Monday, August 23, 2010


ปฏิรูป : ใกล้เกลือกินด่าง
โดย ธนรัตน์ ยงวานิชจิต
dhanarat333@gmail.com

            การปฏิรูปประเทศไทยเป็นเรื่องเพ้อฝันหรือไม่?

            การปฏิรูปประเทศไทย คือ การเปลี่ยนค่านิยม โลกทัศน์ และแนวทางปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกันทั่วประเทศ นับได้ว่าเป็นงานที่ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะในการเปลี่ยนค่านิยมที่เน้น "การมี" หรือ "การครอบครองวัตถุเงินทองอำนาจ" สู่ค่านิยมที่เน้น "การเป็นอยู่" หรือ "ประสบการณ์ที่เป็นคุณประโยชน์เสริมสร้างสังคม" เพื่อให้หลุดพ้นจากความหายนะทางสังคมและเศรษฐกิจ

            ดร. อิริค ฟรอม์ม นักจิตวิเคราะห์เรืองนาม ผู้ได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนาในบั้นปลายชีวิต ชี้แนะไว้ว่า เราจะสามารถปฏิรูปตัวเองให้พ้นทุกข์ สู่ความเจริญสุขได้สำเร็จ หากมี "ภาวะจิต" สี่ข้อต่อไปนี้ คือ (1) เราเป็นทุกข์และรู้ตัวว่าเป็นทุกข์ (2) รู้สาเหตุแห่งทุกข์ (3) มองเห็นการหลุดพ้นจากทุกข์ และ (4) เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ตามปทัสฐานแห่งสังคม สู่การหลุดพ้นจากทุกข์ โดยยอมรับว่า เป็นสี่ขั้นตอนปฏิรูปตัวเองที่ตรงกับ "พระอริยสัจสี่" ในพระพุทธศาสนา

            คาร์ล มาร์กซ นักปราชญ์ นักเศรษฐศาสตร์ และนักทฤษฎีสังคม ผู้ประกาศใช้ "ข้อขัดแย้ง" ทางเศรษฐกิจในสังคมเป็นพลังในการปฎิรูปสังคม ก็ให้เริ่มต้นปฎิรูปในตัวบุคคลเองด้วย ตามขั้นตอนที่ตรงกับ "พระอริยสัจสี่" เช่นกัน คือ ให้ชนชั้นกรรมาชีพทำดังนี้

            (1) ยอมรับว่าตนตกอยู่ในความทุกข์ยาก เพราะอาจถูกมายาติอำพรางทุกข์นั้นอยู่ (2) มองเห็นสาเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งมาจากอุปนิสัยของนักทุนนิยม เช่น ความโลภโมโทสัน ความเห็นแก่ตัว และการเอารัดเอาเปรียบผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น ข้อนี้คือหัวหอกที่มาร์กซใช้โจมตีระบบทุนนิยม (3) เชื่อว่าตนจะหลุดพ้นจากความทุกข์ต่อเมื่อสาเหตุแห่งทุกข์ได้ถูกขจัดสิ้นไป และ (4) สร้างและปฏิบัติตามวิถีชีวิตใหม่และระบบสังคมนิยมใหม่ เพื่อให้รอดพ้นจากทุกข์ที่มาจากทุนนิยม

            ดร. ซิกมันด์ ฟรอยด์ จิตแพทย์เรืองนาม ผู้ก่อตั้งวิชาจิตวิเคราะห์และนำเสนอความรู้เกี่ยวกับจิตรู้สำนึก จิตกึ่งรู้สำนึก และจิตไม่รู้สำนึก โดยการรับฟังความในใจกับความฝันของคนไข้ แล้วนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์ตีความ เพื่ออ่านภาวะจิตของคนไข้ ก็มีวิธีปฏิรูปตัวเองในแนวเดียวกับ "พระอริยสัจสี่" คือ

            (1) เมื่อคนไข้เป็นทุกข์ ก็ให้ไปพบจิตแพทย์ (2) จิตแพทย์หรือนักจิตวิเคราะห์ทำหน้าที่ขุดค้นและชี้แนะคนไข้ให้มองเห็นสาเหตุแห่งทุกข์ของตน ละทิ้งมายาคติที่ก่อให้เกิดทุกข์ และเรียนรู้องค์ประกอบของความทุกข์ (3) เมื่อคนไข้มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างทุกข์กับสาเหตุแห่งทุกข์ของตน การเยียวยาก็สิ้นสุดลง โดยถือว่าคนไข้จะต้องลงมือช่วยตัวเองด้วยตัวเองให้พ้นทุกข์ต่อไป

