขอบคุณผู้ช่วยเหลือ ตลอดจนฝึกใช้พลังความอยากรู้ไปในการสำรวจโลกกว้าง โดยให้ทำอะไรสักอย่างที่แปลกใหม่ สลับซับซ้อน อาศัยการปฏิสัมพันธ์ และให้ใช้ประสาทสัมผัสของตนเป็นเกณฑ์ ปรากฎว่า นักศึกษาบางคนได้ไปลองชิมผลไม้ลูกทับทิมเป็นครั้งแรก และบางคนอ่านหนังสือที่เขียนโดยบุคคลโด่งดังในสังคม

            การบ้านที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ได้แก่การให้่นักศึกษาเลือกเฟ้นความทรงจำหนึ่งใดของตน ซึ่งตนตั้งใจจะให้จำติดตัวไปชั่วนิรันดร เพื่อฝึกฝนให้นักศึกษามีจิตที่อยู่กับสุคติ

            มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ มีนักศึกษาสมัครเรียนวิชา “จิตวิทยาสุคติ” มากเป็นประวัติการณ์ นับได้ 855 คน ต่อภาค นักศึกษาที่นี่ราวร้อยละ 23 ยอมรับว่าวิชาใหม่นี้ ได้ส่งผลให้ตนมีชีวิตที่ดีขึ้น คนหนึ่งเขียนบรรยายไว้ว่า “เมื่อขึ้นปีสี่ ถึงได้ฉุกคิดขึ้นมาว่า วิชานิติศาสตร์คงไม่เหมาะสำหรับตน” อีกคนเปิดเผยว่า “ได้เลือกเรียนจิตวิทยาสุคตินี้โดยไม่ได้คิดอะไรมากมาก่อน แต่กลับติดอกติดใจวิชานี้มากที่สุด ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ตนรักและชอบทำมากที่สุดได้แก่การได้พูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับปัญหาที่กำลังรุมเร้าเธออยู่”

            นักจิตวิทยาสรุปไว้ว่า “จิตวิทยาสุคติ” ไม่เพียงแต่สอนให้รู้จักวิธีเข้าถึงความสุขอันแท้จริงเท่านั้น แต่ยังฝึกนักศึกษาให้รู้จักทำหน้าที่เป็นพลเมืองดี มีจิตวิญญาณที่รู้จักและเข้าใจความถูกต้องชอบธรรม มีความหวังอันสมจริง และมีเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์อีกด้วย

             เทคโนโลยีได้ผลิตวัตถุสิ่งของต่างๆนานาออกมายั่วยุกิเลสตัณหามนุษย์ และครอบงำชีวิตมนุษย์อย่างโงหัวไม่ขึ้นและไม่รู้ตัว จนเราไม่รู้ไม่สนใจว่าอะไรคือสิ่งปรุงแต่ง สิ่งธรรมชาติ หรือหนทางสู่สุคติอันแท้จริง

            วิชา “จิตวิทยาสุคติ” ได้ปฏิรูปนักศึกษาดังกล่าวให้ “ตื่น” จากภวังค์ ส่งผลให้นักศึกษาสามารถก้าวข้ามทุคติภูมิสู่สุคติภูมิอย่างเด่นชัดมาแล้ว

            วิชาจิตวิทยาสุคติจึงน่าจะสามารถช่วยให้ชาติบ้านเมืองก้าวข้ามทุคติภูมิสู่สุคติภูมิได้เช่นกัน.

    No comments:

    Post a Comment