Sunday, August 22, 2010



สังคมไม่เต็มบาทโดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิตdhanarat333@gmail.com



            อนุสนธิการอภิปรายไม่ไว้วางใจบุคคลสำคัญๆ ในรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้ ที่รัฐสภา โดยเฉพาะในประเด็นปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง

            บรรดาผู้อภิปรายจากพรรคฝ่ายค้าน คงได้ซักซ้อมเตรียมการมาเป็นอย่างดี จึงมีการทำสุ้มเสียงหนักเบา จังหวะช้าเร็ว ชี้มือชี้นิ้ว ราวกับตัวละครที่แสดงอยู่หน้าจอทีวี แต่ฟังอย่างไรก็ฟังได้ไม่สนิท เพราะ "อ้าปาก เห็นลิ้นไก่" กำลังแสดงละครรับใช้นายใหญ่ทักษิณ ชินวัตร ของตนอยู่ต่อไป เนื่องจากนายใหญ่และสมุนยังไม่สามารถบรรลุความใฝ่ฝันอันสูงสุดที่จะก่อตั้งรัฐไทยใหม่ ทั้งนี้ ส่งผลให้เกิด "ความคับข้องใจ" เป็นครั้งที่สองต่อจากความล้มเหลวปีก่อน หากสติไม่แตกตอนนี้ก็จะมีอาการ "ไม่เต็มบาท" ไม่มากก็น้อยระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 ใน กทม.


            การอภิปรายดังกล่าวจะไม่เกิด หากนายใหญ่ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญและไร้เหตุผลโดยชอบทางการเมือง มีแต่เหตุผลส่วนตัว นั่นคือ "ดาบนั้นคืนสนอง" ตามที่นายใหญ่ประกาศไว้ทันทีที่ถูกศาลฎีกาพิพากษายึดทรัพย์สี่หมื่นหกพันล้านบาท
            ผู้เสียหายได้แก่ประชาชน ผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ถูกกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนนายใหญ่ ซุ่มยิงด้วยระเบิดและอาวุธสงคราม จนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย เพื่อจะได้กล่าวโทษรัฐบาลว่าเป็นฝ่ายยิง แต่น่าสังเกตว่า กลุ่มเสื้อแดงที่ชุมนุมตลอดสองเดือนกลับไม่เคยถูกซุ่มยิงอย่างที่กลุ่มเสื้อเหลืองได้รับเคราะห์หลายครั้งในปี 2551 เมื่อรัฐบาลนอมินีของนายใหญ่ครองอำนาจอยู่

            ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้อภิปรายฝ่ายค้านที่มีสติเต็มบาทปัญญาเต็มร้อย จะออกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจและประณามนายใหญ่กับสมุน ในฐานะที่ได้ก่อให้เกิดความหายนะทางสังคมและเศรษฐกิจต่อชาติบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง
      
            ตรงกันข้าม ฝ่ายค้านกลับอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่ได้พยายามสกัดกั้นความหายนะ นับเป็นพฤติกรรมของผู้ประสบ "ความคับข้องใจ" จากความล้มเหลวในการชุมนุมเรียกร้องอย่างมโหฬารทั้งสองปีติดต่อกัน คือ รู้สึกโกรธแค้นแล้วโกรธแค้นอีก จนอยู่ในภาวะจิต "ไม่เต็มบาท" ส่งผลให้สติแตกปัญญาดับ แยกความผิดชอบชั่วดีออกจากกันไม่เป็น

            โดยที่บรรดาผู้อภิปรายเป็น "ผลผลิต" ของสังคมไทย แสดงว่าสังคมไทยก็มีภาวะจิต "ไม่เต็มบาท" เช่นกัน ทั้งนี้ สังเกตได้จากอัตราฆาตกรรม อัตวินิบาตกรรม การดื่มสุรา การติดยาเสพติดตั้งแต่วัยเด็กต้นๆ ขึ้นไป ตลอดจนการติดการพนันกันงอมแงมทั่วแผ่นดิน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวน่าสลดใจดาษดื่นอยู่ทุกวัน ตำรวจและศาลย่อมยืนยันได้ว่า จำนวนคดีความได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนรับไม่ไหวอยู่แล้ว

            สังคมไทย คือ สังคมประชาธิปไตย หรือสังคมไม่เต็มบาทกันแน่?

            สังคมไม่เต็มบาทเกิดขึ้นได้อย่างไร?

            ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบการปกครองใด สังคมจะเป็น "ผู้กำหนด" ตัว "ค่านิยม" ทั้งหลาย สำหรับให้ผู้คนนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต สังคมไทยมีสองค่ายค่านิยมหลัก คือ "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" และ "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ"

            ลัทธิแรก นิยมแต่พัฒนาทรัพย์สินเงินทองตนให้งอกงามยิ่งๆ ขึ้น อย่างปราศจากความพอเพียง ขณะที่ตัวสาวกกลับเป็นทุกข์อยู่แทบทุกลมหายใจ เพราะยึดติดเงินทองของมีค่าเป็นสรณะหรือพระเจ้า มี สุขภาพจิตเปราะบาง คือ ถูกโรคจิตวิปลาสรุมเร้าด้วยความวิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือหลับๆ ตื่นๆ นึกคิดเสมอว่ามีคนมาทำร้ายตน หรือแย่งชิงทรัพย์สมบัติตน ประสบความคับข้องใจบ่อย หวั่นใจอยู่เสมอว่าสติตนจะแตกสลายกลายเป็นคน "ไม่เต็มบาท" สักวัน มีจิตโศกซึม ก่อปัญหาให้กับตนเองและผู้อื่น ฯลฯ