            ในการนี้ ดร.ฟรอม์มท้วงติงว่า ดร.ฟรอยด์น่าจะกำหนดขั้นที่สี่ที่จำเป็นไว้ด้วยเพราะคนไข้ไม่จำต้องหยั่งรู้มรรควิธีพ้นทุกข์ด้วยตัวเองเสมอไป โดยยกตัวอย่างคนไข้หญิงรายหนึ่งที่เป็นทุกข์มาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการผูกพันชีวิตตนแบบพึ่งพาบิดาตนมากเกินไป แม้จะรู้สาเหตุ แต่เธอก็ไม่รู้ว่าควรแก้ไขอย่างไร ซึ่งได้แก่การปฏิรูปวิถีชีวิตตนเสียใหม่ คือ ย้ายออกจากบ้านบิดา ไม่ร้องขอความช่วยเหลือจากบิดาอีก ยอมทนความเจ็บปวดยากลำบากจากการเป็นอิสระจากบิดา ฯลฯ ฟรอม์มย้ำว่า รู้สาเหตุอย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้วิธีแก้ไขสาเหตุอย่างถูกต้องด้วย (พระอริยสัจสี่ระบุวิธีแก้ไขไว้ที่มรรคมีองค์แปด)

            อนึ่ง ดร.ฟรอม์มก็ท้วงติงวิธีการปฏิรูปของมาร์กซ ว่า ไม่ได้คำนึงถึงธรรมชาติทั้งหมดของมนุษย์ ซึ่งกอปรด้วยความสลับซับซ้อน ความละเอียดอ่อน ตลอดจนความยืดหยุ่นแปรเปลี่ยนได้ คือ มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจนเพียงใด ต่างก็มีความรู้สึกนึกคิดตาม "กฎแห่งธรรมชาติ" เดียวกัน อีกทั้งมนุษย์มิใช่เครื่องจักรกลที่ปราศจากจิตวิญญาณ ปัญหาจากมนุษย์จึงมิอาจแก้ไขอย่างง่ายๆด้วยการขจัดมนุษย์ (นักทุนนิยม) ที่เราเห็นว่าเป็นต้นเหตุ อย่างเช่นที่เราโยนทิ้งชิ้นส่วนกลไกที่เราเห็นว่าชำรุดไป

            ดร.ฟรอม์มเสนอแนะวิธีการปฏิรูปตัวเอง โดยสังเขป ดังนี้

            ในขั้นพื้นฐาน เราต้องมีความเต็มใจที่จะยกเลิกวิถีชีวิตที่มุ่งสู่ "การครอบครองปัจจัยนอกกาย" อย่างเดียว ซึ่งได้แก่ "การครอบครองวัตถุเงินทองอำนาจ" นอกกาย เพื่อหันเข้าสู่วิถีชีวิตที่เน้น "การเป็นอยู่" ซึ่งได้แก่ "การมีประสบการณ์ชีวิตที่เป็นคุณประโยชน์เสริมสร้างสังคม" โดยปฏิบัติตน ดัวนี้

            (1) มีสัมมาสติอยู่เสมอ

            (2) มีความสุขจากการให้และแบ่งปันกัน มิใช่จากการกักตุนหรือเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น

            (3) ลดละเลิกโลภ โกรธ หลง อย่างสุดความสามารถ

            (4) ใช้ชีวิตที่ไม่บูชาเงินทอง วัตถุปั้นแต่ง ภาพวาด ตลอดจนกฎเหล็กทั้งปวง อยู่อย่างปราศจากมายาคติ ซึ่งทำได้ไม่ยาก เพราะเมื่อหยุดบูชาสิ่งนอกกายดังกล่าวแล้ว ก็ได้เข้าถึงภาวะที่อยู่เหนือมายาคติโดยปริยาย

            (5) สลัดความหลงรักตัวเองออกจากจิต และยอมรับข้อจำกัดกับความไม่สมบูรณ์แบบทั้งปวงอันน่าสลดใจที่มีอยู่ในปุถุชน

            (6) ไม่ฉ้อโกงใคร และไม่ยอมให้ใครฉ้อโกง คือ ไร้เดียงสาแต่ไม่อ่อนหัด

            (7) รู้จักอุปนิสัยตัวเอง ไม่เพียงในส่วนที่รู้อยู่เท่านั้น แต่ต้องรู้จริงให้ถึงส่วนที่ตนยังไม่รู้จัก หรือรู้เพียงเลาๆ เท่านั้น

            (8) มองว่าตนเป็น "หนึ่งเดียวกับ" สิ่งมีชีวิตทั้งปวง จะได้ไม่มุ่งมั่นยึดครองทำลายล้างธรรมชาติ โดยพยายามเข้าใจและอยู่กับธรรมชาติ

            (9) เข้าใจว่าเสรีภาพมิใช่เป็น "การตามใจตน" แต่เป็น "การเป็นตัวของตัวเอง" มิใช่ "การหล่อเลี้ยงกิเลสตัณหา" แต่เป็น "ภาวะทรงความสมดุล" ระหว่างการเจริญเติบโตกับการเสื่อมสลาย หรือ ความเป็นกับความตาย

