Monday, August 23, 2010


ปฏิรูป : ปลุกศีลธรรมในสายเลือด
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต 


            ไม่นานมานี้ เด็กผู้ชายวัยหนึ่งขวบเกือบทั้งหมดในห้องวิจัยจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเยล สหรัฐฯ ต่างแสดงปฏิกิริยาแบบเดียวกันต่อเหตุการณ์เดียวกัน
    ซึ่งเป็นการแสดงของตุ๊กตาหุ่นเชิดที่เป็นตัวตน 3 ตัว ต่อหน้าเด็กแต่ละคน

            หุ่นตัวกลางกลิ้งลูกบอลให้ตัวที่อยู่ขวามือเด็ก ซึ่งกลิ้งลูกบอลกลับไปให้ตัวกลาง ซึ่งกลิ้งลูกบอลต่อไปให้ตัวที่อยู่ซ้ายมือเด็ก ซึ่งหอบลูกบอลหายตัวไป จากนั้น หุ่นตัวที่อยู่ขวามือกับซ้ายมือก็กลับออกมาปรากฏอยู่หน้าเด็ก แต่ละตัวมีขนมบนจานตั้งอยู่หน้าตัวเอง ผู้วิจัยขอให้เด็กหยิบจานขนมออกจากหุ่นตัวไหนก็ได้หนึ่งจาน ปรากฏว่า เด็กเกือบทั้งหมดเลือกหยิบจานขนมออกจากหุ่นที่หอบลูกบอลหายไป ยิ่งกว่านั้น เด็กบางคนยังใช้มือตบหัวหุ่นที่หอบบอลหนีไป ราวกับว่า ต้องทำโทษให้สาสมที่ “ซุกซน” นัก

            เห็นได้ว่า เด็กวัยเพียงหนึ่งขวบก็มีสิ่งที่นักวิจัยตีความว่าเป็น “ความรู้สำนึกในศีลธรรม” อยู่ในสายเลือดมากพอที่จะไม่ชอบหุ่นเชิดที่หอบลูกบอลหนี โดยไม่ยอมส่งบอลกลับไปให้หุ่นตัวกลางเล่นต่อไปอย่างเช่นหุ่นตัวอื่น เพื่อจะได้ไม่เป็นการเอาเปรียบผู้อื่น มีความเป็นธรรมต่อผู้อื่น

            ปี 2546 ณ ศูนย์พัฒนาการเด็กวัยต้น วิทยาลัยชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐฯ นักจิตวิทยาทำการวิจัย “ความรู้สำนึกในศีลธรรม” ของเด็กชายหญิงอายุเฉลี่ย 5 ขวบ พบว่า เด็กเหล่านี้ไม่ยอมแกล้งดึงเส้นผมของเพื่อน แต่ยอมแสดงการขัดจังหวะแย่งพูดแข่งกับเพื่อน  เมื่อครูบอกอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถูกลงโทษ

            สำหรับเด็กเหล่านี้ การได้สัมผัสกับความเอร็ดอร่อย สะอิดสะเอียน สนุกสนาน หรือเบื่อหน่าย เป็นเรื่องของความรู้สึกชอบ/ไม่ชอบในแต่ละคน โดยได้รับอิทธิพลสอนสั่งจากภาวการณ์ภายนอกตัวเด็ก ส่วนการแกล้งดึงเส้นผมเพื่อน นั้น เด็กถือว่าเป็นเรื่องไม่ดีหรือเลวร้าย ซึ่งเป็นความนึกคิดที่เกิดจากภายในตัวเด็กเองล้วนๆ ปราศจากอิทธิพลสอนสั่งจากภายนอก 

            นักจิตวิทยาสรุปไว้ว่า เด็กวัยหนึ่งขวบและห้าขวบ ต่างได้แสดงให้เห็นว่า ต่างก็มี “ความรู้สำนึกในศีลธรรม” อยู่ในจิตใจ

            ในส่วนของสัตว์โลก ผู้ชำนาญทางชาติพันธุ์วิทยาวิจัยพบว่า สัตว์ต่างชนิดต่างเผ่าพันธุ์ก็มี “ความรู้สำนึกในศีลธรรม” คือ มีความห่วงใยและรู้จักช่วยเหลือสัตว์ตัวอื่นในเผ่าพันธุ์เดียวกัน