            ลัทธิหลัง นิยมพัฒนาจิตวิญญาณตนให้อุดมด้วยบุญกุศลสำหรับเป็นต้นทุนชีวิต ตามพระธรรมในพระพุทธศาสนา สาวกตั้งอยู่ในความสงบเย็นเป็นปกติวิสัย มี สุขภาพจิตเข้มแข็ง คือ เปี่ยมด้วยเมตตาจิต สร้างสรรค์ผลผลิตที่เป็นคุณต่อมนุษยชาติ รักความเป็นอิสระ ไม่ยึดติดอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งนิพพาน มีความพอเพียง รับผิดชอบต่อพฤติกรรมตน มองเห็นความเป็นจริงภายในและภายนอกตัวเอง ไม่เข้าข้างตัวเอง มองโลกอย่างสมจริง ใช้เหตุผลอย่างคนมีสติปัญญา มุ่งแสดงความสามารถสุดศักยภาพตน แก้ปัญหาให้ผู้อื่นเป็นประจำ ฯลฯ

            นอกจากนี้ สังคมยังเป็น "ผู้กำหนด" ว่า อะไรถูก อะไรผิด ชอบ มิชอบ อะไรคือ "วัฒนธรรม" ของตน สังคมของสาวก "ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" กำหนดว่า "เงินทองคือพระเจ้า" "ตัวกู ของกู" "ด้านได้อายอด" "ลาภยศสรรเสริญคือปัจจัยที่ขาดมิได้" "จุดมุ่งหมายสำคัญกว่ามรรควิธี" "ค่าของคนอยู่ที่ปริมาณเงินทองในครอบครองของคน" "ชีวิตมนุษย์มีค่าเพียงผักปลา" "ผู้อุปถัมภ์คือความมั่นคงแห่งชีวิต" ฯลฯ คือ "ความถูกต้องชอบธรรมและวัฒนธรรมของตน" ฉะนั้นคนที่ยึดติดในข้อกำหนดเหล่านี้ จะได้รับเกียรติและการยกย่องนับถือส่งเสริมสนับสนุนจากสาวกลัทธินี้อย่างปุถุชน โดยหารู้ตัวไม่ว่า ตนกำลัง "เห็นกงจักรเป็นดอกบัว"

            ส่วนสังคมของสาวก "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" กำหนดว่า "ศีลธรรมจริยธรรมคือเกราะคุ้มกันจิตวิญญาณ" "ลาภยศสรรเสริญหาบไปไม่ได้แน่เมื่อตายแล้ว" "มามือเปล่า ไปมือเปล่า" "โลกนี้มีแต่ความว่างเปล่า" "มรรควิธีำสำคัญกว่าจุดมุ่งหมาย""ค่าของคนอยู่ที่ต้นทุนบุญกุศลที่ตนทำไว้" "การพึ่งตนเองคือความมั่นคงแห่งชีวิต" "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงประเสริฐยิ่ง" ฯลฯ คือ "ความถูกต้องชอบธรรมและวัฒนธรรมของตน" ฉะนั้น คนที่ยึดมั่นแต่ไม่ยึดติดในข้อกำหนดเหล่านี้ จะได้รับการยอมรับจากสาวกลัทธินี้เยี่ยงอริยชน ซึ่งมองเห็นดอกบัวเป็นดอกบัว
            การปะทะกันระหว่างสังคมไม่เต็มบาทกับสังคมอริยชน จะเกิดขึ้นอีกต่อไป ไม่ว่าจะออกมาในรูปการแสดงความเกลียดชังต่อกัน การชุมนุมทางการเมือง หรือการก่อการร้าย โดยจะทวีความรุนแรงยิ่งๆ ขึ้น จนกว่าสังคมไม่เต็มบาทจะตื่นจากภวังค์ หรือจากภาพหลอนที่หลอกตนอยู่ว่า "เงินทองคือพระเจ้า" และเริ่มเรียนรู้ว่า คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาในพุทธ คริสต์ อิสลาม ฯลฯ ล้วนประณามการยึดเงินทองเป็นสรณะทั้งนั้น

            นักจิตวิเคราะห์ อิริค ฟรอม์ม ผู้ได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนาแนะทางออกจากสังคมไม่เต็มบาท ด้วยการเสริมสร้างสุขภาพจิตของผู้คนทั้งหมดในสังคมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ประสบความสมหวังในความต้องการอันเกิดจาก "ความเป็นมนุษย์" คือ ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคม 1. ทำกิจกรรมที่เป็นคุณต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน 2. แสดงความสามารถสุดศักยภาพตน 3. เป็นอิสระจากการยึดติด และ 4. มีเมตตาจิตต่อกัน

            ทางออกมีอยู่แล้ว ใช้ได้ทันที หรือนิยมที่จะอยู่กับทางตันและ "นรกบนดิน" ต่อไป.

    No comments:

    Post a Comment