Sunday, August 22, 2010


ทำไมจึงต้องปฏิรูปสังคม?



            
            การปฏิรูปสังคมคือทางออกสุดท้ายของไทย เพราะสังคมไทยยังมีผู้คนที่ไม่สามารถเสริมสร้างคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองมากกว่าผู้คนที่สามารถสริมสร้างคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง        
            
            สังคมไทยทุกวันนี้ คุกรุ่นด้วยกลิ่นอายของความเจริญทางวัตถุสิ่งของ ซึ่งควรผลิตออกมาเพื่อรับใช้ผู้คนในสังคม แต่ "ทุนนิยมสามานย์" กลับบีบคั้นผู้คนให้เป็นผู้ทำการผลิตและซื้อ ราวกับเป็นทาสของวัตถุสิ่งของ 

            นอกจากต้องขายแรงงานทำงานเหมือนเฟืองจักรชิ้นหนึ่ง ซ้ำๆ ซากๆ น่าเบื่อหน่ายยิ่ง เพื่อผลิตวัตถุสิ่งของดังกล่าวแล้ว ผู้คนยังต้องยอมเป็นหนี้สินและเสียดอกเบี้ยแพงๆ เพื่อซื้อหาวัตถุสิ่งของดังกล่าวมาใช้สอย ทั้งๆที่บางสิ่งนั้นก็มิใช่สิ่งจำเป็นอย่างปัจจัยสี่ ชีวิตสมัยโลกาภิวัฒน์ปัจจุบันวนเวียนอยู่กับการผลิต ซื้อหา ใช้สอย และเป็นหนี้ จวบจนลมหายใจสุดท้าย ภายใต้วัฒนธรรมของ "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ"

            วัฒนธรรมดังกล่าวได้หล่อหลอมผู้คนให้มีความคิดความอ่านที่แตกต่างจากบรรพชนสมัยก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ 225 ปีก่อน ท่านเหล่านั้นได้ใช้ชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ มีโลกทัศน์ของ "การอยู่ร่วมกัน" ในขณะเดียวกัน ก็อยู่แบบ "ตนของตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" ดังเช่นพืชพันธุ์หลากหลายที่ต่างเจริญเติบโตด้วยพลังของตนอยู่ในในผืนป่าเดียวกัน 

            ตรงกันข้าม ผู้คนทุกวันนี้ดำเนินวิถีชีวิตด้วยแบบ "ตัวใครตัวมัน" "มือใครยาว สาวได้สาวเอา มือใครสั้น เอาเถาวัลย์ต่อเข้า" คือ ตั้งอยู่กับ "ความเห็นแก่ตัว" และพึ่งพิงสิ่งนอกกาย (อย่างเถาวัลย์) มิได้พึ่งตัวเองเป็นสรณะ 

            นักจิตวิเคราะห์ อิริค ฟรอม์ม ผู้ได้บวชเรียนเป็นพระในพระพุทธศาสนาในบั้นปลายชีวิต พบว่า สังคมทุกวันนี้ ประกอบด้วยผู้คนที่มี "โลกทัศน์" 5 แบบ แต่ละแบบบ่งบอกถึงลักษณะเอกลักษณ์ของการสัมพันธ์กับผู้อื่นและต่อสิ่งแวดล้อม แต่ละคนจะมีส่วนผสมของทั้ง 5 แบบ ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน โดยจะมีความโดดเด่นในแบบหนึ่งใดมากที่สุด สี่แบบแรกให้ทั้งคุณและโทษต่อสังคมและตนเองปะปนกันอยู่ ล้วนเป็นแบบที่หลบหนีจากอิสระภาพและการเป็นตัวของตัวเอง คือ หลบหนีความรับผิดชอบของตน ส่วนแบบที่ 5 ให้คุณต่อสังคมและตนเอง สรุปพอสังเขปได้ดังนี้

            1. แบบ "อ่อนน้อม" ชอบรับปัจจัยและความเอื้อเฟื้อจากผู้อื่น ติดตามพักพิงผู้มีอำนาจ ประทับใจผู้อื่น ในกรณีสุดขีด แสดงตนเป็นผู้เคราะห์ร้ายที่มีผู้อื่นเป็นผู้กระทำให้ตนเคราะห์ร้าย โดยอาจแสดงบทละครที่แยบยลซ่อนเงื่อน กลุ่มนี้ประกอบด้วยชาวชนบทยากจน ครัวเรือนที่รับการอนุเคราะห์เป็นประจำจากรัฐ ผู้ย้ายถิ่นฐานเพื่อขายแรงงาน ผู้มีฐานะเป็นทาส ตลอดจนผู้ที่อยู่ในถิ่นฐานที่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ เมื่อมีการแบ่งปันปัจจัยกันหรือช่วยเหลือกัน กลุ่มนี้จะให้คุณต่อส่วนรวม โดยเฉพาะเมื่อความอ่อนน้อมนี้ได้วิวัฒนาการเป็นการยอมรับ อุทิศ ผูกพัน จงรักภักดีต่อผู้อื่น และมองโลกอย่างสมจริง