            ดร.มาร์ค เบคอฟ และ ดร.เจสซิกา เพียส แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐ ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ Wild Justice : The Moral Lives of Animals (ความรู้สำนึกในความยุติธรรมของสัตว์ป่าธรรมชาติ : ชีวิตเชิงศีลธรรมของสัตว์โลก) ตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐ ปี 2552 โดยกล่าวถึงการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่พบว่า สัตว์หลากหลายเผ่าพันธุ์ อาทิ สุนัข ช้าง หนู ลิง นก ปลาดอลฟิน (ปลา
    โลมา) ต่างก็มี “ความรู้สำนึกในศีลธรรม” อยู่ในตัว ดังตัวอย่างต่อไปนี้


            สุนัขคือสัตว์ชอบสังคมที่ชอบเล่นด้วยกันและจงรักภักดีต่อผู้เลี้ยงดู ในขณะเล่นด้วยกัน สุนัขจะมีการรับส่งสัญญาณและแสดงท่าทางต่อกันว่า จะไม่ทำร้ายกัน สุนัขตัวขี้โกงที่ส่งสัญญาณเป็นมิตร แต่กลับเอาเปรียบกัดสุนัขตัวอื่นแรงๆ จะกลายเป็น “หมาหัวเน่า” ที่ไม่มีสุนัขตัวอื่นในกลุ่มอยากเล่นด้วยต่อไป สะท้อนว่าสุนัขก็มีความรู้สึกอย่างมนุษย์ ในเรื่องของความยุติธรรม การไม่เอาเปรียบกัน ตลอดจนการไม่ทรยศหักหลังกัน

            ช้างชื่อ “เบเบิล” เดินได้เชื่องช้ามาก เนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่ขาข้างหนึ่ง ช้างเชือกอื่นๆ ในกลุ่มก็พากันเดินช้าลงกว่าที่เคย เพื่อจะได้ก้าวไปด้วยกันกับเบเบิล แถมหาอาหารมาป้อนเบเบิลด้วย โดยทำเช่นนี้อยู่นานหลายปีทีเดียว สะท้อนว่าช้างเป็นสัตว์ที่สามารถหยั่งรู้ในความทุกข์ยากของช้างตัวอื่น และรู้จักช่วยกันผ่อนคลายความทุกข์ยากนั้นให้ด้วย

            เมื่อจัดให้หนูสองตัวที่ได้รับการฝึกฝนจนสามารถกดราวกลสำหรับปล่อยอาหารให้หนูอีกตัวหนึ่ง ซึ่งอยู่ในกรงข้างเคียงและมองเห็นกัน ปรากฏว่า หนูทั้งสองต่างผลัดกันกดราวกลส่งอาหารให้กัน ต่อมา เมื่อจัดให้หนูจากกลุ่มนี้ไปอยู่ข้างเคียงกับหนูตัวอื่นที่ไม่เคยรับการฝึกฝนดังกล่าว พบว่า แม้ว่าหนูตัวใหม่ที่ไม่เคยรับการฝึกฝน จะไม่สามารถส่งอาหารให้หนูข้างเคียงที่ส่งอาหารมาให้ หนูที่กดราวกลเป็นก็ยังส่งอาหารให้หนูตัวใหม่ได้กินอยู่ดี อย่างสม่ำเสมอ ทั้งๆที่ไม่ได้คุ้นเคยกันมาก่อน สะท้อนว่าหนูเป็นสัตว์ที่รู้จักทำความดีต่อหนูตัวอื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข

            ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้น คือ หนูจะไม่ยอมกินอาหาร เมื่อรู้ตัวว่า หากกินเมื่อใดก็จะทำให้หนูอีกตัวหนึ่งถูกไฟฟ้าช็อตด้วยความเจ็บปวด

            ลิงชิมแพนซีได้ให้การดูแลเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องแก่ลิงอีกตัวหนึ่ง ซึ่งป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมที่ทำให้อวัยวะบางส่วนของร่างกายเป็นอัมพาตไป ทั้งนี้ เป็นการดูแลที่เคยคิดกันว่า มนุษย์เท่านั้นจึงจะทำต่อกันได้