            (10) ยอมรับว่าความชั่วร้ายและการทำลายล้างคือผลที่เกิดจากเหตุแห่ง "การเจริญเติบโตที่กำลังประสบปัญหา" อยู่

            (11) มองว่าความสุขคือการใช้ชีวิตอย่างมีชีวิตชีวาเข้มข้นไปเรื่อยๆ ไม่ว่าชะตาชีวิตจะเป็นอยู่อย่างไร เพราะการใช้ชีวิตอย่างเต็มเปี่ยมเท่าที่ตนทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายวัฒนธรรมและสมรรถภาพส่วนตัว จะเสริมสร้าง "ความพึงพอใจ" ที่จะทำให้หมดวิตกว่า ตนจะได้หรือไม่ได้อะไรในชีวิต คือ มีความพอเพียง

            ทั้งนี้ เป็นอุปนิสัยใจคอและแนวทางปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันของ "ผู้เป็นคุณประโยชน์เสริมสร้างต่อสังคม" "ผู้รู้จักให้" หรือ "ผู้นิยมมีประสบการณ์ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม" คือ "สาวกลัทธิสัตว์ประเสริฐ" ตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดาโลก ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ "ผู้ไม่เป็นคุณประโยชน์เสริมสร้างต่อสังคม" "ผู้รับลูกเดียว" "ผู้นิยมการครอบครองวัตถุเงินทอง" คือ "สาวกลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ภายใต้อำนาจอิทธิพลของมายาคติ

            ในการปฏิรูปตนเอง ก็ดี ปฏิรูปชาติบ้านเมือง ก็ดี เราไม่จำต้องหันหน้าไปที่เมืองนอก เพื่อสรรหาวิชาการล้ำยุค ยกย่องภาษาต่างชาติ เพราะเรามี "พระพุทธศาสนา" ซึ่งอยู่คู่บ้านคู่เมืองด้วยความเจริญสุขมา 700 ปี และมีโครงสร้างปฏิรูปตนเองให้พ้นทุกข์ สู่ความเจริญสุข ซึ่งนักจิตวิทยาโด่งดังระดับโลกยอมรับและนำไปประยุกต์รักษาคนไข้ทางจิตมาด้วยความสำเร็จมาแล้ว

            ขอเพียงให้เป็น "พระพุทธศาสนา" มิใช่ "พุทธพาณิชย์" ซึ่งมีอยู่ดาษดื่นน่าสลดใจยิ่ง

           หากใครมองว่าการปฏิรูปประเทศไทย คือ ความฝันลมๆ แล้งๆ ก็ขอให้ศึกษาชีวประวัติของบุคคลที่ไม่ยอมรับ "ความเป็นไปไม่ได้" อย่าง "แมเรียน แอนเดอร์สัน" นักร้องหญิงผิวสีดำชาวอเมริกัน เจ้าของเสียงท่อนต่ำสุดมหาเสน่ห์ที่หนักแน่นนุ่มนวลดุจกำมะหยี่ ขนาดวาทยกรชื่อดัง อาร์ตูโร ทอสกานีนี่ ยังชื่นชมว่า เป็นเสียงไพเราะจับใจที่หาฟังได้ในรอบ 100 ปีเท่านั้น

            แมเรียนต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วงกับวัฒนธรรมถือผิวในสหรัฐอเมริกาสมัย 70 ปีก่อน เธอถูกต่อต้านอย่างแข็งขันไม่ให้แสดงการขับร้องในสถานที่อันทรงเกียรติ เพียงเพราะเธอมีผิวสีดำ แต่ด้วยความไม่ท้อแท้ถดถอย ในที่สุด เธอก็สามารถเคลื่อนย้ายภูเขาถือผิวออกจากทางเดินของชีวิตเธอ จนสามารถแสดงคอนเสิร์ตในสถานที่อันทรงเกียรติต่างๆ

            องค์การสหประชาชาติได้แต่งตั้งแมเรียน แอนเดอร์สัน ให้เป็นกรรมการผู้พิทักษ์สิทธิโดยชอบของผู้คนกว่า 100 ล้านคนในทวีปอาฟริกาและภาคใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก และประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี สหรัฐ ก็ได้มอบเหรียญแห่งอิสรภาพ อันทรงเกียรติสูงสุดสำหรับภาคประชาชนให้กับเธอ ก่อนจากโลกนี้ไปเมื่ออายุ 96 ปี เธอฝากข้อคิดไว้ว่า

            "เมื่อท่านหยุดฝันใฝ่และละทิ้งอุดมการณ์ ท่านก็น่าจะหยุดหมดทุกอย่างด้วยเลย"

            เมื่อมีทั้งพระพุทธศาสนาและพลังชีวิตอยู่พร้อม เราจะยังยอมอยู่ในสภาพ "ใกล้เกลือกินด่าง" ต่อไปอีกหรือ?




    No comments:

    Post a Comment