            อุปนิสัย: อ่อนน้อม เฉื่อยชา เข้าข้างตัวเอง มองโลกในแง่ดี พร้อมคล้อยตามผู้มีอำนาจอิทธิพล เช่น พร้อมที่จะเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องต่อรัฐบาลอันชอบธรรมได้ ตามบัญชาของผู้มีอิทธิพล เป็นต้น

            2. แบบ "หาประโยชน์ใส่ตนอย่างไม่ถูกต้อง" อย่างเช่นคนที่หลงรักตัวเอง ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ของตน ชอบจดจ้องจับจองปัจจัยของผู้อื่่นมาเป็นของตน นิยมขโมย คดโกง ฉกฉวย ความคิดอ่านดีๆของผู้อื่น เชื่อว่าไม่โกงไม่รวย นิยมใช้กลยุทธ์บีบบังคับผู้อื่นโดยมิชอบ มักหวาดระแวง อิจฉาริษยา เยาะเย้ยถากถางผู้อื่น เช่น ประณามคู่แข่งว่าเป็นเด็กอ่อนหัด เป็นต้น หวาดผวาขาดความมั่นคงในชีวิตอยู่เสมอ ชอบบงการผู้อื่นและเปลี่ยนภาวการณ์รอบตัว (กฎหมาย) ให้อำนวยประโยชน์และความมั่นคงแก่ตน

            อุปนิสัย: ก้าวร้าว ดุดัน ฉ้อโกง ฉ้อฉล หลอกลวง หักหลัง ปากโป้ง เย่อหยิ่งจองหอง ยั่วยวนกวนใจ ครอบงำบงการผู้อื่น เผด็จการ บ้าอำนาจ ขวานผ่าซาก และครอบครองใจผู้อื่นเป็น เมื่อมีความคิดเสริมสร้างออกมา ก็จะรู้สึกภูมิใจในตัวเองมาก

            3. แบบ "สะสมกักตุน" ชอบรวบรวมปัจจัยมาไว้ในครอบครองเพื่อชดเชยความข้นแค้นในอดีต ชอบรวบอำนาจ ยึดมั่นในความรักจากผู้อื่น มุ่งสร้างความมั่นคงปึกแผ่นให้ตน ชอบสะสมวัตถุสิ่งของโดยไม่ได้มีไว้เพื่อใช้ ชอบนักการเมือง เก็บสมุนไว้ประดับบารมี มองว่าโลกนี้มีไว้ให้ตนครอบครอง ตำแหน่งสามีภรรยาก็เป็นปัจจัยสำหรับซื้อหามาไว้โอ้อวดได้ ไม่ไว้ใจใคร ซ่อนตัวอยู่ภายในรั้วกำแพงตน กลุ่มนี้ประกอบด้วยชนชั้นกลาง พ่อค้าแม่ขาย ตลอดจนชาวชนบทและช่างฝีมือที่มีฐานะทางการเงิน

            อุปนิสัย: ดื้อดึง ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ชอบใช้ความคิดในเรื่องหนักๆยากๆ เมื่อมีคุณธรรมอยู่ในใจ จะรู้จักสำรวมตัว ประหยัด และคิดเชิงรูปธรรม

            4. แบบ "ขาย" ลูกเดียว ชีวิตขึ้นอยู่กับฝีมือการตลาดกับการโฆษณาตัวเอง เชื่อว่าครอบครัว โรงเรียน อาชีพการงาน ตลอดจนเรือนร่างกับเสื้อผ้ารองเท้าที่สวมใส่อยู่ ล้วนโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้แก่ใบหน้าตัวเองทั้งสิ้น จึงต้องมี "ความถูกต้อง" (พอใจตกลง) ในการซื้อขาย โดยมิต้องมี "ความถูกต้องชอบธรรม" (ยุติธรรม) มองว่า "ความรัก" คือ สิ่งที่แลกเปลี่ยนกัน (ไม่ฟรี) คู่ชีวิตก็ซื้อขายกันได้ตามสัญญาเงื่อนไข ส่วนมิตรภาพ ความมีมารยาท และเมตตาจิตคือปัจจัยที่มีราคาซื้อขายพ่วงไปกับสินค้าได้ นิยมใส่ "หน้ากากสังคม" ขาดความเป็นตัวของตัวเอง