            ที่ศูนย์กู้ชีวิตหมาป่าไคโอต รัฐอินเดียนา สหรัฐฯ ได้เกิดเหตุการณ์น่าทึ่งอย่างยิ่ง คือ กลางดึกคืนหนึ่ง หนูอ่อนวัยมากสองตัว พลัดตกลงไปในอ่างล้างมือที่ไม่มีน้ำ แต่ลึกมาก หนูน้อยทั้งสองได้พยายามไต่ขึ้นสู่ขอบอ่างที่ลื่นกับสูงชันอยู่ตลอดคืน แต่ก็ไม่สำเร็จ จนเหนื่อยล้าอ่อนแรง

            รุ่งขึ้น เมื่อผู้อำนวยการศูนย์ฯ พบหนูน้อยในสภาพเหนื่อยอ่อนและมีอาการหวาดกลัวสั่นไปทั้งตัว ก็หาน้ำมาให้กิน ปรากฏว่า มีหนูตัวเดียวที่ยังพอมีแรงลุกขึ้นกินน้ำได้ ส่วนอีกตัวหนึ่งหมดแรง นอนแน่นิ่งอยู่

            เมื่อเห็นก้อนอาหารอยู่ใกล้ตัว หนูตัวแข็งแรงก็คาบอาหารไปให้หนูอ่อนแรงกิน และคอยผลักดันก้อนอาหารไปทางถ้วยน้ำ ส่งผลให้หนูตัวอ่อนเพลียสุดขีดค่อยๆขยับตัวเข้าใกล้ถ้วยน้ำ จนสามารถกินน้ำเองได้ สะท้อนว่า หนูแข็งแรงคิดเป็น และสามารถหยั่งรู้ความทุกข์ยากลำบากของหนูอีกตัวหนึ่ง อีกทั้งได้ให้การช่วยเหลือหนูอ่อนแอกว่าได้สำเร็จอย่างปราศจากเงื่อนไข

            นักวิจัยสรุปไว้ว่า “ความรู้สำนึกในศีลธรรม” ของสัตว์โลก ประกอบด้วย (1) ความรู้สึกเป็นธรรม คือ รู้จักแบ่งสันปันส่วนกัน รู้สำนึกในความเสมอภาค ไม่เอาเปรียบกัน และรู้จักให้อภัยกัน (2) ความสามารถหยั่งรู้ในทุกข์ยากของสัตว์ตัวอื่น คือ รู้จักเห็นอกเห็นใจ รู้สึกเศร้าใจไปกับเพื่อน รู้สึกสลดใจและปลอบโยนเป็น และ (3) ความร่วมมือกัน คือ รู้สึกอ่อนไหวต่อความรู้สึกของสัตว์อื่น รู้จักแลกเปลี่ยนประโยชน์กัน มีความซื่อสัตย์ และไว้ใจต่อกัน

    ใครที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการยิงระเบิดทำร้าย/สังหารประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปราศจากอาวุธพิฆาต ในระหว่างการชุมนุมประท้วงทางการเมืองแต่ละครั้ง ไม่รู้สึกอับอายขายหน้าเด็กหนึ่งขวบ ห้าขวบ และสัตว์โลกดังกล่า่วบ้างเลยหรือ?

            เมื่อเรามี "ความรู้สำนึกในศีลธรรม" อยู่ในสายเลือด การปฏิรูปตัวเองเข้าสู่ความเป็นอริยชน ไม่น่าจะยุ่งยากนัก เพียงแต่ปฏิรูปตัวเองให้มีค่านิยมใน “การให้” อย่างไม่มีเงื่อนไข มากกว่า “การรับ” ลูกเดียว ให้มีความพอเพียงมากกว่าความตะกละ ตลอดจนให้มีจิตสำนึกตาม “ลัทธิสัตว์ประเสริฐ” มากกว่า “ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ” การปฏิรูปทางสังคมก็จะเดินหน้าประสบผลดีได้ทันที        

            เพียงแต่จุดประกาย "ความรู้สำนึกในศีลธรรม" ในตัวเราให้ตื่นจากภวังค์หรือหลุดพ้นจากมายาคติ สังคมอริยชนก็จะหวนกลับมาดังเช่นสมัยสุโขทัยอย่างแน่นอน.

    No comments:

    Post a Comment