            สัตว์ที่โปรดปรานที่สุด คือ จิ้งจกที่เปลี่ยนสีผิวตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ รับรู้ได้ผิวเผินเพียงแค่ "เปลือกนอก" ไม่เจาะลึก ขายไม่ได้เมื่อใด ชีวิตตนก็สิ้นสุดเมื่อนั้น

            อุปนิสัย: จดจ้องฉกฉวยโอกาส คิดแบบเรียบง่ายอย่างเด็กอมมือ อยู่แบบเด็กวัยคะนอง ชอบทำตนเป็น "นักแสดงกลขายยาพเนจร" เมื่อคิดเชิงคุณธรรมก็จะมองเห็นจุดมุ่งหมายในชีวิตตน มีน้ำใจ และใจกว้าง

             ฟรอม์มสรุปไว้ว่า ผู้ถนัดในโลกทัศน์ตามสี่แบบดังกล่าว ล้วน "ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมไม่เป็น" เพราะยึดมั่น "การมี" ปัจจัยนอกกายเป็นสรณะ

            อย่างไรก็ตาม ผู้มีโลกทัศน์ตามแบบที่ 5 จะช่วยถ่วงดุลให้โลกมนุษย์ทรง "ความสมดุล" อยู่ต่อไปได้ คือ ไม่แตกสลาย ดังนี้


            5. แบบ "ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม" ขยันทำงาน (ด้วยจิตว่าง) มีเมตตาจิต และใช้เหตุผลต่อเพื่อนมนุษย์เป็น ยอมรับนับถือความต้องการของตนและผู้อื่น ใช้ชีวิต "เป็นอยู่" ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับ "การมี") มุ่งเป็นผู้ที่ตนมีศักยภาพที่จะเป็น ไม่เพ้อเจ้อบ้าคลั่งเอาอย่างผู้อื่น ทบทวนเสมอว่า จริงๆ แล้ว ตนเป็นใครกันแน่ นิยมความสมจริง ไม่เป็นทาสของอารมณ์ พึ่งพิงปัจจัยภายในตัวเอง ไม่ยี่หระปัจจัยภายนอก

            ขณะเดียวกัน ผู้มีโลกทัศน์แบบที่ 5 นี้ ไม่ปฏิเสธ "กฎแห่งธรรมชาติ" ยอมรับกติกาสังคมที่กำหนดบทบาทของตนมาแต่กำเนิด ไม่หลบหลีกความเป็นอิสระกับความรับผิดชอบของตนต่อการอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ตนและสังคม
      
            ฟรอม์มอธิบายว่า ผู้มีโลกทัศน์แบบที่ 5 นี้ มาจากครอบครัวที่ได้ถ่ายทอด "ความมีเมตตาจิต" ให้ไว้กับบุตรหลานอย่างถูกต้องพอดี ไม่ว่าจะมีฐานะการเงินยากดีมีจนเพียงใดก็ตาม โดยเน้นการใช้ "เหตุผล" มากกว่า "กฎเกณฑ์" นิยม "เสรีภาพ" มากกว่า "การเดินตามก้นผู้อื่น" เน้น "การเป็นอยู่" มากกว่า "การมี" เชื่อว่าทำความดีย่อมได้ความดี สัมพันธ์กับผู้อื่นบนพื้นฐานของความชอบธรรม และมีความเป็นตัวของตัวเอง

            แม้ว่าผู้มีโลกทัศน์แบบที่ 5 จะสามารถเป็นคุณต่อการปฏิรูปชาติบ้านเมือง แต่ก็เป็นการตบมือเพียงข้างเดียว รัฐบาล องค์กรภาคเอกชน รวมทั้งองค์กรภาครัฐ จำต้องมีและดำเนินตามนโยบายที่ศรัทธาเชื่่อมั่นในคุณค่าของ "ความเป็นมนุษย์" และมีพันธกิจชัดแจ้งในการทำคุณประโยชน์ต่อสังคมอีกโสดหนึ่งด้วย การปฏิรูปทางสังคมจึงจะเกิดผลดี

            หาไม่แล้ว นักเผด็จการจะออกมาชักใยให้สมุนกำหนดต่อสังคมว่า อะไรคือผิดชอบชั่วดี ต้องทำอะไรอย่างไร ตามแนวโลกทัศน์ทั้งสี่ดังกล่าว และจะจัดการอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่หัวแข็งดื้อดึงต่อต้านตน ประวัติศาสตร์ลัทธิฟาสซิสต์และลัทธินาซีอาจเกิดขึ้นซ้ำรอยได้ในไทย หากตั้งอยู่ในความประมาท

            อย่าลืมว่า ผู้มีโลกทัศน์ที่ไม่ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม มีมากกว่าผู้มีโลกทัศน์ที่ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม ในอัตราสี่ต่อหนึ่ง.

    No comments:

    Post a Comment